20 พฤศจิกายน คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติผ่านร่างมติ 2249 (2015) ให้รัฐสมาชิก “ใช้มาตรการทุกอย่างตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ต่อต้าน ISIS ทำลายฐานที่มั่นในซีเรียกับอิรัก รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ หลังเหตุโจมตีกรุงปารีสและอีกหลายแห่ง
ในข้อมติพรรณนาว่าผู้ก่อการร้ายมีอุดมการณ์รุนแรงสุดโต่ง
(violent extremist ideology) โจมตีทำร้ายพลเรือนอย่างเป็นระบบ
ละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศ
ยึดครองพื้นที่บางส่วนของประเทศอิรักกับซีเรีย เป็นภัยคุกคามต่อรัฐสมาชิกในทุกภูมิภาค
ISIL เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและสันติภาพของโลก เช่นเดียวกับ
Al-Nusrah Front ผู้ก่อการร้ายทุกกลุ่มทุกคนที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์
ข้อมติเปิดทางสะดวกแก่ปฏิบัติการทางทหารในซีเรียกับอิรักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องละเมิดอธิปไตย
2 ประเทศดังกล่าว ส่งทหารเข้าทำการรบทางภาคพื้นดินได้โดยสะดวกใจ
และเท่ากับสามารถยึดครองพื้นที่อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่งด้วย
โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อปราบปรามกวาดล้าง IS
กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายอื่นๆ เท่านั้น
บัดนี้
โดยข้อมติ 2249 (2015) การต่อต้านก่อการร้ายเป็นหน้าที่ของรัฐสมาชิกทุกประเทศ
ไม่ว่าจะด้วยกำลังทางทหาร การตัดท่อน้ำเลี้ยง
นับเป็นข้อมติครั้งแรกที่ชาติมหาอำนาจทั้ง 5 (สหรัฐ
รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส) เห็นด้วยกับการกวาดล้าง IS/ISIL/ISIS ในซีเรียกับอิรัก รวมทั้งผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่ใกล้ชิดอัลกออิดะห์ เปิดทางให้ทำได้ทุกอย่างตามกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่ยังไม่ระบุรายละเอียด ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อว่าจะกวาดล้าง IS ด้วยวิธีใด ร่วมมือกันอย่างไร
วิเคราะห์ข้อมติ :
ประการแรก
ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อล้มระบอบอัสซาด
ข้อมติระบุชัดว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัด
IS กับพลพรรคอัลกออิดะห์เท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อล้มระบอบอัสซาด
จึงเป็นผลดีต่อฝ่ายรัฐบาลซีเรียโดยตรง
บัดนี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลอัสซาดด้วยกำลังอีกแล้ว
เพราะฝ่ายต่อต้านสายกลางที่เป็นชาวซีเรียท้องถิ่นนั้นอ่อนแอเกินไป
เคิร์ดซีเรียไม่คิดหวังและไม่มีกำลังมากพอที่จะล้มรัฐบาลอัสซาด
ผู้ก่อการร้ายกำลังถูกปราบปรามอย่างหนัก กองกำลังติดอาวุธต่างชาติถูกรัสเซียโจมตีอย่างต่อเนื่องไม่สามารถต่อกรกองทัพอัสซาดอีกต่อไป
ประการที่ 2 ฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรจะส่งทหารเข้ารบทางพื้นราบหรือไม่
พฤศจิกายน 2015
หลังเหตุก่อการร้ายกรุงปารีส Ben Rhodes
ผู้ช่วยที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโอบามาแสดงความเห็นว่า
จากบทเรียนที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลโอบามาเห็นว่าการส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน การยึดครองพื้นที่ในตะวันออกกลางไม่ใช่วิธีต่อต้านก่อการร้ายที่ดีที่สุด
เนื่องจากใช้งบประมาณสูงและยากจะรักษาให้อยู่ในสภาพดังกล่าว
นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศนั้นและความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้น หากต้องส่งทหารเข้ารบทางพื้นราบจะต้องเป็นกองกำลังนานาชาติ
และสหรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน ในระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรจะต้องดูแลพื้นที่
รวมถึงการดูแลให้ความช่วยเหลือชุมชนด้วย
ในช่วงนี้หลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างเจรจาวางแผนส่งทหารเข้าปราบปรามกวาดล้างผู้ก่อการร้าย
รัสเซียกำลังเสนอแผนของตนด้วย คุณ Vitaly Churkin เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติกล่าวว่าสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงพยายามขัดขวางแผนของรัสเซีย
ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีเอ่ยถึงการส่งทหารเข้ากวาดล้าง
IS ในซีเรียอย่างจริงจัง เป็นไปได้ว่าตุรกีร่วมกับหลายประเทศ เช่น
อังกฤษจะส่งทหารเข้าซีเรียรบทางภาคพื้นดิน ส่วนสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือเรื่องกำลังรบทางอากาศ
ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ เพื่อกวาดล้าง IS และล้มระบอบอัสซาด
บัดนี้ จากข้อมูลที่ปรากฏเพิ่มเติมสามารถสรุปได้แล้วว่า แผนส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดินเป็นเรื่องจริง
ฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรพยายามกีดกันรัสเซียไม่ให้อยู่ในแผนของตน เหตุก่อการร้ายกรุงปารีสเพิ่มความชอบธรรม
กระตุ้นให้รัฐบาลต่างๆ ตัดสินใจร่วมแผนกวาดล้าง IS
ในซีเรียกับอิรัก
ข้อมติ
2249 (2015) คือหลักฐานชัดเจนที่สุด
สถานการณ์ล่าสุดที่หลายคนสนใจคือ
เครื่องบินรบ Su-24 ของรัสเซียถูกเครื่องบินรบตุรกียิงร่วง
นักบินเสียชีวิต 1 นาย ประธานาธิบดีโอบามาอธิบายเหตุตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียว่า
เครื่องบินรัสเซีย “ปฏิบัติการใกล้ชายแดนตุรกี
โจมตีฝ่ายต่อต้านสายกลางที่ตุรกีกับอีกหลายประเทศสนับสนุน” ถ้ารัสเซียมุ่งโจมตี IS
โอกาสที่จะเกิดเหตุดังกล่าวคงน้อยลง พร้อมกับกล่าวว่าตุรกี
“มีสิทธิป้องกันดินแดนและน่านฟ้าของตน” พันธมิตรนาโตออกโรงสนับสนุนตุรกีเช่นกัน
เหตุที่ตุรกียิงเครื่องบินรบรัสเซียน่าจะเป็นเพราะต้องการยั่วยุรัสเซีย
สร้างความบาดหมางระหว่าง 2 ประเทศ จากนั้นนำไปผูกโยงให้เป็นความบาดหมางระหว่างฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย
เป็นอีกข้ออ้างว่า 2 ฝ่ายไม่สามารถร่วมมือปราบปรามผู้ก่อการร้าย
ฝ่ายรัสเซียโต้กลับรุนแรงด้วยการเรียกคนกลับประเทศ
ห้ามไปท่องเที่ยวตุรกีโดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยจากก่อการร้าย
ไม่ซื้อสินค้าเกษตร ส่งเครื่องบินรบไปประจำการเพิ่มในซีเรีย
แต่เรื่องที่ฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรกังวลมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการติดตั้งระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ
S-300 กับ S-400 ในฐานทัพรัสเซียในซีเรีย
ขีปนาวุธทั้ง 2 ชนิดไม่เพียงต่อต้านอากาศยานทุกรูปแบบเท่านั้น
ยังสามารถต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีปด้วย ที่ผ่านมาสหรัฐ รัฐอาหรับ
รวมทั้งอิสราเอลต่อต้านการขายขีปนาวุธ S-300 แก่ซีเรีย
บัดนี้ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจเฉียดขาด ติดตั้งขีปนาวุธทั้ง 2 แบบ
เป็นภัยคุกคามต่อประเทศในย่านนั้นทั้งหมด เป็นมาตรการโต้กลับอย่างถึงพริกถึงขิง
ล่าสุด
ประธานาธิบดีแอร์โดกานเริ่มเสียงอ่อนกล่าวว่าไม่ต้องการให้เกิดความตึงเครียดระหว่างตุรกีกับรัสเซีย
ยืนยันว่าได้เตือนเครื่องบินรัสเซียกว่า 5 นาทีให้ออกจากน่านฟ้า และกล่าวว่า
“ถ้ารู้ว่าเป็นเครื่องบินรัสเซียเราคงไม่ทำเช่นนั้น”
ประการที่
3 ประเด็นเรื่องเวลา
การที่คณะมนตรีความมั่นคงเห็นชอบให้ปราบปราม
IS กับอัลกออิดะห์
ไม่ได้บ่งชี้ว่าผู้ก่อการร้ายจะต้องสูญหายจากซีเรียกับอิรักทันที
อาจจะกินเวลาอีกหลายปี อาจเป็น 10 ปี 30 ปีก็เป็นได้
เรื่องนี้จะเหมือนกับกรณีนโยบายปราบปราม
IS ของรัฐบาลโอบามากับพันธมิตรที่มุ่งใช้วิธีการโจมตีทางอากาศ
สหรัฐยังยอมรับว่าต้องกินเวลาหลายปี ซึ่งอาจหมายถึง 10 ปี 30 ปี
ปัจจุบัน
ปฏิบัติการโจมตีของรัสเซียสามารถบั่นทอนผู้ก่อการร้าย กองกำลังติดอาวุธต่างชาติ ช่วยให้กองทัพอัสซาดสามารถรุกคืบหลายจุด
แต่ยังไม่แน่ใจว่าสามารถปราบปรามได้ทั้งหมดหรือไม่ มีความต้องการเช่นนั้นหรือไม่
เพราะสถานการณ์ซับซ้อน
ในขณะที่บางประเทศยังติดปัญหาการเมืองภายใน เช่น
รัฐบาลอังกฤษยังไม่สามารถชักจูงให้สภามีมติโจมตีผู้ก่อการร้ายทางอากาศ ทั้งๆ
ที่เกิดเหตุก่อการร้ายกรุงปารีส
(ก่อนหน้านี้พยายามชักจูงให้ส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดินแต่ไม่สำเร็จ
รัฐบาลคาเมรอนจึงเปลี่ยนมาเป็นแค่โจมตีทางอากาศซึ่งยังไม่สำเร็จอยู่ดี)
การที่นานาชาติยังไม่ระบุแผนชัดเจน
ติดขัดปัญหาหลายประการและเหตุผลอื่นๆ จึงไม่สามารถคาดการณ์ว่าจะมีผลต่อการยึดคืนพื้นที่ทั้งหมดได้เมื่อไหร่
อย่างไร
ประการที่ 4 ทำไมการโจมตีของรัสเซียได้ผลมากกว่า
มีเรื่องน่าแปลกใจว่ากองทัพอากาศของสหรัฐกับพันธมิตรหลายประเทศมีจำนวน
มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารัสเซีย มีระบบสอดแนมเป็นหนึ่งของโลก
แต่ทำไมการโจมตีของรัสเซียดูเหมือนได้ผลมากกว่า
หลังเหตุก่อการร้ายกรุงปารีส
รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรหลายประเทศประกาศยกระดับการโจมตี
และยังคงวนเวียนอยู่กับการประชุมแสวงหาความร่วมกันมือในหมู่พันธมิตร
ก่อนหน้านี้พอจะยอมรับได้ว่าจำต้องหารือพันธมิตรเพื่อสร้างพวก สร้างความชอบธรรม
บัดนี้คณะมนตรีความมั่นคงให้ความชอบธรรมแล้ว สหรัฐจะถล่ม IS กับอัลกออิดะห์หนักอย่างไรก็ได้
จึงเป็นประเด็นที่ควรติดตามว่ารัฐบาลโอบามาจะดำเนินการอย่างไร
หรือปล่อยให้รัสเซียเป็นหนึ่งในการโจมตีผู้ก่อการร้ายต่อไป
ข้อมูลล่าสุด
ทางการรัสเซียแถลงว่าฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรยังไม่พร้อมที่จะร่วมโจมตีผู้ก่อการร้ายกับรัสเซีย
ยุทธการต่อต้านผู้ก่อการร้ายในซีเรียขณะนี้จึงมีอย่างน้อย 2 แผน คือแผนของรัสเซียกับแผนของฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตร
ติดขัดที่รัฐบาลโอบามายังไม่ยอมให้ข้อมูลว่าแยกแยะว่ากลุ่มใดเป็นผู้ก่อการร้าย
กลุ่มใดเป็นฝ่ายต่อต้านชาวซีเรีย อีกเหตุผลคือปฏิบัติการของรัสเซียเอื้อต่อกองทัพรัฐบาลอัสซาด
รัฐบาลซีเรียยึดคืนพื้นที่มากขึ้นทุกขณะซึ่งฝ่ายสหรัฐไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น
ประการที่ 5 อัสซาดจะปราบปรามเคิร์ดซีเรียหรือไม่
หนึ่งในคำถามสำคัญคือ
ความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างรัฐบาลซีเรียกับเคิร์ดซีเรียจะเป็นอย่างไร เพราะ 4 ปีที่ผ่านมาพวกเคิร์ดพยายามแบ่งแยกดินแดน สร้างเขตปกครองตนเอง และทำได้ดีพอสมควร
สามารถต้านทานการโจมตีจาก IS แรงกดดันจากรัฐบาลตุรกี
ในขณะที่กองทัพอัสซาดดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามเคิร์ดซีเรียแต่อย่างไร
จากข้อมูลที่ปรากฏ ฝ่ายต่อต้านสายกลางของรัฐบาลโอบามา
ถ้าไม่นับพวกผู้ก่อการร้าย กองกำลังอาวุธต่างชาติ
ก็คือพวกเคิร์ดซีเรียกับซุนนีอาหรับ ดังนั้น ถ้าซีเรียปราศจากผู้ก่อการร้าย
ประเทศจะแยกออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือส่วนของรัฐบาลอัสซาด เคิร์ดซีเรีย
และซุนนีอาหรับซีเรีย (อาจมีฝ่ายต่อต้านสายกลางกลุ่มเล็กๆ อื่นๆ
กระจายในหลายพื้นที่)
ดังนั้น สมมุติว่าผู้ก่อการร้ายอ่อนแรง ถอนตัวออกไป ซีเรียยังถูกแบ่งแยกอยู่ดี
น่าเชื่อว่าการมีข้อมติเป็นผลจากการสร้างฐานทัพรัสเซียในซีเรีย
การเข้าแทรกแซงของรัสเซียทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ
รัฐบาลอัสซาดเป็นฝ่ายได้เปรียบ ความคิดที่จะล้มอัสซาดด้วยกำลังเป็นอันจบสิ้น
อย่างไรก็ตาม
อนาคตของซีเรียที่จะเป็นประเทศหนึ่งเดียวคงยากจะเป็นไปได้ รัฐบาลอัสซาดสามารถรักษาพื้นที่ส่วนหนึ่ง
และต้องสูญเสียบางส่วน
29 พฤศจิกายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6962 วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2558)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6962 วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2558)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ก่อนหน้านี้มีความพยายามยุติสงครามกลางเมืองซีเรีย
แต่การเจรจาล้มเหลว ผลที่ตามมาคือรัสเซียเข้ามาตั้งฐานทัพในซีเรียและเปิดฉากโจมตี เป็นไปได้ว่านี่คือการสกัดกั้นแผนล้มระบอบอัสซาดของสหรัฐกับพันธมิตรด้วยการส่งกองทัพเข้าซีเรียรบทางภาคพื้นดิน
บรรณานุกรม:
1. Geoff Dyer. (2015, November 21). UN passes resolution
urging action against Islamic State. CNBC/Financial Times. Retrieved
from
http://www.cnbc.com/2015/11/21/financial-times-un-passes-resolution-urging-action-against-islamic-state.html
2. Kremlin says Western powers ‘not ready’ to work in
anti-Daesh coalition with Russia. (2015, November 27). Gulf News/AP.
Retrieved from
http://gulfnews.com/news/europe/russia/kremlin-says-western-powers-not-ready-to-work-in-anti-daesh-coalition-with-russia-1.1627376
3. Obama points finger at Russia over jet shoot-down by
Turkey. (2015, November 24). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/politics/2015/11/24/hollande-to-press-obama-on-russia-cooperation-in-isis-fight.html
4. Obama Security Advisor: 'Ground Forces in
Syria Are Not Sustainable'. (2015, November 19). Spiegel Online.
Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/interview-with-ben-rhodes-about-paris-attacks-and-syria-a-1063687.html
5. ‘Putin has not returned my call’, Turkey's Erdogan tells
FRANCE 24. (2015, November 27). FRANCE24. Retrieved from
http://www.france24.com/en/20151126-exclusive-interview-erdogan-turkey-russian-putin-jet-syria-islamic-state
6. Security Council. (2015,
November 20). Resolution 2249 (2015). Retrieved from
http://www.securitycouncilreport.org/atf/cf/%7B65BFCF9B-6D27-4E9C-8CD3-CF6E4FF96FF9%7D/s_res_2249.pdf
7. UN calls on world to fight ISIS as Security Council
unanimously adopts French-drafted resolution. (2015, November 20). RT.
Retrieved from https://www.rt.com/news/322931-un-resolution-fight-terrorism-isis/
8. Ünal, Ali. (2014, October 12). TURKISH FM: WEST
UNDERSTANDS TURKISH FOREIGN POLICY’S CONSISTENCY IN SYRIA AND IRAQ. Daily
Sabah. Retrieved from
http://www.dailysabah.com/politics/2014/10/12/turkish-fm-west-understands-turkish-foreign-policys-consistency-in-syria-and-iraq
-------------------------------