ความสัมพันธ์เวียดนาม-สหรัฐ ในบริบทโลกยุคโลกาภิวัตน์

ตลอดกว่า 20 ปีนับจากปรับความสัมพันธ์เมื่อกรกฎาคม 1995 ความสัมพันธ์ทวิภาคีดีขึ้นตามลำดับ ประธานาธิบดีสหรัฐเดินทางมาเยือนเวียดนามแล้ว 3 คน ท่านแรกคือบิล คลินตันเมื่อปี 2000 ท่านที่ 2 คือ จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชเมื่อปี 2006 และประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นคนที่ 3

วิสัยทัศน์ร่วมสหรัฐ-เวียดนาม 2015 :
            ย้อนหลังเมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว (2015) รัฐบาลสหรัฐกับเวียดนามประกาศวิสัยทัศน์ร่วม (United States–Vietnam Joint Vision Statement) สรุปสาระสำคัญว่านับจากสหรัฐกับเวียดนามยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนรอบด้าน (United States–Vietnam Comprehensive Partnership) ความสัมพันธ์ทวิภาคีดีขึ้นทุกด้าน รวมถึงการที่สหรัฐคลายมาตรการคว่ำบาตรซื้อขายอาวุธ และได้ร่วมลงนามใน Joint Vision Statement on Defense Relations
            รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศต้องการลงลึกในความสัมพันธ์รอบด้านโดยยึดกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศและระบอบการเมือง เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นอิสระต่อกัน เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความร่วมมือและความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและโลก
            ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังทำงานเพื่อให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) บรรลุผล สหรัฐชื่นชมการปฏิรูปเศรษฐกิจเวียดนาม ยอมรับว่าเวียดนามสนใจพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาด ทั้ง 2 ประเทศสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและจะหารือเรื่องนี้อย่างสร้างสรรค์

            ทั้ง 2 ประเทศยึดมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคและประเด็นระดับโลกที่เป็นผลประโยชน์และสนใจร่วม ส่งเสริมความร่วมมือเช่นในกรอบเอเปก อาเซียน ตระหนักความสำคัญที่อาเซียนจะต้องเข้มแข็ง บทบาทของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงทางการเมืองและโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาค ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียน (United States–ASEAN Strategic Partnership)
            ทั้ง 2 ประเทศเห็นว่าสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ตึงเครียดมากขึ้น ความไว้วางใจลดน้อยลง เป็นภัยคุกคาม เห็นความสำคัญที่จะต้องรักษาการเดินเรือการบินเสรี ส่งเสริมแก้ไขข้อพิพาทตามกฎหมายระหว่างประเทศ UNCLOS ส่งเสริมให้ปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) อย่างสมบูรณ์ และพยายามให้ได้ข้อสรุป “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (Code of Conduct on South China Sea)
            นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือผ่านข้อตกลงต่างๆ อีกหลายเรื่อง จะเห็นว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันรอบด้าน การเยือนรอบนี้ได้ตอกย้ำวิสัยทัศน์ดังกล่าว

เป็นมิตรกันได้แม้เป็นคอมมิวนิสต์ :
            ทั้งๆ ที่เวียดนามในขณะนี้ยังปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลโลกเสรีอย่างสหรัฐเคยต่อต้านอย่างหนัก แต่ 20 ปีที่ผ่านมานับจากเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจการเมืองไม่เป็นอุปสรรคอย่างที่เคย
ในระหว่างเยือนประธานาธิบดีโอบามากล่าวตอนหนึ่งว่า แม้ว่าความสัมพันธ์ 2 ประเทศจะก้าวไปข้างหน้า “ยังมีส่วนที่รัฐบาลทั้ง 2 เห็นต่าง รวมทั้งเรื่องประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชน และข้าพเจ้าพูดอย่างชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้พยายามยัดเยียดรูปแบบการปกครองแก่เวียดนามหรือประเทศอื่นใด เราเคารพอธิปไตยและอิสรภาพของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน เรายังคงพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องสากล รวมถึงเสรีภาพการพูด เสรีภาพของสื่อ เสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพในการชุมนุม” บนพื้นฐานความเชื่อว่าประเทศจะเข้มแข็งและมั่งคั่งยิ่งขึ้นถ้ายึดถือสิทธิมนุษยชนสากล
            กลายเป็นว่าประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ 2 ฝ่ายหารือสม่ำเสมอบนพื้นฐานสร้างความไว้วางใจ แถลงการณ์ร่วม “Joint Statement: Between the United States of America and the Socialist Republic of Vietnam” จากการเยือนรอบนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า “สหรัฐอเมริกาตอบรับความพยายามของเวียดนามที่กำลังปรับปรุงระบบกฎหมาย กำลังปฏิบัติกฎหมายเพื่อประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานให้ดีกว่าเดิมตามกรอบรัฐธรรมนูญเวียดนาม 2013”
ด้านประธานาธิบดีเจิ่น ดั่ย กวาง ประมุขแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวตอบว่ารัฐบาลปกป้องและส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ แม้สหรัฐกับเวียดนามจะเห็นต่างในบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ความเห็นของทั้ง 2 รัฐบาล “ตั้งอยู่บนการเคารพต่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน เราจำต้องทำงานใกล้ชิดยิ่งขึ้นและหารือร่วมกันมากขึ้น และด้วยการทำเช่นนี้จะลดช่องว่างความเข้าใจและลดความแตกต่างระหว่าง 2 ประเทศโดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน”
            โดยพื้นฐานแล้วระบอบคอมมิวนิสต์เข้ากับหลักสิทธิมนุษยชนสากลไม่ได้อยู่แล้ว การที่รัฐบาลโอบามาประกาศตอบรับรัฐธรรมนูญเวียดนาม เท่ากับยอมรับอธิปไตยเวียดนาม รวมทั้งระดับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพตามมาตรฐานเวียดนามในระดับหนึ่ง

            ในยุคโลกาภิวัตน์ รัฐบาลทุกประเทศมุ่งให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ จึงพยายามยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าการ นับจากปี 1995 เป็นต้นมา ปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 451 ล้านดอลลาร์ในปี 1995 เพิ่มขึ้นเกือบร้อยเท่ากลายเป็น 45 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เฉพาะปี 2015 สหรัฐส่งออกไปเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็นสถิติสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ และเป็นอัตราเติบโตสูงสุดอันดับ 2 ในช่วงปี 2010-15 เป็นอีกหลักฐานแสดงให้เห็นความร่วมมือ

ร่วมกันต้านจีน :
            เรื่องที่บรรดานักวิเคราะห์ให้ความสำคัญคือความร่วมมือเพื่อป้องปรามจีน
            ถ้านับเฉพาะตั้งแต่ที่ 2 ประเทศปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เหมือนกัน ใช่ว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีจะราบรื่นตลอด บางช่วงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จีนถึงกับส่งกองทัพข้ามพรมแดนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามในปี 1979

            ภัยคุกคามทางทหารคือภัยจากจีน เพราะมีพรมแดนติดกันทั้งทางบกทางทะเล ยิ่งจีนพัฒนากำลังรบเพียงใด เวียดนามต้องไล่ตามให้ทัน อย่างน้อยให้เพียงพอที่จะป้องกันตัวในระดับหนึ่ง หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีและดีขึ้นในหลายด้าน แต่ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลยังคงอยู่ ไม่มีวี่แววจะจบลงง่ายๆ กลายเป็นประเด็นให้เกิดการเผชิญหน้าเป็นระยะๆ
เช่นเมื่อพฤษภาคม 2014 เกิดการเผชิญหน้าอีกครั้งเมื่อทางการจีนติดตั้งแท่นขุดเจาะ Haiyang Shiyou-981 (HYSY981) ใกล้หมู่เกาะซีซา (Xisha Islands) หรือพาราเซล (Paracel Islands) รัฐบาลเวียดนามดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อผลักดันให้จีนถอนแท่นขุดเจาะดังกล่าว กล่าวหาว่าจีนละเมิดอธิปไตยแต่รัฐบาลจีนยืนยันว่าอยู่ในน่านน้ำของตน
            ในครั้งนั้น นายเหงียน เติ๊น สุง (Nguyen Tan Dung) นายกรัฐมนตรีเวียดนามถึงกับเดินทางไปฟิลิปปินส์เพื่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาลอากีโนที่ 3 และได้รับการตอบรับอย่างดี
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกโรงวิจารณ์ว่าการสำรวจขุดเจาะของจีนเป็น “การยั่วยุและไม่ช่วยรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค”
เหตุการณ์ลงเอยด้วยจีนถอนแท่นขุดเจาะหลังเสร็จสิ้นภารกิจ

จากเหตุการณ์แท่นขุดเจาะและอื่นๆ ชักนำให้เวียดนามเข้าหาสหรัฐมากขึ้น ควบคู่กับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ เช่น การยกเลิกคว่ำบาตรอาวุธทำให้รัฐบาลสหรัฐสามารถขายอาวุธแก่เวียดนาม
เป็นที่รู้กันว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เวียดนามซื้อใช้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธ์รัสเซีย ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเวียดนามสั่งซื้ออาวุธหลักเพิ่มเติมหลายอย่าง เช่น เรือดำน้ำชั้น Kilo เรือฟรีเกต Gepard ระบบขีปนาวุธพื้นสู่พื้นป้องกันชายฝั่ง Bastion K-300P เครื่องบินรบ Su-30 MK2 ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ S-300
ในระหว่างการเยือนรัฐบาลโอบามาประกาศว่ากำลังจัดเตรียมเรือตรวจการขนาดเล็ก MetalShark จำนวน 18 ลำเพื่อมอบให้เวียดนามตามคำร้องขอจากเวียดนาม แน่นอนว่าสหรัฐมีอาวุธทั้งใหม่และเก่าจำนวนมากที่สามารถมอบให้เวียดนาม ถ้าเวียดนามต้องการ

            การยกเลิกคว่ำบาตรซื้อขายอาวุธเป็นเครื่องบ่งชี้ความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศที่ใกล้ชิดขึ้น อนาคตเรือรบสหรัฐอาจแวะเวียนมาจอดที่ฐานทัพเรืออ่าวกามแรง/คัมรานห์ (Cam Ranh) ถี่ขึ้น อาจมีกิจกรรมร่วมซ้อมรบ ซ้อมบรรเทาภัยพิบัติ
            ถ้ามองในมุมเวียดนาม นับจากนี้เวียดนามสามารถใช้ “ไพ่สหรัฐ” ได้ดีกว่าเก่า ประเด็นอยู่ที่เวียดนามไม่คิดจะใช้ ไม่อยากจะใช้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

ถ้าไม่เป็นศัตรูจะก่อความร่วมมือทุกด้าน :
สงครามเวียดนามในเป็นอีกสมรภูมิแห่งการทำลายล้างและลามถึงประเทศใกล้เคียงอย่างลาว กัมพูชา ข้อมูลบางแหล่งสรุปว่าทหารที่บาดเจ็บผู้เสียชีวิตจากสงครามเวียดนามมีทั้งสิ้นราว 2,500,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นทหารเวียดนาม) ส่วนพลเรือนของทั้งเวียดนามเหนือ-ใต้ ลาว และกัมพูชาเสียชีวิตราว 4 ล้านคน ประเทศเสียหายยับเยินกว่าจะฟื้นตัวต้องอาศัยเวลาหลายสิบปี
            ในอีกด้านหนึ่งทั้งเวียดนามกับจีนต่างเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ขัดแย้งกันหลายเรื่อง รัฐบาลเวียดนามไม่ไว้ใจจีน ถึงขั้นขอความช่วยเหลือจากฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ลักษณะเช่นนี้ซ้ำรอยกรณีการเป็นปรปักษ์ระหว่างคอมมิวนิสต์โซเวียตกับจีนในอดีต

            ในทางกลับกัน ถ้าไม่ถือว่าเป็นศัตรูต่อกัน ประเทศต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-เวียดนามในปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ประเทศไม่จำต้องมีระบอบการปกครองและเศรษฐกิจเหมือนกัน มีลักษณะสังคม ความคิดเห็นแตกต่างกันบางประเด็น แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบเป็นมิตรต่อกัน
ประธานาธิบดีเจิ่น ดั่ย กวาง กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับประธานาธิบดีโอบามา ความตอนหนึ่งว่า “ระหว่างที่บาดแผลจากสงครามของทั้ง 2 ประเทศยังไม่หายสนิท และยังมีความแตกต่างในความสัมพันธ์ทวิภาคี แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรายิ่งตระหนักเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันมากขึ้น และมั่นใจอย่างยิ่งว่าสัมพันธ์ในความร่วมมือและเป็นมิตรของประเทศทั้งสองให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนของ 2 ประเทศ”
            หลักการ “ลืมอดีต มุ่งปัจจุบัน มองอนาคต” ไม่ถือว่าใครเป็นศัตรู แก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรม ร่วมพัฒนาสังคมบนพื้นฐานความยั่งยืน จึงเป็นนโยบายที่จะสร้างสันติภาพโลกอย่างแท้จริง
29 พฤษภาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7143 วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2559)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ถ้ามองว่าการติดตั้งแท่นขุดเจาะเป็นเรื่องของ “การละเมิดอธิปไตย” จะกลายเป็นโจทย์ยาก แต่ถ้ามองว่าความขัดแย้งรอบนี้มีต้นเหตุจาก “แท่นขุดเจาะ” จะกลายเป็นโจทย์ว่าย และหากมองว่าเป็นเรื่องการช่วงชิงอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคนั้นเป็นโจทย์ซับซ้อน ประเทศที่เกี่ยวข้องควรระมัดระวังผลต่อมุมมองของประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

บรรณานุกรม:
1. รุ่งพงษ์ ชัยนาม, รศ.ดร. (2554) สงครามกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสังคมโลก นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2. China Focus: China urges Vietnam to respect its sovereign rights over Xisha Islands. (2014, May 9). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-05/09/c_133322583.htm
3. Farley, Robert. (2014, July 12). If Vietnam and China Went to War: Five Weapons Beijing Should Fear. The National Interest.  Retrieved from http://nationalinterest.org/feature/if-vietnam-china-went-war-five-weapons-beijing-should-fear-10861
4. Mogato, Mauel., & Ruwitch, John. (2014, May 21). Vietnam, Philippines jointly denounce China's maritime moves. Reuters. Retrieved from http://uk.reuters.com/article/2014/05/21/uk-southchinasea-idUKKBN0E112A20140521
5. Obama arrives in Vit Nam. (2016, May 23). Viet Nam News. Retrieved from http://vietnamnews.vn/politics-laws/297110/obama-arrives-in-viet-nam.html
6. Shambaugh, David. (2014). International Relations in Asia: A Multidimensional Analysis. In David Shambaugh and Michael Yahuda (Eds.), International Relations of Asia (2nd ed.). Maryland: Rowman & Littlefield.
7. The White House. (2015, July 7). United States – Vietnam Joint Vision Statement. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2015/07/07/united-states-%E2%80%93-vietnam-joint-vision-statement
8. The White House. (2016, May 23). Joint Statement: Between the United States of America and the Socialist Republic of Vietnam. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2016/05/23/joint-statement-between-united-states-america-and-socialist-republic
9. The White House. (2016, May 23). Remarks by President Obama and President Quang of Vietnam in Joint Press Conference. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2016/05/23/remarks-president-obama-and-president-quang-vietnam-joint-press
10. The White House. (2016, May 23). Toast Remarks by President Obama and President Quang of Vietnam at State Luncheon. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2016/05/23/toast-remarks-president-obama-and-president-quang-vietnam-state-luncheon
11. The White House. (2016, May 24). FACT SHEET: Trade and Investment with Vietnam.  Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2016/05/24/fact-sheet-trade-and-investment-vietnam
12. Torode, Greg. (2015, Dec 18). Factbox: Inside Vietnam's military modernization. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/us-vietnam-china-conflict-factbox-idUSKBN0U10SE20151218
13. VN: China must withdraw oil rig. (2014, May 7). VNS. Retrieved from http://vietnamnews.vn/politics-laws/254480/vn-china-must-withdraw-oil-rig.html
-----------------------------