ท่าทีรัฐบาลอาเบะต่อหญิงบำเรอ

การเข้าใจท่าที นโยบายของรัฐบาลอาเบะต่อประเด็นหญิงบำเรอ (comfort women) เพียงเรื่องเดียวจะช่วยเข้าใจนโยบายความมั่นคงสำคัญๆ ของญี่ปุ่น เพราะเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกัน อยู่ภายใต้กรอบหลักคิดเดียวกัน ท่าทีรัฐบาลอาเบะต่อหญิงบำเรอมีดังนี้
            ประการแรก จุดยืนดั้งเดิมของอาเบะ
            วันที่ 2 มีนาคม 2007 นายอาเบะครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก (เริ่มเดือนกันยายน 2006) กล่าวปฏิเสธว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบังคับผู้หญิงต่างชาติเป็นทาสทางเพศ
            ต่อมาอธิบายเพิ่มว่าหมายถึงไม่เคยบังคับแบบฉกชิงตัวมา
            ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2012 นายอาเบะย้ำว่าไม่มีหลักฐานทหารญี่ปุ่นบีบบังคับคนจีน เกาหลีให้เป็นหญิงบำเรอในช่วงทำสงครามกับเอเชีย ไม่เสียใจที่ไปสักการะทหารญี่ปุ่นที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ พรรค LDP ยังต้องการทบทวนรัฐธรรมนูญเพื่อเสริมสร้างกองกำลังป้องกันตนเอง เพิ่มงบกลาโหม ขยายบทบาทให้ทหารญี่ปุ่นเข้าร่วมการรบ “เพื่อการป้องกันร่วม” (collective self-defense) กับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศญี่ปุ่นโดยตรง
            ท่าทีดังกล่าวขัดแย้งแถลงการณ์โคโนะ และเท่ากับปฏิเสธการยอมรับของอดีตรัฐบาล
            นอกจากนี้ ก่อนที่นายอาเบะดำรงตำแหน่งนายกฯ เขาเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบประวัติศาสตร์ของพรรค LDP ที่นำเสนอมุมมองว่า การทำสงครามกับประเทศในเอเชียเป็นไปเพื่อป้องกันตนเอง ปลดปล่อยประเทศเหล่านี้จากจักรวรรดินิยมตะวันตก ประเด็น “หญิงบำเรอ” และ “การทำลายล้างนานกิง” เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง สนับสนุนจัดตั้งสมาคมปฏิรูปตำราประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นของกลุ่มชาตินิยม เพื่อเน้นประวัติศาสตร์ด้านบวก ลดเนื้อหาที่เป็นด้านมืด เช่นในปี 2001 ตัดคำว่า “หญิงบำเรอ” ออกจากตำรา

            ประการที่ 2 ขอศึกษาทบทวนท่าทีต่อหญิงบำเรอ
            ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2014 นายโยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Suga) หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นของรัฐบาลอาเบะ กล่าวว่ารัฐบาลกำลังทบทวนเรื่องหญิงบำเรอใหม่อีกครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางการขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว หลังจากที่ฝ่ายขวายืนยันไม่เคยมีเรื่องหญิงบำเรอมาก่อน
            ทางการเกาหลีใต้กับจีนวิพากษ์นายกฯ อาเบะว่าพยายามลดระดับคำขอโทษ และการยอมรับความโหดร้ายที่ทหารญี่ปุ่นได้กระทำในช่วงสงคราม
            นายซูกะให้เหตุผลว่าเหตุที่ต้องทบทวนงานศึกษาหญิงบำเรอเพราะเป็นงานของเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ ยอมรับว่ามีการบังคับผู้หญิงให้เป็นหญิงบำเรอในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
            ประเด็นน่าคิดคือ การศึกษาใหม่อีกทั้งเท่ากับปฏิเสธข้อสรุปของการศึกษาครั้งก่อนหรือไม่
            นายโทมิอิชิ มุรายามา (Tomiichi Murayama) อดีตนายกฯ กล่าวเตือนรัฐบาลอาเบะว่าการทบทวนขอโทษหญิงบำเรอจะไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อประเทศ “ไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิดที่กองทัพญี่ปุ่นต้องการสถานบำเรอและรัฐบาลมีส่วนจัดตั้งสถานที่เหล่านั้น”
            หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ รัฐบาลอาเบะประกาศยึดมั่นแถลงการณ์โคโนะ นายซูกะกล่าวว่า “รัฐบาลไม่มีความคิดที่จะทบทวนแถลงการณ์โคโนะ” ที่ผ่านมามีคำแนะนำให้ญี่ปุ่นเจรจากับเกาหลีใต้เรื่องเนื้อหาการขอโทษ การประกาศยึดถือแถลงการณ์โคโนะเกิดขึ้นหลังรัฐบาลเกาหลีใต้ประท้วง ประธานาธิบดีปาร์คประกาศไม่ยอมเจรจากับนายกฯ อาเบะ
            ไม่กี่วันต่อมานายกฯ อาเบะกล่าวด้วยตนเองว่า “จะไม่ทบทวนแถลงการณ์โคโนะในรัฐบาลของข้าพเจ้า” ทั้งยังกล่าวว่า “รู้สึกหัวใจสลายเมื่อพิจารณาความเจ็บปวดแสนสาหัส” ที่เกิดกับหญิงเหล่านั้น
             การเปลี่ยนท่าทีกลับไปกลับมา จนในที่สุดประกาศไม่ทบทวนแถลงการณ์โคโนะน่าจะมาจากแรงกดดันจากรัฐบาลเกาหลีใต้ (และอาจรวมถึงสหรัฐด้วย) แต่ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังคืออะไร การประกาศไม่ทบทวนแถลงการณ์โคโนะ เป็นกรณีที่แตกต่างจากจุดยืนอื่นๆ เช่น การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ การแก้ตำราเรียน ปฏิเสธการสังหารหมู่นานกิง
            แสดงให้เห็นว่าที่สุดแล้วรัฐบาลอาเบะยอมถอยอีกก้าว หรือในอีกมุมหนึ่งคือผลประโยชน์ที่ได้มีคุณค่ายิ่งกว่า

          ประการที่ 3 ยอมรับมุมมองประวัติศาสตร์ แถลงการณ์ของรัฐบาลชุดก่อนๆ
หลังเผชิญแรงกดดันจากเกาหลีใต้และอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ในเวลาต่อมารัฐบาลอาเบะประกาศยอมรับมุมมองประวัติศาสตร์และแถลงการณ์ของรัฐบาลในอดีต นายกฯ อาเบะกล่าวว่า” นักการเมืองควรนบนอบประวัติศาสตร์ และควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญเมื่อมีประเด็นถกเถียง ... ข้าพเจ้าขอประกาศอีกครั้งอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลอาเบะยึดถือการยอมรับประวัติศาสตร์ของรัฐบาลชุดก่อนๆ รวมทั้งแถลงการณ์ของมูรายามาและโคอิซูมิ” (แถลงการณ์โคอิซูมิเมื่อปี 2005 ประกาศว่าญี่ปุ่นจะไม่ทำสงครามอีก) และประกาศหลายครั้งแล้วว่า “รัฐบาลอาเบะจะไม่ทบทวนแก้ไขแถลงการณ์โคโนะ”
            นายกฯ อาเบะพยายามไม่เพื่อผูกมัดตัวเองกับประวัติศาสตร์ โยนให้เป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะค้นหาคำตอบ การค้นหาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องทางวิชาการก็จริง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบันผูกโยงกับประวัติศาสตร์ ประเด็นข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูเป็นตัวอย่างที่ต้องหยิบยกประวัติศาสตร์ และฝ่ายญี่ปุ่นก็ใช้ประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
            การที่นายกฯ อาเบะพยายามชี้ว่าไม่ควรนำเรื่องประวัติศาสตร์มาเป็นประเด็น จึงเป็นกรณีเฉพาะเจาะจงเรื่องหญิงบำเรอเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่จีน เกาหลีใต้กับอีกหลายประเทศใช้ประเด็นหญิงบำเรอเป็นเครื่องโจมตีรัฐบาลอาเบะ

            ในอีกด้านหนึ่ง ในขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้ประวัติศาสตร์ ตามคำสั่งของรัฐบาลอาเบะ เช่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวจากสื่อว่าสำนักพิมพ์ Suken Shuppan ของญี่ปุ่นได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นแก้ไขตัดเรื่องหญิงบำเรอออกจากหนังสือ 3 เล่ม
นอกจากการแก้ไขตำราเรียนภายในประเทศแล้ว ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวมุ่งต่อต่างประเทศ เช่น Ikuhiko Hata นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกับพวกรวม 19 คนเห็นว่าตำราประวัติศาสตร์ Traditions & Encounters: A Global Perspective on the Past ของ McGraw-Hill ที่ระบุว่ามีหญิงบำเรอถึง 200,000 คนนั้นมากเกินจริง ตัวเลขจริงน่าจะอยู่ที่ราว 20,000 คน และปฏิเสธว่าทหารญี่ปุ่นไม่ได้สังหารหมู่หญิงบำเรอเพื่อกลบเกลื่อนความจริง ชี้ว่าไม่มีหลักฐานข้อมูลดังกล่าว เรียกร้องให้สำนักพิมพ์แก้ไขให้ถูกต้อง
การเอ่ยปากว่ายอมรับประวัติศาสตร์จึงสวนทางกับการแก้ไขตำราประวัติศาสตร์

ประการที่ 4 นายกฯ อาเบะไม่เอ่ยคำว่า “ขอโทษ”
ในการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา 2015’ (Asian-African Summit 2015) เมื่อปลายเมษายนที่ผ่านมา นายกฯ อาเบะกล่าวสุนทรพจน์ย้ำว่าญี่ปุ่นจะ “แก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศต่างๆ ด้วยสันติวิธี” “ญี่ปุ่น ด้วยความรู้สึกสำนึกผิดอย่างยิ่ง (deep remorse) ต่อสงครามในอดีต ขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นชาติที่ยึดมั่นในหลักการทั้งหลายของบันดุง (Bandung) ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม”
            มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านายกฯ อาเบะไม่ใช้คำว่า “ขอโทษด้วยความจริงใจ” (heartfelt apology) ต่อความทุกข์ยากที่ญี่ปุ่นกระทำต่อประชาชนในเอเชียจาก “การปกครองอาณานิคมและการรุกราน” ดังเช่นนายโทมิอิชิ มุรายามากับนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เคยใช้เมื่อปี 1995 กับ 2005 ตามลำดับ
            อันที่จริงก่อนแสดงสุนทรพจน์ นายกฯ อาเบะเอ่ยปากแล้วว่าจะไม่ใช้คำว่า “การรุกราน” หรือ “ขอโทษ” ให้เหตุผลว่า “ถ้าแถลงการณ์เหมือนสมัยนายกฯ มูรายามากล่าวในวาระครบรอบ 50 ปีสงคราม (โลกครั้งที่ 2) และเหมือนของ นายกฯ โคอิซูมิในวาระครบรอบ 60 ปีก็ไม่จำต้องแถลงซ้ำอีก” “อย่างที่ผมเคยพูดแล้วว่า ผมสืบทอดมรดกของมุมมองประวัติศาสตร์ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเขียน (คำเหล่านั้น) ซ้ำ” และต้องการแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นในปัจจุบันตั้งอยู่บน “เส้นทางการเป็นชาติรักสันติและมุ่งมั่นที่จะมีส่วนสนับสนุนสันติภาพ”

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            เมื่อประเมินจากจุดยืนของอาเบะตั้งแต่ต้นจนถึงล่าสุด นายกฯ อาเบะผ่อนคลายท่าทีแข็งกร้าว อย่างไรก็ตามเกิดข้อสงสัยว่า แม้ปากพูดยอมรับจุดยืนของรัฐบาลชุดก่อน แต่การแสดงออกไม่ชัดเจน ขัดแย้งในบางจุด
ปลายเดือนพฤษภาคม หลังนายกฯ อาเบะประกาศยอมรับแถลงการณ์โคโนะและอื่นๆ ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยังเห็นว่าญี่ปุ่นจำต้องยอมรับความผิดพลาดในอดีต ความเห็นสาธารณชนญี่ปุ่นต้องการปฏิเสธการตีความประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ ตามแนวทางของนักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายขวา โดยรวมแล้วญี่ปุ่นได้แสดงความสำนึกผิดหรือขอโทษ (remorse or apologies) ต่อสงครามแล้ว โดยเฉพาะจากนายกรัฐมนตรีมูรายามาเมื่อ 20 ปีก่อน แต่เฉพาะเรื่องหญิงบำเรอ การสังหารหมู่นานกิงนั้นยังไม่ชัดเจนนัก
ด้านอดีตนายกรัฐมนตรีมุรายามาเรียกร้องให้นายกฯ อาเบะเอ่ยการกระทำอันโหดร้ายในสมัยสงครามอย่างสัตย์ซื่อตรงไปตรงมา ส่วนนาย Yohei Kono อดีตหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีผู้ประกาศแถลงการณ์โคโนะตั้งข้อสงสัยว่านายกฯ อาเบะยอมรับจุดยืนท่าทีของรัฐบาลชุดก่อนๆ ตามที่กล่าวไว้หรือไม่

ถ้ารัฐบาลอาเบะขอโทษอย่างจริงใจ (ไม่ว่าจะเอ่ยคำดังกล่าวหรือไม่) ยอมรับความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลก และตั้งใจว่าจะไม่ให้เกิดซ้ำอีก ญี่ปุ่นในอนาคตคงไม่เป็นผู้ก่อสงครามอีก แต่ถ้าไม่เป็นจริงตามนั้น ญี่ปุ่นอาจเข้าสงครามอีกครั้งเพราะจำต้องป้องกันตนเองอีกรอบ เพียงแต่คราวหน้าคงเปลี่ยนเป็นการปลดปล่อยชาติเอเชียแปซิฟิกจากจักรวรรดินิยมจีน
อาจเร็วเกินไปที่จะสรุปฟันธงในตอนนี้ แต่ทุกอย่างจะกระจ่างชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
21 มิถุนายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6801 วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2558)
--------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
            “หญิงบำเรอ” คือ สตรีที่ถูกบังคับให้มาปรนเปรอความสุขทางเพศแก่ทหารของกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสตรีจากหลายประเทศที่กองทัพญี่ปุ่นยาตราทัพไปถึง ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีกับจีน
            ข้อเขียน “โลกไม่ลืม “หญิงบำเรอ” (comfort women)” ให้ความเข้าใจพื้นฐาน เหตุการณ์ในอดีต เพื่อนำสู่การเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ หญิงบำเรอเกี่ยวข้องกับประเด็นอื่นๆ เช่น การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ การปรับแก้ตำราเรียน การสังหารหมู่นานกิง การปรับเปลี่ยนนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลอาเบะ พัวพันถึงยุทธศาสตร์สหรัฐฯ นำเสนอท่าทีของประเทศต่างๆ กลยุทธ์ เทคนิคของแต่ละประเทศทั้งฝ่ายรุกกับตั้งรับ จนถึงการวิเคราะห์องค์รวมให้เห็นภาพทั้งหมด เกี่ยวข้องกับประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกโดยตรง
หญิงบำเรอคือสตรีหลายประเทศที่ถูกบังคับให้มาปรนเปรอความสุขทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่น เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวของหญิงบำเรอถูกนำมาตีแผ่จากฝ่ายเกาหลีใต้ จีน กลายเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลฝ่ายขวาญี่ปุ่น เชื่อมโยงกับนโยบายความมั่นคงที่ญี่ปุ่นต้องการมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค เชื่อมโยงกับความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. ธเนศ ฤดีสุนันท์. (2553). ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาตินิยมจีนกับญี่ปุ่นในประเด็นสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 (1937-1945). (วิทยานิพนธ์). Retrieved from http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/1296/04chapter3.pdf
2. Abe says no ‘apology’ needed in statement. (2015, April 21). The Japan News. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0002096962
3. Abe says there will be no change to wartime sex slave apology. (2014, March 14). Japan Today/AFP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/abe-says-there-will-be-no-change-to-wartime-sex-slave-apology
4. Abe to become Japan's 7th PM in 6 years after landslide LDP win. (2012, December 17). Japan Today. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/exit-polls-ldp-wins-japan-election
5. Cabinet Secretariat. (2015, April 22). Address to the Asian-African Summit 2015-- on the occasion of the Asian-African Conference Commemoration-- by Prime Minister Shinzo Abe. Retrieved from http://japan.kantei.go.jp/97_abe/statement/201504/aas2015.html
6. Hirano, Ko. (2015, April 22). Abe’s omissions in Jakarta were ‘unwise’ step backward, historian says. The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2015/04/22/national/politics-diplomacy/abes-omissions-jakarta-unwise-step-backward-historian-says/#.VTeLudKqqko
7. Hsieh Chia-chen, & Y.F. Low. (2015, Jan 10). Taiwan demands Japan's apology over comfort women issue. CNA. Retrieved from http://focustaiwan.tw/news/aipl/201501100019.aspx
8. Ignatius, David. (2015, March 26). David Ignatius’s full interview with Japanese Prime Minister Shinzo Abe. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/blogs/post-partisan/wp/2015/03/26/david-ignatiuss-full-interview-with-japanese-prime-minister-shinzo-abe/
9. Japan may make another provocative move over WWII sex slavery. (2014, February 20). The Japan Times/AP. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2014/02/20/national/japan-may-make-another-provocative-move-over-wwii-sex-slavery/#.Uwa6p2KSz6Q
10. Japan may review study on WWII sex slavery. (2014, February 21). Japan Today/AP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/japan-may-review-study-on-wwii-sex-slavery
11. Japan says it has no plan to revise wartime sex-slave apology. (2014, March 11). Japan Today/AFP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/japan-says-it-has-no-plan-to-revise-wartime-sex-slave-apology
12. Lee Hsien Loong. (2015, May 29). Keynote Address: Lee Hsien Loong. IISS Shangri-La Dialogue 2015. Retrieved from https://www.iiss.org/en/events/shangri%20la%20dialogue/archive/shangri-la-dialogue-2015-862b/opening-remarks-and-keynote-address-6729/keynote-address-a51f
13. Murayama says 1995 sex slavery apology review not in Japan's interest. (2014, February 28). Japan Today/AFP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/murayama-says-1995-sex-slavery-apology-review-not-in-japans-interest
14. Sandler, Stanley (Ed.). (2001). Comfort Women. In World War II in the Pacific: An Encyclopedia. (pp. 259-263). New York : Garland Publishing, Inc.
15. Yamaguchi, Mari.  (2015, June 9). Japan Ex-Leaders Known for WWII Apologies Want Abe to Repeat. The New York Times/AP. Retrieved from http://www.nytimes.com/aponline/2015/06/09/world/asia/ap-as-japan-wwii-apology.html?_r=0
16. Yoshida, Reiji. (2015, March 18). Japanese historians seek revision of U.S. textbook over ‘comfort women’ depiction. The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2015/03/18/national/history/japanese-historians-seek-revision-of-u-s-textbook-over-comfort-women-depiction/#.VQlmj9KUfmA
---------------------------------