เมื่อรัฐบาลโอบามาลังเลใจช่วยอิรักถล่ม IS

สหรัฐกับพันธมิตรเริ่มโจมตี IS ทางอากาศในเมืองทิกริต (Tikrit) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม หลังการรบผ่านไปแล้วกว่า 3 สัปดาห์จนรัฐบาลอิรักต้องออกมาเรียกร้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกเพราะก่อนหน้านี้สหรัฐใช้กำลังทางอากาศโจมตี IS อย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ที่ประกาศไว้ กระทรวงกลาโหมจัดให้การปราบปราม IS เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญที่สุดต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง
            ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกับกับพลเอกมาร์ติน เดมซีย์ (Martin Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมกังวลว่าสมรภูมิทิกริตจะเพิ่มความขัดแย้งทางศาสนา เนื่องจากอิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้อง สนับสนุนการรบอย่างเต็มที่
            ด้านนายกฯ อาบาดีกล่าวว่าความช่วยเหลือจากนานาชาติไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาวุธ การฝึกทหารหรือกำลังทางอากาศเป็นความช่วยเหลือ “ฉันท์มิตร” ที่พูดเช่นนี้มีนัยยะต้องการเอ่ยถึงรัฐบาลโอบามา
            สหรัฐเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่วิเคราะห์ยาก สิ่งที่เห็นไม่สะท้อนความจริงทั้งหมด มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ผลประโยชน์อเมริกันมีทุกที่ :
            ความเข้าใจเรื่องผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐสามารถถอยหลังถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หากเริ่มจากหลังสิ้นสุดระบอบซัดดัม ฮุสเซน รัฐบาลสหรัฐต้องการมีอิทธิพลเหนืออิรักและภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง การที่ต้องรักษาสัมพันธ์ทั้ง 2 ทางทำให้การวางตัวต่อสถานการณ์ในอิรักเป็นเรื่องยุ่งยาก
            ในนโยบายต่ออิรัก รัฐบาลมาลิกีคือหลักฐานชิ้นสำคัญ เพราะนายกฯ มาลิกีคือบุคคลที่สหรัฐสนับสนุนยกชูให้เป็นผู้นำประเทศ บรรษัทน้ำมันตะวันตกคือผู้ขุดเจาะน้ำมันทำให้อิรักกลับมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อีกครั้ง 2 ประเทศจึงมีความสัมพันธ์รอบด้าน การเปลี่ยนแปลงท่าทีเกิดขึ้นเมื่อกองกำลัง ISIL/ISIS ปรากฏตัว รัฐบาลโอบามาประกาศปกป้องอิรักอย่างมีเงื่อนไข ย้ำว่าปัญหาอิรักไม่อาจแก้ด้วยกำลังทหารเท่านั้น ที่ผ่านมาผู้นำอิรักไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจและความแตกแยกทางศาสนาที่ระอุมาอย่างยาวนาน ปัญหาจึงต้องแก้ที่รัฐบาลอิรักด้วย

ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลอาหรับอื่นๆ สนับสนุนพวกซุนนีอิรัก ไม่พอใจรัฐบาลมาลิกี รัฐบาลโอบามาจึงวางตัวลำบากระหว่างจะอุ้มชูรัฐบาลมาลิกีหรือตอบสนองความต้องการของรัฐบาลอาหรับ
            แต่ที่สุดแล้ว นายกฯ มาลิกีถูกกดดันจนต้องก้าวลงจากตำแหน่ง

            การเข้าใจนโยบายของรัฐบาลโอบามาต่ออิรัก อาจเริ่มที่เดือนกรกฎาคม 2014 ในขณะนั้นกองกำลัง ISIL/ISIS บุกยึดได้หลายเมือง นายชัค เฮเกล (Chuck Hagel) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) กับพลเอกเดมซีย์แถลงว่ากองทัพอิรักเน้นการสร้างแนวป้องกันการรุกคืบจากกองกำลังพวกซุนนีและ ISIL กองกำลังรัฐบาล “มีขีดความสามารถป้องกันกรุงแบกแดด” แต่ยากจะขับไล่ฝ่ายต่อต้านให้ออกจากพื้นที่ยึดครอง ทั้งยังเห็นว่ากองทัพสหรัฐยังไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
            จะเห็นได้ว่า ภายใต้คำว่า “ปกป้องอิรัก” รัฐบาลโอบามาเน้นป้องกันให้ไม่กองกำลัง IS รุกคืบเข้ามาในดินแดนของชีอะห์กับพวกเคิร์ด แต่ไม่คิดปราบปราม IS อย่างรวดเร็ว พยายามชี้ว่ารากปัญหาคือความขัดแย้งภายในระหว่างซุนนี-ชีอะห์ อีกทั้งยังแสดงท่าทีไม่อยากเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
            หรือพูดอีกอย่างคือ รัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญต่อเรื่องการปรองดองมากกว่าการปรากฏตัวของ ISIL/ISIS มากกว่าการสถาปนารัฐอิสลาม ทั้งยังพูดเป็นนัยว่าหากปรองดองกันได้ ปัญหา IS จะสลายไปเอง
            การปกป้องพวกชีอะห์กับเคิร์ดเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันของบรรษัทน้ำมันสหรัฐกับพันธมิตรตะวันตกตั้งอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ ในสมัยสงครามโค่นล้มซัดดัมนั้น คนของซัดดัมทำลายโรงกลั่น เผาบ่อน้ำมันทั้งหมด (ส่วนหนึ่งสหรัฐกับพันธมิตรทำลายตั้งแต่สมัยสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก) บรรษัทน้ำมันต้องลงทุนใหม่หมด ถ้าถูกทำลายอีกรอบบรรษัทจะเสียหายอย่างหนัก จึงเป็นผลประโยชน์ที่รัฐบาลสหรัฐต้องปกป้องโดยตรง ส่วนมิตรภาพกับรัฐบาลอาหรับนั้นก็ซับซ้อนลึกซึ้งยาวนานไม่อาจลบทิ้งได้
            ในช่วงที่ ISIL/ISIS บุกยึดหลายเมืองอย่างรวดเร็วนั้น ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า สหรัฐมีความกังวลเรื่องที่ ISIL จะส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันของอิรัก เนื่องจากเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
            คำพูดดังกล่าวสะท้อนผลประโยชน์หลักของสหรัฐในอิรัก ในตะวันออกกลาง นั่นคือเรื่องน้ำมัน ไม่ว่าชาวอิรักจะขัดแย้ง เข่นฆ่ากันอย่างไร แต่หากไม่กระทบต่อน้ำมัน ผู้ก่อการร้ายไม่มาวางระเบิดในแผ่นดินอเมริกา รัฐบาลสหรัฐจะมองว่าภัยคุกคามนั้นอยู่ไกลตัว
            รัฐบาลโอบามายังคงยึดแนวทางดังรัฐบาลก่อนๆ คือ ต้องรักษาผลประโยชน์ของบรรษัทน้ำมัน ชาวอเมริกันต้องมีน้ำมันใช้ในราคาที่รับได้ ส่วนความขัดแย้งในหมู่ประเทศตะวันออกกลางเป็นเรื่องรอง นโยบายต่อประเทศเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือหรือวิถีสู่เป้าหมายหลัก

            ณ ขณะนี้ ทางเลือกที่ดีที่สุดคือแนวทางที่รัฐมนตรีเฮเกลให้ไว้ สหรัฐไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะซุนนีหรือชีอะห์ ผลลัพธ์คือกองทัพสหรัฐไม่ทำอะไรจริงจัง หวังว่าสุดท้ายจะพวกซุนนี-ชีอะห์อิรักจะตกลงกันได้ ระวังไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการปราบ IS เพียงฝ่ายเดียว เพราะที่ไหนๆ ก็ล้วนมีผลประโยชน์สหรัฐอยู่ในนั้น
            ถ้าจะพูดโดยตั้งบนผลประโยชน์สหรัฐ ไม่ง่ายเลยที่รัฐบาลโอบามาจะจัดการเรื่องเหล่านี้ให้ทุกฝ่ายพอใจ

อิทธิพลของสหรัฐลดลงหรือไม่ :
            ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างซุนนี-ชีอะห์ รัฐบาลโอบามาทำอย่างหนึ่งคือ ขัดขวางไม่ให้นายกฯ มาลิกีขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 นายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) แกนนำคนหนึ่งของพรรคขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
            แต่ดูเหมือนว่านายกฯ อาบาดีจะไม่แตกต่างจากอดีตนายกฯ มาลิกีมากนัก คือ หันไปใกล้ชิดอิหร่านมากขึ้น
            สมรภูมิปราบปราม IS ในเมืองทิกริตคือหลักฐานชิ้นสำคัญ รัฐบาลอาบาดีไม่สนใจว่ารัฐบาลโอบามาจะให้ไฟเขียวหรือไม่ สั่งกองทัพร่วมกับกองกำลังชีอะห์บุกถล่ม IS ในเมืองทิกริต เมืองที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นซุนนี ไม่สนใจคำเตือนจากสหรัฐ

            ในมุมมองของอิหร่าน อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Hosseini Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน เคยกล่าวว่าสหรัฐกำลังพยายามครอบงำอิรัก “ให้อยู่ใต้ความเป็นเจ้าและถูกปกครองโดยลูกน้องของสหรัฐ” ไม่เห็นด้วยหากสหรัฐจะเข้าพัวพันไม่ว่าจะร่วมมือกับอิหร่านหรือไม่ก็ตาม
            “เราต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในอิรักจากสหรัฐและประเทศอื่นๆ” “ข้อพิพาทหลักในอิรักคือข้อพิพาทระหว่างพวกที่ต้องการให้อิรักเข้าร่วมกลุ่มสหรัฐ กับพวกที่แสวงหาอิรักที่เป็นอิสระ” เชื่อว่ารัฐบาลอิรักกับประชาชนทุกหมู่เหล่าจะสามารถยับยั้งการปลุกปั่นในขณะนี้ พวกสุดโต่งเป็นศัตรูทั้งต่อพวกชีอะห์กับซุนนี

            การที่อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอีต้องการให้สหรัฐถอยห่างไม่พัวพันอิรัก เรื่องนี้อธิบายได้ไม่ยาก ข้อแรก หากรัฐบาลสหรัฐเข้าพัวพัน รัฐบาลอิรักจะตกอยู่ในอำนาจสหรัฐต่อไป เหมือนกับรัฐบาลมาลิกี ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกัน ขัดขวางอิทธิพลจากอิหร่าน
            ข้อ 2 อิรักมีพรมแดนติดอิหร่าน รัฐบาลอิหร่านกังวลใจเสมอ มองว่าอิรักที่ใกล้ชิดสหรัฐ หรืออิรักในสถานการณ์วิกฤตและสหรัฐเข้าแทรกแซง จะเป็นภัยคุกคามต่อตน ดังกรณีสมัยสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน
            ข้อ 3 เป้าหมายที่อิหร่านต้องการคือกีดกันสหรัฐให้ถอยห่างจากอิรัก ซึ่งเท่ากับว่าอิรักจะเป็นอิสระมากขึ้น และอิหร่านน่าจะมีอิทธิพลมากขึ้น จึงเป็นสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงที่จะเข้าไปมีอิทธิพลเหนืออิรัก

            ครั้งหนึ่งอยาตุลเลาะห์ คาเมเนอีถึงกับพูดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่สงครามระหว่างชีอะห์กับซุนนี แท้จริงแล้วเป็นแผนที่ชาติมหาอำนาจวางไว้ โดยอาศัยกำลังจากพลพรรคของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน กับพวกผู้ก่อการร้ายตักฟีรีย์ (หมายถึง IS) เพื่อบั่นทอนเสถียรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของอิรัก แท้จริงแล้ว “ความขัดแย้งหลักในอิรักคือความขัดแย้งระหว่างพวกที่ต้องการให้อิรักเข้าอยู่ฝ่ายสหรัฐกับพวกที่ต้องการให้อิรักเป็นไท”
            ตักฟีรีย์ (takfiri) หมายถึง ผู้ที่กล่าวหาผู้อื่นที่มีความคิดต่างว่าเป็นผู้ปฏิเสธอิสลาม (กาเฟร) ในขณะที่มุสลิมทั่วไปเห็นว่าพวกนี้เป็นมุสลิมเทียมเท็จ

            โดยรวมแล้ว เป็นการเร็วเกินไปหากจะสรุปว่าอิทธิพลของสหรัฐต่ออิรักลดลง (แม้มีร่องรอยอยู่บ้าง) อิรักยังต้องพึ่งพาสหรัฐต่อไป อุตสาหกรรมน้ำมันอิรักสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรษัทน้ำมันตะวันตก ไม่สามารถตัดขาดจากกัน เพียงแต่ในด้านการเมืองระหว่างประเทศจะอิงอิหร่านมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในประเด็นปราบปราม IS และการช่วงชิงอำนาจภายในอิรักระหว่างชีอะห์กับซุนนี

            ในภาพที่กว้างขึ้น หากการปราบปราม IS เป็นเหตุให้อิหร่านมีอิทธิพลในอิรักเพิ่มขึ้น (ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้น) รัฐบาลสหรัฐอาจมองว่าเป็นภัยคุกคาม แม้ว่าโดยความจริงแล้วยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว เนื่องจากอิหร่านยังต้องใช้เวลาฟื้นฟูประเทศอีกนานและไม่แน่นอน เช่นเดียวกับสถานการณ์ในอิรักที่ความขัดแย้งน่าจะดำเนินต่อไป เพียงแต่ชีอะห์จะได้เปรียบเพิ่มขึ้น รัฐบาลอาบาดีใกล้ชิดกับอิหร่านมากกว่าเดิม ดังคำพูดของ นายกฯ อาบาดี เมื่อต้นเดือนเมษาบรรยายสภาพของรัฐบาลแบกแดดว่า “ข้าพเจ้าหวังว่าการสนับสนุนจะเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเริ่มโจมตีพวกดาอิช (หมายถึง IS) พวกเขากำลังคุกคามกรุงแบกแดด ความจริงที่เกิดขึ้นคือไม่มีฝ่ายใดช่วยจริงทั้งจากสหรัฐหรือประเทศใดๆ”
ประโยคที่สำคัญคือ “สถานการณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อแกรนด์ อยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานี (Grand Ayatollah Ali Al-Sistani – ผู้นำจิตวิญญาณของชีอะห์อิรัก) มีฟัตวา (fatwa) ให้พลเรือนปกป้องประเทศและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ” “อิหร่านให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ให้ทั้งอาวุธและคำปรึกษา”

รัฐบาลโอบามาหวังปกป้องผลประโยชน์ของตนในดินแดนของพวกเคิร์ดกับชีอะห์อิรัก แต่การปราบปราม IS อย่างราบคาบนั้น รัฐบาลอิรักต้องพึ่งพาตนเองและอิหร่านมากกว่า สำหรับรัฐบาลโอบามาแล้ว การสกัดกั้น IS กับการปราบปราม IS ต้องแยกกันพูด เพราะเป็นคนละเรื่อง การเข้าใจเช่นนี้จะช่วยอธิบายพฤติกรรมสหรัฐในขณะนี้ สมรภูมิทิกริตคือหลักฐานอีกชิ้น
12 เมษายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6731 วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2558)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับเป็นตัวแสดงหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ความเป็นไปของ IS หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ภายในอิรักส่งผลต่อ GCC โดยตรง เป็นเรื่องซับซ้อนวิเคราะห์ได้หลายแง่มุม ในแง่ผลบวก IS เป็นภัยคุกคามที่เด่นชัดทั้งต่อราชอาณาจักรและปัจเจกบุคคล การต่อต้าน IS จึงเท่ากับช่วยเหลือประเทศตนเอง ทั้งยังชูบทบาทของ GCC การเป็นผู้พิทักษ์อิสลาม 
2.GCC เดือดร้อน?หากอิรักชนะ IS (3)
GCC ประกาศชัดให้อัสซาดก้าวลงจากอำนาจ บางประเทศให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผย ให้ทั้งเงิน อาวุธ หาก IS ในอิรักพ่ายแพ้จะเป็นข่าวร้ายของ GCC พิสูจน์ว่าพวกชีอะห์อิรักมีความเข้มแข็งที่จะปกครองประเทศต่อไป ในภาพรวมสะท้อนความเข้มแข็งของชีอะห์ “จันทร์เสี้ยวชีอะห์” พิสูจน์ตนเองอีกครั้งว่าเข้มแข็งกว่าเดิม กระทบต่ออนาคตของ GCC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3.ใครได้ใครเสีย หากอิรักชนะ IS (Ookbee)
สมรภูมิทิกริตไม่ใช่่เรื่องการปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS ในอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายหลายประเทศ ที่ควรเอ่ยถึงได้แก่ 1.ชีอะห์อิรัก 2.อิหร่าน 3.ซุนนีอิรัก 4.พวกเคิร์ด 5.ซีเรีย 6.IS/ISIL/ISIS 7.รัฐบาลสหรัฐฯ 8.GCC ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ได้มีต่อการเมืองอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลาง เกี่ยวข้องกับชาติมหาอำนาจ
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Al-Abadi laments U.S. inaction when ISIL attacked Iraq. (2015, April 6). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/122798-al-abadi-laments-us-inaction-when-isil-attacked-iraq-
2. Iraq conflict not a war between Shias and Sunnis: Leader. (2014, June 22). Tehran Times. Retrieved from http://tehrantimes.com/component/content/article/94-headline/116482-iraq-conflict-not-a-war-between-shias-and-sunnis-leader
3. Rasheed, Ahmed., & Stewart, Phil. (2015, March 25). U.S.-led coalition, Iraqis pound Islamic State in Tikrit. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2015/03/26/us-mideast-crisis-iraq-confirmation-idUSKBN0ML27Q20150326/
4. Roulo, Claudette. (2015, March 3). Officials Outline Policy, Posture in Middle East. U.S. Department of Defense. Retrieved from http://www.defense.gov/news/newsarticle.aspx?id=128284
5. The White House. (2014, June 13). Statement by the President on Iraq. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/06/13/statement-president-iraq
6. Whitlock, Craig. (2014, July 3). Pentagon leaders: Iraq probably needs outside help to retake seized territory. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/national-security/pentagon-leaders-iraq-probably-needs-outside-help-to-retake-seized-territory/2014/07/03/c28e34a8-02d0-11e4-8572-4b1b969b6322_story.html
7. Withnall, Adam. (2014, June 21). Iraq crisis: Iran's Khamenei condemns US intervention and 'attempts to turn conflict into sectarian war'. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/iraq-crisis-irans-khamenei-condemns-us-intervention-and-attempts-to-turn-conflict-into-sectarian-war-9554805.html
---------------------------------