แท่นขุดเจาะ HYSY981 ของจีน โจทย์ของเวียดนาม และข้อเสนอทางออก

นับจากทางการจีนติดตั้งแท่นขุดเจาะ Haiyang Shiyou-981 (HYSY981) ใกล้หมู่เกาะซีซา (Xisha Islands) หรือพาราเซล (Paracel Islands) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเวียดนามดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อผลักดันให้จีนถอนแท่นขุดเจาะดังกล่าว เช่น ใช้เรือเข้าขัดขวางแท่นขุดเจาะ การชุมนุมประท้วงภายในประเทศ กล่าวหาว่าจีนละเมิดอธิปไตยในหลายเวที แต่นับจากวันแรกจนบัดนี้ มาตรการทั้งหลายยังไม่ได้ผล รัฐบาลจีนยืนยันว่าอยู่ในน่านน้ำของตน
โจทย์ของเวียดนาม :
            เมื่อเวียดนามมองว่านี่คือการลุกล้ำอธิปไตย รัฐบาลเวียดนามย่อมไม่อาจทนอยู่นิ่งเฉย ประเด็นสำคัญที่ต้องตัดสินใจคือ จะตอบโต้อย่างไร จะต้องถึงขั้นทำสงครามหรือไม่ ที่ผ่านมายังไม่มีทีท่าว่าต้องการทำสงคราม ได้แต่ประกาศว่าจะปกป้องอธิปไตยถึงที่สุดด้วยสันติวิธี ซึ่งฟังดูแล้วย่อมเกิดคำถามว่า หากแก้ไขด้วยสันติวิธีแต่ไม่สามารถต้านการละเมิดอธิปไตย รัฐบาลเวียดนามจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้หรือไม่ หรือในท้ายที่สุดจะต้องใช้กำลัง
            เมื่อศึกษาประวัติการใช้กำลัง พบว่าเวียดนามกับจีนเคยปะทะน้อยใหญ่หลายครั้งด้วยเหตุผลครอบครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เหตุปะทะสำคัญครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนมกราคม 1974 ทหารจีนที่ประจำบนเกาะวู้ดดี้ (Woody Island) หรือในภาษาจีนเรียกว่าหยิ่งซิง (Yongxing) ปะทะกับกองกำลังเวียดนามใต้บนเกาะ Duncan Island กองกำลังเวียดนามใต้หนีออกจากเกาะ และไปตั้งมั่นบนเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands)
            การปะทะรุนแรงอีกครั้งเกิดในปี 1988 ที่แนวปะการังจอห์นสัน (Johnson Reef) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ เรือรบเวียดนามหลายลำถูกจม ลูกเรือกว่า 70 นายเสียชีวิต
            เมื่อพิจารณาการใช้กำลัง พบว่าเวียดนามกับจีนเคยใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันหลายครั้ง จีนเป็นฝ่ายได้ชัยในการปะทะครั้งใหญ่ 2 ครั้ง การใช้กำลังจึงไม่น่าจะเป็นทางการเลือกที่ดีของเวียดนามไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน
            เมื่อพิจารณาบรรดามาตรการทั้งหลาย มาตรการทางการทูตเป็นแนวทางที่เวียดนามใช้มากที่สุดในขณะนี้ โดยยกเหตุผลหลายข้อ เพื่อให้นานาชาติสนับสนุน
            เหตุผลข้อแรกคือ ชี้ว่าจีนทำผิดกฎหมาย คุกคามภูมิภาค
            นายเหงียน เติ๊น สุง (Nguyen Tan Dung) นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่ผ่านมาว่า การติดตั้งแท่นขุดเจาะในน่านน้ำของเวียดนาม เป็นภัยคุกคามสันติภาพ เสถียรภาพและเสรีภาพการเดินเรือ พร้อมกับเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต่อต้านการกระทำดังกล่าว
            เทคนิคแรกที่เวียดนามใช้คือ พยายามขยายความว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เกิดเฉพาะกับเวียดนาม แต่กระทบต่อทั่วทั้งภูมิภาค
            เหตุผลที่สอง ถ้าไม่หยุดจีนตั้งแต่วันนี้ จีนจะรุกคืบต่อเนื่อง
            นาย Ngo Huu Phuoc นักวิชาการเวียดนามจาก Ho Chi Minh City Law University แสดงทัศนะว่า “ถ้าเราไม่ตอบโต้อย่างเด็ดขาดหรือแสดงความอ่อนแอต่อการรุกคืบของจีน จีนจะรุกคืบต่อ อ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำของเวียดนามในทะเลเวียดนามตะวันออกอย่างผิดๆ ต่อไป”
            เหตุผลข้อนี้เป็นการขยายความรุนแรงจากเหตุผลข้อแรก อาศัยการคาดการณ์ให้เห็นความร้ายแรงในอนาคต ที่จะกระทบต่อประเทศอื่นๆ มากขึ้น ความขัดแย้งจะทวีความซับซ้อนรุนแรง นายฝ่าม กวาง วิงห์ (Pham Quang Vinh) รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ใช้หลักการนี้เตือนอาเซียนว่าจีนอาจติดตั้งแท่นขุดเจาะแบบเดียวกับ Haiyang Shiyou 981 ในจุดอื่นๆ ของทะเลจีนใต้
            ดังนั้น หากอาเซียนนิ่งเฉย ภัยจะถึงตัวแน่นอน จึงต้องช่วยเวียดนามตั้งแต่ตอนนี้

เวียดนามจับมือกับฟิลิปปินส์ ก้าวแรกของการอิงสหรัฐ :
            รัฐบาลเวียดนามได้ใช้มาตรการทางการทูตอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อนายกฯ เหงียนได้ไปเยือนฟิลิปปินส์ กล่าวว่าเวียดนามกับฟิลิปปินส์ตัดสินใจต่อต้านการละเมิดอธิปไตยเวียดนามและ “เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ประชาคมโลกประณามจีนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเรียกร้องให้จีนยุติการละเมิดโดยทันที” โดยเฉพาะการติดตั้งแท่นขุดเจาะ
            ด้านประธานาธิบดีอากีโนกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างฟิลิปปินส์กับเวียดนามช่วยให้พวกเราสามารถปกป้องทรัพยากรในทะเลได้ดียิ่งขึ้น”
            ท่าทีร่วมของ 2 ประเทศ คือ 2 รัฐบาลผู้มีหัวอกเดียวกัน มีข้อพิพาทกับจีนเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ แม้ตามข่าวจะไม่มีการลงนามในข้อตกลงใดๆ เพียงแต่แสดงท่าทีต่อความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และกล่าวว่าทั้ง 2 ประเทศจะเพิ่มความร่วมมือทุกด้าน อันเป็นท่าทีทั่วไปที่ทุกแต่ละรัฐบาลมักแสดงออกต่อกัน แต่สามารถตีความว่านี่คือการแสดงท่าทีว่าเวียดนามอิงสหรัฐมากขึ้น ด้วยการแสดงออกผ่านทางฟิลิปปินส์ เพราะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนเรื่อยมา โดยมีรัฐบาลโอบามาให้การหนุนหลัง เป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ เป็นท่าทีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เวียดนามมักระมัดระวังในการแสดงท่าใกล้ชิดสหรัฐ โดยเฉพาะความมั่นคงทางทหาร
            ลองจินตนาการว่า หากเวียดนามถูกกดดันให้อิงสหรัฐ รัฐบาลเวียดนามสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างที่จีนจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ เช่น ยอมให้สหรัฐใช้/เช่าฐานทัพเรือดานัง (Danang) (เป็นฐานทัพสำคัญที่สหรัฐใช้ในสมัยสงครามเวียดนาม) หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นก็อาจสนใจใช้ฐานทัพดังกล่าวในอนาคต ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเสริมสร้างกองทัพเรืออย่างสม่ำเสมอและขยายบทบาทของตนในทะเลจีนใต้
            การแถลงท่าทีร่วมระหว่างนายกฯ เหงียนกับประธานาธิบดีอากีโน จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

โจทย์ยากกับโจทย์ง่าย และโจทย์ซับซ้อน :
            ประเด็นความขัดแย้งจากแท่นขุดเจาะ สามารถมองได้ว่าเป็นโจทย์ยากกับโจทย์ง่าย
            หากมองว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งเรื่องการอ้างอธิปไตยเหนือบริเวณดังกล่าว จะกลายเป็นโจทย์ยาก เพราะไม่มีรัฐบาลใดจะยอมถอยในเรื่องนี้ และจะกลายเป็นข้อพิพาทต่อเนื่อง ส่วนการเจรจานั้นกระทำได้ แต่ยากจะมีทางออก เพราะแต่ไหนแต่ไรรัฐบาลจีนถือว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอธิปไตยของจีนโดยชอบ ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของเวียดนามที่อ้างว่าอยู่ในเขตไหล่ทวีป อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลตามเกณฑ์ของกฎหมายทะเลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ฉบับปี 1982
            เวียดนามยึดหลักการ กฎหมายที่เป็นของใหม่ ในขณะที่จีนยึดข้อมูลประวัติศาสตร์ดั้งเดิม และวิถีชีวิตของชาวประมงจีน
            แต่ถ้ามองว่าความขัดแย้งรอบนี้มีต้นเหตุจากแท่นขุดเจาะ การแก้ปัญหาจะกลายเป็นเรื่องง่าย เพียงแต่จีนยอมถอนแท่นขุดเจาะออกไปเท่านั้น สถานการณ์ก็จะคลี่คลายกลับสู่สถานะเดิม

ข้อเสนอทางออก: จีนถอนแท่นขุดเจาะ ชั่วคราว’ :
            เป็นการดีหากรัฐบาลจีนประกาศถอนแท่นขุดเจาะ ชั่วคราว และพร้อมจะกลับมาติดตั้งแท่นใหม่อีกครั้ง เป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลจีนยินดีช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด โดยไม่ได้แตะต้องเรื่องการอ้างเขตอธิปไตยของจีน ดังนั้น จีนไม่ได้สูญเสียอะไรในเรื่องอธิปไตย
            อันที่จริงแล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ ไม่ว่าจะมีแท่นขุดเจาะดังกล่าวหรือไม่ หมู่เกาะพาราเซลในปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของจีนอยู่แล้ว และเป็นเช่นนี้มานานตั้งแต่ปี 1974 เมื่องกองกำลังของจีนสามารถครอบครองหมู่เกาะพาราเซลได้ทั้งหมด และเริ่มสร้างลานบิน สร้างฐานที่มั่นบนเกาะวู้ดดี้ งานศึกษาบางชิ้นชี้ว่าในบางช่วงมีทหารจีนประจำการอยู่ถึง 1 พันนาย มีเครื่องบินรบประจำการถึง 20 ลำ
            ส่วนข้อถกเถียงเรื่องกรรมสิทธิ์นั้น เป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงกันต่อไป เป็นประเด็นยืดเยื้อนับร้อยปี คือ ตั้งแต่ทศวรรษ 1890 เมื่อทั้งราชวงศ์ชิงของจีนกับราชวงศ์เหงียน (Nguyen) ของเวียดนาม ต่างอ้างว่าหมู่เกาะพาราเซลเป็นของตน ผ่านหลายยุคหลายสมัย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
            อีกทั้งในเหตุการณ์ล่าสุด รัฐบาลเวียดนามคงได้แต่ประท้วงในเวทีต่างๆ คงไม่คิดจะได้หมู่เกาะคืนด้วยการใช้กำลังทหาร

            การวิเคราะห์ผ่านประเด็นอธิปไตยเป็นการวิเคราะห์แบบตรงไปตรงมา แต่หากวิเคราะห์ให้ซับซ้อน จะเป็นดังที่เคยวิเคราะห์ในบทความครั้งก่อน ว่าเบื้องลึกของต้นเหตุความขัดแย้งรอบนี้อาจมาจากการที่ จีนต้องการตอบโต้การประกาศแสดงภาวะนำเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของญี่ปุ่น ต้องการเตือนอาเซียนว่าอาเซียนควรร่วมมือกับจีน อยู่ร่วมกับจีนอย่างฉันท์มิตรมากกว่าที่จะเข้าพวกกับสหรัฐ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะเวียดนามที่ยังอยู่ในภาวะลังเลใจ เป็นหนึ่งในแนวทางต่อต้านยุทธศาสตร์ Pivot to Asia ของสหรัฐ
            ถ้าวิเคราะห์ตามสมมติฐานข้างต้น การแสดงออกเพื่อตักเตือนนับว่าสมแก่เหตุแล้ว นับจากนี้ การใช้แนวทางถ้อยทีถ้อยอาศัยน่าจะเหมาะสมกว่า

            ความขัดแย้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ที่การอ้างกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งเก่าแก่ที่ยากจะหาข้อยุติ ประเด็นสำคัญที่ไม่แพ้การอ้างกรรมสิทธิ์คือเรื่องการตอบสนอง การตอบโต้ของแต่ละฝ่าย ว่าจะส่งผลต่อมุมมองของประเทศอื่นๆ อย่างไร พึงระลึกเสมอว่าหลายประเทศกำลังจับตาใกล้ชิด รัฐบาลจีนควรชั่งน้ำหนักว่าการใช้กำลัง อิทธิพลเข้าหักหาญเวียดนามจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของตนหรือไม่ ส่วนการที่เวียดนามคิดดึงมหาอำนาจนอกภูมิภาคเข้ามาพัวพัน จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อย่างไร นี่เป็นอีกโจทย์ที่ทุกฝ่ายควรคิดและหาทางออกอย่างเหมาะสม
            และถ้าจะใช้แนววิเคราะห์แบบซับซ้อน ฝ่ายที่ยอม “ถอยหนึ่งก้าว” ก่อน น่าจะเป็นผู้ได้ใจมากกว่า
25 พฤษภาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6410 วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2557)
---------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้จำต้องมองกรอบที่กว้างกว่าอาเซียน เกี่ยวข้องกับท่าทีของสหรัฐกับญี่ปุ่น ที่รัฐบาลอาเบะเพิ่งประกาศต้องการแสดงภาวะผู้นำเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีนคงต้องการเตือนอาเซียนว่าอาเซียนควรร่วมมือกับจีน อยู่ร่วมกับจีนอย่างฉันท์มิตรมากกว่าที่จะเข้าพวกกับสหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในแนวทางต่อต้านยุทธศาสตร์ Pivot to Asia
บรรณานุกรม:
1. China’s deployment of oil rig endangers peace, marine safety: Vietnam premier. (2014, May 11). Tuoi Tre News. Retrieved from http://tuoitrenews.vn/politics/19581/chinas-deployment-of-oil-rig-endangers-peace-marine-safety-vietnam-premier
2 Dosch, Jörn. (2013, May 14). The Spratly Islands Dispute: Order-Building on China’s terms? Retrieved from http://hir.harvard.edu/the-spratly-islands-dispute-order-building-on-china-s-terms
3. PH, Vietnam boost ties amid China row. (2014, May 20). Inquirer.net. Retrieved from http://globalnation.inquirer.net/104841/ph-vietnam-boost-ties-amid-china-row#ixzz32M2Rd3Ys
4. Tonnesson, Stein. (2001, July). 'The Paracels: The 'Other' South China Sea Dispute. Retrieved from http://www.cliostein.com/documents/2001/01%20lec%20paracels.pdf
5. Vietnam, Philippines jointly denounce China's maritime moves. (2014, May 21). Reuters. Retrieved from http://uk.reuters.com/article/2014/05/21/uk-southchinasea-idUKKBN0E112A20140521
6. Vietnam diplomat warns of China putting oil rig in other countries. (2014, May 16). Tuoi Tre News. Retrieved from http://tuoitrenews.vn/politics/19682/vietnams-prime-minister-president-request-withdrawal-of-chinas-illicit-oil-rig
7. Vietnam not to make concession to China’s wrongful acts. (2014, May 9). Tuoitre News. Retrieved from http://tuoitrenews.vn/politics/19557/vietnam-not-to-make-concession-to-chinas-wrongful-acts
-----------------