ยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรีย (2)

ตอนที่ 2 อาหรับสปริงซีเรีย แผนโค่นระบอบอัสซาด
อาหรับสปริง (Arab Spring) เริ่มต้นที่ประเทศตูนิเซียเมื่อต้นปี 2011 ประชาชนจำนวนหนึ่งหมดความอดทน ร่วมใจกันลุกฮือขับไล่รัฐบาลด้วยเหตุผลเรื่องปากท้อง ความสิ้นหวัง ถูกปิดกั้นทางการเมือง ในที่สุดรัฐบาลถูกโค่นล้ม ผู้นำประเทศหลบหนีออกนอกประเทศ เปิดทางให้กับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
การประท้วงกลายเป็นดังโรคระบาด เกิดการประท้วงในลักษณะเดียวกันในหลายประเทศ เยเมนเป็นประเทศถัดมาที่ได้รับผล ในเวลาไม่ถึงปี ประธานาธิบดีซาเลห์ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 3 ทศวรรษพ้นจากอำนาจ
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ประชาชนอียิปต์ตะโกนว่า “พวกเขากินนกพิราบกับไก่ ส่วนพวกเรากินแต่ถั่ว” แสดงถึงความหิวโหยและความไม่เท่าเทียม รัฐบาลพยายามแก้ไขด้วยการอุดหนุนราคาสินค้าแต่สายเกินไป แม้ประธานาธิบดีมูบารัคจะเป็นมิตรประเทศของสหรัฐ ประธานาธิบดีโอบามาเห็นว่าท่านควรก้าวลงจากอำนาจ นำประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมที่ยืดเยื้อทวีความรุนแรง ปะทะกันด้วยอาวุธสงคราม ในที่สุดกองทัพเข้ายึดอำนาจอย่างเงียบๆ ไม่กี่เดือนต่อมาประธานาธิบดีมูบารัคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีโทษจำคุก
เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศ เช่น ล้มรัฐบาลกัดดาฟีแห่งลิเบีย ความวุ่นวายในบาห์เรนจนรัฐบาลซาอุดิอาระเบียต้องส่งกองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ ในเวลา 2-3 ปี อาหรับสปริงกลายเป็นโรคระบาดที่กระจายไปสู่หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ผู้นำประเทศที่ครองอำนาจ 20-30 ปีหลายคนต้องพ้นจากอำนาจ บางคนติดคุก บางคนเสียชีวิต
ภายใต้อาหรับสปริง มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ชาติอาหรับเข้าแทรกแซงและเรียกร้องขอให้ชาติตะวันตกแทรกแซงด้วย รวมถึงการแทรกแซงด้วยกำลังทหาร ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ หากดูจากประวัติศาสตร์ เดิมรัฐบาลชาติอาหรับจะต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติหรือให้มีน้อยที่สุด หวังแก้ปัญหาด้วยตนเอง หรือปล่อยให้แต่ละรัฐบาลจัดการเรื่องของตนโดยไม่มีใครเข้าแทรกแซง
            กล่าวได้ว่าอาหรับสปริงที่เกิดในประเทศต่างๆ จนถึงขั้นกองกำลังต่างชาติเข้าล้มล้างระบอบเก่า ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ชาติอาหรับเรียกร้อง เปิดทางให้ต่างชาติเข้าแทรกแซง กรณีการล้มล้างรัฐบาลกัดดาฟีกับกรณีซีเรียเป็นตัวอย่างเด่นชัด

ในกรณีซีเรีย เป้าหมายคือการโค่นล้มระบอบอัสซาด บรรดารัฐอาหรับตีตราว่าท่านหมดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศ สันนิบาตอาหรับเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ก้าวลงจากอำนาจ ประธานาธิบดีบารัก โอบามามีนโยบายสอดคล้องกับรัฐอาหรับ เรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ เปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย

ยุทธศาสตร์เดิม โค่นล้มรัฐบาลอัสซาด :
ความพยายามขอให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากตำแหน่ง ถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติไม่เป็นผล ประธานาธิบดีอัสซาดยืนยันความชอบธรรมของรัฐบาล ชี้ว่ามีผู้จ่ายเงินเพื่อให้คนประท้วงและเรียกร้องการปฏิวัติ ถ้าแนวทางนี้ไม่สำเร็จจะอ้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อศาสนา
ต่อมาการชุมนุมโดยสันติกลายเป็นการปะทะด้วยอาวุธสงคราม ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียประกอบด้วยหลากหลายกลุ่ม มีความคิดทางการเมืองแตกต่าง และขีดความสามารถในการรบมากน้อยต่างกัน บางกลุ่มมีกองกำลังหลายพันคน บางกลุ่มมีเพียงไม่กี่ร้อยคน กลุ่มเหล่านี้ไม่มีเอกภาพ แม้ว่าจะสร้างแนวร่วมขึ้นมาแต่ไม่เป็นเอกภาพ ซ้ำร้ายยังมีข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง
            ความพยายามรวบรวมประชาชนฝ่ายต่อต้าน (เรียกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง) ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง หวังว่ากลุ่มจะเป็นตัวแทนประชาชนซีเรียทั้งประเทศเข้ารับอำนาจต่อจากรัฐบาลอัสซาด สันนิบาตอาหรับถึงกับให้ฝ่ายต่อต้านดังกล่าวได้ที่นั่งในสันนิบาตอาหรับแทนรัฐบาลอัสซาด

ในช่วงเวลาเดียวกัน เริ่มปรากฏกองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้าร่วมสงครามกลางเมือง กองกำลังเหล่านี้มาจากหลายกลุ่ม ประกอบด้วยสมาชิกจากหลายสิบประเทศ กลุ่มเหล่านี้เช่น Jabhat al-Nusra, Tawheed Brigade, Liwa al-Islam อ้างว่ากองกำลังของพวกเขามีมากกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง และเป็นกลุ่มที่กำลังปะทะกับกองทัพรัฐบาลซีเรียอย่างจริงจัง
การเข้ามาของกองกำลังต่างชาติจำนวนมาก เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีอัสซาดกล่าวว่ารัฐบาลกำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย รัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียกับตุรกีส่งเสริมสนับสนุนผู้ก่อการร้ายให้เข้ามาก่อเหตุในซีเรีย ให้เงินและอาวุธแก่องค์กรก่อการร้าย ส่วนชาติตะวันตกให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ ตราบใดที่ยังมีผู้ก่อการร้าย มีการก่อการร้าย ย่อมไม่สามารถแก้ไขด้วยสันติวิธี
อาหรับสปริงซีเรียที่เริ่มจากการลุกฮือของประชาชน กลายเป็นมีกองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้าร่วมสงครามกลางเมืองด้วย รัฐบาลอัสซาดจึงชี้ว่ากำลังทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ ต่อต้านผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ
และแม้กองกำลังติดอาวุธต่างชาติจะสามารถยึดครองพื้นที่จำนวนไม่น้อย แต่ไม่อาจโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด

ตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมือง มีการเจรจาแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรสงครามกลางเมืองจะยุติ ทั้งหมดติดขัดตรงที่ระบอบอัสซาดจะคงอยู่หรือพ้นจากอำนาจ แนวทางของรัฐบาลโอบามา รัฐอาหรับ มีข้อสรุปสุดท้ายว่าประธานาธิบดีอัสซาดต้องพ้นจากอำนาจ ส่วนประธานาธิบดีอัสซาดมีจุดยืนให้แก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง พร้อมปรับแก้รัฐธรรมนูญ สรรหาผู้นำประเทศคนใหม่ แต่ทั้งหมดต้องใช้วิธีลงประชามติ ผ่านการเลือกตั้ง และรัฐบาลอัสซาดจะต้องเป็นรัฐบาลรักษาการณ์และมีโอกาสบริหารประเทศต่อไปถ้าชนะการเลือกตั้ง
ข้อสรุปของการเจรจาคือ ไม่มีข้อสรุป
ซีเรียจัดการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2014 ประธานาธิบดีอัสซาดชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ได้คะแนน 10.3 ล้านเสียง หรือเท่ากับร้อยละ 88.7 ของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้นราว 11.6 ล้านเสียง จากประชาชนผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 15.8 ล้านคน ผู้สมัครที่ได้คะแนนอันดับ 2 กับ 3 ได้คะแนนเพียง 5 แสนกับ 3.7 แสนคะแนนเท่านั้น

ปัญหาแทรกซ้อนจากการปรากฏตัวของ IS :
            ในปี 2013 กองกำลัง ISIL หรือ ISIS เข้ารบในซีเรีย ไม่ต่างจากกองกำลังติดอาวุธกลุ่มอื่นๆ ที่จะแตกต่างคือ ISIL/ISIS เป็น 1 ใน 2 กลุ่มที่มีพลังมากที่สุด อีกกลุ่มคือ Al-Nusra Front
            นับวันความเข้มแข็งของ ISIL/ISIS ในซีเรียเป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น สามารถสร้างเขตอิทธิพลของตนในหลายจุด โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกของซีเรีย (ติดกับภาคตะวันตกของอิรัก) มิถุนายน 2014 กองกำลัง ISIL/ISIS เปิดฉากรุกใหญ่ในอิรัก สามารถยึดครองพื้นที่จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และประกาศสถาปนา “รัฐอิสลาม” (Islamic State: IS)
            การปรากฏตัวของ IS/ISIL/ISIS เป็นเรื่องที่ประวัติศาสตร์โลกจะบันทึกไว้ ดังที่รับรู้กันทั่วไปว่า IS ไม่ใช่กองกำลังจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ประกอบด้วยคนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 100 ประเทศ เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจยิ่ง ถ้ามองเฉพาะในกรอบซีเรีย การปรากฏตัวของ IS ทำให้อาหรับสปริงซีเรียซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม บัดนี้สถานการณ์ในซีเรียจะลงเอยอย่างไรต้องดูว่า IS คิดอย่างไร ต้องการอะไร การประกาศสถาปนา “รัฐอิสลาม” ย่อมให้เชื่อว่า IS ตั้งใจอยู่อีกนาน

การปรากฏตัวของ IS และกลุ่มติดอาวุธนานาชาติทำให้กองทัพอัสซาดอ่อนแรงลงมาก สูญเสียพื้นที่ครอบครองหลายแห่ง รวมทั้งเขตอิทธิพลของฝ่ายต่อต้านสายกลางด้วย ก่อให้เกิดคำถามว่าหากระบอบอัสซาดล่ม หรือประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ ใครจะขึ้นแทน ฝ่ายต่อต้านสายกลางอ่อนแอเกินไป ชวนให้คิดว่า IS จะสามารถควบคุมกรุงดามัสกัสและพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น ถ้าล้มระบอบอัสซาดเท่ากับส่งมอบซีเรียให้กับผู้ก่อการร้าย IS
ทั้งรัฐบาลโอบามา รัฐอาหรับต้องคิดหนักในเรื่องนี้ แน่นอนว่ารัฐบาลโอบามาไม่ยอมเสี่ยงกับเรื่องนี้ เพราะจะถูกทั่วโลกตำหนิอย่างรุนแรงว่าดำเนินนโยบายส่งมอบซีเรียให้กับ IS
            อันที่จริงรัฐบาลโอบามาไม่ถึงกับส่งมอบซีเรียให้กับ IS แต่การประกาศหลายรอบว่าการต่อต้าน IS ต้องกินเวลาอีกหลายปี เท่ากับยืนยันว่า IS อยู่ได้อีกนาน
            แม้นานาชาติจะไม่ยอมรับการมีอยู่ของ “รัฐอิสลาม” ในทางพฤตินัย “รัฐอิสลาม” มีอยู่จริง มีเขตปกครองของพวกเขาจริง มีการบริหารจัดการทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ครบทุกมิติ ณ ขณะนี้ รัฐอิสลามเป็นรัฐแทรกซ้อนภายในประเทศซีเรีย

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป : อะไรคืออาหรับสปริงซีเรีย
นับจากมีนาคม 2011 สถานการณ์สงครามกลางเมืองซีเรียเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มีตัวแสดงตัวใหม่เข้ามา ต่างมีเป้าหมายผลประโยชน์ของตนเอง เกิดคำถามว่าถ้าเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่าคืออาหรับสปริงซีเรีย อะไรคือนิยามหรือความหมายของคำๆ นี้ ประเทศซีเรียในอนาคตจะเป็นของประชาชนซีเรียหรือไม่ จะได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย เอาใจใส่สวัสดิภาพของพวกเขาหรือไม่
            ถ้ายึดว่าฝ่ายต่อต้านสายกลางคือตัวแทนของประชาชนซีเรียผู้ลุกฮือแต่ต้น ณ ขณะนี้พวกเขาอยู่ได้ด้วยความคุ้มครอง ความช่วยเหลือของรัฐบาลต่างชาติ ประเทศหลักๆ ได้แก่ สหรัฐ สมาชิกอียูบางประเทศ และรัฐอาหรับ เกิดคำถามอีกว่ารัฐบาลเหล่านี้กำลังทำเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาจริงหรือไม่
            ประเด็นที่ตอบได้ค่อนข้างชัดคือชีวิตปัจจุบันและอนาคตของพวกเขาไม่เหมือนเดิม และไม่น่าเป็นอย่างที่คาดหวังตอนแรกเมื่อเริ่มก่อการประท้วง
และที่แน่นอนคือประเทศซีเรียกำลังแยกออกเป็นหลายส่วนชัดเจนยิ่งขึ้นทุกขณะ รวมทั้ง “รัฐอิสลาม” ที่สหประชาชาติประกาศว่าเป็นองค์กรผู้ก่อการร้าย
สิงหาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6850 วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2223598)
------------------------
ทความที่เกี่ยวข้อง :
ข่าวตุรกีโจมตี IS เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตุรกี เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีลังเลใจที่จะร่วมต้าน IS อย่างจริงจัง ปฏิบัติการครั้งนี้ดำเนินร่วมกับการโจมตี PKK ด้วย เรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของตุรกีโดยตรง และเมื่อวิเคราะห์ในภาพที่ใหญ่ขึ้น การจัดการ IS PKK ไม่ใช่เพียงการต่อต้านก่อการร้ายสากล (IS) หรือผู้ก่อการร้ายภายในประเทศ (PKK) แต่เชื่อมโยงกับประเทศซีเรียโดยตรง เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศนี้
           ข้อมูลจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ประเมินว่ามีชาวต่างชาติจากกว่า 90 ประเทศ จึงดูเหมือนว่า IS คือผู้ก่อการร้ายนานาชาติ ซึ่งมีส่วนถูกต้อง แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนของสมาชิก สมาชิก IS ส่วนใหญ่เป็นชาวอิรัก มีพื้นเพเป็นพวกซุนนี ความเข้าใจเรื่องนี้มีความสำคัญ ผูกโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในอิรัก ข้อเขียนชิ้นนี้จะอธิบายความเกี่ยวโยงเหล่านี้ ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Bashar al-Assad Interview: The Fight against Terrorists in Syria. (2014, January 21). Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/bashar-al-assad-interview-the-fight-against-terrorists-in-syria/5365613
2. Dr. Bashar Hafez al-Assad wins post of President of Syria with sweeping majority of votes at 88.7%. (2014, June 4). SANA. Retrieved from http://www.sana.sy/eng/393/2014/06/04/548613.htm
3. Interview Given by President al-Assad to Lebanese Al-Manar TV. (2013, May 31). SANA. Retrieved from http://sana.sy/eng/21/2013/05/31/485037.htm
4. Jabhat al-Nusra's rising in Syria. (2013, May 19). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/05/20135161073885661.html
5. Laub, Zachary., & Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retireved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
6. Lynch, Marc. (2012). The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.
7. Masters, Jonathan. (2013, Septmeber 11). Syria's Crisis and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
8. Obama to ask Congress to approve strike on Syria. (2013, August 31) Market Watch. Retrieved from  http://www.marketwatch.com/story/obama-to-ask-congress-to-approve-strike-on-syria-2013-08-31
 9. Opposition takes Syria seat at Arab League summit. (2013, March 26). FRANCE24/AP. Retrieved from http://www.france24.com/en/20130326-syria-opposition-arab-league-seat-summit
10. Prashad, Vijay. (2012). Arab Spring, Libyan Winter. USA: AK Press.
11. Sly, Liz. (2013, September 25). Largest Syrian rebel groups form Islamic alliance, in possible blow to U.S. influence. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/middle_east/largest-syrian-rebel-groups-embrace-islamic-alliance-in-possible-blow-to-us-influence/2013/09/25/f669629e-25f8-11e3-9372-92606241ae9c_story.html
12. Syria accuses the west of pouring arms into the hands of terrorists. (2014, January 22). The Guardian. Retrieved from http://www.theguardian.com/world/2014/jan/22/syria-west-terror-montreux-talks
13. U.S. Department of State. (2011, November 9). U.S Policy on Syria. Retrieved from http://www.state.gov/p/nea/rls/rm/176948.htm
14. The White House. (2013, April 26). Press Briefing by Press Secretary Jay Carney. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/04/26/press-briefing-press-secretary-jay-carney-4262013
--------------------------------