จีนกับการแก้ปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

ในการแก้ปัญหาโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์กับขีปนาวุธเกาหลีเหนือ หลายฝ่ายเห็นว่าต้องให้รัฐบาลเกาหลีเหนือยกเลิกโครงการทั้งหมด พร้อมกับพุ่งเป้าที่จีน เห็นว่าจีนต้องรับผิดชอบ เนื่องจากมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือมากที่สุด
            คำถามคือข้ออ้างว่าจีนมีอิทธิพลมากที่สุดถูกต้อง สมเหตุผลมากเพียงไร

เหตุที่จีนมีความสำคัญ :
            ย้อนอดีตเมื่อปี 2014 เกาหลีเหนือทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 ประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye) ร้องขอให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยับยั้งการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเกาหลีเหนืออาจเตรียมทดลองนิวเคลียร์อีกครั้ง
            จากการทดลองระเบิดไฮโดรเจนตามคำประกาศของเกาหลีเหนือเมื่อต้นปี 2016 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลเกาหลีใต้ร้องขอให้จีนจัดการเกาหลีเหนืออย่างเป็นรูปธรรมและได้ผลจริงๆ “หวังว่าจีนจะให้ร่วมมือต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติอย่างจริงจัง” ไม่ปล่อยให้เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์
Hwang Joon-kook ทูตพิเศษเกาหลีใต้กล่าวว่า “จีนเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง และมีอิทธิพลมากที่สุดต่อเกาหลีเหนือ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นประเทศสำคัญที่สุดในการแก้ไขสถานการณ์ขณะนี้”
            เหตุที่จีนมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากในด้านการทูตนั้น จีนใกล้ชิดเกาหลีเหนือมากที่สุด คอยปกป้องเกาหลีเหนือจากมติคณะมนตรีความมั่นคงที่จีนไม่เห็นด้วย ที่สำคัญคือด้านเศรษฐกิจ จีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญเพียงรายเดียวของเกาหลีเหนือ คิดมูลค่าการส่งออกนำเข้าราวร้อยละ 90 ของเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ ร้อยละ 80 ของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือมาจากจีน เป็นเหตุผลว่าทำไมจีนจึงมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือ
            Robert G. Sutter อธิบายว่ายุทธศาสตร์ต่อต้านเกาหลีเหนือคือยุทธศาสตร์ปิดล้อม ในการนี้จีนมีผลต่อการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือมากที่สุด เพราะภายใต้บริบทที่กดดันเกาหลีเหนือทุกทิศทาง เกาหลีเหนือยังคงค้าขายกับจีน รัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบ ปกป้องเกาหลีเหนือจากข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง การคว่ำบาตรจากนานาชาติที่สหรัฐเป็นแกนนำจึงไม่ค่อยมีผลต่อ รัฐบาลเกาหลีเหนือยังตั้งมั่นอยู่ได้ มาตรการคว่ำบาตรใดๆ จะสัมฤทธิ์ผลได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับความร่วมมือจากจีน
สรุปสั้นๆ ได้ว่าเศรษฐกิจเกาหลีเหนือยังขับเคลื่อนได้เพราะเลือดที่จีนส่งไปหล่อเลี้ยง บ่อยครั้งที่เกาหลีเหนือยอมร่วมมือเข้าร่วมเจรจาก็เพราะหวังความช่วยเหลือจากจีนเพิ่มเติม
ในสถานการณ์ล่าสุด Hwang Joon-kook ทูตพิเศษเกาหลีใต้ย้ำความสำคัญของจีนอีกครั้งว่าการค้าร้อยละ 90 ของเกาหลีเหนือคือจีน จีนจึงต้องให้ความร่วมมือเพื่อลงโทษเกาหลีเหนือ ด้านจีนเห็นว่าควรเปิดการเจรจา 6 ฝ่าย นำเกาหลีเหนือมาร่วมเจรจาอีกรอบ

ความกังวลของจีน :
            สหรัฐเชื่อว่าจีนยังต้องการสนับสนุนเกาหลีเหนือเพื่อปกป้องให้ระบอบเกาหลีเหนือดำรงอยู่ต่อไป การคงอยู่ของระบอบเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่า จีนเกรงว่าหากเกิดความวุ่นวายจะเกิดผู้อพยพจำนวนมากเข้าจีน ความไม่แน่นอนของคาบสมุทรเกาหลีที่จะตามมา สภาพการณ์ที่ก่อประโยชน์ต่อจีนมากที่สุดคือคาบสมุทรมีเสถียรภาพ
ในสถานการณ์ล่าสุด ประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ ประกาศว่ากำลังพิจารณาทบทวนติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ Terminal high-altitude area defense (THAAD) “เมื่อพิจารณาภัยคุกคามจากนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ข้าพเจ้าจะทบทวนเรื่องติดตั้ง THAAD เพื่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ” “จีนประกาศซ้ำว่าจะไม่อดทนต่อโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ แต่แถลงการณ์ที่เข้มแข็งต้องมีมาตรการรองรับ มิฉะนั้น เกาหลีเหนือจะทดลองนิวเคลียร์อีก ... ข้าพเจ้าเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะไม่ปล่อยให้สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีเลวร้ายกว่านี้”
เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการติดตั้ง THAAD ในเกาหลีใต้ และได้สำรวจจุดติดตั้งแล้ว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้ลังเลใจเนื่องจากจีนคัดค้านอย่างรุนแรง นอกจากนี้ประเด็นเกาหลีใต้จะมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ประธานาธิบดีปาร์คเห็นว่าคงไม่จำต้องกระทำถึงขนาดนั้น
            ถ้อยคำเหล่านี้มีถึงรัฐบาลจีนโดยตรง หวังกดดันให้ร่วมมือต้านเกาหลีเหนือ เป็นวิธีเก่าที่ใช้มาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะประเด็นเกาหลีใต้คิดจะมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง เป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะถ้าเกาหลีใต้มี ญี่ปุ่นจะขอมีด้วย เมื่อนั้นสถานการณ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจะตึงเครียดยิ่งกว่าเดิม

ประเด็นที่จีนกังวลมากที่สุดไม่ใช่ระบบขีปนาวุธ THAAD คลื่นผู้อพยพลี้ภัย เพราะระบบติดตั้งที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว สหรัฐสามารถส่งเรือขีปนาวุธมาประชิดชายฝั่งจีน จีนมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนอยู่แล้ว มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ประเด็นผู้อพยพลี้ภัยจะกระทบเพียงพื้นที่ติดกับเกาหลีเหนือเท่านั้น
            ประเด็นสำคัญที่กังวลคือ หากรัฐบาลเกาหลีเหนือล่ม สหรัฐอาจส่งทหารเข้าเกาหลีเหนือประชิดชายแดนจีนโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง (เหมือนทหารอเมริกันที่ประจำการในเกาหลีใต้ในขณะนี้) กลายเป็นว่าจีนต้องเผชิญหน้ากองทัพสหรัฐทางบกโดยตรง ประโยชน์การใช้เกาหลีเหนือเป็นรัฐกันชนภายใต้บริบทปัจจุบันจึงยังมีความจำเป็น

จีนคุมเกาหลีเหนือได้จริงหรือ :
นับตั้งแต่การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อตุลาคม 2006 เจ้าหน้าที่จีนเห็นว่าเกาหลีเหนือดื้อดึงต่อจีน แต่การแก้ปัญหาจำต้องใช้ทั้งแรงกดดันควบคู่กับการปลอบโยน ให้ของกำนัล
            ในมุมมองของจีน เกาหลีเหนือเป็นเพื่อนบ้านที่สร้างปัญหาเป็นระยะๆ ทำให้จีนต้องเผชิญหน้ากับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ เป็นข้ออ้างให้ประเทศเหล่านี้เสริมสร้างกองทัพปิดล้อมจีน
ถึงกระนั้นไรก็ตาม จีนยังคงเป็นคู่ค้าสำคัญช่วยให้ระบอบเกาหลีเหนืออยู่รอด พร้อมกับสนับสนุนข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง (บางครั้ง) เป็นหลักฐานว่าจีนใช้ทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง เพื่อควบคุมให้เกาหลีเหนืออยู่ได้และไม่ล้ำเส้น

            ในแง่หนึ่ง จีนเปรียบเหมือนพี่ใหญ่ผู้ควบคุมเกาหลีเหนือ ซึ่งในระยะหลังแสดงท่าขัดขืนความสัมพันธ์ดังกล่าวมากขึ้น การทดลองนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดเป็นอีกครั้งที่ตีความได้ว่าไม่สามารถควบคุมรัฐบาลเกาหลีเหนือ

แต่ถ้ามองจากมุมเกาหลีเหนือ การทดลองแต่ละครั้งมีเหตุผลเบื้องหน้าเบื้องหลัง เช่นเมื่อธันวาคม 2002 เกาหลีเหนือประกาศว่าจะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โครงการนิวเคลียร์ต่างๆ รัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช (George W. Bush) ตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางการเงิน ปฏิเสธเจรจากับเกาหลีเหนือ สัมพันธ์ทวิภาคีเสื่อมทรามลงทันที

หากมองตามเหตุผลของเกาหลีเหนือ สถานการณ์นับจากปี 2001 เป็นต้นมา รัฐบาลบุชประกาศมาตรการแข็งกร้าวทางทหาร เกาหลีเหนือกลายเป็นหนึ่งในแกนแห่งความชั่วร้าย (axis of evil) การแสดงออกของเกาหลีเหนือสอดคล้องกับรัฐบาลอิหร่านที่เร่งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนเพื่อตอบโต้นโยบายของรัฐบาลสหรัฐในขณะนั้น
ในบางครั้งอาจเป็นเพียงเพื่อกระชับอำนาจภายใน ดังนั้น “ยุทธศาสตร์การทูตควบคู่การทหาร” ของเกาหลีเหนือจึงเกิดจากเหตุผลมากมายหลายแบบ ไม่อาจตีความว่าเพื่อต้านทุนนิยมเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่จีนต้องการจากเกาหลีเหนือ :
รัฐบาลจีนสนับสนุนข้อมติความมั่นคงสหประชาชาติประณามเกาหลีเหนือ เมื่อเกาหลีเหนือทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในปี 2006 และสนับสนุนข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงอีกหลายฉบับ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตร คำถามคือจีนได้ปฏิบัติตามข้อมติอย่างจริงจังหรือไม่ อะไรที่จีนต้องการจากเกาหลีเหนือ
คำตอบที่ดีที่สุดคือ จีนต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีสงบเรียบร้อย ไม่เกิดความวุ่นวายไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม
            นั่นหมายถึงเกาหลีต้องไม่รวมชาติด้วย ต้องแยกเป็นเหนือ-ใต้ดังที่เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป

            ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐพยายามชี้มาที่จีน รัฐบาลจีนกลับเห็นว่าการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ฮงเล่ย (Hong Lei) กล่าว “จีนยึดมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือบนพื้นฐานเคารพผลประโยชน์ของทุกฝ่าย และถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมของทุกฝ่าย”
จีนเรียกร้องให้รื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่าย (six-party talks) อย่างต่อเนื่อง แต่ยุติไปเมื่อ 2008 เพราะไม่ประสบผลเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม จีนยังเห็นความจำเป็น เห็นว่าปัญหาเกาหลีเหนือไม่อาจแก้ด้วยการคว่ำบาตรกับแรงกดดัน ทุกฝ่ายควรร่วมมือเพื่อคลายแรงตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี พยายามพูดคุยเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
            เพราะการร่วมเจรจาบนโต๊ะประชุมเดียวกันน่าจะปกป้องไม่ให้จีนต้องจ่ายราคาเพียงลำพัง และไม่ใช่ความรับผิดชอบของจีนเท่านั้นหากการเจรจาล้มเหลว รวมถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งลึกๆ แล้ว จีนเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ต้องการญาติดีกับเกาหลีเหนือจริงๆ ไม่ต่างจากที่สหรัฐกำลังปฏิบัติต่อรัสเซียและจีนในขณะนี้

นักวิเคราะห์บางคนตั้งคำถามว่า จีนจะสามารถคงนโยบายนี้ได้อีกนานเพียงไร ระบอบเกาหลีเหนือหากไม่ปฏิรูปตนเองจะคงอยู่เช่นนี้ได้อีกนานเพียงไร ที่สุดแล้วนโยบายจีนต่อเกาหลีเหนือต้องเปลี่ยนแปลง
            ผู้ตอบคำถามข้อนี้อาจไม่ใช่รัฐบาลจีน แต่อยู่ที่ชนชั้นปกครองเกาหลีเหนือมากกว่า แต่การเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือคงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่ปี
            นอกจากนี้ ถ้ามองในกรอบที่กว้างขึ้น ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่หวังให้คาบสมุทรเกาหลีอยู่ในสภาพปัจจุบันดังที่เป็นอยู่ (มีความสงบคู่กับแรงตึงเครียดเป็นระยะๆ) ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ ต่างหวังให้อยู่ในสภาพเช่นนี้เหมือนกัน ด้วยเหตุผลแรงจูงใจที่ต่างกัน สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีจึงดำเนินไปเพราะตัวแสดงเหล่านี้ ไม่เพียงเฉพาะจีนหรือเกาหลีเหนือเท่านั้น
17 มกราคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7010 วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ.2559)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนหรือหรือไม่ เป็นอีกครั้งที่เกาหลีเหนือใช้ “ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์” เพื่อหวังประโยชน์ที่ต้องการ ประเด็นที่ลึกกว่านั้นคือบ่งชี้ว่าขีดความสามารถนิวเคลียร์ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับ รัฐบาลจีนต้องขบคิดว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร หาไม่แล้วจะมีการทดลองครั้งหน้าแน่นอน สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลียังไม่นิ่ง มีผลต่อการเผชิญหน้าของชาติมหาอำนาจ
บรรณานุกรม:
1. (2nd LD) S. Korea presses China to play 'important role' in imposing sanctions against N. Korea. (2015, January 14). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/01/14/13/0301000000AEN20160114010100315F.html
2. Bonnie Glaser, Scott Snyder and John S. Park. (2008, Jan). Keeping an Eye on an Unruly Neighbor: Chinese Views of Economic Reform and Stability in North Korea. United States Institute of Peace. Retrieved from http://www.usip.org/files/resources/Jan2008.pdf
3. Cha, Victor., & Kim, Ellen. (2013, March 7). UN Security Council Passes New Resolution 2094 on North Korea. Center for Strategic and International Studies. Retrieved from http://csis.org/publication/un-security-council-passes-new-resolution-2094-north-korea?
4. China says six-party talks needed to resolve DPRK nuclear issue. (2013, March 6). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-03/06/c_132210852.htm
5. Kang Seung-woo. (2015, January 11). Park hints at THAAD deployment. The Korea Times. Retrieved from http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2016/01/116_195361.html
6. N.K. erecting last stage of rocket. (2012, December 5). The Korea Herald. Retrieved from http://nwww.koreaherald.com/view.php?ud=20121204001037
7. Nathan, Andrew J., & Scobell, Andrew. (2012).China's Search for Security. NY: Columbia University Press.
8. North Korea: U.S. Relations, Nuclear Diplomacy, and Internal Situation. (2013, January 4). Congressional Research Service. Retrieved from http://www.fas.org/sgp/crs/nuke/R41259.pdf
9. Park asks Xi to prevent N.K. nuclear test. (2014, April 23). The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20140423001295
10. Press Conference with President Obama and President Park of the Republic of Korea. (2014, April 25). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/25/press-conference-president-obama-and-president-park-republic-korea
11. S. Korea requests China's cooperation in punishing N. Korea. (2015, January 7). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/01/07/53/0301000000AEN20160107008100315F.html
12. S. Korean, Chinese envoys to meet over N. Korea's nuclear test. (2015, January 13). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/01/14/7/0301000000AEN20160114003900315F.html
13. Seth, Michael J. (2011). A History of Korea: From Antiquity to the Present. United Kingdom: Rowman & Littlefield Publishers.
14. Sutter, Robert G. (2012). China’s Growing International Role. In Tzifakis, Nikolaos (Ed.), International Politics in Times of Change (pp.117-134). Berlin: Springer-Verlag Berlin Heidelberg.
-----------------------------