ยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรีย (3)

ตอนที่ 3 เขตปลอดภัย/เขตห้ามบิน เขตปกครองตนเอง
เป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั่วไปว่ากำลังทางอากาศเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกวาดล้าง IS/ISIL/ISIS รัฐบาลโอบามาประกาศซ้ำหลายรอบว่ายุทธศาสตร์ต่อต้าน IS ต้องกินเวลาอีกหลายปี จึงเชื่อได้ว่าเป้าหมายความร่วมมือระหว่างรัฐบาลโอบามากับรัฐบาลแอร์โดกานคือเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่า เช่น การสร้างเขตปลอดภัย (safe zone) หรือเขตห้ามบิน (no-fly zone) ทางตอนเหนือของประเทศซีเรียติดแนวพรมแดนทางตอนใต้ตุรกี
และเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่รัฐบาลแอร์โดกานปรับเปลี่ยนท่าทีเข้าร่วมโจมตี IS

คำถามตามมาคือ ทำไมต้องสร้างเขตปลอดภัย เพื่อประโยชน์อันใด ก่อนถึงคำถามนั้นหากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังพบว่าการสร้างเขตปลอดภัยไม่ใช่เรื่องใหม่เลย
บทความ “ชาติตะวันตกกับตัวเลือกสร้างเขตปลอดภัยหรือเขตห้ามบินในซีเรีย” เมื่อสิงหาคม 2012 ได้นำเสนอแล้วว่ารัฐบาลโอบามากับรัฐบาลตุรกีได้หารือเรื่องการสร้างเขตห้ามบินตลอดพรมแดนระหว่างตุรกีกับซีเรีย
            ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียร้องขอมานานแล้วเช่นกัน
ไม่ว่าจะใช้คำใด เขตที่เกิดขึ้นมีความหมายใน 2 ทาง คือ ในเชิงรุกกับเชิงรับ
ทางแรก ความหมายในเชิงรุก
ในกรณีอาหรับสปริงลิเบีย ชาติตะวันตกโดยการนำของอังกฤษกับฝรั่งเศสกำหนดให้น่านฟ้าลิเบียทั้งหมดเป็นเขตห้ามบิน ในความหมายห้ามอากาศยานหรือรถถัง ยานเกราะ อาวุธหนักของกองทัพลิเบียอยู่ในเขตดังกล่าว ผลคือรัฐบาลกัดดาฟีไม่สามารถใช้อาวุธเหล่านี้กับฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายต่อต้านจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบสามารถโค่นล้มรัฐบาลกัดดาฟีได้ในเวลาไม่นาน
            นับจากเริ่มสงครามกลางเมืองฝ่ายต่อต้านซีเรียร้องขอเขตห้ามบินตามแบบที่นาโตทำกับลิเบีย แต่ไม่ได้รับตอบสนอง หากวันใดชาติตะวันตกเลือกแนวทางนี้ รัฐบาลอัสซาดคงจะล้มในไม่ช้า

            ทางที่สอง ความหมายในเชิงตั้งรับ
            จนบัดนี้ยังไม่อาจระบุชัดว่าเขตปลอดภัย (safe zone) มีลักษณะอย่างไร ถ้าหมายถึงการแบ่งพื้นที่บางส่วนของซีเรียเป็นเขตปลอดทหารซีเรีย ปลอด IS เพื่อความปลอดภัยของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสายกลาง ประชาชนที่เข้ามาอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ในกรณีนี้การสร้างเขตปลอดภัยต้องมีกองกำลังภาคพื้นดินคอยให้ความคุ้มครองด้วย
            บทความเมื่อ 3 ปีก่อนได้ตั้งคำถามว่า “ถ้าต้องมีกองกำลังต่างชาติร่วมด้วยจะหมายถึงทหารของชาติใด” บัดนี้ได้คำตอบแล้วว่าคือกองกำลังของฝ่ายต่อต้านสายกลางนั่นเอง ส่วนหนึ่งผ่านการฝึกฝนจากสหรัฐโดยตรง นับเป็นทางออกที่ดี รัฐบาลตุรกีไม่ต้องแบกรับภาระนี้โดยตรง แต่มีคำถามว่าเพียงพอหรือไม่
บทความเดิมวิเคราะห์ว่า “ถ้าก่อตั้งเขตปลอดภัย ตีความว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียไม่เข้มแข็ง และความขัดแย้งอาจยืดเยื้อ ประเทศซีเรียถูกแยกเป็น 2 ประเทศ” ภาพที่ซีเรียถูกแบ่งออกชัดเจนขึ้นทุกทีแต่ไม่ใช่เพียง 2 ประเทศเท่านั้น

ตรรกะที่ขัดแย้งของรัฐบาลแอร์โดกาน :
Selahattin Demirtas ประธานพรรค HPD (People's Democracy Party – พรรคการเมืองหนึ่งของเคิร์ดในตุรกี) ชี้ว่าปฏิบัติการทางอากาศของรัฐบาลตุรกีกับสหรัฐมีเป้าหมายสร้างเขตปลอดภัย หวังกีดกันพวกเคิร์ด PKK สร้างเขตอิทธิพลของตนเอง
ที่ผ่านมา PKK เรียกร้องขอสิทธิการปกครองตนเองเพิ่มเติม ปะทะกับรัฐบาลเรื่อยมา การปรากฏตัวของ IS ทำให้พวกเขามีอิทธิพลมากขึ้น โดยเฉพาะแนวชายแดนระหว่างตุรกีกับซีเรีย รัฐบาลตุรกีจึงต้องปราบปรามPKK
ระเด็นน่าสนใจคือการสร้างเขตปลอดภัยดูเหมือนว่าจะเป็นการกีดกันไม่ให้เกิดเขตปกครองตนเองของ “เคิร์ดตุรกี” แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งคือการยอมรับพื้นที่เขตอิทธิพลของ “เคิร์ดซีเรีย” ที่อยู่ตามแนวชายแดนภาคใต้ตุรกี

ดูเหมือนว่ารัฐบาลแอร์โดกานทำเรื่องที่ขัดแย้งในตัวเอง ดังที่อธิบายแล้วว่า “เคิร์ดตุรกี” กับ “เคิร์ดซีเรีย” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ความเข้มแข็งของกลุ่มหนึ่งส่งเสริมให้อีกกลุ่มแข็งแกร่ง
คำตอบคือ รัฐบาลแอร์โดกานไม่อาจได้ทุกอย่างที่ต้องการ ผลคือควบคุมได้แต่เคิร์ดที่อยู่ในดินแดนของตน PKK จึงถูกปราบปรามในขณะนี้
            น่าเชื่อว่าเหตุผลที่บัดนี้รัฐบาลตุรกียินยอมเปิดศึกกับ IS เพราะ “เจรจา” ลงตัวว่าจะจัดการพวกเคิร์ดเหล่านี้อย่างไร

            เป็นตรรกะที่ขัดแย้งแต่ตอบสนองยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่า นั่นคือการแบ่งแยกประเทศซีเรีย ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้จะเกิดเขตปกครองตนเองของ “เคิร์ดซีเรีย” แต่ไม่เกิดเขตของ “เคิร์ดตุรกี” การโจมตีพวก PKK ในระยะนี้นอกจากบั่นทอนกำลังพวก PKK น่าจะเป็นเพียงการเตือนพวก PKK ว่าอย่าได้ประกาศเขตปกครองตนเองของพวกเคิร์ดในตุรกี และมีค่าเชิงสัญลักษณ์ว่าสหรัฐ อียูไฟเขียวเรื่องดังกล่าว

            รวมความแล้ว รัฐบาลแอร์โดกานไม่อาจห้ามอาหรับสปริงซีเรีย ไม่อาจห้ามผู้หนีภัยสงครามเข้าประเทศ ไม่อาจห้ามเคิร์ดซีเรียที่พยายามสร้างอนาคตของตนเอง สิ่งที่ทำได้คือให้สงครามกลางเมืองซีเรียเป็นประโยชน์ต่อตนมากที่สุด กระทบต่อตนเองน้อยที่สุด
            การผลักดันผู้หนีภัยสงครามเข้าไปอยู่ใน “เขตปลอดภัย” แม้จะบรรเทาภาระของตุรกีแต่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศซีเรียถูกแบ่งแยก เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าวเช่นกัน

ยอมให้มีพื้นที่ปลอดภัย นโยบายที่เปลี่ยนไปของโอบามา :
            ถ้าจะพูดเรื่องเขตปลอดภัย/เขตห้ามบิน จำต้องเอ่ยถึงรัฐบาลสหรัฐ เริ่มจากการทบทวนความจำว่าเดิมนั้นรัฐบาลโอบามาไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขตดังกล่าว
            สิงหาคม 2013 พลเอกมาร์ติน เดมซีย์ (Martin Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกา ไม่เห็นด้วยกับแนวทางจัดตั้งเขตห้ามบินและใช้กำลังทางอากาศจัดการทหารซีเรีย เนื่องจากสหรัฐอาจช่วยโค่นล้มรัฐบาลซีเรีย “แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเชื้อชาติ ศาสนา ความขัดแย้งระหว่างเผ่าที่อยู่เบื้องหลังเป็นเชื้อไฟความขัดแย้งในขณะนี้” ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย แต่เป็นความขัดแย้งของหลายฝ่าย
            1 ปีต่อมา กันยายน 2014 นายชัค เฮเกล (Chuck Hagel) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกับพลเอกเดมซีย์ร่วมกันแถลงว่าสหรัฐกำลังพิจารณาจัดตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ป้องกันไม่ให้เครื่องบินซีเรียใช้กำลังทางอากาศโจมตีพื้นที่บริเวณดังกล่าว
            จะเห็นว่าในเวลา 1 ปีรัฐบาลโอบามาเปลี่ยนนโยบายจากไม่เห็นด้วยเป็นเห็นด้วย แต่แนวคิดการจัดตั้งเขตห้ามบินเพิ่งจะประสบผลเมื่อเดือนสิงหาคมนี้

            เรื่องน่าประหลาดใจในขณะนี้คือ รัฐบาลโอบามาพยายามปฏิเสธว่าการที่เครื่องบินรบของตนประจำการอยู่ในฐานทัพตุรกีนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขตปลอดภัย/เขตห้ามบิน
            Mark Toner รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ตกลงจัดตั้งเขตปลอดภัยกับตุรกีตามที่เป็นข่าว “ไม่มีข้อตกลงเรื่องเกี่ยวกับเขตแบบนั้น” มีแต่เรื่องขับไล่ ISIL ออกจากภูมิภาค การใช้ฐานทัพอากาศตุรกีก็เพื่อการนี้ “ส่วนเรื่องนอกจากนี้ เรากำลังหารือร่วมกับตุรกี” เพื่อต่อต้าน ISIL อย่างมีประสิทธิภาพ
            อย่างไรก็ตาม นาย Toner ยอมรับว่าการมีความตั้งใจจัดการ ISIL เพื่อเคลียร์พื้นที่บางส่วน ให้เกิด “รัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลปกครองตนเอง ผู้ลี้ภัยที่ต้องการกลับ (ประเทศ) สามารถกลับได้”
จากท่าทีจากรองโฆษก รัฐบาลโอบามาตีกรอบว่านโยบายร่วมกับตุรกีคือเพื่อต่อต้าน IS เท่านั้น ส่วนเรื่องการสร้างเขตปลอดภัยยังไม่มีข้อสรุปตามที่ตุรกีเอ่ยถึง รัฐบาลโอบามายังไม่รับปากเรื่อง “จัดตั้ง” เขตปลอดภัยอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ต้องการให้ “มีพื้นที่” ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องการกลับประเทศเท่านั้น
            แม้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐจะออกมาปฏิเสธ แต่นายกฯ ตุรกี อาห์เหม็ต ดาวูโตกลู ยังยืนยันว่ามีนโยบายจัดตั้งเขตห้ามบินทางตอนเหนือของประเทศซีเรียเพื่อต่อต้าน ISIS กับกองทัพรัฐบาลอัสซาด ปกป้องพลเรือนซีเรียที่ลี้ภัยสงคราม

เขตปลอดภัยคือเขตปกครองตนเองของฝ่ายต่อต้านสายกลาง :
            ไม่ว่าจะเรียกเขตปลอดภัย (safe zone) เขตห้ามบิน (no-fly zone) หรือชื่อใดๆ ไม่ว่ารัฐบาลตุรกีกับโอบามาจะประกาศว่าเขตปลอดภัยมีเป้าหมายอะไร ความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เขตดังกล่าวอยู่นอกอำนาจอธิปไตยของรัฐบาลอัสซาดแล้ว และกำลังจะอยู่ใต้อำนาจของผู้ที่จะเข้ามาควบคุม ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย บริหารจัดการในทุกมิติ รวมความแล้วคือเขตปกครองตนเองรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะประกาศหรือไม่ประกาศก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดนัก แต่เชื่อว่าจะค่อยๆ เป็นรูปธรรมมากขึ้น

            ถ้าจะเปรียบเทียบ กรณีที่ใกล้เคียงมากที่สุดคือการสร้างเขตห้ามบินทางตอนเหนือของอิรักในสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย ส่งผลให้เคิร์ดอิรักได้รับความคุ้มครอง กลายเป็นเขตปกครองตนเองเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ นับจากนั้นจนบัดนี้
            ถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่เปิดเผยในระยะนี้ สหรัฐปกป้องพื้นที่ดังกล่าวด้วยกำลังทางอากาศเท่านั้น แต่นโยบายทั้งหลายทั้งปวงย่อมเปลี่ยนแปลงได้ นโยบายสหรัฐต่อซีเรียเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เป็นหลักฐานชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ในอนาคตนโยบาย “พื้นที่” ปลอดภัยอาจเปลี่ยนจากเดิม อาจเป็น “เขตปลอดภัย/เขตห้ามบิน” อย่างเป็นทางการ  รวมทั้งอาจมีทหารสหรัฐประจำการในเขตดังกล่าวด้วย
16 สิงหาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6850 วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2228950)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ด้วยความไม่พอใจต่อเศรษฐกิจการเมืองในประเทศ ประชาชนกลุ่มหนึ่งจึงลุกฮือประท้วงรัฐบาล เป็นเหตุผลพื้นฐานของอาหรับสปริง แต่การแทรกแซงจาก “นอก” ประเทศเกิดขึ้นและกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการโค่นล้มรัฐบาล ซีเรียเป็นอีกกรณีที่มีกองกำลังติดอาวุธร่วมร้อยประเทศเข้ารบกับรัฐบาล ผู้ก่อการร้าย ISIL/ISIS กลายเป็นกลุ่มแรกที่ประกาศสถาปนา “รัฐอิสลาม” เป็นรัฐอิสระภายใต้ดินแดนซีเรีย (มองในกรอบเฉพาะซีเรีย) เราจะนิยามอาหรับสปริงซีเรียอย่างไร ประเทศซีเรียยังเป็นของชาวซีเรียหรือไม่
บรรณานุกรม:
1. Ankara firm on no-fly zone against regime strikes. (2015, August 13). Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/politics/2015/08/13/ankara-firm-on-no-fly-zone-against-regime-strikes
2. Erlich, Reese. (2014). Inside Syria: The Backstory of Their Civil War and What the World Can Expect. New York: Prometheus Books.
3. Kurdish leader decries Turkey's 'safe zone' plan in Syria. (2015, July 29). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-europe-33698659
4. Libya 2.0: US Forms De Facto No-Fly Zone Over Syria. (2014, September 30). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930708001565
5. Toksabay, Seyhmus Cakanece. (2015, July 26). Turkey launches another attack in Iraq against Kurdish camps. Globe and Mail/Reuters. Retrieved from http://www.theglobeandmail.com/news/world/turkey-launches-another-attack-in-iraq-against-kurdish-camps/article25716151/
6. U.S. against military intervention as Syria rebels noncommittal on U.S. interests: Dempsey. (2013, August 22). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-08/22/c_132651868.htm
7. U.S. Department of State. (2015, August 11). Mark C. Toner, Deputy Spokesperson, Daily Press Briefing. Retrieved from http://www.state.gov/r/pa/prs/dpb/2015/08/245937.htm#SYRIA
8. The White House. (2013, April 26). Press Briefing by Press Secretary Jay Carney. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/04/26/press-briefing-press-secretary-jay-carney-4262013
--------------------------------