ยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรีย (5)

ตอนที่ 5 พักรบซีเรีย แยกกันปกครอง
            ถ้ามองประวัติศาสตร์กว้างๆ การโค่นล้มระบอบอำนาจเดิม เผ่าหนึ่งชาติหนึ่งรุกรานต่างเผ่าต่างชาติกลืนกินดินแดน เจ้าเมืองแข็งข้อประกาศตั้งตนเป็นอิสระ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ การปรากฏตัวของ IS/ISIL/ISIS ในซีเรียทำให้อาหรับสปริงซีเรียยืดเยื้อและซับซ้อน ประเทศซีเรียปัจจุบันประกอบด้วยหลายรัฐ ได้แก่ รัฐของรัฐบาลอัสซาด รัฐอิสลาม (IS) เขตปกครองตนเองของเคิร์ดซีเรีย และกำลังเกิดเขตปกครองตนเองของฝ่ายต่อต้านซีเรียสายกลาง ทั้งนี้ยังไม่รวมเขตอิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ อีกหลากหลายกลุ่ม

เหตุผลควรพักรบ :
            อาหรับสปริงซีเรียที่เริ่มตั้งแต่มีนาคม 2011 สร้างความสูญเสียมหาศาล ต้นเดือนมิถุนายน Syrian Observatory for Human Rights รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 230,000 รายแล้ว เท่ากับว่าในเวลา 4 ปี 3 เดือน (นับถึงเดือนมิถุนายน) มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 150 ราย ไม่นับผู้ลี้ภัยอีกหลายล้านคน โดยไม่มีท่าทีว่าความขัดแย้งจะยุติ IS กับกองกำลังติดอาวุธนานาชาติยังคงอยู่ต่อไป ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียเต็มด้วยความอ่อนล้า บรรดารัฐผู้ให้การอุปถัมภ์สูญเสียงบประมาณมหาศาล แม้กระทั่งรัฐบาลอัสซาด
            แนวคิดพักรบจึงได้รับการสนับสนุน ขยายความได้ดังนี้
ประการแรก ลดภาระงบประมาณของรัฐบาลที่สนับสนุน
            เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ารัฐอาหรับหลายประเทศให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียสายกลาง แต่จนบัดนี้ฝ่ายต่อต้านยังไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด แม้รัฐบาลโอบามาจะเพิ่มการสนับสนุนทั้งด้านอาวุธ ฝึกการรบ กำลังทางอากาศและอื่นๆ เห็นได้ชัดว่าฝ่ายต่อต้านสายกลางไม่มีขีดความสามารถเมื่อเทียบกับกองกำลังติดอาวุธต่างชาติ (ในอีกมุมคือกองทัพอัสซาดเข้มแข็งพอ)
            ปัญหาไม่คาดฝันคือราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวกว่าครึ่งจากแถว 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์ (อ้างอิงราคา WTI) รัฐอาหรับต้องพากันรัดเข็มขัด ด้วยความคิดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวระดับต่ำอีกระยะหนึ่ง
            การสร้างเขตปลอดภัยให้กับฝ่ายต่อต้านสายกลาง เป็นวิธีประหยัดงบประมาณของกลุ่มประเทศเหล่านี้
            ในแนวคิดเดียวกัน ประเทศที่สนับสนุนรัฐบาลอัสซาดจะได้ประโยชน์เช่นนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะรัสเซียกับอิหร่าน ทั้งคู่ต่างเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
            มีผู้ประเมินว่าที่มาของงบประมาณรัฐบาลรัสเซียกว่าร้อยละ 60 มาจากกำไรที่ได้จากการขายน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ ในยามนี้รัสเซียจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก
IMF ประเมินเมื่อต้นเดือนสิงหาคมว่าผลการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัว คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจรัสเซียจะโตเพียงร้อยละ 1.5 จากเดิมที่เคยโตถึงร้อยละ 7 ก่อนวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 อัตราเงินเฟ้อปีนี้ราวร้อยละ 12 และร้อยละ 8 ในปีหน้า เป็นตัวเลขที่แย่กว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ส่วนอิหร่านแม้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์กำลังสู่ทิศทางคลี่คลาย มาตรการคว่ำบาตรผ่อนคลาย แต่ราคาน้ำมันไม่ช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจเท่าใดนัก การประหยัดงบประมาณเพื่อฟื้นฟูประเทศตนเองน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ประการที่ 2 ลดภาระของตุรกี
ประธานาธิบดี Khaled Khoja ของ Syrian National Coalition (SNC - ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียสายกลาง) กล่าวถึงการสร้างเขตปลอดภัยว่าจะมีฝ่ายพลเรือนบริหารเขตดังกล่าวด้วย พื้นที่อยู่ระหว่าง “Jarablus กับ Afrin ครอบคลุมพื้นที่ราว 5,000 ตารางกิโลเมตรหรือราวกึ่งหนึ่งของเลบานอน” กองกำลัง Free Syrian Army ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย
            การสร้างเขตปลอดภัยช่วยลดภาระของตุรกีเรื่องผู้ลี้ภัยซีเรียที่หนีข้ามมายังพรมแดนตุรกี ประธานาธิบดีแอร์โดกานอธิบายว่าเขตปลอดภัยจะเป็นที่ให้พลเมือง (ซีเรีย) 1,700,000 คนกลับบ้าน” ในมุมของตุรกีประเด็นผู้ลี้ภัย 1,700,000 คนไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ถ้าเทียบกับการบริหารแผ่นดิน จำนวนขนาดนี้ต้องใช้การบริหารจัดการระดับจังหวัด
            เมื่อพิจารณาร่วมกับสถานการณ์ซีเรียที่ยังไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ รัฐบาลตุรกีจะต้องแบกรับภาระอีกหลายปีหรือหลายสิบปี ทางออกที่ดีกว่าคือผลักดันให้คนเหล่านี้กลับไปอยู่ในซีเรีย

            ประการที่ 3 ดูเหมือนว่ารัฐบาลอัสซาดเห็นด้วย
            ประธานาธิบดีอัสซาดกล่าวเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมยอมรับว่าทหารในกองทัพหดหายไปมาก ที่เหลืออยู่ในสภาพอ่อนล้า มีผู้ประเมินว่าจากเดิมที่มีอยู่ราว 300,000 นาย ปัจจุบันเหลือราวครึ่งเดียว ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการรบ ที่เหลือแปรพักตร์หรือหลบหนี
            ที่ผ่านมากองทัพอัสซาดทำการรบอย่างระมัดระวัง มุ่งรักษาพื้นที่สำคัญเป็นหลัก ถึงกระนั้นหลังผ่านมากว่า 4 ปี จำนวนพลลดลงถึงกึ่งหนึ่ง รัฐบาลต้องเร่งรับทหารใหม่ การพักรบย่อมเป็นเรื่องดี มีโอกาสบำรุงกองทัพให้เข้มแข็งอีกครั้ง รัฐบาลอัสซาดยอมรับแล้วว่าไม่อาจปกครองซีเรียทุกตารางนิ้วได้อีกต่อไป
            และถ้ารัฐบาลรัสเซียกับอิหร่านต้องการไปในแนวทางนี้ รัฐบาลอัสซาดย่อมต้องเห็นคล้อยตาม
            จากที่เอ่ยมาทั้งหมดทั้งประเทศที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายรัฐบาลต่างอยู่ในภาวะต้องประหยัดงบประมาณ ลดการแบกรับภาระต่างๆ อีกประเทศที่ควรเอ่ยถึงคือสหรัฐ รัฐบาลโอบามาย้ำเน้นมุ่งกรอบต่อต้าน IS เป็นหลักและดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงอยู่ในฐานะที่แตกต่างจากประเทศที่แบกรับภาระหนัก
            น่าเชื่อว่าโอบามามีส่วนตัดสินใจพักรบไม่มากก็น้อย ยังคงรักษาภาพลักษณ์ว่ารัฐบาลไม่ได้พัวพันโดยตรง ไม่ได้พัวพันมากนัก การพักรบช่วยเรื่องนี้โดยตรง
            จนบัดนี้ ยังไม่มีการประกาศหยุดยิงอย่างเป็นทางการ และอาจไม่ประกาศต่อสาธารณชน แต่สามารถตรวจสอบผลได้จากสถานการณ์การสู้รบ ความรุนแรง จำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิต แนวรบจะแคบลง

ซีเรียแบ่งแยกชัดเจนมากขึ้น :
            ผลอย่างหนึ่งของการหยุดยิง (หรือปะทะประปรายไม่มีผลจริงจัง) กำลังพลไม่เคลื่อนไหว ไม่มีการรุกคืบหรือเสียดินแดนอย่างมีนัยสำคัญ คือการบ่งชี้ว่าเขตพื้นที่ใดอยู่ใต้อิทธิพลของใคร การหยุดยิงช่วยให้เห็นแผนที่ เห็นเส้นแบ่งพรมแดนของกลุ่มต่างๆ เขตปกครองของกลุ่มต่างๆ อย่างชัดเจน
            การแบ่งแยกเขตปกครองส่งผลดีต่อกลุ่มต่างๆ ดังนี้
            ประการแรก ตอบโจทย์รักษาพวกสายกลาง
            นโยบายตั้งแต่ต้นคือให้พวกต่อต้านสายกลางซึ่งหมายถึงประชาชนชาวซีเรียแท้ๆ โค่นล้มรัฐบาลอัสซาด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ฝ่ายสหรัฐกับรัฐอาหรับพยายามรักษาพวกสายกลางนี้เพื่อความชอบธรรมในการโค่นล้มระบอบอัสซาด จัดตั้งรัฐบาลพวกของฝ่ายต่อต้าน
ภายใต้แผนใหม่นี้ พวกฝ่ายต่อต้านสายกลางจะได้อยู่อย่างปลอดภัย อาจตั้งรัฐบาลในเขตพื้นปลอดภัยดังกล่าวด้วย

            ประการที่ 2 เขตปกครองตนเองของเคิร์ดซีเรีย
            เมื่อปีก่อน (2014) IS เข้ายึดเมืองโคบานี (Kobani) อันเป็นถิ่นอาศัยของพวกเคิร์ดซีเรีย ต่อมากองกำลัง People's Protection Units (YPG) เข้ายึดคืนด้วยความร่วมมือของหลายฝ่ายรวมทั้ง PKK (กองกำลังเคิร์ดตุรกี) บัดนี้สถานการณ์มั่นคงขึ้น อยู่ระหว่างการบูรณะ
ในยามที่บ้านเมืองไร้ขื่อแป เป้าหมายของเคิร์ดไม่ใช่การต่อต้าน IS ไม่ใช่เพื่อศาสนา แต่ฉวยโอกาสสร้างเขตอิทธิพลของตน เป็นความหวังชาวเคิร์ด 30,000,000 คนทั่วโลก ที่ผ่านมาเคิร์ดอิรักเป็นแบบอย่างแก่เคิร์ดอื่นๆ สามารถสร้างเขตปกครองตนเอง ตั้งอยู่ในแหล่งอันอุดมด้วยทรัพยากรน้ำมัน เป็นอีกแรงผลักดันให้กับเคิร์ดซีเรียกับเคิร์ดตุรกีที่จะลุกขึ้นทำลายการเป็นพลเมืองชั้น 2
            แม้ว่าเคิร์ดซีเรียยังไม่ประกาศชัดเจนว่าต้องการเอกราช หรือเป็นสมาพันธ์รัฐซีเรีย นับจาก IS ปรากฏตัวพวกเขาสามารถสร้างเขตอิทธิพลของตนเอง ต่อต้านการรุกรานจาก IS ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งจากสหรัฐและจากพวกเคิร์ดด้วยกันเอง
            ข้อมูลที่ปรากฏผ่านสื่อ ไม่มี “เขตปลอดภัย” ของพวกเคิร์ดซีเรีย เมืองสำคัญๆ ของเคิร์ดไม่อยู่ในเขตปลอดภัย แต่ความจริงแล้วรัฐบาลโอบามากำลังให้ความคุ้มครองอยู่ด้วยกำลังรบทางอากาศและอื่นๆ เขตปลอดภัยจึงเกิดขึ้นแม้ไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ

            ประการ 3 ไม่มีรัฐอิสลามในทางนิตินัยแต่มีในทางพฤตินัย
            ดังที่ได้นำเสนอแล้วว่าแม้นานาชาติจะไม่ยอมรับการมีอยู่ของรัฐอิสลาม (IS) แต่โดยพฤตินัยแล้วรัฐอิสลามเกิดขึ้นจริงแล้ว และยังจะดำรงอยู่อีกนาน

            รวมความแล้ว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ การพักรบส่งผลให้ประเทศซีเรียแบ่งแยกเป็นรัฐหรือเขตปกครองย่อยๆ อย่างน้อย 4 ฝ่ายอย่างชัดเจน ได้แก่ รัฐบาลอัสซาด รัฐอิสลาม (IS) พวกเคิร์ดซีเรีย และฝ่ายต่อต้านสายกลาง เวลาที่ยืดยาวออกไปมากขึ้นๆ คือการสร้างความเข้มแข็งแก่เขตปกครองแต่ละเขต ถ้า IS ประสบผลในการถ่ายทอดอุดมการณ์แนวคิดของตน ย่อมเชื่อได้ว่าในอนาคตจะมีพวก IS เพิ่มขึ้นอีกมากกมาย
            โดยรวมแล้ว ซีเรียกลายเป็นหลายเขตปกครองตนเอง และ IS จะอยู่ต่ออีกหลายปี จนกว่าปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหญ่อีกรอบซึ่งน่าจะต้องรอหลังจากสหรัฐได้ประธานาธิบดีคนใหม่ หรือประเทศที่เกี่ยวข้องบรรลุข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ล่าสุดคณะมนตรีความมั่นคงประกาศสนับสนุนการเจรจาสันติภาพซีเรียอีกรอบ
            และพึงตระหนักว่าตราบใดที่รัฐบาลสหรัฐ ชาติอาหรับไม่ล้มเลิกนโยบายโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด ย่อมต้องถือว่าเป็นการหยุดยิงชั่วคราว เป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างพักฟื้น ซ่อมสุมกำลังใหม่ และวางแผนยุทธการใหม่ จนกว่าสถานการณ์สุกงอม มีเหตุผลข้ออ้างใหม่ ได้รัฐบาลใหม่ที่พร้อมเปิดฉากรุกรบครั้งใหญ่
            เมื่อถึงเวลานั้นแผนที่ประเทศซีเรียจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งตามยุทธศาสตร์แบ่งแยกซีเรียฉบับใหม่ หรือภายใต้แผนขั้นต่อไปของยุทธศาสตร์เดิม
30 สิงหาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6871 วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2239633)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ประธานาธิบดีแอร์โดกานประกาศชัดว่าต้องการเพิ่มอำนาจให้กับตำแหน่งตนเอง แต่การเลือกตั้งเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมาพรรคของตนสูญเสียการเป็นพรรคเสียงข้างมาก จึงต้องพยายามหาทางดึงคะแนนกลับ นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าสถานการณ์การปราบปรามเคิร์ดภายในประเทศเกี่ยวข้องกับการกระชับอำนาจ การเมืองตุรกีในช่วงนี้จึงมีผลต่อยุทธศาสตร์แบ่งแยกซีเรีย
บรรณานุกรม:
1. Hamed, Massoud. (2015, July 29). Kobani’s oil dries up. Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/07/syria-kobani-oil-blockade-islamic-state.html
2. IMF says Western sanctions could cut 9% off Russia’s GDP. (2015, August 3). Gulf News/Reuters. Retrieved from http://gulfnews.com/business/economy/imf-says-western-sanctions-could-cut-9-off-russia-s-gdp-1.1560760
3. Kurdish peace impossible: Erdogan. (2015, July 29). The Peninsula. Retrieved from http://thepeninsulaqatar.com/news/middle-east/348825/kurdish-peace-impossible-erdogan
4. ‘More than 230,000 killed’ in Syria conflict. (2015, June 9). Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/06/09/More-than-230-000-killed-in-Syria-conflict.html
5. Saunders, Doug. (2014, March 15). Crimea is serious, but this is not a new Cold War. The Globe and Mail. Retrieved from http://www.theglobeandmail.com/globe-debate/crimea-is-serious-but-this-not-a-new-cold-war/article17490293/?cmpid=rss1
6. Syrian Army fatigued, admits Bashar Assad. (2015, July 27). Arab News/AFP. Retrieved from http://www.arabnews.com/middle-east/news/781981
7. Syrian opposition leader: Turkey, US plan to create safe zone a game changer. (2015, August 17). Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/politics/2015/08/18/syrian-opposition-leader-turkey-us-plan-to-create-safe-zone-a-game-changer
8. U.N. Security Council backs new Syria peace plan. (2015, August 18). Al Jazeera/AFP. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/08/18/U-N-Security-Council-backs-new-Syria-peace-plan.html
9. U.S. Department of Defense. (2015, August 25). Department of Defense Press Briefing by Pentagon Press Secretary Peter Cook in the Pentagon Briefing Room. Retrieved from http://www.defense.gov/News/News-Transcripts/Transcript-View/Article/614829/department-of-defense-press-briefing-by-pentagon-press-secretary-peter-cook-in
--------------------------------