GCC เดือดร้อน? หากอิรักชนะ IS (2)

คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เป็นตัวแสดงหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ความเป็นไปของ IS หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ภายในอิรักส่งผลต่อ GCC โดยตรง ในแง่ผลบวก IS เป็นภัยคุกคามที่เด่นชัดทั้งต่อราชอาณาจักรและประชาชน การต่อต้าน IS จึงเท่ากับช่วยเหลือประเทศตนเอง ทั้งยังชูบทบาทของ GCC ในภูมิภาค การเป็นผู้พิทักษ์อิสลาม
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลอิรักสามารถปราบ IS จะส่งผลเสียต่อ GCC เช่นกัน ดังนี้
ผลเสียประการแรก ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอิรักกับอิหร่าน :
            อิหร่านเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่ออิรักโดยธรรมชาติ ผูกโยงกับความเป็นชีอะห์ เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองสายชีอะห์ในอิรัก และผลประโยชน์เฉพาะของแต่ละรัฐบาล เป็นเหตุผลให้ประเทศอาหรับกังวลใจ ประเด็นนี้เป็นเรื่องเก่า แต่มักจะถูกเอ่ยถึงเป็นระยะ เช่น พฤษภาคม 2004 ในช่วงที่กำลังเจรจาคืนอธิปไตยแก่อิรัก กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่สองแห่งจอร์แดน (King Abdullah II) แสดงจุดยืนว่าจอร์แดนจะไม่ส่งทหารเข้าไปและขอให้ประเทศเพื่อนบ้านอิรักอื่นๆ ทำตามด้วย พวกเราต่างมีความประสงค์บางอย่าง เป็นการยั่วยวนและล่อลวงเกินไปที่จะใช้กองทหารของท่านเป็นหน้าฉากเพื่อหวังจะมีอิทธิพลต่อสังคมภายในประเทศอิรัก” “ข้าพเจ้าตัดสินใจบนพื้นฐานมุมมองของศีลธรรม และไม่คิดว่าเป็นการถูกต้องหากประเทศจอร์แดนจะส่งทหารเข้าไปในอิรัก เช่นเดียวกับประเทศ (เพื่อนบ้านอิรัก) อื่นๆ  … (เพราะ) พวกเราต่างมีผลประโยชน์พิเศษและพูดอย่างเจาะจงมากขึ้นว่า ประเทศอาหรับอื่นๆ สามารถส่งทหารเข้าไปได้ แต่ไม่ใช่ประเทศที่อยู่รอบอิรัก
กษัตริย์อับดุลเลาะห์ตรัสเช่นนี้ ย่อมหมายถึงประเทศอิหร่านที่มีพรมแดนติดอิรัก และอีกหลายประเทศ หากประเทศเพื่อนบ้านต่างส่งทหารเข้าไปในอิรัก อาจเกิดการปะทะระหว่างชีอะห์กับซุนนี ทางที่ดีที่สุด คือ ขอให้ต่างไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในอิรัก แต่ก็เปิดทางให้ประเทศอาหรับอื่นๆ ที่ไม่มีพรมแดนติดต่อกับอิรักสามารถส่งทหารเข้าไปได้ ซึ่งอิหร่านย่อมเห็นว่าตนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

            Charles W. Dunne ให้เหตุผลอีกประเด็นว่า ชาติอาหรับแม้ไม่พอใจประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) แต่ก็ไม่พอใจที่รัฐบาลบุชโค่นล้มระบอบซัดดัมด้วย เนื่องจากเห็นว่าอิรักมีประโยชน์ในการต้านอิหร่าน การโค่นซัดดัมทำให้ชีอะห์ในอิรักได้รับการปลดปล่อย สามารถเข้าครองอำนาจในรัฐบาล เป็นผู้ปกครองประเทศแทนซัดดัม
ตั้งแต่นายกฯ มาลิกีจนถึงนายกฯ อาบาดีคนปัจจุบันต่างแสดงท่าทีร่วมมือกับอิหร่าน ประธานาธิบดีโรฮานีแห่งอิหร่านแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลอิรักอย่างเต็มที่ ประณาม “ผู้ก่อการร้ายที่ทำร้ายประชาชนอิรักผู้บริสุทธิ์” และ “จะไม่ยอมให้ผู้สนับสนุนพวกผู้ก่อการร้ายทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของอิรัก” ด้วยการใช้ก่อการร้ายทำลายอิรัก
ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างอิรักกับอิหร่าน ถึงกับมีกระแสข่าวว่าอิหร่านส่งทหารจำนวนมากเข้าช่วยรบในสมรภูมิทิกริต แต่นายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่อิหร่านให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลและกองทัพอิรัก แต่ไม่มีทหารหรือกองกำลังเข้าร่วมสมรภูมิภาคพื้นดิน
ความร่วมมือระหว่างอิรักกับอิหร่านกลายเป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเป็นเหตุผลที่รัฐบาลโอบามาลังเลใจให้การสนับสนุนด้านกำลังรบทางอากาศ จนรัฐบาลอิรักต้องเรียกร้อง

ผลเสียประการที่ 2 อิรักหวาดระแวง GCC :
            นาย Adnan al-Asadi ปลัดกระทรวงหมาดไทยอิรักในสมัยรัฐบาลมาลิกีเคยเตือนรัฐบาลซาอุฯ ให้ยุติการแทรกแซงกิจการภายในอิรัก ชี้ว่า “ปัญหาของจังหวัดอันบารทางภาคตะวันตกเป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่างชนเผ่า
            จังหวัดอันบารคือจุดแรกที่ ISIL/ISIS เริ่มก่อการยึดพื้นที่อิรักตั้งแต่ปลายปี 2013 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2014 ก่อนจะรุกใหญ่ในเดือนมิถุนายน
            ทางการซาอุฯ ประกาศว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เห็นว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลมาลิกีที่จะปกปิดความล้มเหลวของตนเองมากกว่า

            เมื่อมาถึงยุครัฐบาลอาบาดี นายกฯ อาบาดีแสดงท่าทีซ้ำเดิม กล่าวว่ามีกลุ่มคนที่สนับสนุน IS จริง และคนเหล่านี้อยู่ในซาอุฯ และบางประเทศในอ่าวเปอร์เซีย นายกฯ อาบาดีกล่าวต่อว่า รัฐบาลของประเทศในอ่าวเปอร์เซียกับตุรกีตั้งใจสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล “พวกเขาจินตนาการว่าจะสามารถใช้คนเหล่านี้กดดันศัตรูและคู่แข่งในภูมิภาค”
            ดังนั้น ไม่ว่าประเทศในกลุ่ม GCC จะสนับสนุนผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS จริงหรือไม่ รัฐบาลอิรักแสดงท่าทีไม่พอใจ หวาดระแวง GCC
ตราบใดที่ IS ยังคงอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายจะอยู่ในภาวะอึมครึม

ผลเสียประการที่ 3 เสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงแก่อิหร่าน :
ผลเสียประการที่ 3 เป็นผลสืบเนื่องจาก 2 ข้อแรก การปราบปราม IS/ISIL/ISIS ในขณะนี้เสริมสร้างให้อิหร่านเข้มแข็ง
ความกังวลของ GCC ต่ออิหร่าน
กลุ่มประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เซียร่วมกันจัดตั้ง GCC เพื่อต้านภัยคุกคามที่เข้ามาในภูมิภาค โดยเฉพาะการปฏิวัติอิหร่าน (1979) หวังว่าความร่วมมือ GCC จะช่วยผนึกกำลังเพื่อต้านอิหร่าน
ความขัดแย้งของ 2 ฝ่ายเกี่ยวข้องกับความแตกต่างด้านนิกายศาสนา พวกซุนนีบางกลุ่มคอยกระตุ้นเตือน ชี้นำว่าชาวซาอุฯ เป็นผู้นำมุสลิมทั้งโลก ส่วนชีอะห์เป็นพวกนอกรีต การปฏิวัติอิสลามอิหร่านกลายเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน
            การประท้วงรัฐบาลของพวกชีอะห์ในบาร์เรนที่เข้มข้นขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ยิ่งทำให้ซาอุฯ กังวล
ด้านอิหร่านไม่พอใจซาอุฯ กับพวกเช่นกัน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลซาอุฯ สนับสนุนซัดดัม ฮุสเซนทำสงครามอิรัก-อิหร่านในทศวรรษ 1980 งบประมาณที่กองทัพซัดดัมใช้ทำสงครามส่วนหนึ่งมาจากซาอุฯ กับคูเวต

ปัจจุบัน GCC ให้เหตุผลว่าอิหร่านพยายามแทรกแซงกิจการภายในกลุ่ม เป็นตัวก่อปัญหาในภูมิภาค ไม่ว่าจะในเยเมน ซีเรีย อิรัก ปาเลสไตน์ หรือบาห์เรน Shaikh Khalid bin Ahmed Al Khalifa รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศบาเรนห์ กล่าวว่าอิหร่านพยายามแทรกแซงกิจการภายในประเทศของกลุ่ม GCC “เราได้บอกต่ออิหร่านแล้วว่าการเข้าแทรกแซงไม่ใช่ทางออกและจะไม่ไปไหน แต่พวกเขาไม่ฟัง ยังพยายามแทรกแซงก้าวก่ายเรื่องภายในของกลุ่ม GCC
เฉพาะสมรภูมิทิกริต เจ้าชาย Turki al-Faisal แห่งซาอุฯ อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง กล่าวว่า “ตอนนี้ดูเหมือนว่าอิหร่านกำลังครอบงำอิรักมากกว่าเดิม เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” ส่วนเจ้าชาย Saud al-Faisal รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ กล่าวว่า “สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทิกริตคือสิ่งที่พวกเรากังวล อิหร่านกำลังครอบงำประเทศนี้”
            คำพูดของเจ้าชายตอกย้ำมุมมองของซาอุฯ ต่ออิหร่าน เพราะขณะนี้หลายประเทศช่วยเหลืออิรักปราบปรามผู้ก่อการร้าย รวมทั้งซาอุฯ ด้วย เฉพาะสหรัฐมีเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 นายประจำการในอิรัก ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอิรัก ไม่รวมกำลังทางอากาศ  ความช่วยเหลือที่อิหร่านให้กับอิรักเป็นความช่วยเหลือที่รัฐบาลอิรักเรียกร้องอย่างเป็นทางการไม่แตกต่างจากกรณีซาอุฯ หรือสหรัฐ
            แต่เจ้าชายไม่เอ่ยว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐกับซาอุฯ คือการครอบงำอิรัก

            นิวเคลียร์อิหร่าน
            ไม่เพียงเรื่องการแทรกแซงอิรัก GCC กังวลนโยบายของอิหร่านโดยเฉพาะเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์
            ท่าทีล่าสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคม GCC เรียกร้องให้อิหร่านปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของนานาชาติเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค ซึ่งหมายถึงการควบคุมโครงการนิวเคลียร์ให้ใช้ในทางสันติอย่างแท้จริง พิสูจน์ได้
เจ้าชาย Turki al-Faisal ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ P5+1 ที่มุ่งควบคุมโครงการนิวเคลียร์แทนที่จะกำจัดทั้งหมด ชี้ว่าจะเป็นเหตุให้ประเทศในภูมิภาคแข่งขันเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ “ถ้าอิหร่านมีความสามารถในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในทุกระดับตามต้องการ จะไม่ใช่เพียงซาอุดีอาระเบียที่จะขอให้ตนมีขีดความสามารถเหล่านั้นด้วย” และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็จะเดินทางตามนั้นไม่มีใครยับยั้งได้
            ดูเหมือนรัฐบาลซาอุฯ จริงจังกับเรื่องนี้ ได้ลงนามความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับจีน ฝรั่งเศส และอาร์เจนตินา มีแผนสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 16 แห่งในอีก 20 ปีข้างหน้า ในอนาคตซาอุฯ จึงเป็นอีกประเทศที่มีขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์อย่างสูง

            ขณะนี้การเจรจานิวเคลียร์อิหร่านยังไม่บรรลุข้อตกลงฉบับถาวร ไม่ว่าจะได้ข้อตกลงฉบับถาวรหรือไม่ อิหร่านไม่น่าจะถูกคว่ำบาตรรุนแรงอีกต่อไป ดังนั้น ประเทศจะค่อยๆ ฟื้นตัวในทุกมิติ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ไม่มีเหตุที่อิหร่านจะถูกรุกรานเพราะโครงการนิวเคลียร์อีกต่อไป ทั้งในเชิงนโยบายและการจัดวางกำลังของสหรัฐฯ (ถ้าดูแผนที่จะเห็นชัดว่า โอกาสที่จะถูกรุกรานด้วยกองทัพสหรัฐลดลง เพราะรัฐบาลโอบามาได้ถอนทัพออกจากอิรักกับอัฟกานิสถานแล้ว ที่อัฟกานิสถานยังพอมีอยู่ แต่ลดน้อยลงมาก)

            ในภาพรวม อิหร่านกำลังฟื้นตัว รัฐบาลอาบาดีเริ่มตั้งตัวได้ ไม่เป็นฝ่ายตั้งรับอีกต่อไป มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่รัฐบาลอิหร่านกับอิรักจะคงความสัมพันธ์ที่ดีหรือดีขึ้นกว่าเดิม ปัจจัยเหล่านี้เสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงแก่อิหร่าน
            ในตอนหน้าจะนำเสนอเหตุผลในภาพที่ใหญ่ขึ้น การวิเคราะห์องค์รวม
29 มีนาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6717 วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2558)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับเป็นตัวแสดงหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ความเป็นไปของ IS หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ภายในอิรักส่งผลต่อ GCC โดยตรง เป็นเรื่องซับซ้อนวิเคราะห์ได้หลายแง่มุม ในแง่ผลบวก IS เป็นภัยคุกคามที่เด่นชัดทั้งต่อราชอาณาจักรและปัจเจกบุคคล การต่อต้าน IS จึงเท่ากับช่วยเหลือประเทศตนเอง ทั้งยังชูบทบาทของ GCC การเป็นผู้พิทักษ์อิสลาม 
2.GCC เดือดร้อน?หากอิรักชนะ IS (3)
GCC ประกาศชัดให้อัสซาดก้าวลงจากอำนาจ บางประเทศให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผย ให้ทั้งเงิน อาวุธ หาก IS ในอิรักพ่ายแพ้จะเป็นข่าวร้ายของ GCC พิสูจน์ว่าพวกชีอะห์อิรักมีความเข้มแข็งที่จะปกครองประเทศต่อไป ในภาพรวมสะท้อนความเข้มแข็งของชีอะห์ “จันทร์เสี้ยวชีอะห์” พิสูจน์ตนเองอีกครั้งว่าเข้มแข็งกว่าเดิม กระทบต่ออนาคตของ GCC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3.ใครได้ใครเสีย หากอิรักชนะ IS (Ookbee)
สมรภูมิทิกริตไม่ใช่่เรื่องการปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS ในอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายหลายประเทศ ที่ควรเอ่ยถึงได้แก่ 1.ชีอะห์อิรัก 2.อิหร่าน 3.ซุนนีอิรัก 4.พวกเคิร์ด 5.ซีเรีย 6.IS/ISIL/ISIS 7.รัฐบาลสหรัฐฯ 8.GCC ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ได้มีต่อการเมืองอิรักเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลาง เกี่ยวข้องกับชาติมหาอำนาจ

บรรณานุกรม:
1. Abu-Nars, Donna. (2004, May 17). Jordan Won't Send Peacekeepers to Iraq. Associated Press. Retrieved from http://www.highbeam.com/doc/1P1-94630152.html
2. Al-Maliki antics ‘attempt to cover up own failures’. (2014, March 18). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/542141
3. Arab Gulf states reject Iran’s role in Iraq. (2015, March 13). Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/03/12/Arab-Gulf-states-reject-Iran-s-role-in-Iraq.html
4. Arrested terrorists in Iraq reveal its ties with Saudi Arabia. (2014, January 19). Iran News. Retrieved from http://www.iranews.com.br/noticia/11601/terroristas-presos-no-iraque-revelam-seus-lacos-com-a-arabia-saudita
5. Boucek, Christopher., &  Sadjadpour, Karim. (2011, September 20). Rivals - Iran vs. Saudi Arabia. Carnegie Endowment. Retrieved from. http://carnegieendowment.org/2011/09/20/rivals-iran-vs.-saudi-arabia/68jg
6. Burns, Robert. (2015, March 5). Iranian role in fighting IS in Iraq: Where will it lead? Salon/AP. Retrieved from http://www.salon.com/2015/03/06/iranian_role_in_fighting_is_in_iraq_where_will_it_lead_2/
7. Dunne, Charles W. (2011). Iraq: Policies, Politics, and the Art of the Possible. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.11-30). New York: Palgrave Macmillan.
8. Full transcript: Amanpour interviews Iranian Foreign Minister Zarif. (2015, March 5). CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2015/03/05/world/amanpour-iran-zarif-transcript/
9. Ghanim, David. (2011). Iraq’s dysfunctional democracy. California: ABC-CLIO, LLC.
10. Iraqi PM Blasts Saudi Arabia, Other Persian Gulf Arab States for Backing ISIL. (2014, October 13). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930721000490
11. Mohammed Al A'Ali. (2012, December 26). GCC warns Iran 'stop interference'. Gulf Daily News. Retrieved from http://www.gulf-daily-news.com/NewsDetails.aspx?storyid=344444
12. Naguib, Sameh. (2009). Egypt: The Moment of Change. El-Mahdi, Rabab., & Marfleet, Philip (editors). New York: Zed Books.
13. Rouhani, Maliki Underline Fight against Terrorism. (2014, June 13). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930323000432
14. Usher, Barbara Plett. (2015, March 16). Iran deal could start nuclear fuel race - Saudi Arabia. BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-middle-east-31901961
------------------------------