70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนยืนเคียงคู่รัสเซีย (2)

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนกับโซเวียตรัสเซียมีศัตรูเดียวกันคือพวกนาซี กองทัพญี่ปุ่น ทัพจีนที่ช่วยตรึงกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียเอื้อให้กองทัพรัสเซียไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง มุ่งทำศึกกับนาซีในสมรภูมิยุโรปเพียงด้านเดียว ชัยชนะต่อนาซีสร้างขวัญและกำลังใจว่าญี่ปุ่นจะต้องแพ้เช่นกัน
            ในยุคสงครามเย็น ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นพันธมิตรแต่กลับแตกแยก ดีที่รัสเซียในปัจจุบันไม่เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อีกแล้ว อีกทั้งฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐต้องการปิดล้อมอิทธิพลของจีนกับรัสเซีย รัฐบาลจีนกับรัฐบาลปูตินจึงเป็นพันธมิตรใกล้ชิดอีกครั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทุกด้าน ความสัมพันธ์เศรษฐกิจเป็นอีกด้านที่เด่นชัด มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของทั้งคู่และทิศทางโลก
            ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจคือการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
การเชื่อมต่อเศรษฐกิจจีน-รัสเซีย :
            ที่ผ่านมาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศหรือเศรษฐกิจ รัฐบาลปูตินมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับฝั่งเอเชีย ประธานาธิบดีปูตินมักพูดอยู่เสมอว่ารัสเซียเป็นชาติเอเชียเช่นกัน
ในงานประชุมเอเปกเมื่อพฤศจิกายน 2014 ประธานาธิบดีปูตินประกาศว่ารัสเซียจะใช้โอกาสที่เอเชียแปซิฟิกกำลังเติบโตเพื่อพัฒนาเขตพื้นที่ไซบีเรีย โดยสร้างความสัมพันธ์กับประเทศส่วนใหญ่อย่างสร้างสรรค์ทั้งระดับทวิภาคีกับพหุภาคี เป็นโอกาสให้ประเทศต่างๆ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น จีน รัสเซีย ระบุว่า จีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญในภูมิภาคนี้ จะส่งเสริมการใช้สกุลเงินของ 2 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน รัสเซียจะใช้แนวทางนี้กับประเทศอื่นๆ

ประการแรก การเชื่อมต่อด้วยกลุ่มเศรษฐกิจ
            ประเด็นสำคัญที่ประธานาธิบดีปูตินต้องการเอ่ยถึงคือ การสถาปนาสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union: EEU) ที่เริ่มต้นเมื่อเข้าปี 2015 ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย ส่งเสริมการค้าเสรี เคลื่อนย้ายแรงงานเสรี รวมทั้งความร่วมมืออื่นๆ เช่น แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี
            ประโยชน์ที่เอเชียแปซิฟิกจะได้คือ รัสเซียกับคาซัคสถานมีทรัพยากรแร่ธาตุจำนวนมาก เบลารุสจะช่วยเชื่อมต่อกับตลาดยุโรป ที่สำคัญคือสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียดำเนินตามหลักการขององค์การค้าโลก กฎระเบียบการค้าการเงินจะอยู่ในกรอบมาตรฐานสากลนี้
            จะสังเกตว่าสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียซึ่งมีรัสเซียเป็นแกนนำเลือกที่จะรวมกลุ่มกับเอเชียแปซิฟิก ทั้งที่ๆ โดยภูมิศาสตร์ติดกับอียู และไม่เข้ากลุ่ม “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ เพราะแม้ TPP จะอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแต่มีมาตรฐานสูงมาก ทั้งด้านการคุ้มครองแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ ซึ่งรัสเซียกับสมาชิกกลุ่มไม่น่าจะมีมาตรฐานถึงขั้นดังกล่าว การเลือกเข้ากลุ่มจึงเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศและมาตรฐานของแต่ละกลุ่ม
นอกจากสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ยังมีกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) กลุ่มเศรษฐกิจบริคส์ (BRICS)
วันที่ประธานาธิบดีสีเยือนมอสโกเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานครบรอบ 70 ปีฉลองชัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีปูตินกับประธานาธิบดีสีได้ร่วมแถลงความร่วมมือพัฒนาและเชื่อมโยงสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียกับโครงการสายไหมของจีน ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า “การเชื่อมโยงโครงการ EEU กับเส้นทางสายไหมหมายถึงความเป็นหุ้นส่วนได้ก้าวสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง” มีผลต่อเศรษฐกิจของทั้งทวีป ทั้ง 2 โครงการ “จะสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างกลมกลืน”

            ประการที่ 2 การเชื่อมต่อด้วยเส้นทาง
            การเชื่อมต่อด้านเส้นทาง คือ การจัดเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อให้การค้าการเดินทางไปมาหาสู่สะดวกรวดเร็ว ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าเป้าหมายในระยะยาวคือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างแอตแลนติคกับแปซิฟิก
            ภายใต้นโยบายเชื่อมต่อดังกล่าว รัสเซียกับจีนมีแผนก่อสร้างระบบขนส่งขนาดใหญ่ ดังนี้
           ข้อแรก ปรับปรุงเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างยุโรปกับไซบีเรีย
            เส้นทางรถไฟ Baikal-Amur Mainline (BAM) กับ Trans-Siberian Railway เป็นเส้นทางที่มีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ เชื่อมรัสเซียฝั่งยุโรปกับเอเชีย มีประโยชน์ทุกด้านรวมทั้งด้านการทหาร
            รัฐบาลจะปรับปรุงเส้นทางรถไฟ Baikal-Amur Mainline (BAM) กับ Trans-Siberian Railway ด้วยงบประมาณราว 16,300 ล้านดอลลาร์ ปรับปรุงสถานีในภูมิภาคตะวันออกไกล ใช้ GLONASS เทคโนโลยีการจัดการจราจรที่ทันสมัยที่สุด เส้นทางดังกล่าวจะช่วยขนส่งสินค้าจากรัสเซียสู่เอเชียตะวันออก ทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียบางส่วนจะเป็นรถไฟความเร็วสูง ช่วยให้การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วขึ้น
ข้อ 2 จีนสร้างเส้นทางสายไหมยูเรเชีย
ในขณะที่รัสเซียสร้างเขตเศรษฐกิจยูเรเชีย ปรับปรุงเส้นทางรถไฟ BAM กับ Trans-Siberian Railway จีนประกาศนโยบายสร้างเส้นทางสายไหมยูเรเชีย เชื่อมต่อถึงประเทศในแถบทะเลบอลติก กลุ่มประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ถึงท่าเรือประเทศกรีซ ไปไกลถึงสเปน (สุดประเทศยุโรปตะวันตก ติดมหาสมุทรแอตแลนติก)
เส้นทางสายไหมยูเรเชียจะเป็นอีกเส้นทางเชื่อมต่อจีน-ยุโรป นอกจากเส้นทางรถไฟไซบีเรียของรัสเซียที่อยู่ขึ้นไปทางเหนือ
ทางการจีนระบุว่าเส้นทางสายไหมยูเรเชียจะมีความยาวกว่า 13,000 กิโลเมตร สามารถส่งสินค้าจากจีนสู่ยุโรปได้เร็วว่าเส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรีย
เดิมการขนส่งสินค้าระหว่างอียูกับจีนใช้เส้นทางทะเล ในอนาคตการขนส่งทางบกจะเป็นอีกทางเลือก ที่สำคัญคือ เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแถบนี้เข้าหากันอย่างเป็นธรรมชาติ สนับสนุน แนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) ในเอเชียกลาง
ทุกประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าว ไม่เฉพาะจีน
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) เริ่มจากท่าเรือเมืองกวางตุ้ง (Guangdong) สู่ช่องแคบมะละกา เข้ามหาสมุทรอินเดียไปทะเลแดงและเข้าทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สิ้นสุดที่เมืองเวนิส (อิตาลี)
            ทั้งรัสเซียกับจีนต่างกำลังสร้าง ปรับปรุงเส้นทางเชื่อมต่อยุโรป-เอเชียเข้าด้วยกัน

            ประการที่ 3 การเชื่อมต่อด้านพลังงาน
            ความร่วมมืออื่นๆ ที่ควรเอ่ยถึงคือ การซื้อขายน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตและคาดว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือตลาดใหญ่ของน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติรัสเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 บริษัท Gazprom ของรัสเซียกับ China National Petroleum Corporation ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างกันเป็นเวลา 30 ปี (2018-2047) คิดเป็นมูลค่ารวม 400,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับลงทุนสร้างท่อลำเลียงใหม่อีก 1 เส้นทาง นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าแรงจูงใจของข้อตกลงดังกล่าวมาจากการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ เป็นการแก้ปัญหาของรัสเซียในยามที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร
            ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือ รัสเซียในทุกวันนี้ยังพึ่งพาการส่งออกพลังงานเป็นหลัก มีผู้ประเมินว่าที่มาของงบประมาณกว่าร้อยละ 60 มาจากกำไรที่ได้จากการขายน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ รายได้เหล่านี้เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ สำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ไม่ต่างจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้ประธานาธิบดีปูตินฟื้นฟูประเทศอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐกับอียูคว่ำบาตรรัสเซียจากกรณียูเครน ราคาน้ำมันที่ตกต่ำกระทบเศรษฐกิจรัสเซียอย่างยิ่ง ในอนาคตความเป็นไปของราคาน้ำมันโลกคงไม่มีผลต่อรัสเซียมากดังเช่นขณะนี้ รัสเซียจะมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมกับตอบสนองความมั่นคงทางพลังงานของจีนที่จำต้องได้แหล่งพลังงานที่มั่นคง มีเสถียรภาพ
            ในภาพรวม ความสัมพันธ์การค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2015 จะสูงถึง 100,00 ล้านดอลลาร์ จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าอันดับ 2 ของรัสเซีย แต่สินค้าจีนขายแก่รัสเซียไม่มากเท่า เป็นฝ่ายขาดดุลเรื่อยมา แม้เป็นฝ่ายการดุลแต่การนำเข้าพลังงาน อาวุธ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจากประเทศอื่น เพิ่มพลังอำนาจทางทหาร ดังนั้นประโยชน์ที่ได้จึงคุ้มค่า

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            การเชื่อมต่อกลุ่มเศรษฐกิจที่นำโดยรัสเซียกับจีน การสร้างเส้นทางเชื่อมต่อเอเชีย-ยุโรป ผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ยุโรปขั้วรัสเซียเท่านั้น ยุโรปตะวันตก อียูจะได้ประโยชน์เช่นกันไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม
            บริษัท นักลงทุนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะนักลงทุนรัสเซียหรือจีนเท่านั้น นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นชาติใดทุนประเทศใดที่ตั้งบริษัทในกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างได้ประโยชน์ทั้งสิ้น สุดท้ายจึงแข่งขันด้วยประสิทธิภาพ ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
            หากสถานการณ์ในจีนยังคงมีเสถียรภาพ เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐในที่สุด

7 ทศวรรษหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐมีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลก มาบัดนี้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ จะประกาศหรือไม่ประกาศ จีน-รัสเซียและพันธมิตรกำลังร่วมจัดระเบียบโลกอีกแบบที่สหรัฐมีอิทธิพลน้อย คำถามสำคัญคือเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงโดยราบรื่นหรือไม่ การปะทะระหว่าง 2 ระเบียบโลกในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ส่งผลต่อภาพใหญ่ของโลกอย่างไร บรรดาประเทศอื่นๆ ทั้งหลายควรวางตัวอย่างไร
17 พฤษภาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6766 วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2558,)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ร่วมเฉลิมฉลองงานครบรอบ 70 ปีฉลองชัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัสเซียเป็นการแสดงออกถึงสัมพันธภาพอันใกล้ชิดระหว่างจีน-รัสเซียในระยะนี้ สวนทางกับฝ่ายตะวันตกที่บรรดาผู้นำประเทศไม่มาร่วมหลายปีแล้ว คำถามสำคัญคือพฤติกรรมเช่นนี้แสดงถึงการแบ่งขั้วหรือไม่ โลกกำลังเข้าสู่การแบ่งขั้ว-เลือกข้างอย่างรุนแรงอีกครั้งหรือไม่ แน่นอนว่าบริบทปัจจุบันแตกต่างจากอดีต แต่มหาอำนาจยังคงเข้าพัวพันในประเทศอื่นๆ 
            ความตึงเครียดจากสถานการณ์ยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2013 จนนำสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สหรัฐฯ กับพันธมิตรโดยเฉพาะอียูร่วมออกมาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายรอบ
            ข้อเขียนชิ้นนี้อธิบายนโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียเพื่ออธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบายปิดล้อมรัสเซีย การตอบโต้จากรัฐบาลปูติน นำสู่การวิเคราะห์องค์รวม ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์เชิงลึกของสหรัฐฯ ความพยายามจัดระเบียบโลกผ่านวิธีการต่างๆ จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ปิดล้อม พลังอำนาจที่ถดถอยของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์อนาคต
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม :
1. Fergusson, Ian F., Cooper, William H. Jurenas, Remy., & Williams, Brock R. (2013, January 24). The Trans-Pacific Partnership Negotiations and Issues for Congress. Congressional Research Services. Retrieved from http://www.fas.org/sgp/crs/row/R42694.pdf
2. Homeriki, Leonid. (2014, November 13). Russia to build second gas pipeline to China after Beijing agreement. Russia Beyond the Headlines. Retrieved from http://rbth.co.uk/business/2014/11/13/russia_to_build_second_gas_pipeline_to_china_after_beijing_agreement_41393.html
3. President Vladimir Putin. (2014, November 11). Vladimir Putin’s Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) Summit Speech: Trade in Rubles and Yuan Will Weaken Dollar’s Influence. Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/putins-asia-pacific-economic-cooperation-apec-summit-speech-trade-in-rubles-yuan-will-weaken-dollars-influence/5413432
4. Putin gives start to Baikal-Amur Mainline modernization. (2014, July 8). TASS. Retrieved from http://tass.ru/en/russia/739555
5. QIN JIZE., & ZHAO YINAN. (2014, December 87). China set to make tracks for Europe. China Daily. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/world/2014livisitkst/2014-12/18/content_19111345.htm
6. Russia and China agree on integration of Eurasian Economic Union, Silk Road projects. (2015, May 8). TASS. Retrieved from http://tass.ru/en/economy/793713
7. Russia ready for cooperation with US on basis of equality — Putin. (2014, November 19). TASS Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/760524
8. Saunders, Doug. (2014, March 15). Crimea is serious, but this is not a new Cold War. The Globe and Mail. Retrieved from http://www.theglobeandmail.com/globe-debate/crimea-is-serious-but-this-not-a-new-cold-war/article17490293/?cmpid=rss1
9. The White House. (2014, November 10). Remarks by President Obama at APEC CEO Summit. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/11/10/remarks-president-obama-apec-ceo-summit
10. Van Herpen, Marcel H. (2014). Putin's Wars: The Rise of Russia's New Imperialism. Maryland:  Rowman & Littlefield.
---------------------------------