ฝ่ายสหรัฐเดือดร้อนเมื่อรัสเซียตั้งฐานทัพในซีเรีย ความขัดแย้งเข้าสู่บทใหม่อีกครั้ง

สงครามกลางเมืองซีเรียเข้าสู่บทใหม่อีกครั้งเมื่อรัฐบาลปูตินตั้งฐานทัพในซีเรียพร้อมกำลังรบ เป็นการสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดโดยตรง
            อันที่จริงชาติมหาอำนาจและประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศแทรกแซงซีเรียตั้งแต่ความขัดแย้งภายในเริ่มก่อตัว จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ เพราะรัฐบาลอัสซาด ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียต่างได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ทั้งยังมีการปรากฏตัวของผู้ก่อการร้ายสารพัดกลุ่ม
            รัฐบาลปูตินสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดมาตั้งแต่ต้น บัดนี้ยกระดับการช่วยเหลืออีกขั้นด้วยการตั้งฐานทัพในซีเรียพร้อมกำลังรบ ถือเป็นการ “ขยับนโยบาย” ครั้งสำคัญ มีผลต่อหลายประเทศไม่เฉพาะต่อซีเรียเท่านั้น ยังรวมถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง การเผชิญหน้าของ 2 ค่าย (ขั้ว) คือ ค่ายสหรัฐกับค่ายรัสเซีย-จีน ระเบียบโลกกำลังขยับอีกครั้ง
            (หมายเหตุ: บทความนี้เป็นตอนที่ 1 ของบทความชุด “สมรภูมิซีเรีย การเผชิญหน้าระหว่างค่ายสหรัฐกับค่ายรัสเซีย-จีน”)
2-3 เดือนที่ผ่านมามีความพยายามเจรจาเพื่อแก้ยุติสงครามกลางเมืองซีเรียอีกรอบ ซึ่งอาจนำสู่การหยุดยิงชั่วคราวหรือทางออกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐบาลโอบามายืนยันต้องไม่มีระบอบอัสซาดอีกต่อไป ในขณะที่รัฐบาลปูติน จีน อิหร่านพร้อมใจประกาศอยู่เคียงข้างรัฐบาลซีเรีย
            จากเหตุการณ์ข้างต้น รัสเซียเริ่มส่งเจ้าหน้าที่จำนวนมากพร้อมด้วยกำลังทหาร มาตั้งฐานทัพที่ Latakia ในซีเรีย ตามมาด้วยปฏิบัติการโจมตี

รัสเซียตั้งฐานทัพในซีเรีย จุดยืนที่ไม่อาจบรรจบ :
กลางเดือนกันยายน 2015 ประธานาธิบดีปูตินกล่าวในงานประชุมสุดยอด Collective Security Treaty Organization (CSTO) เรียกร้องให้ชาติตะวันตกระงับความต้องการส่วนตัว พฤติกรรม 2 มาตรฐานในการสู้กับก่อการร้าย ไม่ล้มรัฐบาลคนอื่นด้วยการยืมมือองค์กรก่อการร้าย “ณ ขณะนี้เราจำต้องร่วมมือกับรัฐบาลซีเรีย กองกำลังเคิร์ดและพวกที่เรียกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง (moderate opposition) เหล่าประเทศในภูมิภาค เพื่อสู้กับภัยคุกคามต่อซีเรียและต่อต้านลัทธิก่อการร้าย” ถ้าร่วมมือกันจะแก้ปัญหาได้ พร้อมกับกล่าวว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดพร้อมจะแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง ให้ฝ่ายต่อต้านมีส่วนบริหารประเทศ ย้ำจะให้ความช่วยเหลือซีเรีย “ทั้งด้านการทหาร ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่จำเป็น”
            แต่รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรยืนยันจุดยืนเดิมคือประธานาธิบดีอัสซาดต้องก้าวลงจากอำนาจ

            30 กันยายน เครื่องบินรัสเซียที่ประจำการในซีเรียเริ่มเปิดฉากโจมตี
            ในมุมมองรัสเซียเห็นว่าประธานาธิบดีอัสซาดเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อมิถุนายนปีที่แล้วประธานาธิบดีอัสซาดชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ได้รับ 10.3 ล้านเสียง หรือเท่ากับร้อยละ 88.7 ของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้นราว 11.6 ล้านเสียง จากประชาชนผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 15.8 ล้านคน ผู้สมัครที่ได้คะแนนอันดับ 2 กับ 3 ได้คะแนนเพียง 5 แสนกับ 3.7 แสนคะแนนเท่านั้น
            แต่ฝ่ายสหรัฐเห็นว่าสังคมอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ผู้ออกไปใช้สิทธิ์อยู่ในความหวาดกลัว ผลการเลือกตั้งจึงไม่แสดงเจตจำนงที่แท้จริง เป็นเพียงการแสดงอย่างหนึ่งเท่านั้น นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐบอกว่าการเลือกตั้งเป็น “ฉากการเมืองที่น่าเยาะเย้ย”
            รัฐบาลของประเทศที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 11 ประเทศที่เรียกตัวว่า Friends of Syria อันประกอบด้วย อังกฤษ อียิปต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จอร์แดน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเรมิเรตส์ และสหรัฐ ประเทศเหล่านี้เป็นผู้ให้การสนับสนุนแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลซีเรีย แสดงจุดยืนว่าประธานาธิบดีอัสซาดกับบริวารจะต้องไม่มีส่วนในรัฐบาลเฉพาะกาล (Transitional Governing Body หรือTGB)
            เป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับจุดยืนของรัฐบาลโอบามาที่ประกาศเมื่อสิงหาคม 2011 เรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ เปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย
            ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา “จุดยืนที่แตกต่างกัน” เป็น “เงื่อนตาย” ทำให้ความขัดแย้งไม่อาจยุติได้ด้วยการเจรจา ต่างชาติเข้าแทรกแซงตลอดเวลา สงครามกลางเมืองดำเนินไปเรื่อยๆ

            กระทรวงกลาโหมรัสเซียเริ่มต้นด้วยการรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายนเครื่องบินเริ่มเปิดฉากโจมตีผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS เฉพาะจุดในประเทศซีเรีย ภายใต้การร้องขอจากประธานาธิบดีอัสซาด และประธานาธิบดีปูตินกล่าวแล้วว่าจะไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน

สหรัฐกับพันธมิตรนั่งไม่ติด :
            ด้วยการตั้งฐานทัพ ออกปฏิบัติโจมตีเป้าหมายต่างๆ สหรัฐกับพันธมิตรแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะ 2 สาเหตุ
ประการแรก การส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดิน
            แนวคิดเรื่องการส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดินมีมานานแล้ว แต่ติดขัดที่รัฐบาลโอบามาปฏิเสธส่งทหารเข้าร่วมรบภาคพื้นดิน
แนวคิดนี้เริ่มจริงจังอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว (2014) เคียงคู่กับการจัดตั้งเขตห้ามบินตามแนวพรมแดนตุรกี-ซีเรีย และจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
3 กันยายน รัฐสภาตุรกีเปิดสภาเป็นกรณีพิเศษลงมติอนุญาตให้รัฐบาลส่งทหารไปต่างแดน ไปอิรักกับซีเรียและให้ทหารต่างชาติมาประจำการในประเทศ
การที่รัฐสภาตุรกีอนุมัติส่งกองทัพไปอิรักกับซีเรีย พร้อมกับให้ทหารต่างชาติมาตั้งอยู่ในประเทศ เป็นหลักฐานสำคัญสนับสนุนเรื่องการส่งกองทัพทำการรบภาคพื้นดินในซีเรีย

            นอกจากมติของรัฐสภาตุรกี รัฐบาลพันธมิตรสหรัฐออกมากล่าวแสดงท่าทีสนับสนุน
            เดวิด คาเมรอน (David Cameron) นายกฯ อังกฤษกล่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายนเสนอว่าจำต้องใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างอย่างเด็ดขาด พร้อมกับเห็นว่าอังกฤษจะขอมีส่วนร่วมด้วย “เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนานาชาติที่จะพูดว่าจำต้องมีแนวทางในประเด็นซีเรีย อันหมายถึงมีรัฐบาลที่สามารถดูแลประชาชนของตน” “อัสซาดจะต้องไป ISIL ก็ต้องไปด้วย เพื่อให้เป็นไปตามนั้น ... จะต้องใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธหนัก (hard military force)” เพื่อปราบ IS และล้มรัฐบาลอัสซาด พร้อมกับชี้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาผู้อพยพซีเรียจำนวนมากที่กำลังทะลักเข้ายุโรป
            สิ่งที่นายกฯ คาเมรอนพูดถึงคือการส่งกองทัพเข้าประเทศซีเรีย กวาดล้าง IS และล้มรัฐบาลอัสซาด

ในเวลาไล่เลี่ยงกัน 12 กันยายน นายเมฟเลิต ชาวูโชลู  (Mevlut Cavusoglu) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศตุรกีอธิบายแนวทางส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดินว่า การโจมตี ISIS ทางอากาศได้ไม่ค่อยได้ผล ตุรกีจึงคิดปฏิบัติการภาคพื้นดิน รัฐมนตรีชาวูโชลูพูดอย่างน่าคิดว่าการขาดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเป็นต้นเหตุการณ์ปรากฏตัวของ ISIS ดังนั้น แผนปราบ ISIS จึงต้องเป็นแผนที่ครอบคลุม ต้องจัดการภัยคุกคามทั้งหมด ทำให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งของแผนคือการล้มระบอบเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กวาดล้างผู้ก่อการร้ายในภูมิภาคและสิ่งอื่นๆ อันเป็นเหตุสร้างความไร้เสถียรภาพ พร้อมกับส่งเสริมประชาธิปไตย แต่หากจะเริ่มปฏิบัติการภาคพื้นดินจะต้องได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรก่อน

            หากตุรกีจะส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน เชื่อว่าจะต้องมีกำลังทางอากาศสนับสนุน รัฐบาลตุรกีคงหวังให้สหรัฐรับบทบาทตรงนี้ ปัจจุบันสหรัฐได้ใช้ฐานทัพอากาศที่ Incirlik ในตุรกีอยู่แล้ว รวมทั้งฐานทัพอื่นๆ ในภูมิภาค
            ข้อสรุปคือ เป็นไปได้ว่าตุรกีร่วมกับหลายประเทศ เช่น อังกฤษจะส่งทหารเข้าซีเรียรบทางภาคพื้นดิน ส่วนสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือเรื่องกำลังรบทางอากาศ ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ เพื่อกวาดล้าง IS และล้มระบอบอัสซาด
            เป็นแผน เป็นข้อตกลงล่าสุดของสหรัฐกับพันธมิตร
การที่รัสเซียตั้งฐานทัพพร้อมกำลังรบในซีเรียจึงเป็นการสกัดทางหากสหรัฐกับพวกคิดจะส่งทหารโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด

          ประการที่ 2 การสร้างเขตปลอดภัย/เขตห้ามบิน
            แนวคิดสร้างเขตปลอดภัย/เขตห้ามบินมีมานานแล้วตั้งแต่ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามกลางเมือง ด้วยเหตุผลเป้าหมายแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ข้อมูลที่ปรากฏเมื่อไม่นานนี้คือรัฐบาลโอบามาปรึกษากับรัฐบาลแอร์โดกานเรื่องจัดตั้งเขตห้ามบินเพื่อสร้างเขตปลอดภัยในซีเรียติดพรมแดนตอนใต้ของตุรกีเพื่อถ่ายโอนผู้อพยพซีเรีย 2 ล้านคนไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ฝ่ายรัสเซียไม่เห็นด้วยกับเพราะเท่ากับละเมิดอธิปไตยซีเรีย
            ถ้าวิเคราะห์เรื่องการส่งทหารกวาดล้าง IS ล้มระบอบอัสซาดร่วมกับการสร้างเขตปลอดภัยจะเห็นว่าขัดแย้งกัน เพราะหากสามารถกวาดล้าง IS ล้มอัสซาดก็ไม่จำต้องมีเขตปลอดภัยอีก
            เป็นไปได้ว่าการสร้างเขตปลอดภัยอาจซ่อนแผนพันธมิตรสหรัฐส่งทหารพร้อมอาวุธหนักเข้าซีเรีย เพราะจำต้องมีทหารเข้าดูแลรักษาความสงบในพื้นที่ เป็นข้ออ้างให้ทหารของพันธมิตรสหรัฐส่งอาวุธหนักเข้าประจำในเขตดังกล่าว จากนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อม สถานการณ์สุกงอมจึงส่งทหารรุกเข้าซีเรีย

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ดังที่นำเสนอตั้งแต่ต้นว่าเมื่อ 2-3 เดือนก่อนมีความพยายามยุติสงครามกลางเมืองซีเรีย แต่การเจรจาไม่ประสบผลด้วยเหตุผลที่ไม่ปรากฏชัด (อาจเป็นเรื่องการคงอยู่ของระบอบอัสซาด) ผลที่ตามมาคือรัสเซียเข้ามาตั้งฐานทัพในซีเรียและเปิดฉากโจมตี
            เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายของรัสเซียคือ “สกัด” แผนการของฝ่ายตรงข้าม ที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการล้มระบอบอัสซาด
ไม่ว่าแผนของรัฐบาลโอบามากับพันธมิตรคืออะไร พวกเขาเดือดเนื้อร้อนใจกับการโต้กลับของรัสเซีย สงครามกลางเมืองซีเรียเข้าสู่บทใหม่ การเผชิญหน้าระหว่างค่ายสหรัฐกับรัสเซียเข้มข้นกว่าเดิม
11 ตุลาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6913 วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2271246)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ หรือจะใช้ชื่อใด รัฐบาลโอบามากับตุรกีกำลังสร้างเขตปลอดภัย (safe zone) หรือเขตห้ามบิน (no-fly zone) ทางตอนเหนือของประเทศซีเรียติดแนวพรมแดนทางตอนใต้ตุรกี ข้อดีคือผู้ลี้ภัยซีเรียสามารถกลับประเทศเข้าไปอยู่ในเขตดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเกิดปกครองตนเองขึ้นมาอีกเขตหนึ่ง ประเด็นที่ต้องติดตามคือใครจะเป็นผู้ควบคุมเขตดังกล่าว อนาคตของพื้นที่นี้จะเป็นอย่างไร
บรรณานุกรม :
1. al-Jarba, Ahmad. (2014, June 3). Bashar al-Assad’s ‘blood election’. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/opinions/ahmad-al-jarba-bashar-al-assads-blood-election/2014/06/02/4ad6b4e4-ea6b-11e3-93d2-edd4be1f5d9e_story.html
2. Dr. Bashar Hafez al-Assad wins post of President of Syria with sweeping majority of votes at 88.7%. (2014, June 4). SANA. Retrieved from http://www.sana.sy/eng/393/2014/06/04/548613.htm
3. Feltman, Jeffrey D. (2011, November 9). U.S Policy on Syria. U.S. Department of State. Retrieved from http://www.state.gov/p/nea/rls/rm/176948.htm
4. Putin: Russia supports and will support the Syrian government.  (2015, September 15). Pravda. Retrieved from http://english.pravda.ru/russia/politics/15-09-2015/131969-putin_russia_syria-0/
5. Russian planes start pinpoint strikes against IS positions in Syria — Defense Ministry. (2015, September 30). TASS. Retrieved from http://tass.ru/en/defense/824957
6. Shakdam, Catherine. (2015, September 26). Shifting winds: How Assad is becoming Syria’s only viable option. RT. Retrieved from https://www.rt.com/op-edge/316577-assad-syria-cameron-merkel-putin/
7. Turkish Parliament approves motion on Syria, Iraq amidst opposition fury at interim gov’t. (2015, September 3). Today’s Zaman. Retrieved from http://www.todayszaman.com/national_turkish-parliament-approves-motion-on-syria-iraq-amidst-opposition-fury-at-interim-govt_398207.html
8. Ünal, Ali. (2014, October 12). TURKISH FM: WEST UNDERSTANDS TURKISH FOREIGN POLICY’S CONSISTENCY IN SYRIA AND IRAQ. Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/politics/2014/10/12/turkish-fm-west-understands-turkish-foreign-policys-consistency-in-syria-and-iraq
9. Watt, Nicholas. (2015, September 9). David Cameron says 'hard military force' needed to tackle Assad and Isis. The Guardian. Retrieved from http://www.theguardian.com/politics/2015/sep/09/david-cameron-says-hard-military-force-needed-to-tackle-assad-and-isis
--------------------------------