ประชาธิปไตยไม่อาจยับยั้งแบลร์กับบุชก่อสงครามมิชอบ (2)

รายงานการไต่สวนกรณีอิรัก (The Iraq Inquiry) ของที่นำโดยจอห์น ชิลคอต (John Chilcot) เปิดเผยความจริงต่อสาธารณชนว่าแท้จริงแล้วระบบซัดดัม ฮุสเซนไม่ใช่ภัยคุกคามจวนตัว (imminent threat) ตามที่นายกฯ โทนี แบลร์กล่าวอ้าง ท่านยอมรับว่าข้อมูลข่าวกรองผิดพลาด แท้จริงแล้วอิรักไม่มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD)
            รายงานชี้ข้อสังเกตว่าเดิมนายกฯ แบลร์เหมือนหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการโค่นล้มระบอบซัดดัม แต่หลังการพบปะส่วนตัวกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ความคิดก็เปลี่ยนไป อังกฤษกลายเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของสหรัฐในสงครามโค่นระบอบซัดดัม
ดังที่นำเสนอแล้วว่าถ้าเปรียบเทียบการมองภาพเล็กกับภาพใหญ่ รายงานของจอห์น ชิลคอตช่วยให้เห็นภาพเล็กชัดเจนยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเห็นนกน้อยสีขาวนวล 3 ตัวกำลังโผบินขึ้นสู่ท้องฟ้าสีคราม แต่การมองภาพเล็กอาจพลาดความจริงที่สำคัญกว่า เพราะไม่เห็นท้องฟ้าฝั่งซ้ายที่เมฆดำก้อนใหญ่เคลื่อนตัวเข้าใกล้ พายุกำลังมา บทวิเคราะห์นี้มุ่งมองภาพใหญ่ ทำให้เห็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษกับสหรัฐในสมัยนั้น และอาจหมายถึงสมัยปัจจุบันด้วยถ้ามีข้อมูลสนับสนุน
เรื่องภัยคุกคามจวนตัวเป็นเท็จ :
29 มกราคม 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวสุนทรพจน์ใน State of the Union Address ประกาศอย่างเป็นทางการว่าอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือ หรือที่เรียกรวมๆ ว่าเป็น “axis of evil” เป็นภัยคุกคามสำคัญ ประเทศเหล่านี้เป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย มีอาวุธคุกคามสันติภาพโลก แสวงหาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
            ทุกวันนี้ในส่วนของอิรักได้พิสูจน์ชัดแล้วว่าไม่มี WMD

อิหร่านเป็นอีกประเทศที่เรื่อง WMD ตกเป็นประเด็นร้อนนานหลายปี โดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad – ดำรงตำแหน่งช่วง 2005-2013) ดำเนินนโยบายแข็งขืนต่อแรงกดดันของชาติตะวันตก โครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ยืนยันว่าใช้เพื่อสันติเท่านั้น แต่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ในสมัยนั้นไม่รับรองว่าโครงการของอิหร่านใช้เพื่อสันติเท่านั้น
โครงการนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้นักวิเคราะห์ตะวันตกเชื่อมโยงอาวุธนิวเคลียร์กับผู้ก่อการร้าย (ทำนองเดียวกับอิรัก) คิดว่าหากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์จะมอบให้ผู้ก่อการร้ายนำไปใช้ มีผู้ประเมินว่าถ้าผู้ก่อการร้ายจุดระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 10 กิโลตันกลางกรุงนิวยอร์กจะทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 5 แสนคน
8 ปีต่อมาประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) เข้าบริหารประเทศพร้อมนโยบายใหม่ ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับทุกประเทศรวมทั้งสหรัฐ เรียกร้องเจรจาโครงการนิวเคลียร์เพื่อยุติการคว่ำบาตร
            การเจรจาคืบหน้าตามลำดับ ในที่สุดอิหร่านกับประเทศคู่เจรจาบรรลุร่างข้อตกลงแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ ที่เรียกว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) เมื่อกรกฎาคม 2015 เท่ากับได้ข้อสรุปแล้วว่าอิหร่านไม่มีอาวุธนิวเคลียร์
            ทุกวันนี้ IAEA รับรองแล้วว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านทั้งหมดเป็นโครงการเพื่อสันติ อยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมเข้มงวดเป็นพิเศษจาก IAEA
            ประเด็นสำคัญคือ เมื่อพิจาณาข้อมูลย้อนหลังพบว่า ในสมัยปี 2002 อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ และเมื่อเข้าสมัยของรัฐบาลอาห์มาดิเนจาด โครงการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งหมายความว่าคำกล่าวอ้างที่รัฐบาลบุชชี้ว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามจวนตัวนั้นไม่เป็นความจริง
            ในบรรดา 3 ประเทศที่ถูกรัฐบาลบุชจัดอยู่ในกลุ่ม “axis of evil” เกาหลีเหนือคือประเทศที่โครงการนิวเคลียร์มีความคืบหน้ามากที่สุด
            ข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับคือเกาหลีเหนือเพิ่งประสบความสำเร็จในการ ทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อปี 2006 ห่างจากคำอ้างว่าเป็นภัยคุกคามจวนตัวของบุชถึง 3 ปี
            เรื่องแปลกและขบขันคือ ทางการเกาหลีเหนือเพิ่งประกาศว่ามีอาวุธนิวเคลียร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 หลังประสบความสำเร็จในการทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 (ก่อนหน้านั้นได้ทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์ชนิด A-bomb แล้ว 2 ครั้งเมื่อ 2006 กับ 2009) 2 เดือนต่อมาประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวอย่างชัดเจนว่าเกาหลีเหนือยังไม่มีขีปนาวุธบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ “จากข้อมูลข่าวกรองล่าสุด เราไม่คิดว่าพวกเขามีขีดความสามารถ” น่าแปลกใจที่ว่าจากปี 2002 ถึงปี 2013 เป็นเวลาถึง 11 ปี โครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือก้าวหน้าตามลำดับ แต่รัฐบาลโอบามาไม่เห็นว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามจวนตัว
            ล่าสุด เมื่อมกราคม 2016 ได้ทดสอบจุดระเบิดอีกครั้ง คราวนี้อ้างว่าเป็นระเบิดนิวเคลียร์ชนิด H-bomb แต่ยังเป็นที่สงสัยอยู่ ไม่ว่าเกาหลีเหนือเคยทดสอบ A-bomb หรือ H-bomb กี่ครั้ง ณ วันนี้ยังไม่มี “อาวุธ” นิวเคลียร์ โครงการอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น

            จากข้อมูลทั้งหมดได้ข้อสรุปว่า ทุกวันนี้มีหลักฐานชัดเจนแล้วว่า คำกล่าวอ้างของประธานาธิบดีบุชเรื่องภัยคุกคามจวนตัวจากอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือล้วนไม่เป็นความจริง ณ ขณะนั้นทั้ง 3 ประเทศยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ จนถึงวันนี้มีเกาหลีเหนือเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ทดลองจุดระเบิด แต่ไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามจวนตัวจากมุมมองของรัฐบาลโอบามา

            การที่เรื่องสำคัญยิ่งยวด (vital interest) เรื่องที่หมายถึงการทำสงครามกับต่างประเทศยังผิดพลาด แปลความได้ว่าระบบราชการอเมริกันไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่ก็มีประสิทธิภาพอย่างสูงที่จะตอบสนองความต้องการของรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลต้องการอะไร อยากให้เป็นอย่างไร ข้าราชการ สารพัดหน่วยงานพร้อมจะสนองให้ จนคณะกรรมการข่าวกรองร่วมของอังกฤษกับสหรัฐได้ข้อสรุปตรงกันว่าระบอบซัดดัมเป็นภัยคุกคาม “ที่ต้องเข้าจัดการ”
            เมื่อย้อนพิจารณาสารพัดรายงานจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบขาว กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยข่าวกรองต่างๆ รายงานเหล่านั้นล้วนเผยแพร่ข้อมูลที่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเท็จ ไม่ว่ารายงานเหล่านั้นจะมีรายละเอียดมากเพียง มีภาพถ่ายดาวเทียมกี่ภาพ คำอธิบายมีเหตุผลน่าเชื่อถือเพียงใด (ผู้สนใจควรย้อนกลับไปดูรายงานเก่าๆ เหล่านั้น)
            ถ้าพูดอย่างเป็นกลาง ไม่ว่ารายงานเหล่านั้นจะนำเสนอข้อมูลเท็จโดยตั้งใจหรือไม่ ภัยร้ายแรงของรายงานเหล่านั้นคือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จแก่สาธารณชนทั้งแก่คนอเมริกันและทั่วโลก ทำให้ชาวอเมริกันหลงเชื่อและสนับสนุนรัฐบาลทำสงคราม

แตกต่างหรือไม่ระหว่างรีพับลิกันกับเดโมแครท :
เมื่อสิ้นสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ เอช.เอ็ม. บุช (พรรครีพับลิกัน) ก็เริ่มมีนโยบายตรวจสอบ WMD ในอิรัก การตรวจสอบอย่างเข้มข้นเกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน (พรรคเดโมแครท) ไม่ว่าจะตรวจสอบมากเพียงใด รัฐบาลอิรักจะกล่าวปฏิเสธกี่รอบ ข้อสรุปคืออิรักยังซ่อน WMD จำนวนหนึ่ง เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐโดยเฉพาะหากผู้ก่อการร้ายใช้โจมตีสหรัฐ
            เมื่อประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (พรรครีพันลิกัน) รับตำแหน่งไม่ถึงปี ก็เกิดเหตุ 9/11 ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ “ชิงลงมือก่อน” (preemption) เป็นการปูทางสู่ความชอบธรรมอีกขั้นที่จะส่งกองทัพบุกอิรัก เพราะสังคมอเมริกันถูกปลูกฝังมาแล้วกว่า 10 ปี (ทั้งจากรัฐบาลจากรีพับลิกันและเดโมแครท) ว่าอิรักมี WMD สนับสนุนผู้ก่อการร้าย เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ และถูกจุดประเด็นให้แรงถึงขีดสุดเมื่อเกิดเหตุ 9/11 ชาวอเมริกันทั้งประเทศพร้อมใจกันสนับสนุนรัฐบาลบุชก่อสงคราม

            จะเห็นว่านโยบายสหรัฐต่ออิรักมีความเชื่อมโยงและพัฒนาเป็นลำดับขั้น รัฐบาลบุชผู้พ่อเริ่มต้นตรวจสอบ WMD 8 ปีของรัฐบาลคลินตันรายงานต่อเนื่องว่าอิรักมี WMD ประกาศเป้าหมายสุดท้ายคือล้มระบอบซัดดัม และมาสำเร็จในสมัยรัฐบาลบุช (ลูก)
            เป็นอีกกรณีที่บ่งชี้ว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลรีพับลิกันหรือเดโมแครทล้วนมีนโยบายต่างประเทศที่สัมพันธ์กัน เป็นลำดับขั้นตอน

ประชาธิปไตยไม่อาจยับยั้งแบลร์กับบุชก่อสงครามมิชอบ :
            กรณีการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนคือกรณีตัวอย่างร่วมสมัย มีหลักฐานยืนยันชัดเจนจากหลายฝ่าย รายงานของจอห์น ชิลคอตสรุปว่าการตัดสินใจส่วนตัวของนายกฯ แบลร์ (ในขณะนั้น) เป็นเหตุให้อังกฤษเข้าสู่สงคราม เท่ากับว่าระบอบประชาธิปไตยอังกฤษไม่อำนวยการตัดสินใจที่ถูกต้องแก่ผู้นำประเทศ ไม่สามารถยับยั้งการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด
            ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มคิดทำสงคราม เกิดคำถามว่าระบอบประชาธิปไตยอังกฤษกับอเมริกาจำต้องปฏิรูปครั้งใหญ่หรือไม่ หรือจะปล่อยให้มีเหยื่อรายต่อไป

            ถ้าสังคมอังกฤษรู้สึกเดือดร้อนกับทหารอังกฤษ 179 นายที่ต้องเสียชีวิตในสมรภูมิอันไร้ค่า โปรดอย่าลืมชาวอิรักกว่า 150,000 คนที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน) และมากกว่า 1 ล้านคนต้องจากบ้านของตัวเอง ตามมาด้วยสงครามกลางเมือง การปรากฏตัวของ IS/ISIL/ISIS และยังไม่รู้ว่าความสงบร่มเย็นจะคืนสู่ประเทศเมื่อไร ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและโลก
            ประเด็นจึงไม่อยู่ที่อดีตนายกฯ แบลร์กับประธานาธิบดีบุชไม่เป็นที่นิยม สมควรถูกตำหนิเท่านั้น

ทุกวันนี้พิสูจน์แล้วว่าเมื่อปี 2002 อิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือไม่เป็นภัยคุกคามจวนตัวอย่างที่รัฐบาลบุชกล่าวหา เอกสารรายงานต่างๆ ที่ออกมาจากรัฐบาลสหรัฐกับอังกฤษมีข้อสรุปที่เป็นเท็จ พูดเกินจริง สร้างภาพให้เห็นภัยคุกคามใหญ่เกินตัว อันที่จริงแล้วถ้าจะมองว่าประเทศใดเป็นภัยคุกคาม สหรัฐอาจเป็นประเทศที่เป็นภัยคุกคามรุนแรงกว่า เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพโลก (อย่างน้อยจากมุมมองของอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือ)
รายงานของจอห์น ชิลคอตไม่เพียงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่บ่งบอกความไม่ชอบมาพากลของการรุกรานโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน ยังเชื่อมโยงให้ความเข้าใจต่อ “ระบบ” นโยบาย กลวิธีของรัฐบาลสหรัฐในยุคสมัยที่เห็นกับตาของเราเอง (รัฐบาลแบลร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในระบบ) เห็นถึงปัญหาของระบอบประชาธิปไตยทั้งในอังกฤษกับสหรัฐที่ไม่อาจยับยั้งผู้นำประเทศก่อสงครามมิชอบ
17 กรกฎาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7192 วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2559)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ทุกวันนี้มีข้อสรุปที่ยอมรับแล้วว่าอิรักไม่มี WMD ซัดดัมไม่ได้สนับสนุนผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ตามที่รัฐบาลแบลร์กับบุชกล่าวอ้าง การทำสงครามล้มระบอบซัดดัมไม่ช่วยเรื่องต่อต้านก่อการร้าย ซ้ำยังกระตุ้นให้เกิดผู้ก่อการร้ายสารพัดกลุ่ม เช่น IS ทิ้งให้อิรักกลายเป็นรัฐล้มเหลว ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือคำถามที่ว่าระบอบประชาธิปไตยอังกฤษกับสหรัฐช่วยให้ 2 ประเทศนี้ก่อสงครามที่สมควรทำหรือไม่
บรรณานุกรม:
1. Beal, Tim. (2005). North Korea: The Struggle Against American Power. London: Pluto Press.
2. Committee of Privy Counsellors. (2016, July 6). The Report of the Iraq Inquiry: the Executive Summary. Retrieved from http://www.iraqinquiry.org.uk/media/246416/the-report-of-the-iraq-inquiry_executive-summary.pdf
3. DPRK Proves Successful in H-bomb Test. (2016, January 6). The Rodong Sinmun. Retrieved from http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_01&newsID=2016-01-06-0001
4. DPRK's Measure for Defending Its Sovereignty Is Just: Rodong Sinmun. (2013, March 11).  KCNA. Retrieved from http://www.kcna.co.jp/item/2013/201303/news11/20130311-06ee.html
5. Haley, John. (2006). National Security Strategy Report. In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.505-506). California: Sage Publications.
6. Hitchcock, Mark. (2006). Iran: The Coming Crisis: Radical Islam, Oil, and the Nuclear Threat. CO: Multnomah Books.
7. Iran will weather storm of ‘oil plot’: Rouhani. (2014, December 15). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/component/content/article/94-headline/120443-iran-will-weather-storm-of-oil-plot-rouhani-
8. Ismael, Tareq Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA: Pluto Press.
9. Obama says DPRK has no nuclear missile capability. (2013, April 16). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-04/16/c_132314386.htm
10. Samuels, Richard J. (Ed.). (2006). Axis of Evil. In Encyclopedia Of United States National Security. (p.57). California: Sage Publications.
-----------------------------