The Wall Street Journal ผู้พิฆาตนายกฯ นาจิบ?

ประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซียอาจบันทึกว่าวันที่ 3 กรกฎาคม 2015 The Wall Street Journal (WSJ) หนังสือพิมพ์ของอเมริกาเป็นผู้จุดระเบิดพลิกโฉมการเมืองมาเลเซีย
            WSJ เป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพเทียบเท่า The New York Times กับ The Washington Post รายงานข่าวทุกด้าน โดยเฉพาะการเมือง เศรษฐกิจ ทั้งในและต่างประเทศ มีบทวิเคราะห์ที่ลุ่มลึกเฉียบคมอยู่เสมอ เหมาะสำหรับผู้อ่านที่ต้องการลงลึกในรายละเอียด มีหลักวิชาการ ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ประเภทขุดคุ้ย ปาปารัสซี นำเรื่องอื้อฉาวของบุคคลต่างๆ มาเผยแพร่ เพื่อเป็นประเด็นซุบซิบในวงสนทนา
WSJ ชี้ว่ามีการโอนเงินจากกองทุนพัฒนามาเลเซียเบอร์ฮัด (1Malaysia Development Bhd :1MBD) ที่เชื่อว่าเข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ ราซัค (Najib Razak) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อมีนาคม 2013 ช่วงกำลังหาเสียงเลือกตั้ง เงินดังกล่าวมาจากบริษัท Tanore Finance จดทะเบียนที่เกาะบริติช เวอร์จิน (British Virgin) โอนผ่านธนาคารสวิสแห่งหนึ่ง เงินที่ผ่านบริษัทนี้สูงถึง 681 ล้านดอลลาร์ เข้าบัญชีส่วนตัวของนายกฯ นาจิบของธนาคาร AmIslamic Bank
เงินอีกส่วนหนึ่ง ราว 11.1 ล้านดอลลาร์ ถูกถ่ายโอนระหว่างช่วงปลายปี 2014 จนถึงต้นปี 2015 เงินก้อนนี้มาจากบริษัท SRC International Sdn. Bhd เป็นบริษัททำธุรกิจพลังงานภายใต้กองทุน 1MDB จากนั้นเงินถูกโอนผ่านหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับ SRC ก่อนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกฯ นาจิบ
WSJ ตีข่าวว่าเงินจากกองทุนมีส่วนช่วยให้นาจิบชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 เงินจากกองทุนถูกถ่ายโอนเข้าไปในบริษัทพลังงาน จากนั้นบริษัทบริจาคเงินแก่องค์กรการกุศลที่สร้างคะแนนนิยมแก่นาจิบ เช่น มอบเงินแก่โรงเรียนท้องถิ่น
การเป็นผู้จุดประเด็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียยักยอกเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐของกองทุนพัฒนามาเลเซียเบอร์ฮัดจึงไม่ใช่การขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวส่วนตัวเท่านั้น
เตรียมการมาอย่างดี :
            WSJ ไม่ได้เสนอข่าวเพียงครั้งเดียวแล้วจบ แต่เสนอข่าวหลายรอบ รวมทั้งบทบรรณาธิการ ตีแผ่ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ชี้ว่ามีการวางแผนมาอย่างดี มีความตั้งใจบรรลุเป้าหมาย
            ทั้งยังติดตามการทำงานของคณะทำงานเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบคำกล่าวหาต่อนายกฯ นาจิบ ครั้งหนึ่งเมื่อคณะทำงานเข้าตรวจยึดเอกสารหลายชิ้นจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง WSJ เสนอข่าวเห็นว่าเอกสารที่คณะทำงานเข้ายึดนั้นไม่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาของเงินหรือสามารถเชื่อมโยงกับเงินที่เข้าบัญชีส่วนตัวของนายกฯ นาจิบ
            คาดว่า WSJ คงจะเฝ้าติดตามเสนอข่าวประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าเรื่องจะสิ้นสุด อาจหวังเป็นผลงานชิ้นโบแดง
            เกิดคำถามว่า WSJ ได้วางคนไว้ก่อนแล้วหรือไม่ หรือว่ามีผู้ไม่ประสงค์ออกนามฝั่งมาเลเซียคอยให้ข้อมูลเป็นระยะๆ
            ที่สำคัญคือข้อมูลบัญชีเงินฝากเป็นข้อมูลลับตามกฎหมาย Computer Crimes Act 1997 ของมาเลเซีย ผู้เข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลของธนาคารต่างๆ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจจากธนาคารกลางเท่านั้น ในระหว่างที่ยังไม่มีสรุปว่านายกฯ นาจิบผิดจริงหรือไม่ สำนักงานตำรวจมาเลเซียเริ่มสืบสวน เอาผิด WSJ ในการเข้าถึงข้อมูลการเงินที่เป็นเรื่องต้องห้าม
ดังที่นำเสนอข้างต้นแล้วว่า WSJ เป็นสื่อคุณภาพ ก่อนจะนำเสนอข่าวกล่าวหานายกฯ นาจิบ ต้องผ่านการศึกษา ไตร่ตรองมาแล้วอย่างรอบคอบ คงตระหนักเรื่องการฟ้องร้องตั้งแต่ต้นแล้ว และเป็นเหตุผลว่าจำต้องให้สื่อต่างประเทศเป็นผู้นำเสนอข้อมูลบางด้าน

ผู้ได้รับประโยชน์ :
            ถ้าตัดประเด็นการว่าจ้างให้เสนอข่าว WSJ ไม่น่าจะมีผลประโยชน์จากการนี้ ผู้ได้ประโยชน์โดยตรงคือฝั่งมาเลย์เท่านั้น กล่าวได้ว่า WSJ ถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือยินดีให้ใช้เป็นเครื่องมือ เพราะเป็นตัวเครื่องมืออยู่แล้ว เป็นสื่อเผยแพร่ข่าวสารให้สาธารณะรับรู้ หรือมีเบื้องหลังที่ลึกกว่านั้น
            ถ้าวิเคราะห์ตามข้อมูลที่ปรากฏในช่วงสั้นๆ ไม่กี่วันนี้ สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดคือ ความขัดแย้งระหว่างนายกฯ นาจิบกับดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Dr. Mahathir Mohamad) อดีตนายกฯ มาเลย์ผู้ครองตำแหน่งอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1981 ถึง 2003 ทุกวันนี้หลายคนยังเห็นว่าท่านมีอิทธิพลต่อการเมือง มีอิทธิพลต่อพรรคอัมโน (United Malays National Organization: UMNO) ที่นายกฯ นาจิบสังกัด
ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุอดีตนายกฯ ดร.มหาเธร์เรียกร้องให้นายกฯ นาจิบลาออกจากตำแหน่ง กล่าวว่าตนไม่ใช่ชาวมาเลย์เพียงคนเดียวที่รู้สึกละอายต่อข่าวการยักยอกเงินกองทุน 1MDB ตอนนี้คนทั้งโลกรู้จักนาจิบกับ 1MDB เหตุการณ์เช่นนี้ถ้าเกิดกับประเทศอื่น ป่านนี้ผู้นำจะต้อง “ลาออกและขอโทษ”
            ประเด็นความขัดแย้งระหว่างนายกฯ นาจิบกับอดีตนายกฯ มหาเธร์เป็นเรื่องที่ควรวิพากษ์ในโอกาสต่อไป และเป็นเรื่องใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาล

การเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านและสื่ออื่นๆ :
            ทันทีที่ WSJ เปิดประเด็น ฝ่ายค้านและสื่อในประเทศเปิดฉากขยายข่าวต่อเนื่อง สังคมมาเลย์ในยุคสมัยที่สื่อมีมากมาย บางสำนักเสนอข่าวที่เป็นลบต่อนายกฯ นาจิบอย่างชัดเจนต่อเนื่อง นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว สื่อของนักการเมืองฝ่ายค้านเปิดประเด็นโจมตีขยายแผล
Charles Santiago สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรค Democratic Action Party (DAP) อาศัยสื่อหนังสือพิมพ์ให้ความเห็นว่าเนื่องจาก “สถาบันต่างๆ ของประเทศไม่เป็นอิสระและอยู่ภายใต้การควบคุมทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี พวกเขา (คณะทำงานเฉพาะกิจ) จะไม่สามารถทำงาน” ตรวจสอบตามหน้าที่ และเห็นว่าในระหว่างการตรวจสอบนายกฯ นาจิบไม่ควรปฏิบัติหน้าที่แล้ว
Lim Kit Siang ที่ปรึกษาของพรรค DAP หนึ่งในแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ใช้บล็อก (blog) ของตนบรรยายการเมืองประเทศว่าเต็มด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางมิชอบ เศรษฐกิจสังคมขาดความยุติธรรม ธรรมาภิบาลล้มเหลว
ตั้งข้อสงสัยว่าอัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องนายกฯ หรือไม่ หรือนายกฯ จะถอดอัยการก่อน
            ทั้งหมดนี้ Lim Kit Siang เรียกร้องว่าถึงเวลาแล้วที่ชาวมาเลย์ทุกคนจะลุกขึ้นมาสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ

            ในยุคดิจิตอลนี้ บุคคลอย่าง Lim Kit Siang เป็นทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิเคราะห์ และมีสื่อโซเชียลมีเดียในมือ มีผู้ติดตามงานเขียนของท่านและสามารถหาอ่านย้อนหลัง จึงไม่มีใครสามารถปิดกั้นความคิดความเห็นของท่าน ลักษณะเช่นนี้เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าพวกตนมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง เพราะในอดีตรัฐบาลพยายามปกปิดบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร สื่อกระแสหลักเป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่ด้วยการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต สื่อทางเลือกต่างๆ ฝ่ายค้านใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ นำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้ประชาชนรับทราบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
            เมื่อ WSJ เปิดร่องรอยการคอร์รัปชันของนายกฯ ฝ่ายค้านและสื่อในมือฝ่ายค้านระดมกันขยายแผล แนวร่วมฝ่ายค้านน่าจะฉวยโอกาสนี้รณรงค์ต่อต้านพรรคร่วมรัฐบาลหลังบริหารประเทศครึ่งเทอม (นับจากสมัยเลือกตั้ง 2013) ตอกย้ำเหตุผลว่าทำไมจึงต้องเลือกพรรคฝ่ายค้าน ต่อต้านพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการโหนกระแสที่น่าจะได้ผลดี ตรวจสอบคะแนนนิยมไปในตัว
            เป็นการเตือนความจำว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 แนวร่วมฝ่ายค้านได้คะแนนรวม (Popular votes) มากกว่า แต่ที่อัมโนกับพรรคร่วมรัฐบาลได้เป็นรัฐบาลอีกสมัยเป็นเพราะระบบการเลือกตั้งของมาเลเซียอิงหลัก “ภูมิบุตร” เสียงของเชื้อสายมาเลย์มีน้ำหนักมากกว่า เป็นประชาธิปไตยแบบมาเลย์

แนวร่วม Facebook Twitter :
            หลังสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ บทวิเคราะห์ต่างๆ โหมข่าวแล้ว จากนั้นเป็นจังหวะของสื่อโซเชียลออนไลน์อย่าง Facebook Twitter ที่จะ “ฟันธง” “ตอกย้ำ” อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ฟันธงว่ามีคนโกง ตอกย้ำว่านักการเมืองขี้โกง ตามลักษณะสื่อประเภทนี้ที่มักส่งสารหรือข้อมูลสั้นๆ ตรงไปตรงมา ไม่นิยมเอ่ยถึงรายละเอียด
            บางคนรู้วิธีที่ทำให้มีคน “กดไลค์” “กดแชร์” กันมากๆ ความแตกต่างระหว่างข้อความแบบข้อมูลข่าวสารเป็นวิชาการกับข้อความกึ่งสร้างอารมณ์จะมีผลแตกต่างกันมาก
สำหรับพวกมืออาชีพจะมีแฟนคลับ จึงไม่แปลกใจหากบางข้อความจะมีผู้ “รีทวีต” เป็นพันในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผู้บริโภคสื่อประเภทนี้จะมีประสบการณ์ได้อ่านเรื่องซ้ำๆ จากผู้ส่งหลายคน
ส่วนพวกที่ทำกันเป็นขบวนการ จะมีหมาแมวเข้าร่วมวิพากษ์อย่างถึงพริกถึงขิง เกิด “นักวิเคราะห์” มากมายนับไม่ถ้วน
หากผู้บริโภคขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการไตร่ตรองด้วยใจเป็นธรรม ย่อมหลงอยู่ในวังวันความขัดแย้งอย่างไม่จบสิ้น “ถูกกล่อมเกลา” หรือ “ถูกล้างสมอง” อย่างไม่รู้ตัว
            นักวิเคราะห์บางคนจึงสรุปว่า ไม่ว่านายกฯ นาจิบจะผิดจริงหรือไม่ ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

สรุป :
            ในประวัติศาสตร์สื่ออเมริกา เคยมีหลายกรณีที่นักข่าวสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญมาแล้ว ในมุมที่กว้างขึ้นบางคนเห็นว่าในหลายกรณี “สื่ออเมริกา” เป็นเครื่องมือของรัฐ ของขั้วการเมือง เสนอข่าวอย่างมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ทั้งนี้ยังไม่เอ่ยถึงสื่อที่เป็นของรัฐหรือเป็นตัวแทนของรัฐอย่างชัดเจน เช่น Xinhua ของจีน Pravda ของรัสเซีย) แม้กระทั่งสื่อของมาเลเซียจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง New Strait Times กับ The Malaysian Insider และอื่นๆ
            คำกล่าวหาต่อนายกฯ นาจิบได้สั่นสะเทือนการเมืองอย่างรุนแรง เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย 58 ปีที่นายกฯ อาจขึ้นศาลเพราะทุจริตคอร์รัปชัน เป็นคดีอาญา
            ณ ขณะนี้ยังไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ ที่แน่นอนคือสงครามข้อมูลข่าวสารกำลังดำเนินอย่างเข้มข้น ต่างฝ่ายต่างพยายามยึดครองความคิดความเข้าใจของคน ตอกย้ำจุดอ่อนของระบบการเมืองประเทศ เป็นลักษณะหนึ่งของการเมืองยุคดิจิตอล
12 กรกฎาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6822 วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2558)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ภายใต้การนำของนายอัลวาร์ อิบราฮิมทำให้แนวร่วมฝ่ายค้านให้ได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2008 เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวร่วมฯ เชื่อว่าพวกเขามีโอกาสโค่นล้มการบริหารประเทศที่พรรคอัมโนเป็นแกนนำตลอด 56 ปี แต่ความหวังนั้นมีอุปสรรค ปัญหาหลายประการ
บรรณานุกรม:
1. Lai, Allison. (2015, July 5). Freeze PM and family's bank accounts, says Klang MP. The Star. Retrieved from http://www.thestar.com.my/News/Nation/2015/07/05/Charles-Santiago-Najib/
2. Lim Kit Siang. (2015, July 9). Time for all progressive and patriotic political leaders to come together on a common programme to save Malaysia from becoming a failed state as a result of rampant corruption, abuses of power, socio-economic injustices and the collapse of good governance. Lim Kit Siang for Malay.  Retrieved from http://blog.limkitsiang.com/2015/07/09/time-for-all-progressive-and-patriotic-political-leaders-to-come-together-on-a-common-programme-to-save-malaysia-from-becoming-a-failed-state-as-a-result-of-rampant-corruption-abuses-of-power-socio/?utm_source=feedburner&utm_medium=feed&utm_campaign=Feed%3A+limkitsiang%2Frss+%28Lim+Kit+Siang%29
3. Malaysia Probe Says It Has Found Documents Tied to Alleged Transfers to Premier. (2015, July 4). Lim Kit Siang for Malay/Wall Street Journal. Retrieved from http://blog.limkitsiang.com/2015/07/05/malaysia-probe-says-it-has-found-documents-tied-to-alleged-transfers-to-premier/?utm_source=feedburner&utm_medium=feed&utm_campaign=Feed%3A+limkitsiang%2Frss+%28Lim+Kit+Siang%29
4. Mohd, Hariz. (2015, July 8). Police to probe WSJ under Computer Crimes for disclosing banking information: IGP. New Strait Times. Retrieved from http://www.nst.com.my/node/91282
5. Wright. Tom., & Clark, Simon. (2015, July 2). Investigators Believe Money Flowed to Malaysian Leader’s Accounts Amid 1MDB Probe. Lim Kit Siang for Malay/Wall Street Journal. Retrieved from http://blog.limkitsiang.com/2015/07/04/investigators-believe-money-flowed-to-malaysian-leaders-accounts/?utm_source=feedburner&utm_medium=feed&utm_campaign=Feed%3A+limkitsiang%2Frss+%28Lim+Kit+Siang%29
6. Zainal, Hanis. (2015, July 7). Mahathir: I'm not the one embarrassing the country. The Star. Retrieved from http://www.thestar.com.my/News/Nation/2015/07/07/Mahathir-Najib-Razak-1MDB-embarrassing/
--------------------------------