รัฐบาลตุรกีกับข้อกล่าวหาเรื่องน้ำมัน

IS ขายน้ำมันผ่านพรมแดนประเทศใด : ตั้งแต่ IS/ISIL/ISIS เริ่มปรากฏตัวก่อการใหญ่ทั้งในซีเรียกับอิรัก หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยว่าทำไม IS จึงมีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่ดีเยี่ยม รายได้ของ IS มาจากที่ใด หนึ่งในคำตอบคือจากรัฐบาลหรือเอกชนที่ให้การสนับสนุนทั้งอาวุธกับงบประมาณ ต่อมาเมื่อ IS สามารถยึดบ่อน้ำมัน โรงกลั่นหลายแห่งทั้งในซีเรียกับอิรัก จึงมีผู้เอ่ยว่า IS ขายน้ำมันเป็นสินค้าออก
            เป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ทำลายบ่อน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน
            เมื่อ IS ขายน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก มีคำถามตามมาว่าขายให้ประเทศใด ขนน้ำมันผ่านประเทศใด ตั้งแต่ปี 2014 ก็มีข่าวว่า IS ขนน้ำมันซีเรียเข้าไปขายในตุรกี นาย Günter Meyer ผู้อำนวยการ Center for Research into the Arabic World แห่งมหาวิทยาลัย University of Mainz ระบุว่าถ้าไม่นับเงินที่ได้จากรัฐบาลหรือเศรษฐีของประเทศใดๆ แล้ว IS มีรายได้จากการขายน้ำมัน น้ำมันเหล่านี้คือน้ำมันจากบ่อน้ำมันทางภาคเหนือของซีเรีย “พวกเขาขนส่งน้ำมันเหล่านี้ข้ามเข้าไปในประเทศตุรกี เป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญของพวกเขา”
            นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า IS ส่งออกน้ำมันผ่านพ่อค้าชาวเคิร์ดอิรัก ผ่านช่องทางของเคิร์ดอิรัก นาย Shwan Zulal ผู้อำนวยการบริหารของ Carduchi Consulting ในกรุงลอนดอน ให้รายละเอียดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2014 ว่า IS “หวังขายน้ำมันราคาราว 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเท่ากับลดราคาราวร้อยละ 70” จากนั้นพวกเคิร์ดนำไปขายต่อโดยไม่ผ่านรัฐบาลแบกแดด
            ข้อกล่าวหาผู้ก่อการร้ายขนน้ำมันซีเรีย/อิรักไปขายในตุรกี/เคิร์ดอิรักจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และน่าสนใจว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

ปูตินกล่าวหารัฐบาลตุรกีพัวพันกับกิจการน้ำมันของ IS :
จากเหตุยิงเครื่องบิน Su-24 จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลตุรกีกับรัสเซีย กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างว่าเครื่องบินถูกยิงตกขณะบินอยู่ในน่านฟ้าซีเรีย และตุรกีไม่ได้พยายามติดต่อนักบินรัสเซียล่วงหน้า เครื่องบินไม่ได้คุกคามตุรกีแต่อย่างไร กำลังสู่กับผู้ก่อการร้ายทางตอนเหนือ
ทางการตุรกีแถลงว่าได้เตือนเครื่องบินรัสเซียหลายครั้งก่อนยิงขีปนาวุธ ประธานาธิบดีแอร์โดกานยืนยันว่าตุรกีไม่ต้องการขัดแย้งกับรัสเซีย แต่จำต้องทำเช่นนั้น “เราเพียงปกป้องความมั่นคงของเราและสิทธิ์ของพี่น้องเรา” ประธานาธิบดีแอร์โดกานหมายถึงคนเชื้อสายเติร์กที่อยู่ในประเทศซีเรีย

ประธานาธิบดีปูตินเห็นว่าพฤติกรรมของตุรกีคือ “การแทงข้างหลัง” และเท่ากับ “สนับสนุนผู้ก่อการร้าย” เป็นเวลานานแล้วที่รัสเซียมีข้อมูลว่า “ตุรกีได้รับน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของน้ำมันจำนวนมากจากดินแดนที่ผู้ก่อการร้ายยึดครองในเขตแดนซีเรีย” เป็นคำอธิบายว่าทำไมจึงมีเงินมหาศาลเข้ากระเป๋า “IS มีเงินเยอะหลายร้อยล้านหรือเป็นพันล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมัน ซ้ำยังได้รับการปกป้องจากกองทัพทั้งประเทศ (หมายถึงกองทัพประเทศใกล้เคียง) เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงปฏิบัติการอย่างกล้าหาญและอึกทึกครึกโครม” ก่อการร้ายทั่วโลกแม้กระทั่งใจกลางยุโรป (หมายถึงกรุงปารีส)
ด้านนายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีรัสเซียอธิบายว่ารัฐบาลตุรกีปกป้อง IS เพราะ “เจ้าหน้าที่ตุรกีบางคนมีผลประโยชน์การเงินที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งผลผลิตน้ำมันจากโรงกลั่นที่ ISIS ควบคุม”
สัปดาห์ต่อมา กระทรวงกลาโหมรัสเซียเชิญเจ้าหน้าที่กองทัพและผู้สื่อข่าวนับร้อยดูหลักฐานภาพจากดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงภาพรถบรรทุกน้ำมันนับพันคันเดินทางจากซีเรียไปสู่ท่าเรือและโรงกลั่นน้ำมันของตุรกี รถบรรทุกเหล่านี้เดินทางจากพื้นที่ควบคุมของผู้ก่อการร้าย IS
Anatoly Antonov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซียกล่าวว่า “ลูกค้าหลักของน้ำมันที่ขโมยจากซีเรียและอิรักคือตุรกี ... ประธานาธิบดีแอร์โดกานกับครอบครัวของท่านเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายนี้” ซึ่งหมายถึงบุตรเขยผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และโยงถึงบุตรชายที่เป็นประธานบริษัทน้ำมันใหญ่แห่งหนึ่งของตุรกี

            ประธานาธิบดีแอร์โดกานปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่าตุรกีไม่ได้ขายน้ำมันของ IS “ตุรกีไม่ได้สูญเสียคุณค่าทางศีลธรรมด้วยการขายน้ำมันขององค์กรก่อการร้าย” ถ้ามีหลักฐานตนพร้อมที่จะทิ้งเก้าอี้ประธานาธิบดีทันที “และผู้กล่าวหาต้องทิ้งเก้าอี้เช่นกันถ้าพิสูจน์ไม่ได้เช่นกัน” ตุรกีดำเนินนโยบายต่อต้าน IS มาตลอด นับจากปี 2011 เป็นต้นมา จับกุมผู้ต้องสงสัยแล้ว 800 ราย และควบคุมตัวอีก 3,000 คน สามารถยึดน้ำมัน 79 ล้านลิตรที่ IS พยายามลักลอบเข้าพรมแดน พร้อมกับย้ำว่าไม่มี IS ในจุดที่เครื่องบินรบรัสเซียเข้าโจมตีในวันนั้น มีแต่คนเชื้อสายเติร์ก (Turkmens) ที่อาศัยอยู่แถบนั้น คนเชื้อสายเติร์กเหล่านั้นเป็นพวกฝ่ายต่อต้านสายกลางที่รัฐบาลตุรกีให้การสนับสนุน และมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายดุจดั่งญาติ

            นายมาร์ค โทเนอร์ (Mark Toner) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐชี้แจงว่า “รัฐบาลตุรีไม่มีส่วนพัวพันกับการซื้อขายน้ำมันเถื่อนจาก ISIL” ไม่เชื่อว่าข้อกล่าวหาเป็นเรื่องจริง อธิบายว่าการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนจากซีเรียเข้าตุรกีมีมานับทศวรรษแล้ว มีผู้ลักลอบขายกับพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อ สถานการณ์ปัจจุบันคือมีผู้ลักลอบเข้าไปรับน้ำมันแล้วขายให้พ่อค้าคนกลางอีกทอด แต่รัฐบาลตุรกีไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าได้เห็นภาพถ่ายดาวเทียมจากรัสเซียหรือไม่ นายโทเนอร์กล่าวว่ายังไม่ได้ดู และไม่คิดจะดูเนื่องจากสหรัฐได้รวบรวมข้อมูลด้วยตัวเองอยู่แล้ว  ที่ผ่านมาสหรัฐได้ทิ้งระเบิดใส่โรงกลั่นน้ำมันที่ ISIL ยึดครองด้วย และรัฐบาลอัสซาดซื้อน้ำมันจาก ISIL เช่นกัน
            คำตอบของโฆษกโทเนอร์คือมองว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของผู้ลักลอบเข้าซื้อน้ำมันเถื่อนจาก IS กับพ่อค้าคนกลาง โดยตัดความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลตุรกีออกไป ชี้ว่าทั้งรัฐบาลตุรกีกับโอบามาพยายามสกัดกั้นแล้ว แต่การลักลอบซื้อขายยังคงมีอยู่

ด้านนาย David Cohen ปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐ ฝ่ายกิจการการก่อการร้ายและข่าวกรองด้านการเงิน (US Treasury Department's Under Secretary for Terrorism and Financial Intelligence) กล่าวว่า IS มีรายได้จากน้ำมันถึงวันละ 1 ล้านดอลลาร์และ “ขายในราคาต่ำกว่าตลาดผ่านคนกลางหลายกลุ่ม รวมทั้งคนจากตุรกีที่รับน้ำมันจาก IS แล้วนำไปจำหน่ายต่อ บางส่วนขายให้กับเคิร์ดอิรักก่อนนำไปขายให้ตุรกีอีกทอด”

ตุรกีส่งทหารพร้อมรถถังเข้าอิรัก :
เมื่อต้นเดือนธันวาคม นายฟูอัด มัสซูม ประธานาธิบดีอิรักกล่าวว่าทหารตุรกีหลายร้อยนายที่เข้ามาในเขตแดนทางตอนเหนือของอิรักใกล้เมืองโมซูล (Mosul) เป็นการ “ละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ” พร้อมกับเรียกร้องให้ถอนทหารกลับไป ตุรกีอ้างว่าส่งทหารไปฝึกทหารอิรักซึ่งหมายถึงพวกเคิร์ดอิรักกับคนอิรักที่เป็นซุนนีอาหรับ
            การปรากฏตัวของกองกำลังตุรกีหลายร้อยพร้อมรถถังและปืนใหญ่ทางภาคเหนืออิรักเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่รัฐบาลโอบามาส่งหน่วยรบพิเศษเข้าประจำในเขตเคิร์ดอิรัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคาร์เตอร์กล่าวว่าสหรัฐได้ส่งหน่วยรบพิเศษช่วยเคิร์ดอิรักกับกองทัพรัฐบาลอิรักเพื่อรบกับ IS “โดยได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลอิรัก” หน่วยรบพิเศษจะช่วยแจ้งตำแหน่งเพื่อให้เครื่องบินโจมตีแม่นยำตรงจุด

แต่ข้อมูลจากอิรักกลับตรงข้าม นายกฯ อาบาดีกล่าวว่าไม่ต้องการให้ทหารต่างชาติเข้ามาช่วยรบโดยปราศจากการรับรองจากรัฐบาลของตน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยรบพิเศษหรือทหารทั่วไปต้องเคารพอธิปไตยอิรัก ซึ่งหมายถึงหน่วยรบพิเศษของสหรัฐด้วย ย้ำว่าทหารตุรกีเข้าประเทศโดยปราศจากการอนุญาตจากรัฐบาลอิรัก ถือเป็นการละเมิดอธิปไตย
Khaled al-Obeidi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิรักเห็นว่ากองกำลังที่เข้ามีขนาดใหญ่โตเกินกว่าเป็นเพียงหน่วยรบฝึกทหารอิรักหรือเพื่อป้องกันตนเอง แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือตุรกีดำเนินการโดยไม่ปรึกษารัฐบาลอิรักก่อน พร้อมกับเตือนว่าหากไม่แก้ไขอาจกลายเป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศ
เป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยรบพิเศษสหรัฐตั้งใจทำงานร่วมกับกองทัพตุรกีที่เข้ามาพร้อมกัน โดยที่สหรัฐสนับสนุนกำลังรบทางอากาศ ส่วนทหารตุรกีกับทหารเคิร์ดอิรักและซุนนีอาหรับร่วมปฏิบัติการภาคพื้นดิน

รัฐบาลแอร์โดกานเปลี่ยนใจไปมา :
จากข้อเรียกร้องของรัฐบาลอิรัก รัฐบาลตุรกีประกาศว่าจะระงับการเคลื่อนทหารเข้าบริเวณที่ IS ควบคุมใกล้เมืองโมซูล นายกฯ ตุรกีมีหนังสือถึงนายกฯ อิรักระบุว่าจะไม่ส่งทหารเข้าไปเพิ่มจนกว่ารัฐบาลอิรักคลายความวิตกกังวล ข้อมูลล่าสุดมีทหารตุรกีในอิรักเกือบพันนาย พร้อมรถถัง ปืนใหญ่
แต่ไม่กี่วันหลังประกาศระงับการเคลื่อนไหว ประธานาธิบดีแอร์โดกานกลับคำยืนยันว่าจะไม่ถอนทหารออกจากอิรัก ย้ำว่าทหารเหล่านี้ไม่ได้ไปเพื่อทำสู้รบ แต่เพื่อปกป้องครูฝึกทหารทั้งแก่กองกำลังเคิร์ดอิรักกับพวกซุนนีอาหรับ (กองกำลัง Hashid Watani (national mobilization) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกซุนนีอาหรับที่อาศัยในแถบเมืองโมซูล)
ล่าสุด รัฐบาลอิรักได้ยื่นหนังสือแก่สหประชาชาติ เรียกร้องให้ตุรกีถอนทหารทั้งหมดออกจากดินแดนอิรักในทันที เนื่องจากพฤติกรรมของตุรกี “เป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอิรัก” ความช่วยเหลือทางทหาร การสนับสนุนด้านอาวุธเพื่อต้าน IS นั้นต้องมาจากความเห็นร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย และดำเนินการโดยยึดมั่นอธิปไตยของอิรักอย่างสมบูรณ์

เพื่อเคิร์ดอิรักหรือพวกซุนนีอาหรับหรือเพื่อใคร :
            ในอนาคตกองทัพตุรกีคงจะถอนตัวออกไปหรือไม่นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง คำถามที่สำคัญกว่าคือใครหรือฝ่ายจะเป็นผู้ปกครองเมืองโมซูลหากสามารถขับไล่ผู้ก่อการร้าย IS ออกจากพื้นที่ จะเป็นเคิร์ดอิรักหรือซุนนีอาหรับ
            โมซูลเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรัก เป็นเมืองเอกของภาคเหนือ ประชากรมากกว่า 1 ล้านคน อุดมด้วยทรัพยากรน้ำมัน
            ถ้าเป็นเคิร์ดอิรักเท่ากับบรรลุความใฝ่ฝันที่ตั้งใจมานาน ผู้นำเคิร์ดอิรักประกาศชัดแจ้งว่าอยากได้เป็นเมืองหลวงของตน เขตปกครองตนเองเคิร์ดอิรักจะขยายใหญ่ขึ้นมากหากได้โมซูลอยู่ในความครอบครอง
            ถ้าเป็นพวกซุนนีอาหรับ อาจตีความได้ว่าตุรกีเป็น “ไม้ที่ 2” ที่เข้ามาจัดสรรทรัพยากรอิรักต่อจาก “ไม้แรก” นั่นคือ IS ชนเชื้อสายเติร์กในอิรักคงได้ย้ายเข้ามาอยู่ มีสิทธิ์มีส่วนในพื้นที่นี้ด้วย ทำนองเดียวกับความพยายามสร้างเขตปลอดภัย/เขตห้ามบินทางตอนเหนือของซีเรีย หวังให้คนเชื้อสายเติร์กซีเรียเข้าไปอยู่ เพราะผู้นำตุรกีมองคนเหล่านี้ดุจญาติมิตรที่จะต้องให้ความคุ้มครองปกป้อง (แม้จะเป็นพลเมืองอิรัก/ซีเรียเต็มตัวก็ตาม)
            หรือเป็นการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเคิร์ดอิรักกับซุนนีอาหรับในแถบนี้

            ถ้าเป็นไปตามที่นำเสนอข้างต้น กองทัพตุรกีจะถอนตัวออกไปหรือไม่นั้นต้องดูบริบท ดูว่า “ผู้ปกครองเมืองโมซูลใหม่” ปรารถนาให้ทหารตุรกีอยู่ต่อหรือไม่ จะกลายเป็นเขตพื้นที่ที่ทหารตุรกีคอยให้ความปกป้องคุ้มครองหรือไม่ หรือพูดให้น่าฟังกว่านี้คือคอยช่วยฝึกทหาร คอยให้คำปรึกษา

            การวิเคราะห์ทั้งหมดยังให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำมัน ตุรกีน่าจะได้ “ส่วนแบ่ง” ผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย
            ณ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป แต่น่าติดตามต่อว่าเป็นอย่างไร จะเป็นอีกหลักฐานตอบโจทย์ว่ารัฐบาลแอร์โดกานเกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมัน IS หรือไม่
13 ธันวาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6976 วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2558)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อทอดยาวออกไปเรื่อยๆ เอื้อให้แต่ละเขตปกครองเข้มแข็ง ได้แก่รัฐบาลอัสซาด รัฐอิสลาม เขตปกครองเคิร์ดซีเรียและเขตปกครองฝ่ายต่อต้านสายกลางที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้า IS ประสบผลในการถ่ายทอดอุดมการณ์ของตน ย่อมเชื่อได้ว่าจะมีพวก IS เพิ่มขึ้นอีกมากกมาย สถานการณ์ซีเรียอาจลดความรุนแรงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่เรื่องยังไม่ยุติ อาจเป็นการรอเวลาเพื่อเปิดฉากรุกรบครั้งใหญ่
บรรณานุกรม:
1. Ankara's oil business with ISIS. (2015, November 25). RT. Retrieved from https://www.rt.com/business/323391-isis-oil-business-turkey-russia/
2. Charbonneau, Louis. (2015, December 11). Iraq urges U.N. council to demand immediate Turkish troop withdrawal. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/us-mideast-crisis-iraq-un-idUSKBN0TV02620151212
3. Erdoğan says does not want escalation after Russian jet downed. (2015, November 25). Today’s Zaman. Retrieved from http://www.todayszaman.com/latest-news_erdogan-says-does-not-want-escalation-after-russian-jet-downed_405212.html
4. Erdoğan: Turkey only buys oil from officially known sources. (2015, November 26). Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/politics/2015/11/26/erdogan-turkey-only-buys-oil-from-officially-known-sources
5. Iraq: We don't need foreign troops to fight ISIL. (2015, December 2). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2015/12/usa-special-forces-iraq-151201160932529.html
6. Iraq's appeal to UNSC over Turkish troops in Mosul 'not honest', President Erdoğan says. (2015, December 11). Daily’s Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/diplomacy/2015/12/11/iraqs-appeal-to-unsc-over-turkish-troops-in-mosul-not-honest-president-erdogan-says
7. ISIS smuggles majority of oil through Turkey, says Iraqi PM. (2015, December 8). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/325044-isis-oil-turkey-iraq/
8. Kalinand, Stephen., & Coskun, Orhan. (2015, December 6). Turkey to stop sending soldiers to Iraq after Baghdad protests. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/us-mideast-crisis-iraq-turkey-idUSKBN0TO0AU20151205#ts2o8d94w2AkPqBY.97
9. Paul Crompton. (2014, July 29). Sales of black market oil surge in Mideast. Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/perspective/analysis/2014/07/29/-Rogue-oil-sales-of-illicit-cut-price-crude-in-Mideast-surge.html
10. Putin: Turkey supports terrorism and stabs Russia in the back. (2015, November 24). Pravda. Retrieved from http://www.pravdareport.com/russia/kremlin/24-11-2015/132690-russia_turkey_plane_putin-0/
11. Russia deploys missile cruiser off Syria coast, ordered to destroy any target posing danger. (2015, November 24). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/323329-russia-suspend-military-turkey/
12. Russia: Turkish President Benefits From IS Oil Trade. (2015, December 2). ABC News. Retrieved from http://abcnews.go.com/International/wireStory/russias-top-diplomat-agrees-meet-turk-counterpart-35525661
13. Turkish deployment inside Iraq violates international law: Iraq president. (2015, December 5). Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/us-mideast-crisis-iraq-turkey-idUSKBN0TO0AU20151205#ts2o8d94w2AkPqBY.97
14. U.S. Department of State. (2015, December 2). Daily Press Briefing: Turkey. Retrieved from http://www.state.gov/r/pa/prs/dpb/2015/12/250283.htm#TURKEY
15. Who finances ISIS? (2014, August 19). Deutsche Welle. Retrieved from http://www.dw.de/who-finances-isis/a-17720149
-------------------------------