ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ไฮโดรเจน การทูตแบบเกาหลีเหนือ

เกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ชนิดระเบิดไฮโดรเจน (hydrogen bomb: H-bomb) และเป็นการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกภายใต้ผู้นำคิม จ็อง-อึน (Kim Jong-un)
H-bomb เป็นระเบิดนิวเคลียร์ที่พัฒนาต่อจากระเบิดนิวเคลียร์รุ่นแรกๆ ที่เรียกว่า A-bomb (อย่างที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2) มีอานุภาพร้ายแรงกว่ามาก
The Rodong Sinmun สื่อเกาหลีเหนือรายงานความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนอย่างเลิศเลอ เป็นผลจากสติปัญญาอันเลิศล้ำ เทคโนโลยีและความพยายามของเกาหลีเหนือ เสริมสร้างฐานะประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อปกป้องอธิปไตย จากการถูกข่มขู่คุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากขั้วสหรัฐ เพื่อสันติสุขและความมั่นคงของคาบสมุทรเกาหลี
เกาหลีเหนือเป็นชาติรักสันติอย่างแท้จริง พยายามทุกอย่างเพื่อพิทักษ์สันติภาพและความมั่นคงของคาบสมุทรจากฉากทัศน์ที่สหรัฐทำสงครามนิวเคลียร์
เกาหลีเหนือจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน จะไม่ส่งมอบเทคโนโลยีแก่ผู้ใดดังที่ประกาศแล้ว และจะไม่หยุดพัฒนานิวเคลียร์ ไม่ถอดถอนระบบต่างๆ จนกว่าสหรัฐจะยุตินโยบายอันเป็นปฏิปักษ์
            ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ผู้นำคิมได้ประกาศล่วงหน้าแล้วว่าประสบความสำเร็จในการสร้างระเบิดไฮโดรเจน เกาหลีเหนือ “จึงมีทั้งระเบิดนิวเคลียร์ (A-bomb) และระเบิดไฮโดรเจน (H-bomb) พร้อมปกป้องอธิปไตยและอนาคตของชาติ”
            การทดลองครั้งนี้จึงสอดคล้องกับคำประกาศเมื่อปลายปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนไม่เชื่อว่าเป็นการทดลองระเบิดไฮโดรเจน อาจมีการศึกษาบ้างแต่ยังไม่ถึงขั้นทดสอบระเบิด Josh Earnest โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่าจากข้อมูลที่ได้รับยังไม่เพียงพอที่จะยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีความสามารถผลิตระเบิดไฮโดรเจน

ยั่วยุขั้วสหรัฐแต่จีนควักกระเป๋าจ่าย :
            การวิเคราะห์เบื้องต้นบ่งบอกว่าเกาหลีเหนือต้องการยั่วยุ เพราะเคยทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้งถูกนานาประเทศกล่าวโจมตี คว่ำบาตร ครั้งนี้ก็เช่นกันประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye) ประกาศว่าเกาหลีใต้จะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างใกล้ชิดเพื่อลงโทษเกาหลีเหนือในเหตุทดลองนิวเคลียร์ครั้งนี้ อาจยกระดับการคว่ำบาตร
            รัฐบาลเกาหลีเหนือย่อมคิดล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเผชิญอะไรบ้าง
            รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศมานานแล้วว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง พร้อมตอบโต้ประเทศทุนนิยมอย่างสาสม แต่รัฐบาลโอบามาปรับเปลี่ยนนโยบายเจรจา กำหนดเป้าหมายว่าถ้าจะเจรจาจะหมายถึงเกาหลีเหนือจะต้องยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ที่เป็นภัยคุกคามทั้งหมด หวังป้องกันไม่ให้ยั่วยุแล้วขอเจรจา แต่สุดท้ายยังเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์ต่อไป

            ไม่ว่าการทดลองที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้งจะช่วยให้เกาหลีเหนือเป็นชาติมีอาวุธนิวเคลียร์มากน้อยเพียงใด แต่ละครั้งส่งผลสะเทือนต่อความมั่นคงภูมิภาค ครั้งนี้ก็ไม่เว้น
Yonhap สื่อทางการเกาหลีใต้รายงานว่าการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดนี้ อาจเป็นเหตุให้เกาหลีใต้พิจารณาประจำการอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapons) รวมถึงระบบต่อต้านขีปนาวุธ Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) เพราะหากเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีใต้ย่อมต้องการเช่นกัน พร้อมระบบป้องกัน
            ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐประจำการอาวุธนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งในเกาหลีใต้ และถอนกลับไปเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น เป็นที่รับทราบทั่วไปว่าปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐหวังติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว กระทบต่อจีนโดยตรง

            Charles Ferguson จาก Federation of American Scientists เห็นว่าหากสหรัฐไม่สามารถสร้างความมั่นใจแก่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น 2 ประเทศนี้จะเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หากประเทศใดประเทศหนึ่งมีจะกระตุ้นให้อีกประเทศต้องการมีไว้ในครอบครองเช่นกัน
            ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ รัฐบาลเกาหลีเหนือชี้ว่าเรื่องทั้งหมดคือเรื่องของเกาหลีเหนือกับขั้วสหรัฐเช่น เป็นการปกป้องอธิปไตยจากการข่มขู่ของขั้วสหรัฐ ถ้ามองในกรอบแคบ หากอยากให้เหตุการณ์สงบโดยเร็ว (อย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง) รัฐบาลจีนอาจต้องส่งมอบความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือเพิ่มเติม มิฉะนั้นรัฐบาลอาเบะกับโอบามาอาจฉวยเป็นข้ออ้างเสริมสร้างกำลังรบในภูมิภาค ติดตั้ง THAAD ในเกาหลีใต้ ให้คิดเสียว่าเป็นของขวัญปีใหม่

            เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมารัฐบาลอาเบะกับรัฐบาลปาร์คเพิ่งจะบรรลุร่างข้อตกลงแก้ไขข้อพิพาทเรื่อง “หญิงบำเรอ” (comfort women) นายกฯ อาเบะจะ “แสดงความรู้สึกขอโทษ” (express feelings of apology) ที่สำคัญคือจะเป็นการแก้ไขครั้งสุดท้าย เป็นท่าทีสุดท้ายที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดอีกในอนาคต
บทความ “ญี่ปุ่นกับร่างข้อตกลงแก้ไขข้อพิพาทหญิงบำเรอ” เมื่อสัปดาห์ก่อนได้นำเสนอว่า “การกระชับความสัมพันธ์รอบนี้อาจมีข้อตกลงลับเรื่องความร่วมมือทางทหารต้านจีน ซึ่งจะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป” “เป็นไปได้ว่าในปี 2016 นี้ การเผชิญหน้าระหว่างขั้วจีนกับขั้วสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะรุนแรงกว่าเดิม การปรับความสัมพันธ์ครั้งนี้เป็นการปูทางสู่แผนการเผชิญหน้ากับจีน ประเด็นเกาหลีเหนืออาจปะทุขึ้นอีกครั้ง” เพราะเรื่องราวทั้งหมดเชื่อมโยงกัน
เพียงแต่ว่าประเด็นเกาหลีเหนือปะทุเร็วกว่าที่คิดไว้มาก ถ้าเชื่อว่าเกาหลีเหนือวางแผนโดยอิงการปรับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น นับว่าเป็นอีกครั้งที่เกาหลีเหนือใช้ “ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์”

อาจเป็นการทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์อีกครั้ง :
            จากข้อมูลที่ปรากฏ ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าไม่น่าจะเป็น H-bomb เพราะเกาหลีเหนือคงไม่ก้าวหน้าขนาดนั้น การสั่นสะเทือนและจุดเกิดเหตุมีลักษณะเหมือนกับการทดลอง A-bomb เมื่อ 3 ครั้งก่อน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าการทดลองครั้งล่าสุดไม่ใช่ H-bomb แต่เป็น A-bomb
            ถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบจุดระเบิด A-bomb เป็นครั้งที่ 4 แล้ว มีความรู้ประสบการณ์มากขึ้น

Park Won-gon จาก Handong Global University แสดงทัศนะว่าแม้นานาชาติจะยังไม่ยอมรับว่าเกาหลีเหนือเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่โดยพฤตินัยถือว่ามีฐานะดังกล่าวแล้วเนื่องจากประสบความสำเร็จในการทดลองถึง 4 ครั้งแล้ว และดูจากขีดความสามารถโดยรวม พลูโตเนียมที่เก็บสะสม
ประเด็นที่น่าคิดคือ ต่อหน้าประชาคมโลก เกาหลีเหนือใช้วิธีหยุดการทดลอง A-bomb ไว้ตรงครั้งที่ 3 จากนั้นประกาศว่าเป็นการทดลอง H-bomb หากใช้วิธีนี้ต่อไปอีก 2 ครั้ง เกาหลีเหนือจะประกาศว่าได้ทดลอง H-bomb 3 ครั้ง ทั้งๆ ที่ความจริงคือได้ทดลอง A-bomb รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง
H-bomb อาจไม่ใช่เรื่องจริง แต่ A-bomb คือความจริงและพัฒนามากขึ้นทุกที เป็นวิธีซ่อนการทดลอง A-bomb ไว้ในคราบ H-bomb
อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าข้อมูลต่างๆ ยากจะพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือเท็จ ในขณะนี้จึงยากจะมีข้อสรุปชัดเจน อีกทั้งยังมีหลายขั้นตอนกว่าจะกลายเป็น “อาวุธ” ที่ใช้การได้จริง ต้องพัฒนาให้เป็น “หัวรบ” มีระบบนำส่งที่ใช้การได้จริง เช่น ด้วยขีปนาวุธ

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
Narushige Michishita อธิบายอย่างน่าสนใจว่าวิธีการของเกาหลีเหนือคือสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์” เป็นการพัฒนาหรือเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์การทูตควบคู่การทหาร” ที่ใช้มาตลอด
“ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์” เริ่มต้นเมื่อปี 1993 ประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons: NPT) เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐขอเจรจาทวิภาคีทันที แต่ไม่สำเร็จ ไม่มีทางออกชัดเจน รัฐบาลเกาหลีใต้วิตกกังวลอย่างยิ่ง รัฐบาลสหรัฐเริ่มคว่ำบาตรเศรษฐกิจเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง ฝ่ายเกาหลีเหนือตอบโต้ว่าการประกาศคว่ำบาตรเท่ากับประกาศสงคราม วิกฤตคลี่คลายเมื่ออดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์เดินทางไปเยือนอย่างไม่เป็นทางการ สามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้นำคิม อิล-ซุง (Kim Il-sung) 
ธันวาคม 2002 เกาหลีเหนือขยับ “ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์” อีกขั้นด้วยการประกาศว่าจะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โครงการนิวเคลียร์ต่างๆ สหรัฐตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรงการเงิน ปฏิเสธเจรจากับเกาหลีเหนือ
2006 เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก ผลการเจรจาต่อรองรัฐบาลสหรัฐถอดเกาหลีเหนือจากกลุ่มรัฐที่สนับสนุนก่อการร้าย ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลสหรัฐกับญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในญี่ปุ่นเมื่อปี 2007
เหตุทดสอบจุดระเบิดไฮโดรเจนครั้งนี้คือการใช้ “ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์” อีกครั้ง

ที่ผ่านมาหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐยังไม่ยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีระเบิดนิวเคลียร์ แม้บางคนจะยอมรับว่าเคยทดสอบจุดระเบิด A-bomb ใต้ดินมาแล้ว 3 ครั้งก็ตาม อันที่จริงแล้วถ้าจะพิสูจน์ว่ามีระเบิดนิวเคลียร์จริงหรือไม่ เป็นประเภทใด เครื่องมือวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ แต่ถ้าพิสูจน์ว่าเกาหลีเหนือมีจริงจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลคิมต้องคิดให้รอบคอบ เพราะอาจเป็นย่างก้าวที่ไม่อาจถอยหลังกลับเนื่องจากชาติมหาอำนาจทั้งหลายจะไม่ปล่อยทิ้งไว้
“การคุยโว” กับ “การมีอาวุธจริง” เป็นบริบทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นำสู่การตอบโต้ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงเช่นกัน
            รัฐบาลเกาหลีเหนือถนัดเรื่องการเจรจาต่อรองเป็นเลิศย่อมรู้ดีว่าควรปฏิบัติอย่างไร เส้นต้องห้ามอยู่ที่ใด
            จากนี้ไปต้องติดตามผลการตรวจสอบยืนยันว่าเป็นการทดลองระเบิดไฮโดรเจนหรือไม่ ประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างเกาหลีใต้ จีน สหรัฐจะตอบโต้อย่างไร เรื่องจะจบเพียงเท่านี้หรือว่าเป็นเพียงแผนขั้นแรกของรัฐบาลคิม จ็อง-อึน
10 มกราคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7003 วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ.2559)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เวลากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนด้านความมั่นคงมักจะเป็นความขัดแย้งเสียมากกว่าแต่กรณีเกาหลีเหนือเป็นข้อยกเว้น สองมหาอำนาจสามารถร่วมมือกันได้ ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลบารัก โอบามาเน้นแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางทูตไม่หวังยกระดับความขัดแย้ง
บรรณานุกรม:
1. (3rd LD) S. Korea to work with partners to punish N. Korea for H-bomb test. (2016, January 6). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/01/06/19/0301000000AEN20160106006354315F.html
2. Choe, Sang-Hun. (2015, December 10). Kim Jong-Un’s Claim of North Korea Hydrogen Bomb Draws Skepticism. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/12/11/world/asia/north-korea-kim-hydrogen-bomb.html
3. ‘Comfort women’ deal reached / Japan to give ¥1 billion to new ROK foundation. (2015, December 28). The Japan News. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0002651144
4. DPRK Proves Successful in H-bomb Test. (2016, January 6). The Rodong Sinmun. Retrieved from http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_01&newsID=2016-01-06-0001
5. Ed Mazza. (2015, December 10). Kim Jong Un Claims North Korea Has Hydrogen Bomb. The Huffington Post. Retrieved from http://www.huffingtonpost.com/entry/north-korea-hydrogen-bomb_56693255e4b0f290e5220a7b
6. (LEAD) N.K.'s latest nuclear test could give rise to calls for tactical nuclear weapons in S. Korea. (2016, January 7). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/01/07/43/0301000000AEN20160107001151315F.html
7. Michishita, Narushige. (2010). North Korea's Military-Diplomatic Campaigns, 1966-2008. Oxon: Routledge.
8. Press Conference with President Obama and President Park of the Republic of Korea. (2014, April 25). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/25/press-conference-president-obama-and-president-park-republic-korea
9. Sharp, Andy., & Kim, Cynthia., & Kim, Sam. (2016, January 6). North Korea Quake Near Nuclear Site Was Artificial, Says South. Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/articles/2016-01-06/magnitude-5-1-quake-detected-near-north-korea-nuclear-test-site
10. Song, Sang-ho.  (2016, January 6). N.K. nuke program progresses. The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20160106001160
-----------------------------