ยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรีย (1)

ยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรียที่จะนำเสนอเป็นเรื่องราวซับซ้อน เกี่ยวข้องกับการโค่นล้มระบอบประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) แห่งซีเรีย สงครามกลางเมืองซีเรียที่ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่มีนาคม 2011 เริ่มจากการชุมนุมอย่างสงบของชาวซีเรียกลุ่มหนึ่ง กลายเป็นเหตุปะทะด้วยอาวุธ บานปลายเป็นสงครามกลางเมือง มีกองกำลังติดอาวุธต่างชาติราว 100 ประเทศเข้าร่วมสงครามนี้ รวมทั้งการปรากฏตัวของ IS/ISIL/ISIS
สงครามกลางเมืองซีเรียจึงไม่ใช่เรื่องของเฉพาะชาวซีเรียอีกต่อไป หลายประเทศเข้าเกี่ยวข้อง แต่ละประเทศมีเป้าหมายของตนเอง มีความร่วมมือของหลายประเทศ เกิดยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่าแผนของแต่ละประเทศ มีตัวแสดงมากมาย เพียงคำว่าชาวเคิร์ด มี 3 เคิร์ด คือชาวเคิร์ดตุรกี เคิร์ดซีเรีย และเคิร์ดอิรัก แต่ละกลุ่มยังแยกย่อยออกเป็นพรรคหรือกลุ่มย่อย รวมความแล้วเคิร์ดทั้ง 3 กลุ่มมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน เช่นเดียวกับตัวแสดงระดับรัฐ
            ยุทธศาสตร์แบ่งแยกประเทศซีเรียจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก มีทั้งนโยบายของแต่ละประเทศ และยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ทับซ้อนกัน มีตรรกะที่สอดคล้องกับขัดแย้ง สะท้อนการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตามบริบทที่เปลี่ยนไป ผลประโยชน์ร่วมและความขัดแย้ง
ตุรกีเปิดฉากถล่ม IS ทางอากาศ :
24 กรกฎาคม รัฐบาลตุรกีเปิดฉากถล่ม IS ในซีเรียและกลุ่ม PKK ทางตอนเหนือของอิรักด้วยกำลังทางอากาศ พร้อมกับนี้รัฐบาลได้ทำการปราบปรามจับกุมพวก IS PKK ทั่วไปประเทศ เรเจพ แอร์โดกาน (Recep Erdogan) ประธานาธิบดีตุรกีประกาศว่าผู้ก่อการร้ายทั้งหลายต้องวางอาวุธ มิเช่นนั้นจะได้รับผลตามมา ย้ำว่ารัฐบาลไม่สามารถเจรจาสันติภาพกับผู้ทำลายเอกภาพประเทศ
ตุรกีเป็นสมาชิกนาโต ชาติสมาชิกนาโตหลายประเทศเข้าร่วมยุทธการต่อต้าน IS ตามแผนที่วางร่วมกับสหรัฐ แต่ที่ผ่านมาตุรกีไม่กระตือรือร้นมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ปฏิบัติการถล่มและจับกุมสมาชิก IS เป็นปฏิบัติการที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ชี้ว่ารัฐบาลตุรกีได้ปรับเปลี่ยนแผนของตนครั้งใหญ่ เป็นหลักฐานบ่งชี้อย่างหนึ่งว่ายุทธศาสตร์หรือนโยบายต่อสงครามกลางเมืองซีเรียกำลังเปลี่ยนไป
            อนึ่ง มีตัวแสดงสำคัญบางตัวสมควรนำเสนอเพื่อความเข้าใจ คือ PKK YPG และ PYD ดังนี้

Kurdistan Workers Party (PKK) :
            PKK เป็นชื่อย่อจากภาษาตุรกี “Partiya Karkeren Kurdistan” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Workers’ Party of Kurdistan หรือ Kurdistan Workers Party แปลเป็นไทยน่าจะเป็น “พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน” หรือ “พรรคกรรมกรเคอร์ดิสถาน”
Martin Bruinessen ชี้ว่าเป็นกลุ่มที่นิยมความรุนแรงมากที่สุดหมู่เคิร์ดตุรกี นับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมากลายเป็นกลุ่มอันตราย ปะทะกับทางการเรื่อยมา เฉพาะช่วงปี 1984–1999 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 35,000 ราย (เฉลี่ยปีละ 2,300 ราย)

            ประวัติของกลุ่มเริ่มจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเคิร์ดในตุรกีตอนทศวรรษ 1970 พวกเขาเห็นว่าชาวเคิร์ดถูกกดขี่ จึงเรียกร้องเสรีภาพ ปลุกระดมให้เยาวชนเคิร์ดทั่วประเทศลุกขึ้นต่อสู้ ในปี 1978 จัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ อับดุลเลาะห์ โอคาลัน (Abdullah Ocalan) เป็นประธานพรรค PKK คนแรกและกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ยึดแนวทางต่อสู้และบริหารแบบสังคมนิยมสตาลิน
            อุดมการณ์ของพรรคในช่วงนั้นเป็นสังคมนิยมผสมกับชาตินิยม มักจัดชุมนุมประท้วงและปะทะกับรัฐบาล
            กันยายน 1980 เกิดรัฐประหาร กองทัพเข้ายึดอำนาจและปราบปรามกลุ่มสุดโต่งต่างๆ รวมทั้ง PKK รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (1982) ไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองที่ยึดเชื้อสาย ในปี 1983 รัฐประกาศห้ามใช้ภาษาเคิร์ด ท่ามกลางการปราบปรามอย่างหนัก ประธานโอคาลันหนีออกจากประเทศโดยได้รับความช่วยเหลือจากปาเลสไตน์กับซีเรีย พวกเขามีฐานที่มั่นของตนเอง ทั้งในซีเรียกับปาเลสไตน์ ในเวลาต่อมาย้ายไปอยู่ทางตอนเหนือของอิรัก (ติดแนวพรมแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ปัจจุบันยังคงอยู่)
            ในปี 1984 กองกำลังติดอาวุธ PKK เข้าโจมตีเป้าหมายในตุรกีหลายจุด กองทัพตุรกีพยายามปราบปราม มีข้อมูลว่าหมู่บ้านเคิร์ดนับพันแห่งถูกทำลายราบ รัฐบาลใช้กำลังทางอากาศโจมตีฐานที่มั่น PKK ในอิรัก รวมถึงการส่งทหารทำการรบทางภาคพื้นดิน แต่ไม่อาจหยุดยั้ง PKK ต่อมารัฐบาลตุรกีปรับแผนใช้วิธีระดมชาวเคิร์ดในตุรกีเพื่อต้านทานพวก PKK (ให้ชาวเคิร์ดรบกันเอง) พวกเคิร์ดหลายเผ่าให้ความร่วมมือ สามารถระดมกำลังได้ถึง 65,000 นาย ในช่วงนั้นพวกเคิร์ดแบ่งแยกอย่างรุนแรง

            เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 PKK ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ประกาศเป้าหมายสถาปนารัฐเคอร์ดิสถาน (Kurdistan) โดยยึดหลักอิสลามมากขึ้นแทนลัทธิสังคมนิยม (เป็นช่วงเวลาเดียวกับสิ้นสุดสหภาพโซเวียต เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก) ลดความรุนแรง หันมาสร้างแนวร่วมในหมู่ชาวเคิร์ดด้วยกัน
ด้านรัฐบาลตุรกียังคงปราบปราม PKK อย่างต่อเนื่องแม้ PKK จะขอเจรจาหยุดยิง นอกจากนี้ รัฐบาลตุรกีพยายามกดดันซีเรียด้วย เพราะเป็นผู้ให้การสนับสนุน

            ในปี 1999 ประธานโอคาลันถูกจับกุมในเคนยาและส่งตัวมายังตุรกี โอคาลันขอให้พลพรรควางอาวุธ สมาชิก PKK จำนวนมากถอยออกจากตุรกีกลับไปยังภาคเหนืออิรักดังเดิม ศาลตัดสินจำคุกโอคาลันตลอดชีวิต โอคาลันเห็นว่าปัญหาชาวเคิร์ดจะต้องแก้ไขด้วยการให้ตุรกีเป็นสมาพันธ์รัฐประชาธิปไตย (democratic confederalism) เคิร์ดมีอิสระปกครองตนเองภายใต้ประเทศตุรกี
            เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000 สิทธิของเคิร์ดดีขึ้น มีรายการโทรทัศน์วิทยุของตนเอง เน้นเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรม เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ และเข้าร่วมในระบบการเมืองตุรกี
ทั้งรัฐบาลตุรกี สหรัฐ และอียูประกาศว่า PKK เป็นองค์กรก่อการร้าย

PYD กับ People's Protection Units (YPG) :
PYD หรือ Partiya Yekita ya Demokratik (Democratic Union Party) เป็นพรรคการเมืองของพวกเคิร์ดในซีเรีย ส่วน People's Protection Units (YPG) คือกองกำลังติดอาวุธของ PYD ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและพันธมิตรเพื่อต่อต้าน IS/ISIL/ISIS
            เป็นที่ยอมรับว่า PYD เป็นพันธมิตรกับ PKK (หรือเคิร์ดซีเรียกลุ่มหนึ่งเป็นพันธมิตรกับเคิร์ดตุรกีกลุ่มหนึ่ง)
ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่า PYD ไม่ใช่ใครอื่น เป็นองค์กรที่ประธานโอคาลันก่อตั้ง แม้ว่า PYD จะมีผู้นำของตนเองคือ Salih Muslim แต่การแสดงออกของ Salih Muslim บ่งชี้ว่าโอคาลันมีอำนาจเหนือหรือมีอิทธิพลต่อท่านมาก
PYD ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รายงานของ Human Rights Watch ฉบับปี 2014 ชี้ว่าพวกเขาจับตัวเรียกค่าไถ่ สังหารผู้คน ตั้งศาลเตี้ย จับกุมคนโดยไม่มีข้อหา ทำการทรมาน
            นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า PKK ยังไม่สามารถสร้างเขตปกครองตนเองของเคิร์ดตุรกี แต่ฉวยโอกาสการปรากฏตัวของ IS สร้างเขตปกครองของเคิร์ดซีเรียภายใต้ปฏิบัติการของ PYD

ปัญหาระหว่างสหรัฐกับตุรกี :
ตุรกีเป็นสมาชิกนาโตตั้งแต่ปี 1952 หรือตั้งแต่เริ่มสงครามเย็น ในสมัยนั้นรัฐบาลมุ่งปิดล้อมอิทธิพลของโซเวียตตามยุทธศาสตร์ปิดล้อมของสหรัฐ แต่ทันทีที่สิ้นสงครามเย็น สหรัฐกลับเป็นตัวปัญหาแก่ตุรกี
ปัญหาระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับตุรกีกลายเป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่เริ่มสงครามอ่าวเปอร์เซีย 1991 เพราะชาติตะวันตกประกาศนโยบายปกป้องพวกเคิร์ดอิรักที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ อันเป็นที่ตั้งของพวกเคิร์ดตุรกีที่มีฐานที่มั่นในบริเวณดังกล่าวด้วย (แต่ค่อนมาทางพรมแดนตุรกี) ณ ขณะนั้นรัฐบาลตุรกีเชื่อว่าสักวันเคิร์ดในประเทศตนจะประกาศแยกตัวออกจากประเทศ
            รัฐบาลตุรกีไม่ชอบซัดดัม ฮุสเซน แต่ยอมรับว่าอิรักภายใต้ซัดดัมทำให้ภาคใต้ของตนมั่นคง และเชื่อว่าหากสหรัฐโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนจะยิ่งเป็นเหตุให้พวกเคิร์ดตุรกีแข็งแกร่ง ความหวาดวิตกเป็นจริง อิรักในยุคสิ้นซัดดัมกลายเป็นประเทศอ่อนแอ แบ่งแยก บริบทดังกล่าวเอื้อให้ PKK เข้มแข็งขึ้นมาก นับจากปี 2003 PKK เริ่มก่อเหตุร้ายในประเทศอีก รัฐบาลตุรกีพยายามของให้สหรัฐช่วยปราบปราม PKK หรืออย่างน้อยช่วยเปิดไฟเขียวให้ แต่ฝ่ายสหรัฐลังเลใจ
            ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจึงตึงเครียดเรื่อยมา

            พฤศจิกายน 2007 สัมพันธ์ 2 ประเทศดีขึ้นเมื่อนายกฯ แอร์โดกาน (ตำแหน่งในขณะนั้น) เยือนสหรัฐ ผลการเจรจาประธานาธิบดีบุชสนับสนุนการปราบปราม PKK ด้วยการให้การข่าวที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องปราบปราม PKK ในขอบเขตจำกัดเท่านั้น รัฐบาลตุรกีปฏิบัติตามสัญญา
            นับจากนั้นเป็นต้นมา ประเด็นการปราบปราม PKK เป็นเครื่องทดสอบว่ารัฐบาลสหรัฐสนับสนุนรัฐบาลตุรกีมากน้อยเพียงใด หากสหรัฐจะขอความร่วมมือใดๆ จะต้องมีประเด็น PKK เป็นข้อต่อรองจากรัฐบาลตุรกี และรัฐบาลตุรกีจะต่อต้านอย่างรุนแรงหากสหรัฐสนับสนุนหรือเป็นเหตุให้ PKK เข็มแข็ง เช่น สนับสนุนพวกเคิร์ดเพื่อต่อต้าน IS

สรุป :
ข้อมูลในอดีตล้วนบ่งชี้ความสัมพันธ์ PKK PYD รัฐบาลตุรกีกับสหรัฐ ปฏิบัติการถล่ม IS กับ PKK ด้วยกำลังทางอากาศในระยะนี้เชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีต พอได้เค้าลางแล้วว่าเคิร์ดซีเรียต้องการแบ่งแยกดินแดน อย่างน้อยขอปกครองตนเอง ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาลแอร์โดกานแสดงท่าทีกังวลตั้งแต่สมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย 1991 แล้ว
2 สิงหาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6843 วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2218380)
-------------------------
บรรณานุกรม:
1. Bruinessen, Martin. (2004). KURDISTAN WORKERS PARTY (PKK). In The Encyclopedia of the Modern Middle East and North Africa. (2nd Ed., pp.1342-1344). USA: Thomson Gale
2. Gunter, Michael M. (2011). Historical Dictionary of the Kurds (2nd Editions). Maryland Scarecrow Press.
3. Kurdish peace impossible: Erdogan. (2015, July 29). The Peninsula. Retrieved from http://thepeninsulaqatar.com/news/middle-east/348825/kurdish-peace-impossible-erdogan
4. Larrabee, F. Stephen. (2008). Turkey as a U.S. Security Partner. USA: RAND Corporation.
5. Oktar, Adnan. (2015, July 8). Prevent the rise of a North Korea-style Kurdish dictatorship. The Jerusalem Post. Retrieved from http://www.jpost.com/Opinion/Prevent-the-rise-of-a-North-Korea-style-Kurdish-dictatorship-408405
6. Rabasa, Angel., & Larabee, F. Stephen. (2008). The Rise of Political Islam in Turkey. USA: RAND Corporation.
7. Stokes, Jamie (Editor). (2009). Kurds. In Encyclopedia of The Peoples of Africa and the Middle East. New York: Infobase Publishing.
8. Yeginsu, Ceylan. (2015, July 25). Turkey Attacks Kurdish Militant Camps in Northern Iraq. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/07/26/world/middleeast/turkey-attacks-kurdish-militant-camps-in-northern-iraq.html?_r=0
--------------------------------