อย่างไรดีกว่า โค่นเผด็จการหรือให้เป็นรัฐล้มเหลว

ตรรกะของโอบามา ปราบ IS ต้องไม่เอื้ออัสซาดรัฐบาลโอบามาเห็นด้วยกับรัสเซียในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS แต่ต้องไม่เป็นเหตุเกื้อหนุนรัฐบาลอัสซาด เมื่อกองทัพรัสเซียเริ่มโจมตีผู้ก่อการร้ายอย่างหนักหน่วง รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรต่างแสดงอาการไม่พอใจ เห็นว่าการโจมตีกองกำลังต่างๆ รวมทั้ง IS นั้นมีเป้าหมายเพื่อช่วยรัฐบาลอัสซาด ไม่ร่วมมือกับรัสเซีย
            ราวกับว่ารัฐบาลโอบามาเห็นว่ารัฐอิสลาม (IS) ในซีเรียกับอิรักเป็นภัยคุกคามต่อโลกน้อยกว่าการคงอยู่ของรัฐบาลอัสซาด ไม่คิดว่าคนในพื้นที่อิทธิพลจะถูกล้างสมอง กลายเป็นสมาชิก IS อีกนับหมื่นนับแสน พยายามชี้ว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นต้นเหตุดึงดูดผู้ก่อการร้าย กองกำลังติดอาวุธต่างชาติ
            ถ้าใช้ตรรกะแบบโอบามา การปรากฏตัวของกองกำลังต่างชาติร่วมร้อยประเทศ ผู้ก่อการร้าย ISIL/ISIS อัลกออิดะห์ การเกิดรัฐอิสลาม เป็นความผิดของรัฐบาลอัสซาด ทั้งๆ ที่สงครามกลางเมืองซีเรียเริ่มจากความขัดแย้งภายในของคนในประเทศ เป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจภายในที่บานปลายเพราะรัฐบาลต่างชาติแทรกแซง ทั้งจากฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย
ภายใต้ตรรกะของรัฐบาลโอบามา ในอนาคตหากประเทศหนึ่งระเทศใดเกิดเหตุวุ่นวายภายใน จากนั้นมีผู้ก่อการร้าย กองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้าไปรบกับรัฐบาล หวังล้มรัฐบาลยึดครองประเทศ รัฐบาลโอบามาจะถือว่าความผิดตกแก่รัฐบาลนั้น เพราะเป็นต้นเหตุดึงดูดผู้ก่อการร้าย กองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้าไปสร้างความวุ่นวาย
ประวัติศาสตร์โลกให้ข้อคิดว่าการที่ประเทศหนึ่งรุกรานอีกประเทศหนึ่ง อาณาจักรทำสงครามต่อกันไม่ใช่เรื่องแปลก ในยุคนี้ชาติตะวันตกพยายามหาข้ออ้างที่ “ฟังดูดี” ชอบด้วยเหตุผล เช่น ยึดเป็นอาณานิคมเพื่อคนท้องถิ่นจะได้พัฒนา ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้วทุกอย่างจะดี เหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลชาติตะวันตกใช้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นสงครามทางความคิดอย่างหนึ่ง

หากล้มระบอบอัสซาด ซีเรียจะคืนสู่ความสงบสุข?
            ณ ขณะนี้ ฝ่ายพันธมิตรสหรัฐเสนอความคิดส่งทหารราบพร้อมอาวุธหนักเข้าล้มระบอบอัสซาด กวาดล้าง IS ตั้งรัฐบาลซีเรียชุดใหม่เพื่อนำความสงบสุขคืนสู่ประเทศ Jens Stoltenberg เลขาธิการนาโตกล่าวว่า “ผมเรียกร้องให้รัสเซียแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์และร่วมมือต่อสู้กับ ISIS ไม่สนับสนุนระบอบอัสซาดอีกต่อไป” การสนับสนุนระบอบอัสซาดไม่ใช่ทางที่สร้างสรรค์อันจะนำสู่สันติภาพและการหาทางออกทางเมืองในซีเรีย
            มีคำถามว่าบรรดารัฐบาลที่นำเสนอความคิดนี้ให้ประกันได้หรือไม่ว่าซีเรียจะคืนสู่ความสงบได้จริง หากเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยตะวันตกอย่างกะทันหัน
             เป็นความจริงที่ว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีคนบางกลุ่มในซีเรียที่ได้ประโยชน์จากระบอบมากกว่าประชาชนทั่วไป แต่การล้มระบอบอาจเป็นเหตุให้ซีเรียแยกออกเป็นหลายกลุ่มตามกลุ่มผลประโยชน์ (อาจมีเรื่องนิกายศาสนาเกี่ยวข้องด้วย) ซีเรียอาจเป็นเหมือนอิรัก ลิเบียที่เมื่อขาดผู้มีอำนาจปกครองจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว เป็นประเทศที่แตกแยกออกเป็นหลายส่วน ยากจะฟื้นคืนสู่สภาพเดิมอีก
            ในช่วงก่อนที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุชจะส่งกองทัพล้มระบอบซัดดัมนั้น (ปี 2003) หลายฝ่ายเตือนว่าอิรักจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นอีกเหตุผลที่สมัยสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (1990-91) กองทัพสัมพันธมิตรเพียงแค่ยึดคูเวตกลับมาเท่านั้น ไม่คิดล้มระบอบซัดดัมเพราะเห็นว่าจะทำให้ประเทศแยกเป็นเสี่ยง ยิ่งเป็นเหตุให้ภูมิภาคขาดเสถียรภาพ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์แก่อิหร่านด้วย
            ทั้งที่หลายฝ่ายเตือน แต่ประธานาธิบดีบุชไม่ฟังเสียงเตือนใดๆ เดินหน้าล้มระบอบซัดดัม ประกาศว่าจะสร้างประชาธิปไตยอิรักเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง นับจากบัดนั้นจนบัดนี้ อิรักไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ประเทศตกอยู่ในสงครามกลางเมือง แยกเป็นเสี่ยงๆ เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤติ กลายเป็นรัฐล้มเหลว เกิดรัฐอิสลามแทรกซ้อน คนตายเพราะความขัดแย้งปีละหลายพันคน

นายโคฟี่ อันนัน (Kofi Annan) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า ถ้าวิเคราะห์จากหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ การที่สหรัฐกับพันธมิตรส่งกองทัพรุกรานอิรัก ล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนคือการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ จนถึงทุกวันนี้หลายคนกล่าวหาอดีตนายกฯ โทนี แบร์ (Tony Blair) เป็นอาชญากรสงคราม สิ่งที่สหรัฐกับพันธมิตรทิ้งไว้ให้กับอิรักคือความวุ่นวายภายในประเทศ
            สถานการณ์เช่นนี้กำลังจะซ้ำรอยกับซีเรียหรือไม่ เป็นตรรกะเดิมๆ ที่เห็นว่าทุกประเทศหากมีเลือกตั้ง ใช้วิธีประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้นๆ โดยไม่สนใจบริบท ความพร้อมของสังคม รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจะพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทต่างยึดแนวทางนี้ และมุ่งใช้นโยบายดังกล่าวกับทุกประเทศ

อย่างไรดีกว่า โค่นเผด็จการหรือให้เป็นรัฐล้มเหลว :
Hans Magnus Enzensberger ระบุกรณีอิรักกับซีเรียเป็น 2 ตัวอย่างว่านโยบายกำจัดเผด็จการเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด ประเทศกลายเป็นรัฐล้มเหลว การปล่อยให้เผด็จการดำรงอยู่ต่อไปเป็นโทษน้อยกว่า กำจัดเผด็จการไม่เป็นเหตุให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยเสมอไป การทำลายระบอบเดิมกลายเป็นการทำลายสถาบันค้ำจุนเสถียรภาพของประเทศนั้น แทนที่ประเทศจะกลายเป็นประชาธิปไตย ผลที่ได้คือประเทศไร้ขื่อแป แตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า ผู้มีอำนาจคือกองกำลังติดอาวุธ ประชาชนกลายเป็นเหยื่อของคนเหล่านั้น ตัวอย่างประเทศที่ชัดเจน เช่น อัฟกานิสถานกับลิเบียในปัจจุบัน
            แต่บรรดารัฐบาลของชาติตะวันตกหลายประเทศยึดแต่แนวทางว่าเมื่อล้มเผด็จการหรือระบอบปกครองใดๆ ต้องให้ประเทศนั้นรับการปกครองแบบประชาธิปไตยตะวันตก ผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็น ดังกรณีตัวอย่างอิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน และลิเบีย ทั้ง 4 ประเทศตัวอย่างล้วนเป็นฝีมือของชาติตะวันตกทั้งสิ้น เป็นผลจากการพยายามยัดเยียดประชาธิปไตยแก่ประเทศเหล่านี้ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของทั้ง 4 ประเทศในปัจจุบันย่ำแย่กว่าสมัยเมื่อผู้นำเป็นอำนาจนิยมเสียอีก
            ถ้ามองแคบๆ ว่าภายใต้เผด็จการหมายถึงประชาชนถูกกดขี่ เมื่อเป็นรัฐล้มเหลวประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงยิ่งกว่า ชีวิตอยู่ในอันตรายมากกว่า

            รัฐบาลชาติตะวันตกได้คิดวางแผนก่อนหรือไม่
            คำถามสำคัญตามมาคือ รัฐบาลชาติตะวันตกเหล่านี้ได้ประเมินก่อนแล้วหรือไม่ว่าเมื่อกำจัดเผด็จการและยัดเยียดประชาธิปไตยแก่พวกเขา ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ...
            ไม่ว่าใครจะตอบอย่างไร ที่แน่นอนคือชาติตะวันตกไม่จดจำบทเรียน ยังดำเนินนโยบายเดิมต่อไป ดังนั้น เมื่อเกิดรัฐล้มเหลว 1 ประเทศ จึงเกิดประเทศที่ 2, 3, 4 ตามมา และยังคงยึดนโยบายเดิมต่อไป
จึงคาดเดาในอนาคตว่าจะเกิดประเทศอย่างอิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน และลิเบียเป็นประเทศที่ 5, 6, 7, 8
            ดังนั้น ไม่ว่าใครจะตอบโจทย์ข้างต้นอย่างไร คำตอบได้ปรากฏแจ้งแล้ว

ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่มีข้อดีหลายอย่าง แต่หากใช้กับประเทศที่ไม่พร้อม สังคมจะหายนะ ความจริงที่ทุกคนประจักษ์คือผู้คนล้มตายนับหมื่นนับแสน ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนกลายเป็นผู้อพยพนับล้าน อาคารบ้านเรือนกลายเป็นพังราบเหลือแต่กองอิฐ ความเจริญรุ่งเรืองที่สะสมนับร้อยปีต้องถอยหลังหลายสิบปี โดยที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ความสงบสุขจะกลับคืนมา
เป็นบทเรียนที่รัฐบาลชาติตะวันไม่จดจำเสียที ทำไมจึงไม่เรียนรู้และจดจำ ...

            ราว 2 ปีก่อนเมื่ออียิปต์สปริงอยู่ในความวุ่นวาย เป็นครั้งหนึ่งที่ผู้นำอเมริกากล่าวอย่างชัดเจน ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า สหรัฐต้องการให้อียิปต์ประสบความสำเร็จในฐานะรัฐประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของอเมริกาหากอียิปต์ล้มเหลว “อเมริกาไม่สามารถตัดสินอนาคตของอียิปต์ เป็นหน้าที่ของชาวอียิปต์เอง เราไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ”
            รัฐบาลโอบามาเลือกข้างการเมืองอียิปต์หรือไม่นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง จุดที่สำคัญคือการโยนความรับผิดชอบแก่อียิปต์หลังจากที่รัฐบาลโอบามากดดันให้อียิปต์เป็นประชาธิปไตย

            ข้อเท็จจริงอีกอย่างคือ เมื่อชาติตะวันตกล้มเผด็จการที่ตนไม่ชอบ บางประเทศมีการจัดเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตะวันตก แต่ผลลัพธ์คือได้ผู้นำเผด็จการในระบอบประชาธิปไตยอีกคนหนึ่ง “เพียงแต่คนหลังนี้รัฐบาลชาติตะวันตกสนับสนุน” ความแตกต่างระหว่างเผด็จการคนแรกกับคนที่สองจึงอยู่ที่ประโยคหลังนี่เอง
            ข้อสรุปเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีผู้เอ่ยถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
            ประธานาธิบดีปูตินเห็นว่าการที่ชาติตะวันตกพยายามยัดเยียดประชาธิปไตยแก่ประเทศซีเรีย อิรัก และลิเบียเป็นต้นเหตุความยุ่งเหยิงวุ่นวายในตะวันออกกลาง ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่ต้องการ ผลลัพธ์คือ “ความรุนแรงและหายนะทางสังคม” แทนที่จะเป็น “ชัยชนะของประชาธิปไตย” การที่เป็นเช่นนี้เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่เย่อหยิ่ง (self-conceit) เชื่อว่าทำอย่างที่ตนทำนั้นไม่มีผิดพลาด ไม่เคยทำอะไรผิด

สงครามต่อต้านก่อการร้าย การขยายอำนาจสหรัฐ :
Michel Chossudovsky ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรใช้ประเด็นสงครามต่อต้านก่อการร้ายเป็นเครื่องมือขยายอำนาจ อเมริกากับพันธมิตรทำสงครามก่อการร้ายทั่วโลก ชูเหตุผลว่าเพื่อสันติภาพ ความมั่นคงของประเทศและของโลก สงครามกลายเป็นเครื่องมือแห่งสันติภาพ เป็นสงครามปราบอธรรม สงครามเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพื่อสิทธิมนุษยชน ประเทศใดที่ต่อต้านเท่ากับอยู่ข้างฝ่ายอธรรม

            นโยบายต่อต้านก่อการร้ายของโอบามาไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นนโยบายต่อเนื่องจากสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ตั้งแต่เหตุโศกนาฏกรรม 9/11 เพียงแต่รัฐบาลโอบามา “ปรับแต่ง” โฉมนโยบายให้ “ดูดี” ชาวอเมริกันยอมรับได้ เช่น พาทหารกลับบ้าน ยืนยันไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน
            สิ่งที่ปรากฏตามมาคือการสนับสนุนทั้งทางตรงทางลับเพื่อล้มรัฐบาลบางประเทศ โดยอ้างความไม่ชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลต่อไป ในบางกรณีอาศัยมือของพันธมิตร เช่น กำลังรบทางอากาศของฝรั่งเศสกับอังกฤษเพื่อโค่นล้มมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Moammar Gadhafi) ไม่ต่อต้านพลเอกอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี (Abdul Fatah al-Sisi) โค่นล้มโมฮัมเหม็ด มอร์ซี (Muhammad Morsi) อีกครั้ง ทั้งๆ ที่รัฐบาลมอร์ซีมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

            ข้อสรุปที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์แม่บท (Grand Strategy บางคนอาจใช้ชื่ออื่นเช่น ยุทธศาตร์ความมั่นคงแห่งชาติ) ของรัฐบาลโอบามาไม่ต่างจากรัฐบาลบุช เพียงแต่มีการปรับแต่งตามบริบทภายใน-ภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลง ถ้าพูดในระดับพรรคนโยบายของพรรคเดโมแครตไม่ต่างจากพรรครีพับลิกัน ดังนั้น ไม่ว่าชาวอเมริกันจะเลือกพรรคใด รัฐบาลที่ได้ยังคงเดินหน้าตามยุทธศาสตร์แม่บท (ในส่วนลับที่พลเมืองอเมริกันเข้าไม่ถึงข้อมูล)
            ความคงเส้นคงวาของยุทธศาสตร์แม่บท คือประเด็นสำคัญยิ่งยวดในการทำความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลอเมริกา ที่กระทั่งชาวอเมริกันจำนวนมากอาจยังไม่เข้าใจ

            บทความนี้ไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย เพียงให้ข้อคิดว่าเมื่อใช้คำว่า “เผด็จการ” บางคนจะมองเฉพาะแง่ลบ นึกถึงการปกครองแบบกดขี่ แท้ที่จริงแล้วคำว่าเผด็จการหรืออีกชื่อหนึ่งที่ให้ความรู้สึกเป็นกลางมากกว่าคือ “อำนาจนิยม” นั้นไม่จำต้องหมายถึงการกดขี่ขูดรีดเสมอไป เช่น พ่อแม่ดูแลลูกเล็กๆ ด้วยอำนาจเผด็จการ เมื่อเด็กเติบใหญ่ขึ้นจึงค่อยๆ สอนให้เด็กคิดเป็น มีเสรีภาพในการตัดสินใจ
การปกครองในสมัยโบราณเป็นแนวทางเผด็จการอำนาจนิยมด้วยกันทั้งสิ้น กษัตริย์หลายองค์ไม่ดี แต่ไม่อาจปฏิเสธว่ามีกษัตริย์ที่ดีเช่นกัน ทำนองเดียวกับประชาธิปไตยที่ไม่ได้ประกันว่าจะได้ผู้บริหารประเทศที่ดีเสมอไป
กฎหมายสหรัฐปัจจุบันบัญญัติว่าในช่วงสงครามประธานาธิบดีมีสิทธิใช้อำนาจพิเศษ – แบบเผด็จการ เพื่อสามารถรับมืออย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพ
            ถ้าจะหันไปวิพากษ์รัฐบาลสหรัฐอีก ใครๆ ก็รู้ว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นมิตรกับบางประเทศที่เป็นอำนาจนิยม แถมบางครั้งดำเนินนโยบายตามแรงกดดันของรัฐบาลอำนาจนิยมด้วย
6 ธันวาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6969 วันอาทิตย์ที่ ธันวาคม พ.ศ.2558)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
อดีตนายกฯ โทนี แบลร์ยืนยันว่าการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนเป็นนโยบายที่ถูกต้อง ทั้งยังชี้ว่ารัฐบาลตะวันตกยังยึดนโยบายเช่นนี้ ประเด็นที่ยังถกเถียงคือแทรกแซงอย่างไร ควรคงกำลังทหารไว้หรือไม่ แนวทางของนายกฯ แบลร์บ่งชี้ว่ารัฐบาลตะวันตกอ้างเหตุผลความชอบธรรมเพื่อล้มรัฐบาลต่างชาติ ข่าวกรองเป็นเพียงเครื่องมือสร้าง “เหตุผล ความชอบธรรม” เพื่อให้คนในประเทศสนับสนุนโยบายเท่านั้น พร้อมกับที่ไม่เอ่ยถึงผลพวงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เช่น รัฐที่ถูกแทรกแซงกลายเป็นรัฐล้มเหลว เกิดปัญหาตามมามากมาย
บรรณานุกรม:
1. Angry Morsi supporters take to the streets and torch government buildings in protest against Cairo crackdown which left at least 525 dead and thousands more injured. (2013, August 15). Dailymail Online. Retrieved from http://www.dailymail.co.uk/news/article-2394401/Egypt-protests-Angry-Morsi-supports-streets-torch-government-buildings-protest-Cairo-crackdown-left-525-dead-thousands-injured.html
2. Chossudovsky, Michel. (2014, October 13). The Globalization of War. Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/the-globalization-of-war/5407662
3. Eilperin, Juliet., & DeYoung, Karen. (2015, September 28). Obama and Putin outline competing visions on Syria. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/politics/obama-and-putin-outline-competing-visions-on-syria/2015/09/28/619fa6a2-6604-11e5-9ef3-fde182507eac_story.html
4. Hoffmann, Christiane. (2014, October 8). Freedom vs. Stability: Are Dictators Worse than Anarchy? Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/why-keeping-a-dictator-is-often-better-than-instability-a-996101.html
5. Lucas, Edward. (2008). The New Cold War: Putin's Russia and the Threat to the West. New York: Palgrave Macmillan.
6. NATO. (2015, October 8). Doorstep statement by NATO Secretary General Jens Stoltenberg at the meeting of the North Atlantic Council at the level of Defence Ministers. Retrieved from http://www.nato.int/cps/en/natohq/opinions_123518.htm
7. Ritzer, George. (2010). Globalization: A Basic. UK: John Wiley & Sons Ltd.
8. West Facing Diplomatic Dilemma Over Syria After Putin Offer. (2015, September 29). Sputnik News. Retrieved from http://sputniknews.com/europe/20150929/1027712250/west-syria-russia-ISIL.html
-------------------------------