แทบไม่มีใครในโลกไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันในทางใดทางหนึ่ง ราคาน้ำมันมีผลต่อคุณภาพชีวิต หลายคนมักบ่นว่าสินค้าขึ้นราคาเพราะราคาน้ำมันดิบโลกขยับตัวสูงขึ้น แต่ช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวรุนแรง ลงต่ำถึง 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้กลุ่มผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกทั้งกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกต้องหาทางออก มีการหารือหลายรอบ รอบล่าสุดคือเมื่อกลางเดือนเมษายน ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ แต่ไม่ได้ข้อสรุป
เรื่องนี้มีตัวแสดงหลายตัว
มีวิธีอธิบายหลายแบบ บทความนี้มุ่งให้ความสำคัญกับประเทศซาอุดิอาระเบียและพันธมิตร
อธิบายตามแนวกระแสหลักร่วมกับกระแสรอง
หนึ่งในแนวคิดกระแสหลักคือ
น้ำมันล้นตลาด เนื่องจากบางประเทศในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันตั้งใจผลิตมากกว่าปกติ
ส่งออกให้มากที่สุด โดยเฉพาะรัสเซีย ซาอุฯ และอิรัก ทั้งๆ ที่รู้ดีว่ายิ่งอุปทานมากราคาจะยิ่งอ่อนตัว
มีข้อมูลว่ากรกฎาคม 2015 โอเปกผลิตน้ำมันดิบสูงถึง 31.51
ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี ส่วนใหญ่มาจากอิรัก แองโกลา
ซาอุฯและอิหร่าน
สมาชิกโอเปกยืนยันรักษากำลังผลิต
ในขณะที่บางประเทศเช่นซาอุฯ เพิ่มกำลังการผลิตต่อเนื่อง จนมากเป็นประวัติการณ์
เป็นเหตุให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวกว่าครึ่งหนึ่งจากราคาที่ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
(อ้างอิง WTI)
บอกว่าเป็นไปตามกลไกเสรี แต่ขอเจรจาควบคุมปริมาณส่งออก
:
ปลายปี 2014 Ali
Al-Naimi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันซาอุฯ อธิบายว่าที่ราคาอ่อนตัวเป็นเพราะ
ประเทศนอกกลุ่มโอเปกไม่ให้ความร่วมมือ มีข้อมูลผิดๆ และการเก็งไร พร้อมกับปฏิเสธว่าเหตุราคาน้ำมันร่วงไม่ได้มาจากแผนของซาอุฯ
แต่ “ตั้งอยู่บนหลักเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ”
ต่อมาปลายเดือนกุมภาพันธ์
2016 รัฐบาลซาอุฯ ประกาศว่าต้องการให้ราคาน้ำมันในตลาดมีเสถียรภาพ
จะสื่อสารกับผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อไม่ให้ราคาผันผวน
ก่อนหน้านี้ชี้ว่าราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาด ตอนนี้กลับมาพูดว่าจะควบคุมปริมาณการผลิตการส่งออก
การตรึงเพดานส่งออกที่ซาอุฯ ต้องการก็คือการควบคุมราคาน้ำมันไม่ให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี
การใช้คำว่า ‘ไม่ให้ราคาผันผวน’ ความจริงที่ทุกคนรู้ดีคือต้องการให้ราคาสูงขึ้นนั่นเอง
เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ากลุ่มโอเปกจะกำหนดปริมาณส่งออกของสมาชิกกลุ่ม
ระบบนี้คือการควบคุมอุปทานน้ำมัน เป็นการควบคุมราคาน้ำมันตลาดโลก
Robbie Diamond ประธาน
Securing America's Future Energy (SAFE) กล่าวว่า
“ไม่ว่าโอเปกตัดสินใจคงระดับการผลิตไว้ที่เท่าใด
คือความพยายามที่จะควบคุมสินค้าโภคภัณฑ์นี้ อันเป็นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโลก
ตอกย้ำความสำคัญของการผูกขาดน้ำมัน”
เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์
ระบบราคาน้ำมันโลกเป็นระบบผูกขาดมานานแล้ว ทศวรรษ 1880 จอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์
(John D. Rockefeller) ควบคุมโรงกลั่นและท่อส่งน้ำมันถึงร้อยละ
90 ของสหรัฐ และเป็นผู้ควบคุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันหลายอย่างเช่น
รถบรรทุกน้ำมัน การขนส่งทางรถไฟ เป็นเจ้าของกองเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อส่งน้ำมันออกขายทั่วโลก
ในช่วงนั้นร้อยละ 85
ของปริมาณน้ำมันดิบโลกและการกลั่นมาจากสหรัฐ สหรัฐคือผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
ซึ่งหมายถึงบริษัทที่ร็อกกี้เฟลเลอร์เป็นเจ้าของหุ้นใหญ่
แนวคิดการทำธุรกิจของร็อกกี้เฟลเลอร์คือธุรกิจผูกขาด
ไม่สนเรื่องการค้าเสรี เป็นที่มาของบรรษัทน้ำมันขนาดใหญ่ในปัจจุบัน
แนวทางของกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในปัจจุบันคือแนวทางที่พัฒนาจากร็อกกี้เฟลเลอร์
คำอธิบายข้างต้นเป็นส่วนของการอธิบายตามแนวกระแสหลัก
อาวุธของซาอุฯ กับพวก “อีกครั้ง” :
แนวกระแสรองอธิบายว่าการขึ้นลงของราคาน้ำมันรอบนี้มาจากเหตุผลการเมืองระหว่างประเทศเป็นหลัก
ประกอบด้วยเหตุผลย่อยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือรัฐบาลซาอุฯ
กับพวกหวังใช้น้ำมันเป็นอาวุธจัดการอิหร่าน
ในการเจรจารอบล่าสุด
เจ้าชาย Mohammed bin Salman แห่งซาอุฯ กล่าวว่าซาอุฯ จะยอมส่งออกไม่เกินเพดานก็ต่อเมื่อประเทศส่งออกน้ำมันอื่นๆ
ปฏิบัติตาม รวมทั้งอิหร่าน
รัฐบาลซาอุฯ
พยายามอธิบายว่าประเทศอื่นๆ กำลังเอาเปรียบซาอุฯ และจะพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตหากประเทศอื่นๆ
รวมทั้งกลุ่มนอกโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิตด้วย เจ้าชาย Turki bin Faisal อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองกล่าวว่า ครั้งนี้ซาอุฯ
“จะไม่ยอมเสียส่วนแบ่งการตลาดแก่คนอื่น ยอมให้ผู้ผลิตอย่างรัสเซีย ไนจีเรีย
อิหร่านและประเทศอื่นๆ ขาย (น้ำมัน) แก่ลูกค้าของซาอุฯ
เหตุจากการที่ลดกำลังการผลิต” ที่ผ่านมาซาอุฯ พยายามรักษาโควตาแต่ประเทศอื่นๆ
ฉวยประโยชน์จากการนี้
ถ้อยคำพูดของเจ้าชายทั้งคู่ดูเหมือนว่ามีความยุติธรรม
ขอให้ทุกประเทศคงปริมาณการส่งออกโดยอ้างอิงตัวเลขเดือนมกราคม การทำเช่นนี้เพียงป้องกันไม่ให้ใครมาเอาเปรียบซาอุฯ
เท่านั้น
ที่สุดแล้วการเจรจารอบนี้ล้มเหลว
สื่อบางแห่งเสนอข้อมูลว่าเป็นเพราะอิหร่านไม่ยอมเข้าประชุม จึงตกลงกันไม่ได้ ความผิดตกอยู่กับอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม มีบ้างเหมือนกันที่อธิบายเหตุผลอีกมุมหนึ่ง
Angus Nicholson นักวิเคราะห์ตลาดน้ำมัน
เห็นว่านอกจากประเด็นโควตาแล้ว อีกเหตุผลสำคัญน่าจะมาจากการเมืองระหว่างประเทศ
รัฐบาลซาอุฯ ไม่ยอมให้ปล่อยให้อิหร่านสามารถกลับไปขายน้ำมันตามปกติ
ถ้าอธิบายตามมุมมองอิหร่าน
เหตุที่น้ำมันล้นตลาดขณะนี้ส่วนหนึ่ง มีต้นเหตุจากข้อตกลงเมื่อธันวาคม 2011
ที่ยกเลิกการผลิตตามโควตา ซาอุฯ กับคูเวตพยายามส่งออกน้ำมันส่วนที่ขาดไปอันเนื่องจากอิหร่านถูกสหรัฐฯ
กับพันธมิตรคว่ำบาตรในระยะนั้น (ก่อนถูกคว่ำบาตรอิหร่านส่งออกน้ำมันสูงสุดที่
2.5 ล้านบาร์เรล การคว่ำบาตรทำให้ส่งออกลดลงเหลือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
เหตุที่อิหร่านไม่เข้าร่วมเจรจาเพราะไม่ยอมรับเงื่อนไขเรื่องตรึงกำลังผลิต
ณ เดือนมกราคม ฝ่ายอิหร่านยืนยันว่าจะเข้าเจรจาทันทีที่อิหร่านผลิตได้วันละ 4
ล้านบาร์เรลตามโควตาการผลิตเดิม
ประเด็นสำคัญคือหากอิหร่านยอมรับข้อตกลงเท่ากับว่าอิหร่านจะส่งออกน้ำมันที่ราว
1 ล้านกว่าบาร์เรลเท่านั้น แทนที่จะส่งออก 2.5 ล้านบาร์เรล นั่นหมายความว่า การเจรจารอบนี้คือการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันอิหร่านอีกรอบ
เป็นแผนของฝ่ายซาอุฯ ที่จะปิดล้อมอิหร่านทางเศรษฐกิจต่อไป
และแน่นอนว่ารัฐบาลอิหร่านยอมไม่ได้ ตั้งแต่ปีที่แล้ว Bijan Namdar
Zanganeh รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิหร่านกล่าวว่าอิหร่านจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ
ที่ลดการส่งออกน้ำมัน ยืนยันสิทธิ์ที่จะขายน้ำมันในโควตาเดิม
แต่ฝ่ายซาอุฯ
ยืนยันจุดยืนของตนเช่นกัน ดังนั้น ก่อนเริ่มการประชุมในรอบนี้
ต่างฝ่ายจึงรู้ท่าทีของอีกฝ่ายอยู่แล้ว
การใช้น้ำมันเป็นอาวุธเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐมนตรี
Zanganeh กล่าวมานานแล้วว่าซาอุฯ อยู่เบื้องหลังราคาน้ำมันที่ตกต่ำในขณะนี้
เพื่อหวังผลทางการเมือง เหตุผลรองลงมาคือน้ำมันของสหรัฐและเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
รัฐบาลซาอุฯ
รู้ดีว่าประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งหลายอยากให้ราคาขึ้น
จึงหวังใช้ความต้องการนี้เป็นแรงกดดันให้อิหร่านต้องเป็นฝ่าย “เสียสละ” ยอมขายน้ำมันในโควตาต่ำกว่าเดิม
แต่ฝ่ายอิหร่านปฏิเสธ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะฝ่ายอิหร่าน (รวมประเทศอย่างรัสเซีย)
คิดตรงกับซาอุฯ ว่าพวกซาอุฯ ต้องการให้ราคาขึ้นเช่นกัน
ต่างประสบปัญหาจากราคาน้ำมันอ่อนตัวเช่นกัน
คำอธิบายข้างต้นคือมุมมองแบบกระแสรอง
“ใครทนได้นานกว่ากัน” :
เป็นไปได้ว่าฝ่ายซาอุฯ คาดหวังให้สหรัฐได้ประธานาธิบดีคนใหม่โดยเร็ว
และออกมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านอีกรอบ แต่การนี้ต้องรออย่างน้อย 9 เดือน และไม่แน่ใจว่าในรอบนี้ประเทศอื่นๆ
ที่เคยคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านจะให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด ทั้งอียูกับญี่ปุ่นต่างเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านแล้ว
ความฝันของรัฐบาลซาอุฯ
จึงค่อนข้างเลื่อนลอย ที่แน่นอนคือเงินคงคลังที่ลดน้อยถอยลง
ปัญหาเศรษฐกิจสังคมก่อตัว แรงกดดันจากพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น จุดอ่อนของอาวุธซาอุฯ
คือ บริบทตลาดโลกและประเทศในกลุ่มโอเปกวันนี้ไม่เหมือนเมื่อทศวรรษ 1970 จากการวิเคราะห์เชื่อว่าไม่ช้าไม่นานราคาน้ำมันจะสูงขึ้นแน่นอน
อย่าลืมว่ายิ่งปล่อยทิ้งไว้ ผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจจะยิ่งหยั่งรากลึกมากขึ้น
ต้องกินเวลาฟื้นฟูมากขึ้น
เมื่อปลายปีที่ผ่านมาทางการซาอุฯ
ประกาศขึ้นราคาน้ำมันหน้าปั๊มร้อยละ 40
ลดการอุดหนุนราคาไฟฟ้า น้ำประปา หลังรัฐบาลขาดดุล 98 พันล้านดอลลาร์
ข้อมูล ณ สิ้นปี 2015 รัฐบาลมีรายจ่าย 260 พันล้านดอลลาร์
มีรายได้เพียง 162 พันล้าน
เนื่องจากกำไรจากการขายน้ำมันดิบหดตัวร้อยละ 60 กระทบต่อรายรับของประเทศอย่างมากเพราะร้อยละ
73 ของรายได้มาจากน้ำมัน (ตามข้อมูลรัฐบาล) อย่างไรก็ตามซาอุฯ
มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 700 พันล้านดอลลาร์
ทั้งยังสามารถออกพันธบัตรระดมเงินจากตลาดได้อีก
กษัตริย์ซัลมาน บิน
อับดุล อาซิซ (King Salman Bin Abdul Aziz)
ยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจประเทศแข็งแกร่งพอที่จะรองรับความท้าทายต่างๆ เรื่องที่รัฐบาลเป็นกังวลคือผลกระทบต่อชนชั้นกลางและล่างหากรัฐลดการใช้จ่าย
จึงคงรายจ่ายเรื่องการศึกษากับการสาธารณสุข พร้อมกับเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจ
หากดูจากฐานความแข็งแกร่งด้านทุนสำรอง ซาอุฯ สามารถสู้แบบยืดเยื้อได้อีกหลายปี
แต่ก็ต้องดูว่ารัฐบาลซาอุฯ พร้อมจะสู้ต่อยืดเยื้อหรือไม่ ราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลงจึงขึ้นกับว่าใครจะ
“อึด” กว่ากัน อย่าลืมว่าอิหร่านกำลังส่งออกได้มากขึ้น สถานการณ์ของอิหร่านกำลังดีขึ้น
ถ้าพูดในเชิงหลักการ
ราคาน้ำมันในช่วงนี้ไม่ได้ขึ้นลงตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นไปตามหลักการเมืองระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ กลุ่มโอเปกใช้การผลิต
การส่งออกน้ำมันดิบเป็นอาวุธทางการเมืองระหว่างประเทศมานานแล้ว เป็นเครื่องมือกดดันนานาประเทศแม้กระทั่งต่อชาติมหาอำนาจ
ส่วนรอบนี้จะได้ผลหรือไม่ต้องติดตามต่อไป
24 เมษายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7108 วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2559)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมามีข่าวดีของอิหร่าน
เมื่อ IAEA ประกาศว่าอิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขเบื้องต้นของ JCPOA
แล้ว ยืนยันว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านใช้เพื่อสันติเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้สหรัฐ อียู และคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติจึงยกเลิกการคว่ำบาตร
ข่าวดีที่สำคัญกว่ากองทัพสหรัฐไม่เป็นภัยคุกคามต่ออิหร่านดังสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย
อย่างไรก็ตามรากความขัดแย้งกับรัฐอาหรับยังคงอยู่และดำเนินต่อไป
เพียงแต่ไม่สามารถใช้ประเด็นโครงการนิวเคลียร์เป็นเครื่องมืออีกต่อไป
บรรณานุกรม:
1. Blas, Javier., Razzouk, Nayla., & Mahdi, Wael. (2015,
December 3). OPEC States Push for Output Cuts in Face of Saudi Opposition. Bloomberg.
Retrieved from
http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-12-03/opec-states-push-for-oil-curbs-as-saudis-insist-on-global-effort
2. Doha oil-production freeze talks face last-minute trouble
amid Saudi-Iran tensions. (2015, April 17). CNBC/Reuters. Retrieved from
http://www.cnbc.com/2016/04/16/draft-doha-agreement-would-freeze-oil-output-until-october.html
3. Engdahl, William. (2004). A Century of War:
Anglo-American Oil Politics and the New World Order, (Revised Ed.). London:
Pluto Press.
4. Faulconbridge, Guy. (2014, December 3). Saudi would
consider output cut if Russia, others join in. Al Arabiya News/Reuters.
Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/business/energy/2014/12/02/Saudi-would-consider-output-cut-if-Russia-others-join-in-.html
5. Iran blames Saudi Arabia, Iraq for oversupply in oil
market. (2015, August 18). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/index_View.asp?code=248760
6. Iran set to join oil freeze talks after output at 4 mbpd.
(2016, March 14). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/index_View.asp?code=253742
7. Kingdom seeks oil price stability. (2016, February 29). Arab
News. Retrieved from http://www.arabnews.com/economy/news/888136
8. Kingdom unveils SR840bn budget. (2015, December 29). Arab
News. Retrieved from http://www.arabnews.com/economy/news/856781
9. Maugeri, Leonardo. (2006).The Age of Oil: The
Mythology, History, and Future of the World's Most Controversial Resource.
USA: Praeger Publishers.
10. No conspiracy behind oil price fall: Al-Naimi. (2014,
December 21). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/677661
11. Oil price falls after Doha summit ends without output
freeze deal. (2015, April 17). CNBC. Retrieved from
http://www.cnbc.com/2016/04/17/oil-price-falls-after-doha-summit-of-opec-other-producers-ends-without-output-freeze-deal.html
12. OPEC oil supply reaches three-year high in July. (2015,
August 1). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2015-08/12/c_134505546.htm
13. OPEC to maintain current oil output. (2015, June 5). Al
Jazeera/AFP. Retrieved from http://www.cnbc.com/id/102731756
14. Saudi Arabia hikes petrol prices by 40% at the pump. (2015,
December 29). Al Jazeera. Retrieved from
http://www.aljazeera.com/news/2015/12/saudi-arabia-hikes-petrol-prices-40-pump-151228154350415.html
15. Saudi Arabia keeps oil output at record pace. (2015,
August 1). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/featured/news/784891
16. Tutt, Phillip., & Clinch, Matt. (2014, November
27). OPEC will not cut oil production: Saudi minister. CNBC. Retrieved
from http://www.cnbc.com/id/102222286
17. Zanganeh says S. Arabia has kept oil prices down for
political purposes. (2015, January 5). Tehran Times. Retrieved from
http://www.tehrantimes.com/politics/120769-zanganeh-says-s-arabia-has-kept-oil-prices-down-for-political-purposes-
-----------------------