มองรอบด้านกับการบรรลุร่างข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (2)

สัปดาห์สุดท้ายก่อนบรรลุร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ มีกระแสข่าวว่าประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้คือเงื่อนไขยกเลิกข้อมติคว่ำบาตรของสหประชาชาติ เรื่องเครื่องหมุนเหวี่ยงเสริมสมรรถนะ (centrifuge) การคว่ำบาตรอีกรอบหากอิหร่านไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข การย้ายแร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะไปเก็บนอกประเทศ
ถ้าถอยหลัง 2-3 เดือน ประเด็นที่อิหร่านยืนกรานยอมรับไม่ได้คือเงื่อนไขการตรวจสอบทุกที่ทุกเวลาแม้กระทั่งที่ตั้งทางทหาร ฝ่ายพรรครีพับลิกันพยายามผลักดันเงื่อนไขดังกล่าว ถ้าต่างฝ่ายต่างยืนยันจุดยืน การเจรจาไม่บรรลุผลแน่นอน ผลการเจรจาลงเอยด้วยข้อสรุปว่าสามารถตรวจสอบที่ตั้งทางทหารหากมีเหตุต้องสงสัย โดย IAEA ต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า ให้อิหร่านมีเวลาเตรียมตัว 24 วัน เพื่อเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ ความลับทางทหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ ประเด็นนี้เป็นอันยุติ และได้ร่างข้อตกลงฯ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม
 อิหร่านมีโอกาสผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้อีกหรือไม่ :
หนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดและมีผลต่อการรับรองร่างฯ จากรัฐสภาสหรัฐคือ ร่างข้อตกลงฯ ช่วยยับยั้งอิหร่านได้จริงหรือไม่ อิหร่านมีโอกาสผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้อีกหรือไม่
เนื่องจากข้อตกลงสำคัญๆ จะจำกัดโครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นเวลา 10 ปี นายกฯ เนทันยาฮูจึงชี้ว่าเมื่อครบ 10 ปีอิหร่านอาจกลับมาผลิตอาวุธนิวเคลียร์ เพราะมีอิสระ “ที่จะสร้างเครื่องหมุนเหวี่ยงมากเท่าที่ต้องการและผลิตเค้กเหลือง (yellow cake) ได้มากเท่ากับภูเขา เป็นเหตุผลที่ท่านไม่เห็นด้วยกับร่างข้อตกลงฯ ไม่เชื่อว่าในระยะยาวจะช่วยป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์

คำพูดของนายกฯ เนทันยาฮูมีจุดอ่อนหลายข้อ ได้แก่
            ข้อแรก อิหร่านไม่หวนกลับเพื่อถูกคว่ำบาตรอีก
ในอนาคตหากอิหร่านผลิตเครื่องหมุนเหวี่ยงเสริมสมรรถนะมากเกินความจำเป็น และ/หรือผลิตเค้กเหลืองมากเป็นภูเขา ย่อมไม่สามารถหลบเลี่ยงการถูกตรวจจับ เนื่องจากปัจจุบันทุกฝ่ายรู้แน่ชัดแล้วว่าปริมาณเครื่องหมุนเหวี่ยงกับยูเรเนียมที่อิหร่านจำต้องมีใช้ในทางสันติคือจำนวนเท่าใด อยู่ในรูปแบบ ความเข้มข้นขนาดไหน หากมีแนวโน้มว่าจะผลิตเกินและ/หรือผลิตในความเข้มข้นสูงเกินไป หากถูกตรวจพบและอธิบายไม่ได้จะนำสู่การถูกคว่ำบาตร (แม้ปราศจากข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ) สถานการณ์ของอิหร่านจะหวนกลับสู่จุดเดิมที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนักจนต้องเจรจา
            การคว่ำบาตรรอบใหม่จะเกิดขึ้นเร็วกว่าและหนักกว่าเดิมหลายเท่า เพราะเท่ากับพิสูจน์ว่าอิหร่านไม่จริงใจ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่ประกาศเรื่อยมาว่ามีโครงการฯ เพื่อสันติเท่านั้น

ข้อ 2 อิหร่านจะสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ในเวลาอันสั้น
ความอีกตอนนายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่าอิหร่านจะสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้หลายลูกในเวลาอันสั้น
ข้อผิดพลาดใหญ่หลวงคือ การผลิตเป็นอาวุธใช้งานต้องผ่านการทดลองทดสอบหลายขั้นตอน ไม่ใช่เพียงเสริมสมรถนะให้ได้ความเข้มข้นเกินว่าร้อยละ 90 ก็กลายเป็น “อาวุธระเบิดนิวเคลียร์”
            ในมุมมองของรัฐบาลโอบามา ทำเนียบขาวสรุปว่า ถ้าไม่มีข้อตกลง ด้วยเครื่องหมุนเหวี่ยง 20,000 เครื่องที่มีอยู่ อิหร่านสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ 8-10 ลูก และจะผลิตลูกแรกได้ภายในเวลาอย่างเร็วสุดคือ 2-3 เดือน ภายใต้ร่างข้อตกลงฯ หากอิหร่านผิดสัญญาจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีจึงจะสามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก นั่นคือข้อตกลงฯ ช่วยลดขีดความสามารถ ยืดเวลาการสร้างอาวุธถ้าอิหร่านคิดจะทำ และถ้าอิหร่านผิดสัญญา สหประชาชาติ สหรัฐ อียูจะกลับไปคว่ำบาตรอิหร่านตามเดิม
            ที่สำคัญคือระบบการตรวจสอบ เครื่องมือต่างๆ ของ IAEA ในปัจจุบันก้าวหน้ากว่าอดีต การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ยากที่จะหลบเลี่ยงการถูกตรวจจับ

            ข้อ 3 ประเด็นอิหร่านมีเวลา 24 วัน
            นายกฯ เนทันยาฮูอ้างว่าข้อตกลงฯ ให้อิหร่านมีเวลา 24 วันเพื่อพิจารณาการเข้าตรวจสอบในจุดต้องสงสัย อิหร่านสามารถใช้เวลาถึง 24 วันเพื่อทำลายหลักฐาน แต่ความจริงคือหากอิหร่านทำกิจกรรมใต้ดินหรือสถานที่ปกปิดมิดชิด มีคำถามว่าอิหร่านสามารถสร้างและทำลายสถานที่เหล่านี้ภายใน 24 วันหรือไม่ ที่สำคัญกว่านั้นคือครึ่งชีวิตของยูเรเนียมคือ 4,000 ล้านปี (ครึ่งชีวิตหมายถึงเวลาที่ปริมาณรังสีจากยูเรเนียมลดลงครึ่งหนึ่ง) ดังนั้นยากที่อิหร่านจะปกปิดได้อย่างสิ้นเชิง
            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กิจกรรมนิวเคลียร์ “ไม่ใช่ของที่สามารถซ่อนในห้องเก็บของ ... ถ้ามีสารนิวเคลียร์อยู่ในนั้น ... จะทิ้งร่องร่อยไว้และทำให้เรารู้ว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลงแล้ว” เกิดคำถามว่านายกฯ เนทันยาฮูผู้ติดตามและวิพากษ์โครงการนิวเคลียร์อิหร่านอย่างต่อเนื่องทำไมพูดราวกับขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้
            ดังที่นำเสนอแล้วว่าการตรวจสอบที่ตั้งทางทหารเป็นเรื่องอ่อนไหว รัฐบาลอิหร่านแสดงจุดยืนปฏิเสธการตรวจสอบที่ตั้งทางทหาร การให้เวลา 24 วันเพียงพอแก่การเคลื่อนย้ายกำลัง เครื่องมือต่างๆ แต่ไม่อาจกลบเกลื่อนสารกัมมันตรังสีทั้งหมด เป็นการยืดหยุ่นเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับ

            ที่สุดแล้ว คำพูดในทำนองที่ว่าข้อตกลงฉบับสมบูรณ์จะเป็นเหตุให้อิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต ทำลายความมั่นคงของภูมิภาคและโลก สวนทางกับความคิดของชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ กับเยอรมนีและตัวแทนอียูที่เห็นว่าเป็นข้อตกลงที่เหมาะสมแล้ว
            เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชี้ว่าว่าฝ่ายใด “คิดถูก” หรือ “คิดผิด”

            อิหร่านไม่ต้องการอาวุธนิวเคลียร์
            ถ้าพูดในมุมชาติตะวันตก รัฐอาหรับและอิสราเอลจะชี้ว่าอิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ แต่ถ้าพูดในมุมของอิหร่าน รัฐบาลอิหร่านยืนยันเรื่อยมาว่าโครงการของตนมีเพื่อสันติเท่านั้น แม้ทั่ง
อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี ยืนยันซ้ำหลายรอบว่า “พวกเราได้ฟัตวา (fatwa) ประกาศว่าศาสนาอิสลามห้ามครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”
            ถ้ามองจากมุมของอิหร่าน อิหร่านไม่เคยคิดจะมีอาวุธนิวเคลียร์ โครงการที่มีอยู่ การวิจัยพัฒนาใช้ในทางสันติเท่านั้น

รอดูสถานการณ์อีก 60 วัน และ 5 เดือน :
ขั้นตอนจากนี้คือรัฐสภาอเมริกาจะพิจารณาร่างข้อตกลงฯ ถ้าหากรัฐสภาผ่านร่างจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐโอบามาทันที หากไม่เห็นด้วยประธานาธิบดีโอบามาประกาศแล้วว่าจะใช้สิทธิยับยั้ง (veto) ส่วนการแก้ไขร่างฯ จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหมายถึงต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจา P-5+1 อีกรอบ และไม่รู้ว่าฝ่ายอิหร่านจะยอมรับเงื่อนไขใหม่ๆ หรือไม่
Ellie Geranmayeh นักวิชาการจาก European Council of Foreign Relations ชี้ว่าถ้ารัฐสภาสหรัฐไม่ทำตามข้อตกลง สหรัฐจะเป็นฝ่ายถูกตำหนิ มาตรการคว่ำบาตรที่นานาชาติมีต่ออิหร่านนั้นจะเสื่อมคลายไปเอง
Scott Lucas นักวิชาการจาก University of Birmingham เห็นว่าหากคองเกรสปฏิเสธร่างข้อตกลงจะสั่นคลอนความสัมพันธ์กับชาติอื่นๆ ในกลุ่ม P5+1 และหากเป็นเช่นนั้นจริงสถานการณ์จะตึงเครียด คราวนี้จะไม่เฉพาะประเด็นนิวเคลียร์เท่านั้น จะพัวพันเรื่องอื่นๆ เช่น ซีเรีย เยเมน อิรัก อิสราเอล ปาเลสไตน์ และไม่เชื่อว่าหากรีพับลิกันผ่านร่างข้อตกลงจะมีผลต่อการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
หากยึดท่าทีของแกนนำพรรครีพับลิกัน พวกเขาจะคว่ำร่างฯ แน่นอน เป็นการยืนกรานจุดเดิม จากนี้ไปอีก 60 วันวาทกรรมของ 2 พรรคจะเข้มข้น สอดรับกระแสชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในระยะนี้

            ถ้ามองในกรอบหลักการ เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่เชื่อว่าร่างข้อตกลงฯ นั้นเหมาะสม สามารถป้องกันไม่ให้อิหร่านมีนิวเคลียร์ กับอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ดังวุฒิสมาชิกจอห์น โบห์เนอร์ (John Boehner) ชี้ว่าร่างข้อตกลงฯ มีแต่ “สร้างความฮึกเหิม” แก่รัฐบาลอิหร่าน และอาจจุดกระแสการแข่งขันสร้างอาวุธนิวเคลียร์
แต่ไม่ว่าพรรคเดโมแครทกับรีพับลิกันจะถกเถียงรุนแรงเพียงใด ต้องย้ำอีกรอบว่าทั้งคู่มีเป้าหมายตรงกันว่าอิหร่านจะต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ประเด็นที่ดูราวจะขัดแย้งกันมาก แท้จริงแล้วลงเอยด้วยเป้าหมายสุดท้ายเดียวกัน ดังนั้น ถ้าจะขยายความเฉพาะประเด็นนี้ อิสราเอลกับชาติอาหรับไม่ถึงกาลอวสานแต่อย่างไร
เรื่องแปลกแต่จริงคือในหมู่ประเทศคู่เจรจาทั้งหมด มีเฉพาะของสหรัฐที่เป็นปัญหา มีเฉพาะพวกพรรครีพับลิกันกับเดโมแครทบางคนที่เห็นว่าร่างข้อตกลงฯ ไม่ดีพอ จะให้ตีความหมายว่าประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เป็นอย่างไรดี พวกเขาเข้าข้างอิหร่านหรือ
อย่างที่เคยวิเคราะห์แล้วว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลโอบามากับฝ่ายที่ไม่เห็นอาจเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น

            สมมุติว่าคองเกรสผ่านร่างในที่สุด ต้องรอดูอีก 5 เดือนหรือก่อนวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เพื่อ IAEA ตรวจสอบและจะรายว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงหรือไม่ หาก IAEA รายงานว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านผ่านการตรวจสอบโดยสมบูรณ์ จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นว่าพวกต่อต้านร่างข้อตกลงฯ เข้าใจผิด คิดผิด หรือ ...

สรุป :
            ถ้าย้อนหลังสู่สมัยประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ในช่วงนั้นรัฐบาลอิหร่านเดินหน้าโครงการอย่างเต็มที่ ประกาศไม่ยอมอ่อนข้อแม้ถูกคว่ำบาตร เมื่อมาถึงรัฐบาลของประธานาธิบดีโรฮานี นโยบายนิวเคลียร์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อิหร่านเรียกร้องขอการเจรจาจนนำสู่ได้ข้อสรุปร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ ความขัดแย้งอันเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์กับหลายประเทศอาจถึงจุดยุติ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังมีประเด็นขัดแย้งกับอิหร่านในเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง และน่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นถ้าอิหร่านเข้มแข็งขึ้นอันเนื่องจากการฟื้นฟูประเทศ เมื่อถึงเวลานั้นต้องดูว่าผู้นำอิหร่านจะตัดสินใจอย่างไร อิหร่านจะพยายามหลบเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรหรือไม่ หรือว่าเมื่อถึงตอนนั้นบริบทระหว่างประเทศเปลี่ยนไปมากแล้ว
26 กรกฎาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6836 วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2558)
-------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
หากยึดว่าความสำเร็จจากการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ไม่ลดความหวาดระแวง ความไม่เป็นมิตรต่อกัน รัฐบาลสหรัฐยังคงคว่ำบาตรอิหร่านด้วยเหตุผลอื่นๆ อิสราเอลยังเชื่อว่าอิหร่านจะผลิตและสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ในอนาคต ผลประโยชน์ของการเจรจาโครงการนิวเคลียร์จึงไม่ใช่เรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน แต่น่าจะเป็นประโยชน์จากการที่บริษัทต่างชาติเข้าไปมีส่วนโครงการฟื้นฟูอิหร่าน การขายอาวุธให้กับประเทศต่างๆ
บรรณานุกรม:
1. Accord will fuel nuclear race: US House speaker. (2015, July 15). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/middle-east/news/776706
2. Historic deal.  (2015, July 15). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/index_View.asp?code=248041
3. Iran policy against ‘arrogant’ U.S. won’t change. (2015, July 18). Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/07/18/Khamenei-policy-against-arrogant-U-S-won-t-change-.html
4. Keinon, Herb. (2015, July 16). Netanyahu launches US media blitz against Iran deal. The Jerusalem Post. Retrieved from http://www.jpost.com/Middle-East/Iran/Netanyahu-launches-US-media-blitz-against-Iran-deal-409125
5. Slavin, Barbara. (2015, July 16). Is IAEA capable of monitoring Iran nuclear program?
Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/07/iran-nuclear-deal-compliance.html
6. The White House. (2015, July 14). A Historic Deal to Prevent Iran from Acquiring a Nuclear Weapon. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/issues/foreign-policy/iran-deal
--------------------------------