โครงการนิวเคลียร์อิหร่านสู่ยุติสันติ

รัฐบาลอิหร่านยืนยันเรื่อยมาว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนมีเพื่อสันติเท่านั้น แม้กระทั่งอยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี กล่าวว่า “พวกเราได้ฟัตวา (fatwa) ประกาศว่าศาสนาอิสลามห้ามครอบครองอาวุธนิวเคลียร์” การวิจัยพัฒนาก็เพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น มาตรการคว่ำบาตรจากประเทศต่างๆ จึงไม่ชอบธรรม
            ปัญหาอันเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์เริ่มสู่ทิศทางที่ดี เมื่อฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) เป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่พร้อมนโยบายเจรจาแก้ปัญหานิวเคลียร์ เกิดกลุ่มเจรจาที่เรียกว่า P5+1 หรือ E3+3 (หมายถึงฝ่ายสหภาพยุโรป 3 ประเทศอันได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี กับสหรัฐ รัสเซียและจีน) ได้ Joint Plan of Action เป็นข้อตกลงชั่วคราวที่ต่างฝ่ายต่างแสดงความจริงใจ ถอยกันคนละก้าวสองก้าว เช่น อิหร่านหยุดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นเกินร้อยละ 5 กำจัดยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่มีความเข้มข้นเกินกว่าร้อย 5 ทั้งหมด ส่วนกลุ่ม P5+1 จะไม่ออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ระงับการคว่ำบาตรบางส่วน
            ข้อตกลงชั่วคราวต่ออายุหลายรอบ ท่ามกลางแรงกดดันจากรัฐบาลอิสราเอลกับซาอุดิอาระเบียที่เห็นว่าเป็นข้อตกลงที่แย่ ย้ำว่าอิหร่านต้องทิ้งโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด ไม่เหลือแม้กระทั่งใช้ในทางสันติ
ต่อมาเมื่อกรกฎาคม 2015 อิหร่านกับ 6 ชาติคู่เจรจาบรรลุร่างข้อตกลงแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ที่เรียกว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ข้อตกลงจะมีผลอย่างสมบูรณ์ถ้าสามารถพิสูจน์ว่าอิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขเบื้องต้นทุกข้อ สหรัฐกับพันธมิตรจะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดและคืนเงินที่อายัดไว้
กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายยูกิยะ อามาโนะ (Yukiya Amano) ผู้อำนวยการ IAEA ประกาศยืนยันว่าอิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขเบื้องต้นของ JCPOA แล้ว ด้วยเหตุนี้สหรัฐ อียู และคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติจึงยกเลิกการคว่ำบาตร

ความสำเร็จเพียงครึ่งเดียวของรัฐบาลโรฮานี :
            ประธานาธิบดีโรฮานีกล่าวในโอกาสดังกล่าวว่า สถานการณ์อิหร่าน “เข้าสู่บทใหม่แล้ว” “ชาวอิหร่านส่งสัญญาณความเป็นมิตรสู่โลก ละทิ้งความแค้นเคือง ความน่าสงสัย แผนร้ายไว้เบื้องหลัง เริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับโลกใหม่อีกครั้ง” การยกเลิกคว่ำบาตรเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ เป็นยุคทองของอิหร่าน “เป็นโอกาสพัฒนาประเทศ ปรับปรุงสวัสดิการ สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงแก่ภูมิภาค”
            ย้อนอดีตในช่วงหาเสียง ฮัสซัน โรฮานีเน้นนโยบายแก้ปัญหาการคว่ำบาตร ปัญหาเศรษฐกิจสังคมอันเนื่องจากการคว่ำบาตร
            อันที่จริงควรกล่าวด้วยว่าผู้สมัครอีกหลายคนหาเสียงด้วยการชูประเด็นเดียวกันนี้
นโยบายดังกล่าวสวนทางกับนโยบายของประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) เคยวิเคราะห์ไว้ว่า “ในช่วงนั้นรัฐบาลอิหร่านเดินหน้าโครงการอย่างเต็มที่ ประกาศไม่ยอมอ่อนข้อแม้ถูกคว่ำบาตร เมื่อมาถึงรัฐบาลของประธานาธิบดีโรฮานี นโยบายนิวเคลียร์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อิหร่านเรียกร้องขอการเจรจาจนนำสู่ได้ข้อสรุปร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ ความขัดแย้งอันเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์กับหลายประเทศอาจถึงจุดยุติ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังมีประเด็นขัดแย้งกับอิหร่านในหลายเรื่อง”
            ความสำเร็จสำคัญคือการที่ผู้ปกครองอิหร่านตัดสินใจให้โครงการนิวเคลียร์เข้ากระบวนการตรวจสอบของนานาชาติ ซึ่งครั้งสมัยรัฐบาลอาห์มาดิเนจาดเห็นว่าหน่วยงาน IAEA ไม่โปร่งใส เจ้าหน้าที่บางคนเป็นสายลับ การเข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน นำสู่การได้ข้อสรุปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าไม่มีจุดใดของโครงการน่าสงสัยอีกแล้ว ส่วนที่เป็นกังวลของสหรัฐกับพันธมิตรได้รับการแก้ไข เช่น จำนวนเครื่องเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียม การตรวจสอบจุดต่างๆ

            ถ้าจะวิเคราะห์ให้ลึก การเลิกคว่ำบาตรไม่ใช่ผลงานของรัฐบาลโรฮานีเสียทีเดียว แต่เป็นประจักษ์พยานว่านโยบายคว่ำบาตรของสหรัฐกับพันธมิตรได้ผล
            นโยบายคว่ำบาตรและเหตุผลอื่นๆ กระทบเศรษฐกิจสังคมอิหร่านอย่างชัดเจน เช่น รายได้จากน้ำมันลดลง ค่าเงินตกฮวบ อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 30 คนว่างงานกว่า 3,300,000 คน กระทบต่อเศรษฐกิจสังคมโดยรวม เป็นเหตุผลว่ารัฐบาลอิหร่านต้องปรับเปลี่ยนนโยบายนิวเคลียร์ให้โปร่งใส
            อธิบายให้ชัดคือ การยกเลิกคว่ำบาตรเป็นไปตามหลักเกณฑ์นานาชาติ เมื่ออิหร่านสามารถพิสูจน์ตัวเองว่าโปร่งใส ใช้ในทางสันติจริง ประเทศใดที่ทำเช่นนี้ควรได้ผลลัพธ์แบบนี้
และต้องขอบคุณชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งลูกหลานไปเสี่ยงตายต่างแดนอย่างไม่สมคุณค่า รัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับสงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน

นโยบายปรับความสัมพันธ์รอบทิศไม่เกิดผล :
            พร้อมกับการแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์ รัฐบาลโรฮานีประกาศปรับความสัมพันธ์กับนานาชาติ รวมทั้งรัฐบาลซาอุฯ นายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวว่ารัฐบาล “มองว่าซาอุดิอาระเบียมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อประเทศในภูมิภาค เราพยายามกระชับความร่วมมือกับซาอุฯ เพื่อประโยชน์ของภูมิภาค”
ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมารัฐมนตรีซารีฟเดินสายเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จากหน้าข่าวบอกได้ว่าความสัมพันธ์ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วความสัมพันธ์ไม่ได้ดีขึ้น กลุ่มรัฐอาหรับยังเห็นว่าอิหร่านแทรกแซงกิจการเพื่อนบ้านซึ่งเป็นประเด็นเก่าแก่ เช่น ปลายปี 2012 Shaikh Khalid bin Ahmed Al Khalifa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบาห์เรนกล่าวหาว่าอิหร่านพยายามแทรกแซงกิจการภายในประเทศของกลุ่ม GCC “เราได้บอกต่ออิหร่านแล้วว่าการเข้าแทรกแซงไม่ใช่ทางออกและจะไม่ไปไหน แต่พวกเขาไม่ฟัง ยังพยายามแทรกแซงก้าวก่ายเรื่องภายในของกลุ่ม GCC
            GCC เห็นว่าอิหร่านเป็นตัวก่อปัญหาในภูมิภาค ทั้งที่เยเมน ซีเรีย อิรัก ปาเลสไตน์ และบาห์เรน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation) ออกแถลงการณ์ “ประณามอิหร่านแทรกแซงกิจการภายในของรัฐในภูมิภาคและสมาชิกรัฐอื่นๆ (รวมทั้งบาห์เรน เยเมน ซีเรียและโซมาเลีย) ทั้งยังสนับสนุนก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง”
(อนึ่ง ตัวแทนจากอิหร่านไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ดังกล่าว)

Alireza Miryousefi จาก Iranian Foreign Ministry’s Institute for Political and International ให้ความเห็นว่า “ซาอุดิอาระเบียโหมไฟความแตกต่างด้านนิกายชีอะห์กับซุนนีอย่างต่อเนื่อง และนับจากปี 2011 เป็นต้นมาพยายามใช้อิหร่านเป็นข้ออ้างเพื่อเบี่ยงความสนใจจากนโยบายควบคุมภายในประเทศอย่างเข้มงวด (iron-fist policies)” รัฐมนตรีซารีฟกล่าวทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลซาอุฯ “พยายามทำให้เกิดการเผชิญหน้าทั่วทั้งภูมิภาค” ส่งเสริมหลักคิดการใช้ความรุนแรงสุดโต่ง (violent extremism)
            เป็นนโยบายปิดล้อมอิหร่านจากรัฐอาหรับ หรือพูดอีกอย่างคือเป็นช่วงเวลาที่รัฐอาหรับออกหน้า ถ้าเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐไม่คิดญาติดีกับอิหร่านอยู่แล้ว

            หลายคนเห็นว่าสงครามกลางเมืองในซีเรีย อิรัก เยเมนในขณะนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางนิกายศาสนา ต้นเหตุความขัดแย้งมาจากหลายประเด็น เรื่องนิกายศาสนามีส่วนในบางกรณี มากน้อยต่างกัน ที่ถูกต้องกว่าน่าจะตอบว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิหร่านกับรัฐบาลอาหรับ
            ไม่ว่าจะขัดแย้งด้วยเหตุผลใด สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วง 3-4  ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้คนหลายแสนเสียชีวิต ผู้อพยพลี้ภัยนับล้าน เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นว่ารุนแรงเพียงใด

            ในอีกด้านหนึ่ง 17 มกราคม 2016 รัฐบาลโอบามาประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านชุดใหม่ หลังยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอันเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์ไม่ถึง 24 ชั่วโมง อ้างอิหร่านทดสอบขีปนาวุธละเมิดข้อมติสหประชาชาติ มาตรการชุดใหม่แม้ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่ชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐพร้อมจะคว่ำบาตรอิหร่าน
            เหล่านี้ให้คำตอบว่านโยบายปรับความสัมพันธ์รอบทิศของรัฐบาลโรฮานีได้รับการตอบสนองอย่างไร

บริบทเปลี่ยนนโยบายเปลี่ยนตาม :
นโยบายเร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงที่รัฐบาลบุชประกาศว่าอิหร่านเป็นหนึ่งในแกนแห่งความชั่วร้าย (axis of evil) เหมือนอิรักกับเกาหลีเหนือ เมื่อสหรัฐกับพันธมิตรส่งกองทัพรุกรานอิรักโดยปราศจากมติคณะมนตรีความมั่นคง ไม่ฟังเสียงคัดค้านของนานาชาติ ความคิดที่ว่าอิหร่านจะเป็นเป้าถัดจากอิรักย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ สหรัฐสามารถเคลื่อนพลซึ่งอยู่ในภาวะเต็มอัตราศึกจากอิรักเข้าอิหร่านได้ทันที
แต่นโยบายเร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ส่งผลกระทบด้านลบเมื่อแสดงอาการไม่โปร่งใส กลายเป็นความชอบธรรมที่สหรัฐกับพันธมิตรจะคว่ำบาตรอิหร่าน เป็นปัญหาแทรกซ้อนที่รัฐบาลอิหร่านต้องเผชิญ ภาระนี้ตกแก่รัฐบาลโรฮานีเนื่องจากบริบทเปลี่ยนไป นโยบายของรัฐบาลโอบามามีแต่จะถอนทหารกลับประเทศ อิหร่านไม่กังวลว่าสหรัฐจะส่งทหารเข้ารุกรานประเทศ หลายประเทศหวังผลประโยชน์การค้าการลงทุนกับอิหร่าน
จะเห็นว่าเมื่อบริบทเปลี่ยนนโยบายเปลี่ยนตาม เมื่อนโยบายเปลี่ยนก็สร้างบริบทขึ้นใหม่ บริบทกับนโยบายต่างส่งผลต่อกันและกัน มีผลต่อกันและกัน

อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลโรฮานี ด้วยผลดีที่ได้จากการระงับคว่ำบาตร นักลงทุนต่างชาติหลายประเทศพากันมาลงทุน หลายโครงการเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ แม้กระทั่งจากยุโรปตะวันตก
นโยบายรัฐบาลอาหรับขณะนี้คือออกหน้าต่อต้านอิหร่านด้วยตัวเอง ดังนั้น แม้การคว่ำบาตรอันเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะยุติ ต้องตามต่อว่าอะไรคือสิ่งที่จะตามมา จะปิดล้อมอิหร่านอย่างไร การกดดันให้ราคาน้ำมันตลาดโลกต่ำไม่สามารถทำได้ตลอดไป
ส่วนในปีหน้าต้องติดตามว่าประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะมีนโยบายต่อภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างไร
24 มกราคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7017 วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2559)
-------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
หากยึดว่าความสำเร็จจากการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ไม่ลดความหวาดระแวง ความไม่เป็นมิตรต่อกัน รัฐบาลสหรัฐยังคงคว่ำบาตรอิหร่านด้วยเหตุผลอื่นๆ อิสราเอลยังเชื่อว่าอิหร่านจะผลิตและสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ในอนาคต ผลประโยชน์ของการเจรจาโครงการนิวเคลียร์จึงไม่ใช่เรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน แต่น่าจะเป็นประโยชน์จากการที่บริษัทต่างชาติเข้าไปมีส่วนโครงการฟื้นฟูอิหร่าน หลายประเทศขายอาวุธแก่อิหร่าน
บรรณานุกรม:
1. Baker, Peter., Sanger E. David., & Gladstone, Rick. (2015, January 17). U.S. Imposes New Sanctions Over Iran Missile Tests. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/01/18/world/middleeast/three-freed-americans-depart-iran-one-remains-us-officials-say.html?_r=0
2. Hashem, Ali. (2015, January 19). Will Iran, Saudi Arabia patch things up? Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2016/01/iran-saudi-arabia-proxy-war-diplomatic-relations-cut.html
3. Iran policy against ‘arrogant’ U.S. won’t change. (2015, July 18). Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/07/18/Khamenei-policy-against-arrogant-U-S-won-t-change-.html
4. JCPOA goes into force; Rouhani says new chapter opens with the world. (2015, January 17). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/index_View.asp?code=252269
5. Kuwaiti emir says Iran has created constructive atmosphere. (2013, December 1). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/component/content/article/94-headline/112503-kuwaiti-emir-says-iran-has-created-constructive-atmosphere-
6. Mohammed Al A'Ali. (2012, December 26). GCC warns Iran 'stop interference'. Gulf Daily News. Retrieved from http://www.gulf-daily-news.com/NewsDetails.aspx?storyid=344444
7. Organisation of Islamic Cooperation. (2016, January 22). FINAL COMMUNIQUÉ OF THE EXTRAORDINARY MEETING OF THE COUNCIL OF FOREIGN MINISTERS OF THE ORGANIZATION OF ISLAMIC COOPERATION ON AGGRESSIONS ON THE EMBASSY OF THE KINGDOM OF SAUDI ARABIA IN TEHRAN AND ITS CONSULATE GENERAL IN MASHHAD. Retrieved from http://www.oic-oci.org/oicv2/topic/?t_id=10837&t_ref=4262&lan=en
8. Rohani vows to bring moderation to the country. (2013, May 28). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/108120-rohani-vows-to-bring-moderation-to-the-country-
9. Spotlight: EU, Iran announce implementation of nuclear deal, sanctions lifted. (2015, January 17). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-01/17/c_135016268.htm
10. Usher, Barbara Plett. (2015, March 16). Iran deal could start nuclear fuel race - Saudi Arabia. BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-middle-east-31901961
-----------------------------