ยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรีย (4)

ตอนที่ 4 แผนกระชับอำนาจของแอร์โดกาน
            ปลายเดือนสิงหาคม 2014 เมื่อเรเจพ ทายยิพ แอร์โดกาน (Recep Tayyip Erdogan) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศมาแล้ว 11 ปี (2003 - สิงหาคม 2014) ได้ออกกฎหมายเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายบริหารหลายข้อ เช่น มีอิทธิพลต่อศาลมากขึ้น กระชับอำนาจตำรวจ สามารถปิดเว็บไซต์โดยไม่ต้องขอคำสั่งจากศาล Twitter กับ YouTube ถูกปิด
            ประธานาธิบดีแอร์โดกานประกาศอย่างเปิดเผยว่าต้องการปรับแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจแก่ตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสร้างความน่าผิดหวังอย่างยิ่ง เมื่อพรรค Justice and Development Party (AKP) ของท่านได้ที่นั่งในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ขาดไป 8 เสียง เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่พรรคได้คะแนนน้อยเช่นนี้
            ผลการเลือกตั้ง 7 มิถุนายน พรรครัฐบาล (AKP) ได้ 258 ที่นั่ง สูญเสียความเป็นเสียงข้างมาก 3 พรรคฝ่ายค้านสำคัญอันประกอบด้วย Republican People's Party (CHP) ได้ 132 ที่นั่ง Nationalist Movement Party (MHP) ได้ 80 ที่นั่ง HDP ได้ถึง 80 ที่นั่งจากทั้งหมด 550 ที่นั่ง
คะแนนที่หดหายของ AKP ไปอยู่พรรค Peoples' Democratic Party (HDP) ที่สนับสนุนพวกเคิร์ด
จากผลการเลือกตั้ง พรรค AKP ต้องตั้งรัฐบาลชุดใหม่ร่วมกับพรรคฝ่ายค้านภายในวันที่ 23 สิงหาคม หากไม่สำเร็จประธานาธิบดีมีสิทธิประกาศเลือกตั้งใหม่อีกรอบ ปัญหาคือการเลือกตั้งใหม่จะได้คะแนนเท่าเดิมหรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะดึงคะแนนที่เสียไปกลับคืนมา
            เคิร์ดจึงเป็นอุปสรรคทางการเมืองสำคัญในขณะนี้
ประวัติการต่อสู้ของเคิร์ด :
เคิร์ดอาจถูกเรียกว่าเป็นชนกลุ่มน้อย แต่คิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรจากจำนวนทั้งสิ้น 79,414,269 คน (ข้อมูลกรกฎาคม 2015) หรือราว 16 ล้านคนเป็นชาวเคิร์ด ในแง่จำนวนเป็นตัวเลขไม่น้อย
เป็นเวลานานแล้วที่รัฐบาลพยายามผนวกคนเหล่านี้เข้ากับสังคม พยายามสลายวัฒนธรรมเคิร์ด แต่กระแสชาตินิยม คนมีการศึกษามากขึ้น ผนวกกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในปี 1960 1971 และ 1980 มีนโยบายกดขี่พวกเคิร์ดอยู่ด้วย เป็นเหตุให้พวกเคิร์ดต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตนเอง
การเคลื่อนไหวของ “เคิร์ดอิรัก” เป็นอีกเหตุที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ “เคิร์ดตุรกี” เคิร์ดอิรักสร้างสถานีวิทยุของตน เผยแพร่การต่อสู้ของเคิร์ดอิรัก ข่าวสารต่างๆ ด้วยภาษาเคิร์ด
กลางทศวรรษ 1960 เคิร์ดตุรกีออกสิ่งพิมพ์ของตนเองเป็นครั้งแรก ตั้งพรรคการเมืองเคิร์ดตุรกีพรรคแรกชื่อ Democratic Party of Turkish Kurdistan การก่อตั้งได้รับแรงสนับสนุนจากพวกเคิร์ดอิรัก มุ่งเน้นให้รัฐบาลสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ยังไม่เอ่ยถึงการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ
การมีพรรคการเมืองทำให้การเคลื่อนไหวของเคิร์ดตุรกีพัฒนาอย่างรวดเร็ว กลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักศึกษารวมตัวประท้วงรัฐบาลหลายครั้ง เรียกร้องสิทธิของชนชาวเคิร์ด เช่น เสรีภาพสื่อ การศึกษาที่ใช้ภาษาเคิร์ด
ฝ่ายรัฐบาลมองว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้จะนำสู่การแบ่งแยกดินแดน จึงต่อต้านอย่างรุนแรง

ในเวลาต่อมา คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการตั้งรัฐของตน เป็นที่มาของ Kurdistan Workers’ Party (PKK)
1980 เกิดรัฐประหาร รัฐบาลทหารปราบปรามพวก PKK อย่างรุนแรง PKK เรียนรู้ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเช่นกัน มีผู้เสียชีวิตกว่าพันราย และเริ่มมีนักการเมืองตัวแทนชาวเคิร์ด คนเหล่านี้กลายเป็นปากเป็นเสียงของเคิร์ด วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และพัฒนาเป็นพรรค HDP ในที่สุด
            เคิร์ดในตุรกีมีหลากหลายกลุ่ม ที่อยู่ในความสนใจคือ PKK ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธกับพรรค HDP ที่มีที่นั่งในสภา 80 คน

ความเชื่อมโยงระหว่าง PKK กับการกระชับอำนาจ :
ไม่ว่า PKK กับ HDP จะมีความเชื่อมโยงมากน้อยเพียงไร PKK อยู่ในฐานะเป็นผู้ก่อการร้าย รัฐมีความชอบธรรมที่จะปราบปราม สหประชาชาติเห็นชอบเช่นกัน
            รัฐบาลตุรกีพยายามปราบปรามหลายครั้ง รวมถึงการส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในฐานที่มั่นของ PKK ในอิรัก ถ้ามองผลต่อการกวาดล้าง PKK การโจมตีกวาดล้างในขณะนี้คงไม่ได้ผลกว่าครั้งก่อนๆ ได้แต่บั่นทอนกำลัง ส่งสัญญาณเตือน
Metin Gurcan รายงานจำนวนปฏิบัติการของเครื่องบินรบตุรกี พบว่าในวันที่ 11 สิงหาคม เครื่องบิน F-16s ออกปฏิบัติการโจมตี PKK 17 เที่ยวบิน จากนั้นอีก 110 เที่ยวบินโจมตีเป้าหมาย PKK รวม 400 จุด ในช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลโจมตี IS เพียงรอบเดียว ใช้เครื่องบิน F-16s 3 ลำโจมตีเป้าหมาย 5 จุด เป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
รัฐบาลตุรกีประกาศต่อต้าน IS กับ PKK แต่จากข้อมูลที่ปรากฏ ณ ขณะนี้เป้าหมายหลักคือ PKK มากกว่า

Soli Özel จาก Kadir Has University ประเทศตุรกี เห็นว่าการกวาดล้าง PKK รอบนี้สัมพันธ์กับผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา HDP ได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น นับจากการเลือกตั้งเป็นต้นมาฝ่าย AKP แสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อ HDP รื้อฟื้นความเชื่อมโยงระหว่าง PKK กับ HDP
Erik Meyersson อาจารย์จาก Stockholm School of Economics โยงประเด็นการโจมตี PKK กับการช่วงชิงอำนาจการเมืองภายใน เห็นว่าประธานาธิบดีแอร์โดกานหวังกดดันให้ HDP เลือกข้าง คือต้องทิ้ง PKK หรือไม่ก็ต้องถูกปราบปราม HDP เป็นพรรคตัวแทนของ PKK ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ฐานเสียงของพวกเขาคือชาวเคิร์ด HDP กับ PKK เหมือนกายเดียวกันภายใต้ 2 ร่าง ร่างหนึ่งคือพรรคการเมืองถูกกฎหมาย อีกร่างคือกลุ่มก่อการร้ายเรียกร้องปกครองตนเอง
 Fadi Hakura นักวิเคราะห์จาก Chatham House เห็นว่า “แอร์โดกานมองว่า HDP เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจแก่ประธานาธิบดี” การโจมตี PKK เป็นการดึงคะแนนเสียงจากพวกชาตินิยมเติร์ก ให้ AKP กลับมามีเสียงข้างมากในสภาดังเดิม
            ผู้ที่ยึดแนวทางนี้เห็นว่าการปราบปราม PKK รอบนี้มาจากเป้าหมายทางการเมือง เพื่อให้ AKP กลับมาครองเสียงข้างมาอีกครั้ง บั่นทอนความนิยมของ HDP ด้วยการรื้อฟื้นเรื่อง PKK เป็นผู้ก่อการร้าย สั่งโจมตีกวาดล้าง PKK ทั้งๆ ที่รัฐบาลแอร์โดกานกับ PKK ได้ลงนามหยุดยิงเมื่อ 2013 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาคนของ HDP ถูกทางการจับกุมร่วมพันคน
Popp Maximilian กับ Christoph Reuter เชื่อว่าเป้าหมายของ AKP คือทำให้ HDP กลายเป็นพรรคผู้ก่อการร้าย พรรคถูกยุบ

ปฏิบัติการทางทหารต่อ PKK ทั้งในประเทศกับที่อิรัก ไม่สามารถกวาดล้างหรือกำจัด PKK อย่างสิ้นซาก ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่ามีเป้าหมายอื่นแอบแฝง แนวคำตอบว่าเพื่อหาเหตุจัดการ HDP จึงน่าฟังไม่น้อย
Selahattin Demirtas ผู้นำ HDP พยายามลดความเชื่อมโยงระหว่าง HDP กับ PKK ว่าพรรคติดต่อกับโอคาลันผู้นำ PKK จริง แต่ 2 พรรคไม่มีความเกี่ยวข้องในเชิงโครงสร้าง HDP ไม่ใช่พรรคการเมืองของ PKK ตามที่กล่าวหา แอร์โดกานไม่สามารถยุบพรรค HDP ง่าย ๆ แต่พยายามยัดข้อหาผู้ก่อการร้ายแก่สมาชิกรัฐสภาของ HDP
ที่ผ่านมาแผนการยุบพรรค HDP ยังไม่ได้ผล เวลาเดินไปเรื่อยๆ รัฐบาลประกาศเลือกตั้งใหม่

เคิร์ดต้องการแบ่งแยกดินแดน?
            แม้เคิร์ดจะประกาศว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน ได้สะสมกำลังพล มีฐานทัพของตนในอิรักกับซีเรีย (ถ้ายึดว่าเคิร์ดซีเรียใกล้ชิดกับเคิร์ดตุรกี) มีการปะทะกับรัฐบาลเรื่อยมา แต่เป้าหมายนี้ยังห่างไกลจากความจริง สิ่งที่เคิร์ดทำควบคู่กับการใช้กำลังคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ในอนาคตหากพวกเคิร์ดพอใจกับการอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แนวคิดแบ่งแยกดินแดนจะลดลงไปเอง
คำถามตามมาคือ หากประธานาธิบดีแอร์โดกานสามารถกระชับอำนาจตามต้องการ จะส่งผลต่อพวกเคิร์ดอย่างไร ต้องไม่ลืมว่าราวร้อยละ 20 ของประชากรเป็นพวกเคิร์ด

เป้าหมายสุดท้ายคือกระชับอำนาจ :
ประธานาธิบดีแอร์โดกานกล่าวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมหลังเหตุวุ่นวายทั้งเรื่องเคิร์ดกับ IS ว่าประธานาธิบดีควรมีอำนาจบริหารประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่จะแก้รัฐธรรมนูญ
            หากชนะเลือกตั้งอีกครั้งโอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญย่อมเป็นไปได้
Selahattin Demirtas ผู้นำ HDP อธิบายว่าเหตุที่ประธานาธิบดีแอร์โดกานพยายามรักษาเสียงข้างมากในสภาก็เพื่อรักษาฐานอำนาจของตน ป้องกันข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน
            ไม่ว่าเพื่อเพิ่มอำนาจหรือรักษาอำนาจ ประธานาธิบดีแอร์โดกานเลือกเดินหน้ากระชับอำนาจต่อไป

นอกจากปราบปราม PKK จับกุมคนของ HDP ฝ่ายแอร์โดกานพยายามดึงพรรคฝ่ายค้านบางพรรคมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านที่เป็นตัวเลือกมีเพียง 2 พรรค CHP กับ MHP
การดึง CHP แกนนำพรรคฝ่ายค้านร่วมจัดตั้งรัฐบาลเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ของตุรกี เมื่อพรรครัฐบาลขอจับมือกับแกนนำฝ่ายค้านร่วมจัดตั้งรัฐบาล
หลังพยายามเป็นเดือน ข้อสรุปคือการเจรจากับพรรคฝ่ายค้านไม่ประสบผล

            ล่าสุด คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศจัดเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ อันที่จริงแล้วตามรัฐธรรมนูญ เมื่อพรรค AKP ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล พรรคอันดับ 2 คือ CHP มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลบ้าง (ซึ่งน่าจะสำเร็จ) แต่ประธานาธิบดีแอร์โดกานใช้อำนาจประกาศจัดเลือกตั้งใหม่หลังแน่ใจแล้วว่าไม่มีพรรคใดยอมร่วมรัฐบาลด้วย ชี้ชัดว่าต้องการรักษาอำนาจต่อไป ไม่ยอมให้พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคร่วมกันเป็นรัฐบาล
            นับจากนี้ควรติดตามสถานการณ์การเมืองตุรกี ซึ่งมีผลต่อการจัดตั้งเขตปลอดภัย/เขตห้ามบิน อนาคตของพวกเคิร์ดไม่ว่าจะเป็นเคิร์ดซีเรียหรือเคิร์ดตุรกี และมีผลต่อยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรีย
23 สิงหาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6864 วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2234638)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ หรือจะใช้ชื่อใด รัฐบาลโอบามากับตุรกีกำลังสร้างเขตปลอดภัย (safe zone) หรือเขตห้ามบิน (no-fly zone) ทางตอนเหนือของประเทศซีเรียติดแนวพรมแดนทางตอนใต้ตุรกี ข้อดีคือผู้ลี้ภัยซีเรียสามารถกลับประเทศเข้าไปอยู่ในเขตดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเกิดปกครองตนเองขึ้นมาอีกเขตหนึ่ง ประเด็นที่ต้องติดตามคือใครจะเป็นผู้ควบคุมเขตดังกล่าว อนาคตของพื้นที่นี้จะเป็นอย่างไร
บรรณานุกรม:
1. Bozarslan, Hamit. (1992). Turkey: A Neglected Partner. In Kreyenbroek. Philip G., & Sperl, Stefan (Eds). The Kurds: A Contemporary Overview (pp.74-89). London: Routledge.
2. Central Intelligence Agency. (2015, July). Turkey. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/tu.html
3. Dombey, Daniel. (2015, April 15). President tightens grip on state. Financial Times. Retrieved from http://im.ft-static.com/content/images/35646f80-e1a4-11e4-8d5b-00144feab7de.pdf
4. Erdogan makes next grab for total power after Kurdish crackdown. (2015, August 15). Rudaw. Retrieved from http://rudaw.net/english/middleeast/turkey/140820152
5. Gurcan. Metin. (2015, August 13). Speculation about Turkish civil war is just that. Al monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/08/turkey-syria-iraq-pkk-kurds-isis-clashes.html
6. Kafanov, Lucy. (2015, July 29). Turkey's 'risky' two-front war: political opportunity for Erdogan? The Christian Science Monitor. Retrieved from http://www.csmonitor.com/World/Middle-East/2015/0729/Turkey-s-risky-two-front-war-political-opportunity-for-Erdogan
7. Peker, Emre. (2015, August 13). Turkey’s Coalition Talks Break Down. The Wall Street Journal. Retrieved from http://www.wsj.com/articles/turkeys-coalition-talks-break-down-1439478062
8. Popp, Maximilian., & Reuter, Christoph. (2015, July 31). Erdogan's Cynical Game: Is Turkey Creeping Toward Civil War? Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/with-attacks-on-pkk-erdogan-risks-civil-war-in-turkey-a-1046196.html
9. Stokes, Jamie (Editor). (2009). Kurds. In Encyclopedia of The Peoples of Africa and the Middle East. New York: Infobase Publishing.
10. Three possibly future-changing choices to determine Turkey’s next government. (2015, August 14). Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/elections/2015/08/14/three-possibly-future-changing-choices-to-determine-turkeys-next-government
11. Turkey and PKK 'back to square one'. (2015, July 30). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2015/07/turkey-pkk-square-150730074312972.html
12. Turkey's Demirtas: 'Erdogan Is Capable of Setting Country on Fire'. (2015, July 31). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/kurdish-leader-demirtas-calls-for-ceasefire-with-turkey-a-1046263.html
--------------------------------