มองอีกมุม IS ก่อการร้ายกรุงปารีส

IS/ISIL/ISIS กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งก่อเหตุพร้อมกันหลายจุดในกรุงปารีส หนึ่งในนั้นคือนอกสนามกีฬาแห่งชาติ (Stade de France) ทีมฟุตบอลฝรั่งเศสกำลังแตะนัดกระชับมิตรกับทีมเยอรมนี ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ (Francois Hollande) แห่งฝรั่งเศสกำลังนั่งชมอยู่ในสนามด้วย
            ข้อมูลหลายชิ้นที่ปรากฏบ่งชี้ว่าผู้ก่อการสังกัด IS แถลงว่า “พี่น้อง 8 คนคาดด้วยระเบิดและถือปืนไรเฟิล” ทำสงครามครูเสดโจมตีฝรั่งเศส โทษฐานที่ “โจมตีมุสลิมในกาหลิบ (หมายถึง IS) ด้วยเครื่องบิน”
            แนวทางที่ใช้ยังคงเป็นการสร้างความสะเทือนขวัญให้มากที่สุด ผู้อยู่ในเหตุการณ์คอนเสิร์ตคนหนึ่งเล่าว่า “มีเลือดเต็มไปหมด มีศพอยู่ทุกที่ ได้ยินเสียงกรีดร้อง ทุกคนพยายามหนี”
            ผู้ก่อเหตุทั้งหมดมาในสภาพพร้อมที่จะ “จบ” ชีวิตตัวเอง คงไม่มีใครตั้งเป้าว่าจะมีชีวิตอีก หลายคนจบชีวิตด้วยการจุดระเบิดตัวเองหลังก่อเหตุยิงกราด กลายเป็นระเบิดพลีชีพ พฤติกรรมทำนองนี้กำลังประกาศว่าพวกเขา “ตั้งใจ” มาตาย พวกเขา “ไม่กลัวตาย” ปฏิบัติการครั้งนี้คือการ “จบ” ชีวิตตัวเอง
            และเป็นการประกาศทิ้งท้ายให้รู้ว่าเหตุร้ายทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีก ปารีส ฝรั่งเศส จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เป็นการเตือนประเทศอื่นๆ ไปในตัวด้วย
หากมองว่าเหตุการณ์นี้คือสงคราม จะหมายถึงสงครามที่อาจไม่มีวันยุติ การปะทะ การระเบิด เหตุร้ายต่างๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในโมงยามที่ไม่มีใครรู้ ในหลายวิธีหลายรูปแบบ ไม่ยึดติดวิธีการ
ฝรั่งเศสประกาศทำสงคราม? :
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประธานาธิบดีออลลองด์ประกาศว่า IS คือผู้ลงมือ “ทำสงคราม” กับฝรั่งเศส รัฐบาล “จะทำทุกอย่างทุกที่ทั้งในและนอกประเทศ” เพื่อเอาชนะ IS
            รัฐบาลฝรั่งเศสจึงประกาศทำสงครามกับ IS หลังเหตุโจมตีกรุงปารีส คำถามคือฝรั่งเศสเพิ่งประกาศทำสงครามหรือ แล้วที่ผ่านมาปฏิบัติการทางทหาร โจมตีทิ้งระเบิด IS ในซีเรียและอิรักหมายความว่าอย่างไร
            ความเข้าใจที่ถูกต้องคือรัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลตะวันตกหลายประเทศ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง “ประกาศทำสงคราม” กับ IS และลงมือทิ้งระเบิดตั้งแต่ปีที่แล้ว (2014) เมื่อรัฐบาลโอบามาประกาศทำสงครามกับรัฐอิสลาม (IS) ประธานาธิบดีโอบามากล่าวในขณะนั้นว่า IS เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนอิรักกับซีเรีย และต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง “หากปล่อยทิ้งไว้ ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะเติบใหญ่ขึ้นเหนือกว่าระดับภูมิภาค และจะคุกคามแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา”
            ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมยุทธการ ส่งเครื่องบินรบเข้าประจำการในตะวันออกกลางและออกปฏิบัติการโจมตีร่วมกับสหรัฐและอีกหลายประเทศ
            เมื่ออยู่ในสงครามย่อมหมายถึง ทุกฝ่ายยอมรับว่าในระหว่างนี้มีความเสี่ยงที่จะถูก “โต้กลับ”  ต่างฝ่ายต่างมีผู้บาดเจ็บล้มตาย
            พลเมืองฝรั่งเศสและประเทศทั้งหลายที่กำลังทำสงครามกับ IS จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเป้าหมาย ชาวฝรั่งเศสน่าจะรู้ตัวและตระหนักอยู่แล้วว่ามีโอกาสที่จะเกิดเหตุก่อการร้าย
            เมื่อ IS สูญเสียชีวิตนับพันนับหมื่น คราวนี้เป็นฝ่ายฝรั่งเศสบ้าง การโจมตีกรุงปารีสเป็นเพียง 1 การตอบโต้เท่านั้น
            ถ้าจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน จะได้คำตอบเช่นนี้
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจากถ้อยคำต่างๆ ของรัฐบาลฝรั่งเศสกลายเป็นว่ารัฐบาลเห็นว่าการโจมตีกรุงปารีสเป็นพฤติกรรมของการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้จึงขอประกาศทำสงครามกับ IS
            น่าประหลาดใจที่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่พูดกับพลเมืองของตนว่าที่ถูกโจมตีเพราะอยู่ในภาวะสงคราม กำลังทำสงครามกับ IS อยู่แล้ว
ควรมองการโจมตีกรุงปารีสว่าคือการโต้กลับด้วยซ้ำ

ส่งทหารเข้ารบกับต้นตอปัญหา :
            เหตุก่อการร้ายในกรุงปารีสทำให้หลายคนตั้งคำถามว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐกับพันธมิตรจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่ จะต้องเร่งปราบปราม IS ให้หนักหน่วงกว่าเดิมหรือไม่
            ก่อนหน้านี้รัฐบาลโอบามาเพิ่งจะเพิ่มความเข้มข้น เพิ่มการโจมตีทางอากาศ ส่งหน่วยรบพิเศษลงพื้นที่
            คำถามที่หลายคนสงสัยคือจะส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดินหรือไม่

ในเชิงความคิดเห็น บางคนเห็นว่าเหตุกรุงปารีสเป็นหลักว่านโยบายรัฐบาลโอบามาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง สหรัฐกับพันธมิตรต้องตัดสินใจใช้วิธีการที่เด็ดขาดกว่านี้
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยบางคนเชื่อว่ารัฐบาลโอบามาคงไม่คิดส่งทหารนับหมื่นเข้าพื้นที่ซีเรียปะทะกับผู้ก่อการร้าย บ้างเห็นว่าปฏิบัติการรบภาคพื้นดินไม่ช่วยลดการก่อการร้าย

            ในมุมมองเชิงตรรกะเชิงยุทธการนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง อีกมุมหนึ่งที่ต้องระลึกเสมอคือการมองต้นตอของปัญหา การปรากฏตัวการดำรงอยู่ได้ของ IS เกิดจากความขัดแย้งภายในซีเรียที่ลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง กลายเป็นสงครามที่มี “มือที่ 3” เข้ามาเกี่ยวข้อง ตราบใดที่คนชาติเดียวกันยังตกลงกันไม่ได้ ย่อมยากจะจัดการกองกำลังติดอาวุธสารพัดกลุ่มที่เข้ามาในซีเรีย
            ที่ผ่านมามีการเจรจาแก้ไขปัญหาหลายรอบแต่ไม่สำเร็จ ผลการเจรจาแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ยังติดขัดเรื่องอนาคตของประธานาธิบดีอัสซาด ยังเป็นการติดขัดเรื่องเดิม เรื่องที่ไม่ได้ข้อสรุปไม่ว่าจะคุยมาแล้วกี่รอบ

ล่าสุด ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียสายกลาง National Coalition of Syrian/Syrian National Coalition (SNC) ยังยึดมั่นจุดยืนเดิมว่าอนาคตซีเรียต้องไม่มีรัฐบาลของอัสซาดอีกต่อไป Samir Nashar สมาชิกคนหนึ่งของ SNC แสดงท่าทีว่าพวกเขาไม่ขอปรองดองกับระบอบอัสซาด หากในอนาคตยังมีรัฐบาลอัสซาดหรือยังเกี่ยวข้องกัน “มันดูเหมือนว่าฝ่ายต่อต้านปรองดองกับระบอบ (อัสซาด)” นาย Nashar ยังเห็นว่าเหตุก่อการร้ายกรุงปารีสไม่ช่วยให้ฝ่ายตะวันตกกับรัสเซียมีข้อสรุปร่วมต่อการแก้ปัญหาซีเรีย สุดท้ายจะเป็นเพียงเหตุการณ์ที่สะเทือนอารมณ์และจางหายไป
            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า SNC เป็นกลุ่มที่ชาติตะวันตกกับพันธมิตรอาหรับสนับสนุน กำหนดให้เป็นกลุ่มเข้าบริหารประเทศซีเรียในอนาคต ท่าทีของ SNC มักบ่งบอกทิศทางบางอย่างเสมอ และท่าทีล่าสุดยังคงเป็นเช่นเดิม นั่นคือ ฝ่ายต่อต้านสายกลางที่สหรัฐกับพันธมิตรสนับสนุนไม่ต้องการปรองดอง ซีเรียในอนาคตต้องไม่มีอัสซาด

            ท่าทีนี้เป็นท่าทีเดียวกับรัฐบาลโอบามาและพันธมิตร จอห์น เคอรรี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่าประธานาธิบดีอัสซาด “เป็นต้นเหตุทำให้เกิด Daesh (IS) ดังนั้น ตราบใดที่อัสซาดยังอยู่จะไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์” ด้วยมุมมองแบบนี้กลายเป็นว่ารัฐบาลอัสซาดนั่นแหละเป็นต้นเหตุของการเกิด IS ถ้าจะโทษก็ต้องโทษรัฐบาลอัสซาด นี่คือตรรกะของรัฐบาลชาติตะวันตกกับพันธมิตรอาหรับ

ไม่ใช่สงครามด้วยอาวุธระหว่างตะวันตกกับอิสลาม :
IS ประกาศให้สมาชิกสังหารพลเรือนตะวันตกด้วยทุกวิถีทาง เป็นการต่อต้าน “พวกนักรบครูเสด” (crusaders) “ถ้าคุณสามารถสังหารพวกนอกรีตชาวอเมริกันหรือยุโรป จะสังหารด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ โดยเฉพาะคนฝรั่งเศสกับออสเตรเลีย หรือพวกนอกรีตอื่นๆ รวมทั้งพลเมืองของประเทศเหล่านี้ที่เข้าร่วมทำสงครามต่อต้านรัฐอิสลาม” “จงสังหารพวกนอกรีตไม่ว่าเขาเป็นพลเรือนหรือทหาร เนื่องจากพวกเขาอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน ต่างเป็นคนนอกรีต”
การโจมตีปารีสครั้งนี้ก็เช่นกัน IS อ้างว่าเป็นการทำสงครามครูเสดกับฝรั่งเศส

สงครามครูเสดครั้งแรกเกิดขึ้นในปีค.ศ.1095-1097 (บางตำราระบุว่าคือ 1097–1101) สงครามเกิดขึ้นหลายรอบ ส่วนใหญ่ถือว่าสงครามครูเสดครั้งสุดท้ายมาจากกษัตริย์ Louis IX แห่งฝรั่งเศส เหตุการณ์สิ้นสุดกลางทศวรรษ 13 จึงเป็นสงครามที่จบสิ้นนานแล้ว ปัจจุบันไม่มีสงครามเช่นนี้อีก ผู้ที่ยังยึดมั่นในแนวคิดนี้จำกัดอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เช่น อัลกออิดะห์ IS
            และต้องย้ำว่ากลุ่มมุสลิมกระแสหลักปฏิเสธ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มสุดโต่งเหล่านี้ ผู้นำมุสลิม องค์กรมุสลิมหลายแห่งประกาศว่า IS ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิสลามแม้แต่น้อย และเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของอิสลาม
ปัจจุบัน รัฐบาลประชาธิปไตยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และไม่เฉพาะคริสต์หรืออิสลาม ยังรวมถึงศาสนาความเชื่ออื่นๆ มากมาย

ความเข้าใจที่สำคัญอีกข้อคือ นโยบายของรัฐบาลไม่จำต้องสอดคล้องกับความเห็นของประชาชนเสมอไป และไม่ใช่พลเมืองทุกคนที่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล เห็นได้ชัดว่าชาวอเมริกันจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลโอบามา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบไม่ขาดสาย
ดังนั้น ต้องไม่ตีความว่ารัฐบาลโอบามาคือประเทศสหรัฐหรือคนอเมริกันทั้งหมด แต่ต้อง “แยกแยะ” ไม่ต่างจากที่ต้องแยกแยะว่าเป็นมุสลิมทั่วไป หรือพวก IS

หลักศาสนาอิสลามไม่เข้ากับอารยธรรมตะวันตกในบางประเด็น เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพตามแนวทางตะวันตก หลักประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่า 2 ฝ่ายขัดแย้งถึงขั้นต้องทำสงครามด้วยอาวุธ เข่นฆ่าอีกฝ่าย
            ความเป็นไปของโลกทุกวันนี้บ่งชี้ว่ามุสลิมอาศัยในชาติตะวันตกและประเทศอื่นๆ อย่างสงบสุขตามสมควร แม้กระทั่งสหรัฐหรือฝรั่งเศสที่มีมุสลิมจำนวนมาก
            ผู้อ้างว่าเป็นสงครามระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอิสลามนั้น จึงเป็นผู้บิดเบือนข้อเท็จจริง พยายามยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เป็นพวกหาผลประโยชน์จากความชิงชัง การเข่นฆ่าผู้คน
22 พฤศจิกายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6955 วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2558)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
Free Syrian Army (FSA) เป็นชื่อรวมๆ ของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลอัสซาดหลายสิบกลุ่มที่สหรัฐกับพันธมิตรตั้งขึ้น สมาชิกประกอบด้วยชาวต่างชาติกับพลเมืองซีเรีย บางกลุ่มเป็นพวกสุดโต่ง การจัดแบ่งกลุ่มแบบ “เหมารวม” ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสนว่าใครเป็นฝ่าย FSA รัฐบาลสหรัฐกับพันธมิตรกำลังสนับสนุนใคร พวกที่อ้างว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้นเป็นพลเมืองซีเรียแท้หรือไม่ คนที่เป็นพลเมืองซีเรียแท้มีปากเสียงมากเพียงใด
บรรณานุกรม:
1. Abu-Nasr, Donna., & Syeed, Nafeesa. (2015, November 16). Key Issues Remain After Syria Deal Reached in Vienna. Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-11-15/syria-deal-risks-failure-as-fate-of-assad-other-issues-ignored
2. Davis, Julie Hirschfeld. (2015, November 17). Cease-Fire and Political Transition in Syria Crucial to Defeating ISIS, Kerry Says. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/11/18/world/europe/john-kerry-france-isis.html?_r=0
3. Islamic State group claims deadly Paris attacks. (2015, November 14). France24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20151114-paris-attacks-islamic-state-group-claim-terrorism-jihadists-syria
4. Jotischky, Andrew. (2013). Crusading and the Crusader States. New York: Routledge.
5. Schultz, Warren C. (2004). Crusade. In Encyclopedia of Islam & the Muslim World. (pp.163-167). USA: Macmillan Reference.
6. Paris attacks: ‘There was blood everywhere’. (2015, November 14). France24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20151114-paris-attacks-shootings-there-was-blood-everywhere-bataclan
7. The White House. (2014, September 10). Statement by the President on ISIL. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/10/statement-president-isil-1
8. Wroe, David. (2014, September 22). Islamic State followers urged to attack Australians by any means possible. The Sydney Morning Herald. Retrieved from http://www.smh.com.au/federal-politics/political-news/islamic-state-followers-urged-to-attack-australians-by-any-means-possible-20140922-10kg74.html
-------------------------------