GCC เดือดร้อน? หากอิรักชนะ IS (3)

ถ้า IS บรรลุเป้าหมายที่หวาดหวังไว้จริง รัฐบาลต่างๆ ของ GCC จะต้องถูกล้มล้าง จึงไม่แปลกหากชาติสมาชิก GCC ที่นำโดยซาอุดีอาระเบียจะต่อต้าน IS อย่างไรก็ตาม GCC เกรงว่าการมีส่วนร่วมของอิหร่านเป็นการครอบงำอิรัก
ผลเสียประการที่ 4 อัสซาดคงอยู่ต่อไป :
ตุลาคม 2011 สันนิบาตอาหรับ (Arab League – ชาติสมาชิก GCC เป็นส่วนหนึ่งในสันนิบาตอาหรับและค่อนข้างจะมีอิทธิพล) ริเริ่มเสนอแก้วิกฤตซีเรีย ขอให้ระบอบอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ ถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ให้ซีเรียภายใต้การดูแลของสันนิบาตอาหรับ แต่รัฐบาลอัสซาดปฏิเสธ
มกราคม 2012 สันนิบาตอาหรับเรียกร้องอีกครั้งให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ และขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติสนับสนุน อย่างไรก็ตามรัสเซียกับจีนไม่เห็นด้วย
            ตั้งแต่ต้นปี 2012 รัฐบาลต่างชาติรวมทั้งบางประเทศของกลุ่ม GCC เริ่มส่งมอบอาวุธแก่ประชาชนฝ่ายต่อต้าน และสนับสนุนให้ฝ่ายต่อต้านรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกว่า National Coalition หวังว่ากลุ่มที่จัดตั้งขึ้นจะเข้าครองอำนาจการเมืองหลังสิ้นรัฐบาลอัสซาด ในการนี้ GCC ประกาศสนับสนุน National Coalition ว่า “เป็นตัวแทนที่ถูกกฎหมายของประชาชนซีเรีย”
            ต่อมาในเดือนธันวาคม 2013 GCC ออกแถลงการณ์ว่าประเทศซีเรียในอนาคตจะต้องไม่มีประธานาธิบดีอัสซาด GCC “ขอประณามระบอบอัสซาดที่ยังคงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อประชาชนซีเรียอย่างต่อเนื่อง โดยใช้อาวุธหนักและอาวุธเคมี”

บทบาทของสันนิบาตอาหรับกับ GCC เป็นเรื่องน่าสนใจ เมื่อกลไกระดับโลกไม่ทำงาน กลไกระดับภูมิภาคกลายเป็นกลไกที่โดดเด่นและมีพลัง เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่ารัฐบาลใดในภูมิภาคควรอยู่หรือควรไป โดยอ้างเหตุผลสนับสนุนประชาชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พร้อมกับให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ให้เงิน อาวุธ ฝึกการใช้อาวุธ ผลักดันให้นานาประเทศต้องสนับสนุนด้วย

            นับจากเริ่มการชุมนุมประท้วงในปี 2011 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลอัสซาดยังคงตั้งอยู่ได้ ฝ่ายต่อต้านสายกลางแม้ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกและพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ยังคงอ่อนแอ ไม่มีพลัง ขาดความเป็นเอกภาพ และแม้มีพวกสุดโต่งอย่าง IS/ISIL/ISIS ปรากฏตัวสามารถยึดพื้นที่ได้ไม่น้อย ก็ยังไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด ฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนมีความมั่นใจยิ่งขึ้น
            หาก IS ในอิรักพ่ายแพ้จะช่วยให้รัฐบาลอัสซาดมีกำลังใจ กองกำลัง IS ที่เหลือน่าจะอ่อนแอลง ไม่สามารถประสานพลังระหว่างเขตพื้นที่อิรักกับซีเรียอีกต่อไป เป็นข่าวร้ายของ GCC

ผลเสียประการที่ 5 ภาพรวมชีอะห์เข้มแข็งขึ้น :
            Ali Mamouri ชี้ว่าปัจจุบันพวกชีอะห์รวมกลุ่มเข้มแข็งในประเทศเลบานอน ซีเรีย อิรักและเยเมน ทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับอิหร่านผู้เป็นแกนนำ ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน มาจากการวางแผนจัดการของอิหร่านมานานแล้ว
            ปัญหาความแตกต่างทางนิกายรุนแรงอีกครั้งหลังปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 รัฐบาลซาอุฯ กับอิหร่านแข่งขันกันหากลุ่มที่ต่อต้านอีกฝ่าย เช่น ซาอุฯ สนับสนุนนักรบมูจาฮิดีนอาหรับ (Arab mujahedeen) อิหร่านสนับสนุนฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน Badr Brigade ในอิรัก (กลุ่มนี้คือส่วนหนึ่งของกองกำลังชีอะห์ที่กำลังต่อสู้ในสมรภูมิทิกริต)
Ali Mamouri เห็นว่าความขัดแย้งทางนิกายในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลซาอุฯ ไม่ยอมรับพวกชีอะห์ คิดว่าตนเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะเป็นที่ตั้งของจุดเริ่มต้นศาสนาอิสลาม ภาษาอารบิก (Arabic language) นักวิชาการบางคนเชื่อว่าทางการซาอุฯ อาศัยศาสนารวมมุสลิมทั่วโลกเข้าด้วยกันภายใต้นิกายซุนนี
            การก้าวขึ้นมาของชีอะห์หลังปฏิวัติอิหร่านจึงกลายเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของรัฐบาลซาอุฯ เริ่มเอ่ยถึง “จันทร์เสี้ยวชีอะห์” (Shiite Crescent/ Shia Crescent) หรือพื้นที่อิทธิพลของพวกชีอะห์ ฝ่ายซาอุฯ เห็นว่าเป็นการแผ่ขยายอำนาจของอิหร่าน เปรียบเทียบว่าเหมือนสมัยอาณาจักรเปอร์เซีย
            หาก IS เอาชนะรัฐบาลอิรักที่ชีอะห์ครองอำนาจ ย่อมเป็นการทำลายพวกชีอะห์อีกกลุ่ม (ประเทศ) ในทางกลับกัน หากรัฐบาลอิรักปราบ IS เท่ากับพิสูจน์ว่าพวกชีอะห์อิรักมีความเข้มแข็งที่จะปกครองประเทศต่อไป “จันทร์เสี้ยวชีอะห์” พิสูจน์ตนเองอีกครั้งว่าเข้มแข็งกว่าเดิม

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ประการแรก วิเคราะห์โดยให้ความสำคัญกับ “จังหวะเวลา”
ดังที่ได้นำเสนอตั้งแต่ต้นว่าการปรากฏตัว การปราบปราม IS มีทั้งผลดี-ผลเสียต่อ GCC คำถามที่มักจะเกิดขึ้นคือ เป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่า
ถ้าลองวิเคราะห์อีกแบบโดยให้ความสำคัญกับ “จังหวะเวลา”
หากเชื่อว่าภารกิจหลักของ IS/ISIL/ISIS คือล้มรัฐบาลมาลิกีกับอัสซาด เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นมิตรต่อซุนนี ถ้า IS จะสามารถโค่นล้มรัฐบาลอิรักเท่ากับสามารถกำราบพวกชีอะห์ พวกชีอะห์อิรักจะต้องอพยพออกจากประเทศ หรืออย่างน้อยการปรากฏตัวของ IS เอื้อให้ซุนนีอิรัก (บางกลุ่มบางเผ่า) มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลกลาง (ความสำเร็จที่เห็นแล้วคือ นายกฯ มาลิกีถูกกดดันจนต้องไม่รับตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 3)
            เมื่อบรรลุภารกิจ IS ก็สลายตัวหรือลดบทบาทตัวเอง เหมือนอัลกออิดะห์หลังรัฐบาลบุชกับพันธมิตรบุกอัฟกานิสถานจัดการตาลีบัน (Taliban) ตามด้วยโค่นล้มระบอบซัดดัม ดังนั้น หาก IS บรรลุเป้าหมาย 2 ข้อดังกล่าวก็ถือว่าประสบความสำเร็จก่อนที่ IS จะสลายไป (ถูกปราบปราม)
            ในกรณีของ IS ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า IS จะบรรลุภารกิจในอิรักกับซีเรียหรือไม่ การบรรลุเป้าหมายต้องเน้นผลลัพธ์สุดท้ายที่สามารถลดอำนาจชีอะห์ เพิ่มอิทธิพลซุนนี เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

            ประการที่ 2 บักดาดีคือบินลาเดน 2
การปรากฏตัวของ อุซามะห์ บินลาดิน หรือ โอซามา บินลาเดน (Osama Bin Laden) กลุ่มอัลกออิดะห์ช่วยกำจัดระบอบซัดดัม ฮุสเซน (ที่มีกองทัพมหึมาหลังทำสงครามกับอิหร่าน ในแง่มุมหนึ่งเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย เคยรุกรานคูเวตมาแล้ว) และช่วยกำจัดรัฐบาลตาลีบันที่มีคำสอนสุดโต่งตามแนวทางของตนเอง รวมทั้งบั่นทอนอัลกออิดะห์ไปในตัว ผ่านการทำสงครามอัฟกานิสถาน การล่าสังหารบินลาเดน

            แต่ผลเสียเกิดขึ้นกับรัฐบาลบุช ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามทั้งอิรักกับอัฟกานิสถาน ประธานาธิบดีโอบามาจึงต้องมาพร้อมนโยบายถอนกองทัพออกจากทั้ง 2 ประเทศ
            ในขณะเดียวกันการโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน การเลือกตั้ง และการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ชนชั้นปกครองสายชีอะห์เป็นผู้ครองอำนาจในสภา ได้นายกฯ มาลิกีที่รวบอำนาจ ฝ่ายซุนนีอิรักเห็นว่าพวกตนเสียเปรียบ เกิดการปะทะระหว่างซุนนี-ชีอะห์อย่างต่อเนื่อง ผู้คนล้มตายปีละหลายพันคน
เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2010 บักดาดีก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำ AQI (สาขาอัลกออิดะห์ในอิรัก) หรือชื่อใหม่คือ ISI จากเดิมที่เป็นเพียงสมาชิกธรรมดา 

การถูกคุมขังในค่ายกักกันของอเมริกัน (ในอิรัก) ดูเหมือนไม่บั่นทอนบักดาดี แต่กลับทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 2010-13 บักดาดีผู้นำคนใหม่ที่เพิ่งออกจากคุกทำการปฏิรูปองค์กร เสริมสร้างกำลังพล วางระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ ประกาศเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลมาลิกีพร้อมกับสถาปนารัฐอิสลาม
ต่อมา ISI เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ISIS/ISIL เพราะคราวนี้เพิ่มเป้าหมายอีกประเทศ นั่นคือซีเรียหรือรัฐบาลอัสซาด
มิถุนายน 2014 หลังยึดพื้นที่จำนวนมากทั้งในซีเรียกับอิรักก็ประกาศสถาปนารัฐอิสลาม (Islamic State)
ดังที่วิเคราะห์แล้วว่า ในแง่มุมหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ สิ่งที่ IS ทำนั้นส่งผลดีต่อ GCC อย่างชัดเจน ไม่ต่างจากอัลกออิดะห์ในสมัยบินลาเดน ทั้งอัลกออิดะห์กับ IS ต่างช่วยกำจัด/บั่นทอนภัยคุกคามของ GCC

            บินลาเดนมาแล้วและจากไป ทิ้งไว้คือระเบียบตะวันออกกลางที่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลบุชกระชับอำนาจในตะวันออกกลาง รวมทั้งระเบียบโลก เพราะรัฐบาลบุชถือว่าประเทศที่สนับสนุน ให้ที่พักพิงผู้ก่อการร้าย ประเทศนั้นเป็นศัตรู
แต่อิรักภายใต้ประชาธิปไตยที่รัฐบาลอเมริกันมอบให้นั้น ชนชั้นปกครองชีอะห์อิรักคือผู้ถือครองอำนาจ การปรากฏตัวของบักดาดี (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่) มีส่วนช่วยจัดระเบียบภูมิภาคอีกรอบ ที่อิรักนั้นราวกับมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่บินลาเดนทิ้งค้างไว้ ส่วนที่ซีเรียราวกับเป็นแรงสนับสนุนฝ่ายต่อต้านที่อ่อนแรง ไร้ประสิทธิภาพ ต้องการตัวช่วย
ภายใต้แง่มุมที่นำเสนอ คงไม่ผิดนักถ้าจะสรุปสั้นๆ ว่า “บักดาดีคือบินลาเดน 2”

            ประการที่ 3 “GCCVS “อิหร่าน”
            ในวันข้างหน้า GCC อาจเผชิญหน้าอิหร่านโดยตรงมากขึ้น อิง “เครื่องมือนอกภูมิภาค” น้อยลง ปัจจัยสำคัญคือความเข้มแข็งของ GCC กับสันนิบาตอาหรับ
            3-4 ปีที่ผ่านทั้ง 2 องค์กรแสดงบทบาทเด่นในภูมิภาคอย่างเหลือเชื่อ มากกว่าคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ยกตัวอย่างกรณีซีเรีย ประกาศให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ สนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผย
            ความเป็นเอกภาพ ความเข้มแข็งของ GCC กับสันนิบาตอาหรับจะเป็นดัชนีชี้วัดว่ากำลังจะไปสู่ทิศทางดังกล่าวมากน้อยเพียงไร อันที่จริงการจัดการอิหร่านคือส่วนหนึ่งของการสร้างเอกภาพและความเข้มแข็ง
            ในอนาคต GCC กับหลายประเทศในสันนิบาตอาหรับคงเลือกที่จะเดินบนอนาคตที่ตนเลือก ลดการพึ่งพาสหรัฐ ระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างร้อนแรง
เมษายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6724 วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ.2558)
(ปรับปรุง 19 เมษายน 2015)

----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับเป็นตัวแสดงหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ความเป็นไปของ IS หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ภายในอิรักส่งผลต่อ GCC โดยตรง เป็นเรื่องซับซ้อนวิเคราะห์ได้หลายแง่มุม ในแง่ผลบวก IS เป็นภัยคุกคามที่เด่นชัดทั้งต่อราชอาณาจักรและปัจเจกบุคคล การต่อต้าน IS จึงเท่ากับช่วยเหลือประเทศตนเอง ทั้งยังชูบทบาทของ GCC การเป็นผู้พิทักษ์อิสลาม 
เนื่องจากรัฐบาลอิรักเห็นว่า GCC มีส่วนสนับสนุน IS ส่วน GCC มองว่ารัฐบาลอิรักในปัจจุบันคือพวกชีอะห์ ดังนั้นหาก IS พ่ายแพ้เท่ากับทำให้อิรักเข้มแข็งขึ้น ยิ่งใกล้ชิดกับอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่แข็งแกร่งกว่าเดิม 
3.ใครได้ใครเสีย หากอิรักชนะ IS (Ookbee)
สมรภูมิทิกริตไม่ใช่่เรื่องการปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS ในอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายหลายประเทศ ที่ควรเอ่ยถึงได้แก่ 1.ชีอะห์อิรัก 2.อิหร่าน 3.ซุนนีอิรัก 4.พวกเคิร์ด 5.ซีเรีย 6.IS/ISIL/ISIS 7.รัฐบาลสหรัฐฯ 8.GCC ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ได้มีต่อการเมืองอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลาง เกี่ยวข้องกับชาติมหาอำนาจ
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Arab League leaders agree joint military force. (2015, March 29). Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/03/29/Arab-League-Summit-.html
2. Boucek, Christopher., &  Sadjadpour, Karim. (2011, September 20). Rivals - Iran vs. Saudi Arabia. Carnegie Endowment. Retrieved from. http://carnegieendowment.org/2011/09/20/rivals-iran-vs.-saudi-arabia/68jg
3. GCC to form unified military command. (2013, December 11).  Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2013/12/11/Gulf-states-focus-on-Iran-Syria-at-summit.html
4. Goldschmidt, Arthur Jr. & Davidson, Lawrence. (2010). A Concise History of the Middle East (9th Ed.). USA: Westview Press.
5. Knopf, Alfred A. (2012). On Saudi Arabia: Its People, Past, Religion, Fault Lines – and Future. New York: Karen Elliott House.
6. Mamouri, Ali. (2015, March 25). Is the Shiite revival here? Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/03/iran-shiite-sunni-middle-east.html
7. Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
8. Premier calls for peaceful transition of power in Syria. (2012, July 23). Gulf Times. Retrieved from http://www.gulf-times.com/site/topics/article.asp?cu_no=2&item_no=520678&version=1&template_id=57&parent_id=56
---------------------------------