ความสัมพันธ์เวียดนาม-สหรัฐกับนโยบายต้านจีน

การยึดถือว่าระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามร้ายแรง ทำให้รัฐบาลสหรัฐต่อต้านคอมมิวนิสต์ และชักนำให้หลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่ความขัดแย้งดังกล่าว รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้าง หน่วยลับของสหรัฐมีส่วนโค่นล้มรัฐบาลหลายประเทศที่เป็นมิตรกับสหภาพโซเวียต แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นมิตรกับสหรัฐแทน แม้ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นอำนาจนิยมเผด็จการหรือไม่ก็ตาม
ความเป็นปรปักษ์ดังกล่าวครอบงำความสัมพันธ์ทางการเมืองเศรษฐกิจโลก กระทบต่อสังคมโลกอย่างกว้างขวางซึมลึกต่อเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตหลายพันล้านคน
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็นในครั้งนั้นอย่างเข้มข้น เป็นที่มาของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเมื่อ 1967 รัฐสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ โน้มเอียงเข้าข้างทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ
ทุกวันนี้หลายคนพยายามนำคำว่าสงครามเย็น (Cold War) กลับมาใช้อย่างผิดๆ ชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังเปิดฉากทำสงครามเย็นกับขั้วจีนอีกครั้ง เหตุที่ไม่ควรใช้คำว่าสงครามเย็นเพราะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์การเมืองอีกแล้ว จีนไม่ได้พยายามแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ การใช้คำว่าสงครามเย็นอาจทำให้เข้าใจผิด เกิดการแยกขั้วโดยปริยายอย่างผิดๆ เพราะเคยแยกมาก่อน น่าสงสัยว่าทำไม่พวกตะวันตกยังคงพยายามใช้คำนี้
สัมพันธ์เวียดนาม-สหรัฐในยุคโลกาภิวัตน์ :
            ถ้าย้อนหลังไปสมัยสงครามเย็น National Security Council Report 68 (NSC-68) เมื่อปี 1950 ระบุอย่างชัดเจนว่าการที่โซเวียตครอบงำประเทศในแถบยูเรเชีย (Eurasia) ทั้งจากการบุกยึดด้วยกำลังทหาร ใช้วิธีการเมืองหรือวิธีอื่นๆ เป็นเรื่องที่สหรัฐยอมรับไม่ได้ พร้อมกับตีตราว่าสหภาพโซเวียต “ชั่วร้าย” (evil) ชี้ว่ารัฐบาลโซเวียตต้องการเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงการทำลายประเทศสหรัฐด้วย จึงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงลำดับแรก
ในยุคนั้นรัฐบาลสหรัฐพยายามชี้นำว่าสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นภัยร้ายต่อเสรีภาพปัจเจกบุคคล เป็นภัยร้ายต่อทุนนิยม ทั้งนี้เพราะเป็น “ยุทธศาสตร์” สร้างกระแสสนับสนุนจากชาวอเมริกันและประเทศอื่นๆ ด้วยการสร้าง “ความหวาดกลัว” เห็นปรปักษ์ “เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่อยู่ร่วมกันไม่ได้” ตามมาด้วย “การแบ่งแยก” ให้เป็นฝักฝ่าย ในทางวิชาการจึงเกิดยุค 2 ขั้ว (bipolar world)

ต่อมาในช่วงปี 1970-72 เกิดเหตุการณ์สำคัญ รัฐบาลนิกสันปรับความสัมพันธ์กับจีนต้านสหภาพโซเวียต เป็นตัวอย่างสำคัญว่าผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยจับมือกับคอมมิวนิสต์จีนเพื่อต้านโซเวียต
            ความสัมพันธ์เวียดนาม-สหรัฐคือตัวอย่างปัจจุบัน ซ้ำรอยลักษณะสหรัฐจับมือกับจีนในสมัยสงครามเย็น

ดังที่ได้นำเสนอในบทความก่อนแล้วว่า ในการเยือนเวียดนามเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวยอมรับความเป็นเวียดนามในปัจจุบัน “ข้าพเจ้าพูดอย่างชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้พยายามยัดเยียดรูปแบบรัฐบาลแก่เวียดนามหรือประเทศอื่นใด เราเคารพอธิปไตยและอิสรภาพของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน เรายังคงพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องสากล รวมถึงเสรีภาพการพูด เสรีภาพของสื่อ เสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพในการชุมนุม”
            ในอีกวาระหนึ่งกล่าวว่า “ประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ล้วนมีอธิปไตย อธิปไตยนี้ควรได้รับการยอมรับ เขตแดนจะต้องไม่ถูกล่วงล้ำ ประเทศใหญ่ไม่ควรคุกคามประเทศเล็กกว่า ควรแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ” นี่คือเรื่องที่รัฐบาลข้าพเจ้ายึดถือ
การที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้ว่ารัฐบาลสหรัฐคบค้ากับเวียดนามบนฐานผลประโยชน์แห่งชาติที่ไม่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างเรื่องระบอบการปกครองเศรษฐกิจ

            ปัจจุบันจีนกับเวียดนามคล้ายคลึงกัน คือปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์คือแกนนำรัฐบาล แต่ระบบเศรษฐกิจค่อนมาทางการค้าเสรีมากขึ้น ทั้ง 2 ประเทศมีความเป็นการค้าเสรีมากพอจนได้เป็นสมาชิกขององค์การค้าโลก ที่น่าสนใจกว่านั้นคือสหรัฐทำการค้าการลงทุนจำนวนมากกับจีน ชาวอเมริกันซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าราวร้อยละ 40 ของสินค้าที่นำเข้าเป็นสินค้า MADE IN CHINA (ความแพร่หลายของสินค้าจีนพบเห็นได้ในหลายประเทศทั่วโลก) จนรัฐบาลสหรัฐปวดหัวกับการขาดดุลการค้ากับจีน จีนถือครองพันธบัตรอเมริกามากกว่าประเทศใดๆ ตัวเลขเมื่อเดือนพฤษภาคม (2016) ถือครองถึง 1.2703 ล้านล้านดอลลาร์

ประชาชน 2 ฝั่งเดินทางไปมาหาสู่โดยสะดวก นักศึกษาจีนเดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐปีละหลายหมื่นคน ข้อมูลปี 2014-15 นักศึกษาจีนคือนักศึกษาต่างชาติที่มากที่สุดในสหรัฐ มีมากถึง 3 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 31 ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด ลองจินตนาการว่าสหรัฐได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก นักศึกษาต่างชาติทั่วโลกจึงเดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐ ในจำนวนนี้ทุก 10 คนเป็นชาวจีนถึง 3 คน (ราวกับว่ารัฐบาลจีนไม่หวั่นเกรงว่านักศึกษาเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อการปกครอง หรือคนเหล่านั้นจะเข้าไปบ่อนทำลายอเมริกา เผยแพร่คอมมิวนิสต์)
            ดังนั้น ในแง่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเดินทางไปมาหาสู่กัน สะท้อนว่าสหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐไม่ได้อ้างเรื่องการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์จากจีนอีกแล้ว
           ประเด็นขัดแย้งที่รัฐบาลสหรัฐหยิบยกมาพูดคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพพื้นฐาน แต่กลับกลายเป็นว่า ณ วันนี้ปัญหาสิทธิมนุษยชนเวียดนามไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ประธานาธิบดีโอบามาพูดอย่างชัดเจนว่า “สหรัฐอเมริกาตอบรับความพยายามของเวียดนามที่กำลังปรับปรุงระบบกฎหมาย กำลังปฏิบัติกฎหมายเพื่อประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานให้ดีกว่าเดิมตามกรอบรัฐธรรมนูญเวียดนาม 2013”
            และย้อนกลับมาพูดถึงประเทศตัวเองว่า “ไม่มีประเทศใดสมบูรณ์ 2 ศตวรรษแล้วที่สหรัฐอเมริกายังคงพยายามปฏิบัติให้บรรลุอุดมคติของผู้ก่อตั้งประเทศ เรายังคงแก้ปัญหาจากไม่ความสมบูรณ์ เช่น มีเงินมากไปในการเมืองของเรา ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่ถ่างกว้าง ระบบยุติธรรมด้านอาชญากรรมที่มีอคติต่อเชื้อชาติ ผู้หญิงยังคงได้เงินเดือนต่ำกว่าผู้ชายในงานเดียวกัน เรายังมีปัญหาอื่นๆ ... ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องเหล่านี้ทุกวัน แต่การเผชิญหน้าความไม่สมบูรณ์ เปิดให้อภิปราย ให้ทุกคนได้พูดได้ช่วยให้เราเติบโตแข็งแกร่ง มั่งคั่งและยุติธรรมมากขึ้น”

เรื่องที่น่าแปลกใจคือเมื่อเทียบกับจีนแล้ว จีนเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกันแต่ดูเหมือนว่ายังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับสหรัฐ จนรัฐบาลจีนต้องพยายามเจรจาเพื่อวางกรอบความสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับสหรัฐ ให้เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน รวมทั้งระบอบการเมืองและวิถีการพัฒนาประเทศ
            และแม้ว่ารัฐบาลโอบามาจะเอ่ยปากตอบรับหากจีนก้าวขึ้นมาอย่างสันติ แต่จากความจริงที่ปรากฏดูเหมือนว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นสักเท่าใด แม้กระทั่งเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเวียดนาม นักวิชาการหลายคนสรุปเหตุผลว่าเพื่อร่วมกันต้านจีน
            ถ้าจะมองให้กว้างขึ้น หลายประเทศในโลกนี้ยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ใช้หลักศาสนาที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลของประเทศเหล่านี้หลายประเทศเป็นพันธมิตรของสหรัฐ มีความสัมพันธ์แนบแน่นยิ่งกว่าเวียดนาม
            ข้อสรุปสำคัญคือ การที่รัฐบาลสหรัฐถือว่าจีนเป็นปรปักษ์ในปัจจุบันจึงไม่ขึ้นกับความแตกต่างทางอุดมการณ์การเมือง (เว้นแต่จะใช้เป็นข้ออ้าง)

ความพยายามดึงเวียดนามต้านจีน :
            หนึ่งในประเด็นความสัมพันธ์สำคัญระหว่างเวียดนาม-สหรัฐคือความร่วมมือต้านจีน เป็นที่รู้กันว่าในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียน เวียดนามเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ขัดแย้งกับจีนเรื่องทะเลจีนใต้อย่างเปิดเผย
            ในแง่สหรัฐ ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐชี้ว่าสถานการณ์ในเอเชียแปซิฟิกคือหนึ่งในประเด็นความมั่นคงที่สำคัญที่สุด สหรัฐจะให้ความสำคัญและเพิ่มบทบาทของตนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กระชับสัมพันธ์กับมิตรประเทศ จีนพยายามอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่น่านน้ำมากเกินควร ก่อสร้างสนามบิน ส่งเรือรบเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน สหรัฐเพียงต้องการรักษาการเดินเรือเดินอากาศเสรีเพื่อผลประโยชน์ของทุกประเทศ

ถ้ามองจากมุมสหรัฐที่เปิดเผยต่อสารณชน ลำพังเพียงประเด็นนี้สามารถเผชิญหน้าโดยตรงกับจีน แต่รัฐบาลสหรัฐยังพยายามดึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเข้ามาเป็นพวก พร้อมกับที่ประเทศเหล่านี้หวังความช่วยเหลือจากสหรัฐด้วย
            ผลลัพธ์ทีเกิดขึ้นคือการเผชิญหน้าทางทหาร การทูตระหว่างสหรัฐกับจีน และคาดว่าจะเกิดความตึงเครียดต่อเนื่องยาวนานหลายปี และน่าจะยาวนานหลายทศวรรษ ดังเช่นสงครามเย็นที่กินเวลากว่า 4 ทศวรรษ
            แต่โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งจนบานปลายยังน้อยอยู่ เพราะประเทศในภูมิภาคระวังตัวอย่างดี และด้วยเหตุผลที่ว่าเวียดนามหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่ร่วมกับจีนกับสหรัฐ คำถามจึงอยู่ที่ว่าประเทศอย่างเวียดนามจะอยู่ร่วมกับมหาอำนาจอย่างไร เป็นไปได้ว่ารัฐบาลเวียดนามต้องการแสดงอาการ “ขัดแย้งกับจีน” ในระดับหนึ่ง เพื่อดึงสหรัฐเข้ามาใกล้ นำสู่การปรองดองฟื้นฟูความสัมพันธ์ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการนี้ เป็นความตั้งใจของเวียดนามที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับทั้ง 2 มหาอำนาจ ถ่วงดุลมหาอำนาจในประเด็นขัดแย้ง
จึงไม่ง่ายนักที่รัฐบาลสหรัฐจะฉวยประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

            ความเข้าใจที่สำคัญอีกประการคือ ด้วยความที่สหรัฐเป็นประชาธิปไตย การดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะต้องได้การสนับสนุนจากประชาชนหรืออย่างน้อยไม่ต่อต้านรุนแรง รัฐบาลสหรัฐจึงต้องพยายามสร้างกระแสสังคมด้วยวิธีต่างๆ นานา และในยุคนี้จะต้องปลุกกระแสระดับโลกด้วย ลดแรงต่อต้านจากสังคมนานาชาติ อันจะส่งผลกระทบต่อภายในประเทศอีกที (กรณีสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่คนยุโรปต่อต้าน) เป็นเรื่องของการต่อสู้เชิงข้อมูลข่าวสาร จิตวิทยา
            การให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่สังคมจึงเป็นมาตรการสำคัญ การทำเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อทำลายล้างใคร เป็นเพียงการปกป้องสังคมแผ่นดินของตนเอง
            เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมอุดมปัญญา
5 มิถุนายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7150 วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2559)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ในสมัยสงครามเย็น นักวิชาการ ตำราจำนวนมากสอนว่าประเทศเสรีประชาธิปไตยเข้ากับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไม่ได้ มองคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามร้ายแรง แต่ปัจจุบันความแตกต่างด้านระบอบเศรษฐกิจการปกครองดูจะไม่เป็นปัญหาร้ายแรงดังเช่นอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนาม-สหรัฐในขณะนี้คือหลักฐาน การยึดถือว่าใครประเทศใดเป็นมิตรหรือศัตรูต่างหากที่เป็นสร้างความตึงเครียด สร้างสงครามทำลายล้างกัน
บรรณานุกรม:
1. China's holdings of U.S. Treasuries rise for third month. (2015, July 17). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2015-07/17/c_134419649.htm
2. China marks six priorities for new-type of major-country relations with US. (2014, November 12). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/12/c_133785087.htm
3. Ferdinando, Lisa. (2016, May 27). Naval Academy Graduates to Face Evolving Global Challenges, Carter Says. DoD News. Retrieved from http://www.defense.gov/News-Article-View/Article/783990/naval-academy-graduates-to-face-evolving-global-challenges-carter-says
4. Institute of International Education. (2016). International Students in the United States. Retrieved from http://www.iie.org/Services/Project-Atlas/United-States/International-Students-In-US#.V0_Qhnlq3IU
5. Leffler, Melvyn P., Westad, Odd Arne (Eds.). (2010). The Cambridge History of the Cold War: Crises and Détente (Volume 2). New York: Cambridge University Press.
6. Roberts, Geoffrey. (1999). The Soviet Union in World Politics: Coexistence, Revolution and Cold War, 1945-1991. London: Routledge.
7. Samuels, Richard J. (Ed.). (2006). NSC-68 (NATIONAL SECURITY REPORT). In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.531-532). California: Sage Publications.
8. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York: Oxford University Press.
9. The White House. (2016, May 23). Joint Statement: Between the United States of America and the Socialist Republic of Vietnam. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2016/05/23/joint-statement-between-united-states-america-and-socialist-republic
10. The White House. (2016, May 23). Remarks by President Obama and President Quang of Vietnam in Joint Press Conference. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2016/05/23/remarks-president-obama-and-president-quang-vietnam-joint-press
11. The White House. (2016, May 24). Remarks by President Obama in Address to the People of Vietnam. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2016/05/24/remarks-president-obama-address-people-vietnam
-----------------------------