ทรัมป์เอาใจอิสราเอล จุดอ่อนประชาธิปไตย

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาโดนัลด์ ทรัมป์พร้อมกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายคนไปปราศรัยหาเสียงในงานที่จัดโดย The American Israel Public Affairs Committee (AIPAC)
ทรัมป์เริ่มต้นคำปราศรัยกล่าวถึงภูมิภาคตะวันออกกลางประกาศว่านโยบายสำคัญที่สุดคือจัดการอิหร่าน กล่าวว่าตนเป็นผู้ศึกษารายละเอียดเรื่องนี้มากกว่าใคร ชี้ว่าการยกเลิกนโยบายคว่ำบาตรเอื้อให้อิหร่านมีงบประมาณสนับสนุนผู้ก่อการร้ายมากกว่าเดิม ข้อตกลงที่ทำกับอิหร่านช่วยให้อิหร่านสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต
“ข้อตกลงไม่ได้กำหนดให้อิหร่านต้องทำลายขีดความสามารถนิวเคลียร์ทางทหาร เพียงแต่ระงับโครงการนิวเคลียร์ทางทหารตามจำนวนปีที่กำหนด เมื่อครบกำหนดเวลาอิหร่านจะมีขีดความสามารถนิวเคลียร์ทางทหารในระดับอุตสาหกรรม” พร้อมที่จะก้าวต่อไปโดยไม่ต้องเสียเวลาเลย
            ประธานาธิบดีโอบามาจึงทำผิดที่ไปทำข้อตกลงกับอิหร่าน อิหร่านได้รับเงิน 150 พันล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้ หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจะปรับแก้ข้อตกลงเดิม (ที่ E3+3 ทำไว้)
            นอกจากนี้ชี้ว่าอิหร่านคือประเทศผู้อุปถัมภ์ก่อการร้าย ทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางที่เป็นอันตรายต่ออิสราเอล ยุโรป รวมถึงสหรัฐในอนาคต รวมความแล้วต่อต้านอิหร่านสนับสนุนอิสราเอล
วิเคราะห์วิพากษ์เนื้อหาปราศรัยของทรัมป์ :
          ประการแรก เนื้อหาเหมือนนโยบายของนายกฯ เนทันยาฮู
ผู้ที่ติดตามเรื่องราวโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน จะพบข้อสังเกตแรกที่เด่นชัดคือเนื้อหาปราศรัยของทรัมป์ใกล้เคียงกับคำพูดของนายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) แห่งอิสราเอลที่กล่าวถึงข้อตกลงนิวเคลียร์ว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์เอื้อให้อิหร่านสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ “ในเวลาเพียงไม่กี่ปี” “ข้อตกลงไม่ได้ปิดโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านแม้แต่แห่งเดียว ไม่ได้ทำลายเครื่องหมุนเหวี่ยงสักเครื่อง และไม่ได้หยุดการค้นคว้าพัฒนา” “ในทางกลับกันข้อตกลงให้ความชอบธรรมแก่อิหร่านเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์อย่างผิดกฎหมาย ทำให้อิหร่านมีโครงการนิวเคลียร์ใหญ่โตมหึมา” “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ข้อจำกัดต่างๆ จะถูกปลดออก อิหร่านจะมีขีดความสามารถเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์อย่างมหาศาล สามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ภายในเวลาไม่กี่เดือน” “ข้อตกลงเป็นอันตรายร้ายแรงต่อภูมิภาคและต่อโลก คุกคามความอยู่รอดของประเทศอิสราเอล”
            นอกจากเรื่องนิวเคลียร์ นายกฯ เนธันยาฮูเห็นว่าอิหร่านต้องไม่มีขีปนาวุธพิสัยไกล ไม่คิดฆ่าล้างอิสราเอล ไม่สนับสนุนก่อการร้าย ไม่บ่อนทำลายภูมิภาคตะวันออกกลาง
            ทุกประเด็นที่ทรัมป์พูดตรงกับที่นายกฯ อิสราเอลเคยพูดไว้อย่างเหลือเชื่อ ราวกับเป็นคนๆ เดียวกัน

          ประการที่ 2 ความเข้าใจผิดต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
ทรัมป์ชี้ว่าโครงการนิวเคลียร์ปัจจุบันยังมีศักยภาพใช้ทางทหารแต่ถูกระงับในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิด ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่านับจากกรกฎาคม 2015 เมื่ออิหร่านกับ 6 ชาติคู่เจรจา (E3+3) บรรลุร่างข้อตกลงแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ ที่เรียกว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ถือว่าได้ข้อสรุปแล้วว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านโปร่งใส ใช้เพื่อสันติจริงๆ และบัดนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
            ภายใต้ข้อตกลง ขนาดโครงการลดลงไปมาก เช่น ลดจำนวนยูเรเนียมที่เก็บไว้ในคลังให้เหลือเพียงร้อยละ 2 จากที่มีอยู่เดิม และต้องเป็นชนิดที่มีความเข้มข้นไม่เกินร้อยละ 3.67 ลดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงเสริมสมรถนะ (centrifuge) จาก 20,000 เครื่องเหลือเพียง 6,104 เครื่องและจะใช้เครื่องรุ่นเก่าที่สุด กำจัดโอกาสที่จะได้พลูโตเนียมจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมือง Arak
            ทั้งหมดนี้คือการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ให้ใช้เพื่อสันติเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทางทหารตามที่ทรัมป์กับนายกฯ เนทันยาฮูกล่าวอ้าง เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทุกประเทศทั่วโลกใช้เหมือนกัน

            ถ้าพูดจากมุมรัฐบาลโอบามา รัฐบาลโอบามาสรุปว่าถ้าไม่มีข้อตกลง อิหร่านจะสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ 8-10 ลูก และจะผลิตลูกแรกได้ภายในเวลาอย่างเร็วสุด 2-3 เดือน ภายใต้ข้อตกลง หากอิหร่านผิดสัญญาจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีจึงจะสามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก ถ้าอิหร่านผิดสัญญา สหประชาชาติ สหรัฐ อียูจะคว่ำบาตรอิหร่านตามเดิม
ความเข้าใจผิดสำคัญคือการผลิตเป็นอาวุธใช้งานต้องผ่านการทดลองทดสอบหลายขั้นตอน ไม่ใช่เพียงเสริมสมรถนะให้ได้ความเข้มข้นเกินว่าร้อยละ 90 ก็กลายเป็น “อาวุธระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนนั้น IAEA สามารถตรวจจับได้แน่นอน ยิ่งปัจจุบันอุปกรณ์ตรวจจับก้าวหน้ากว่าอดีต การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ยากที่จะหลบเลี่ยงการถูกตรวจจับ
            ใครก็ตามที่ยังชี้ว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านในปัจจุบันมีศักยภาพทางทหาร ในอนาคตสามารถผลิตอาวุธระเบิดนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วจึงเป็นการบิดเบือนความจริง

ข้อเท็จจริงอีกประการคือข้อตกลงนิวเคลียร์ไม่ใช่การตกลงระหว่างรัฐบาลโอบามากับอิหร่านเท่านั้น แต่เป็นข้อตกลงร่วมของ E3+3 ถ้าเป็นข้อตกลงที่ “ฉลาดน้อย” หรือ “เอื้อประโยชน์แก่อิหร่าน” เท่ากับกำลังบอกว่ารัฐบาลของรัสเซีย จีน โดยเฉพาะเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศสอยู่ในข่ายด้วย และเป็นการละเมิดมาตรฐานสากลของ IAEA

วิพากษ์ประชาธิปไตยอเมริกา : หลักคิด ระบบการตัดสินใจไม่ได้ขึ้นกับเหตุผลเสมอไป
            กรณีโครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลโอบามากับทรัมป์มีข้อสรุปแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นเชิงอัตวิสัย (เช่น สีไหนสวยที่สุด) แต่เป็นประเด็นเชิงภววิสัย ข้อสรุปเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิชาการ
            การสรุปว่าอิหร่านในอนาคตจะมีอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วหรือไม่ เป็นเรื่องของเหตุผล ไม่ใช่การเดาสุ่ม ความพึงพอใจส่วนตัว หรือเป็น “ทางเลือก” ของนโยบายที่จะสรุปว่า “มี” หรือ “ไม่มี” ก็ได้ ข้อสรุปเรื่องนี้มีได้เพียงข้อสรุปเดียวนั่นคือไม่สามารถมีอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว

การปกครองประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยกรีกโบราณให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชน เพราะในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิมีเสียง สามารถแสดงออกหรือชี้ทิศทางสังคม ดังนั้นหากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจย่อมง่ายที่จะนำสังคมไปผิดทิศผิดทาง
ข้อเท็จจริงคือ ทุกวันนี้ประเด็นสำคัญๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองหลายเรื่องมีความซับซ้อนและเพิ่มมากขึ้น มีข้อมูลต้องศึกษามาก บางเรื่องต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิค ความรู้เฉพาะทาง การที่ประชาชนคนหนึ่งจะศึกษาเรื่องสองเรื่องนั้นยังพอเป็นไปได้ แต่จะให้รู้ลึกหลายสิบเรื่องต้องอาศัยเวลาไม่น้อย ปัญหาคือประชาชนไม่มีเวลา หวังใช้เวลาเพื่ออย่างอื่นมากกว่า แม้แต่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่อาจเก่งไปทุกเรื่อง

นี่คือประเด็นที่นักการเมืองเข้าใจดีว่าประชาชนคนธรรมดามีความรู้จำกัด ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้อง การทำมาหากินประจำวันมากกว่า
            คงไม่เกินเลยที่จะสรุปว่าชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่านมากเพียงพอ มีแนวโน้มคล้อยตามคำพูดของทรัมป์
            สุดท้าย กลายเป็นว่าประเทศจะดำเนินนโยบายอย่างไร ไปซ้ายหรือขวา ขึ้นกับความสามารถในการพูดของนักการเมือง ผู้นำรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นกับหลักคุณธรรม หลักเหตุผลแต่ประการใด น่าสงสัยว่าจะทำเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือไม่

งานปราศรัยครั้งนี้จัดโดย The American Israel Public Affairs Committee (AIPAC) บทบาทหน้าที่หลักของ AIPAC คือเสริมสร้างและปกป้องความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง เพื่อความปลอดภัยของประเทศอิสราเอล
            พูดง่ายๆ AIPAC เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อประเทศอิสราเอล ทรัมป์กับผู้สมัครหลายคนมาหาเสียงกับกลุ่มที่นิยมชมชอบอิสราเอล ดังนั้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะปราศรัยในประเด็นและเนื้อหาที่ผู้ฟังพอใจ
            หลังการปราศรัยนักวิเคราะห์หลายคนพากันวิพากษ์ว่าทรัมป์พูดเลยเถิดไปมาก โดยเฉพาะเนื้อหาที่พาดพิงประธานาธิบดีโอบามา Lillian Pinkus ประธาน AIPAC ถึงกับออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ ความตอนหนึ่งว่าแม้องค์กรกับรัฐบาลจะมีนโยบายบางอย่างแตกต่างกัน แต่ “เคารพต่อสถาบันประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและประธานาธิบดีบารัก โอบามาของเรา” พร้อมกับขอโทษที่บางช่วงผู้ฟังแสดงออกชื่นชมทรัมป์อย่างเต็มที่

            อันที่จริงแล้วไม่ใช่ความผิดที่พูด “เอาใจคนฟัง” แต่จะผิดถ้าพูดเกินความจริง บิดเบือนความจริง
            ดูเหมือนว่าทรัมป์ในฐานะผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่แตกต่างจากนักการเมือง ผู้นำประเทศอีกหลายคนที่พูดเพียงเพื่อ “เอาใจคนฟัง” โดยไม่สนใจเรื่องข้อเท็จจริง

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
จากการวิเคราะห์เห็นว่าทรัมป์ไม่ผิดที่วิพากษ์ประธานาธิบดีโอบามา เพราะเป็นเรื่องของแนวนโยบายที่แตกต่างกัน ส่วนเรื่องใช้คำ “รุนแรง” คงผิดเรื่องมารยาทเท่านั้น แต่เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งมิใช่หรือ ความผิดสำคัญที่ไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงคือเรื่องที่ทรัมป์บิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่านที่ทรัมป์พูดเองว่าได้ศึกษารายละเอียดรู้เรื่องดีกว่าหลายคน

            ในระบอบประชาธิปไตย คนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกของประชาชน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้โดยอ้างว่าประชาชนเลือกมา ผู้ที่จะเป็นผู้แทนราษฎรต้องมีทักษะความสามารถเหนือคนทั่วไป มีประสบการณ์เหมาะกับตำแหน่ง นอกจากนี้ต้องแน่วแน่ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่เลือกเขาและเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ

James Madison ผู้มีส่วนก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเห็นว่าผู้แทนราษฎรไม่เพียงเป็นภาพสะท้อนสังคม ตามการชี้นำของเสียงข้างมาก ที่สำคัญกว่านั้นจะต้องมีสติปัญญา มีคุณธรรม และหวังประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนของสังคมโดยรวม
            ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้คะแนนเสียง ชนะการเลือกตั้งและได้ถือครองอำนาจ
แต่กลไกประชาธิปไตยของแต่ละประเทศสามารถ “คัดกรอง” ให้ได้ผู้นำประเทศ ผู้แทนราษฎรที่มีคุณภาพหรือไม่ ในกรณีของสหรัฐอเมริกาสามารถติดตามตอนต่อไป
27 มีนาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7080 วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2559)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมามีข่าวดีของอิหร่าน เมื่อ IAEA ประกาศว่าอิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขเบื้องต้นของ JCPOA แล้ว ยืนยันว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านใช้เพื่อสันติเท่านั้น ด้วยเหตุนี้สหรัฐ อียู และคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติจึงยกเลิกการคว่ำบาตร ข่าวดีที่สำคัญกว่ากองทัพสหรัฐไม่เป็นภัยคุกคามต่ออิหร่านดังสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย อย่างไรก็ตามรากความขัดแย้งกับรัฐอาหรับยังคงอยู่และดำเนินต่อไป เพียงแต่ไม่สามารถใช้ประเด็นโครงการนิวเคลียร์เป็นเครื่องมืออีกต่อไป
บรรณานุกรม:
1. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
2. Hanna, Jason., & Liebermann, Oren. (2015, April 3). Iran nuclear framework is a 'grave danger' to the world, Netanyahu says. CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2015/04/03/middleeast/iran-israel-nuclear/
3. McManus, Doyle. (2015, March 3). Herzog: Netanyahu's speech to Congress has politics written all over it. Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/opinion/op-ed/la-oe-mcmanus-netanyahu-speech-iran-politics-20150304-column.html
4. Netanyahu outlines Israeli demands for final nuclear agreement with Iran. (2013, December 10). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-12/10/c_132954390.htm
5. *UPDATE* Transcript Added: Donald Trump AIPAC Speech – 5:00pm EDT (est) LiveStream Video…. (2016, March 21). The Conservative Tree House. Retrieved from http://theconservativetreehouse.com/2016/03/21/donald-trump-aipac-speech-500pm-edt-est-livestream-video/
6. The American Israel Public Affairs Committee. (2016). Our Mission. Retrieved from http://www.aipac.org/en/about/mission
7. The White House. (2015, July 14). A Historic Deal to Prevent Iran from Acquiring a Nuclear Weapon. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/issues/foreign-policy/iran-deal
8. Weigel, David. (2016, March 22). AIPAC’s apology for Trump speech is unprecedented. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/news/post-politics/wp/2016/03/22/aipacs-apology-for-trump-speech-is-unprecedented/
-----------------------------