ข้อคิดจากการชุมนุมประท้วงของชาวเวียดนามต่อกรณีแท่นขุดเจาะจีน

นับจากรัฐบาลจีนติดตั้งแท่นขุดเจาะ Haiyang Shiyou-981 (HYSY981) บริเวณใกล้หมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเวียดนามกับจีนอยู่ในภาวะตึงเครียด
            ในมุมมองของเวียดนาม บริเวณที่ตั้งแท่นขุดเจาะอยู่เขตอธิปไตยของตน เพราะอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลและอยู่ในเขตไหล่ทวีป (continental shelf) ที่ตำแหน่ง 119 ไมล์ทะเล ตามนิยามของกฎหมายทะเลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ฉบับปี 1982 รัฐบาลเวียดนามเตือนจีนอย่างต่อเนื่องว่ากำลังลุกล้ำอธิปไตย ละเมิดปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) ในขณะที่จีนอ้างว่าตำแหน่งแท่นขุดเจาะอยู่ในเขตอธิปไตยใกล้หมู่เกาะพาราเซล หรือในชื่อจีนคือหมู่เกาะซีซา (Xisha Islands) ที่จีนอ้างว่าเป็นของตน
            ความขัดแย้งอันเนื่องจากทะเลจีนใต้ หมู่เกาะพาราเซล ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนหลังได้เป็นร้อยปีที่เวียดนามยังอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์เหงียน (Nguyen) ส่วนจีนคือราชวงศ์ชิง ทั้งรัฐบาลเวียดนามกับจีนพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวเรื่อยมาทั้งระดับทวิภาคีกับพหุภาคี เมื่อปีที่แล้วมีข้อตกลงว่าจะควบคุมไม่ให้ข้อพิพาททางทะเลลุกลามบานปลาย วางระบบโทรศัพท์สายด่วนหากเกิดปัญหาข้อพิพาท สองฝ่ายประกาศว่าจะปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้อย่างเคร่งครัด
            เมื่อความขัดแย้งรอบใหม่ปะทุขึ้น  นายเหงียน เติ๊น สุง (Nguyen Tan Dung) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่าการติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวเป็นภัยคุกคามสันติภาพ เสถียรภาพและเสรีภาพการเดินเรือ พร้อมกับเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต่อต้านการกระทำดังกล่าว
            ไม่กี่วันต่อมา กระแสการชุมนุมประท้วงในประเทศเวียดนามเริ่มก่อตัวขึ้น และจากการชุมนุมโดยสงบกลายเป็นเหตุวุ่นวาย เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับชาวต่างชาติในเวียดนาม ทั้งชาวจีน ชาวไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตหลายรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ มีผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนับร้อยคน สื่อ Tuoi Tre News ของเวียดนามรายงานว่า มีพวกฉวยโอกาส เข้าปล้นทรัพย์สินของคนเชื้อสายจีน สถานประกอบการหลายร้อยแห่งในเมือง Binh Duong ถูกบุกรุกทำลาย โรงงานหลายแห่งถูกเผา คนเวียดนาม 300 คนถูกจับกุมด้วยข้อหาลักขโมย ทำลายทรัพย์สิน ก่อเหตุวุ่นวาย ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่
            การชุมนุมเพื่อต่อต้านจีนที่เริ่มต้นขึ้นได้เพียงไม่กี่วัน ลงเอยด้วยเหตุวุ่นวาย จนทางการเวียดนามต้องสั่งระงับและเข้าควบคุมมวลชนทันที

การ “เหมารวม” กับความชิงชังที่ฝังลึก :
            เหตุวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วง นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ประเด็นที่พูดถึงมากสุดคือ การตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงพลเรือนต่างชาติจึงถูกทำร้าย”
            นาย Wang Aihua นักวิเคราะห์ชาวจีนแสดงความเห็นว่า ไม่ว่าการประท้วงจะมาจากความรักชาติหรือเหตุผลทางการเมือง เวียดนามควรตระหนักว่าจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม หากรัฐบาลเวียดนามเชื่อว่ากำลังมีประเด็นพิพาทกับจีน ก็ควรแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิถีทางการทูตระหว่างรัฐบาล ไม่ใช่มุ่งเป้าที่พลเรือน จีนกับเวียดนามมีสัมพันธ์นับพันปี การเป็นศัตรูต่อกันไม่เคยส่งผลดี เวียดนามน่าจะจดจำประวัติศาสตร์เหล่านั้นได้
            การวิพากษ์แนวทางนี้ชี้ว่า คนงานหรือผู้ประกอบการต่างชาติเป็นเอกชน ไม่ใช่รัฐบาล หากชาวเวียดนามไม่พอใจการติดตั้งแท่นขุดเจาะ ควรประท้วงหรือกระทำการต่อรัฐบาลจีน ไม่ใช่พลเรือน การกระทำแบบ “เหมารวม” ถือว่าคนจีนคือรัฐบาลจีน ย่อมเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ขาดการแยกแยะ
            ในทางกลับกัน การจะตีความว่าเพราะชาวเวียดนามไม่พอใจจึงทำร้ายชาวจีนเป็นข้อสรุปแบบ “เหมารวม” เช่นกัน ควร “แยกแยะ” ระหว่าง ชาวเวียดนามที่ประท้วงโดยสงบกับพวกฉวยโอกาส ซึ่งกลุ่มหลังอาจมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับชาวเวียดนามทั้งประเทศ นอกจากนี้ เหตุร้ายที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความเข้าใจผิด คิดว่าชาวไต้หวันกับชาวจีนคือคนประเทศเดียวกัน หรือแยกแยะไม่ออกว่าใครเป็นคนไต้หวันหรือคนจีน เพราะหน้าตาคล้ายกัน พูดภาษาจีนเหมือนกัน และอาจเป็นเรื่องของเหตุผลส่วนตัว เช่น ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงเป็นเหตุทำให้คนไต้หวัน เกาหลีและญี่ปุ่นถูกทำร้ายด้วย ดังนั้น หากจะตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าชาวเวียดนามนิยมความรุนแรง ทำร้ายชาวต่างชาติจึงเป็นการตีความที่ผิดจากความจริง
            ในแง่ของรัฐบาล ทางการเวียดนามคงไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์จะกลายเป็นเช่นนี้ การชุมนุมแทนที่จะเกิดผลดี แสดงพลังความรักชาติของชาวเวียดนาม กลายเป็นเกิดผลร้ายมากกว่า จึงต้องเข้าควบคุมการชุมนุมประท้วง

            ข้างวิเคราะห์ข้างต้น อธิบายว่าความรุนแรงเกิดจากคนหลายกลุ่ม หลายเหตุผล แต่หากกลับมาที่เหตุผลหลัก การชุมนุมประท้วงไม่เพียงเพราะความขัดแย้งอันเนื่องจากการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ แต่สะท้อนความบาดหมางที่ร้าวลึกระหว่างคนเวียดนามกับจีน
            นายเหงียนคักเวียน (Nguyen Khac Vien) นักปราชญ์ นักลัทธิมาร์กซ์ และนักประวัติศาสตร์ อธิบายว่าเวียดนามตั้งแต่ยุคอาณาจักรโบราณถูกจีนรุกรานมาโดยตลอด เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นไท มีการกบฏนับร้อยครั้งและถูกทางการจีนปราบได้เสียเป็นส่วนใหญ่ ชาวเวียดนามต้องพลีชีพนับหมื่นนับแสน แต่ไม่เป็นเหตุให้ชาวเวียดนามท้อถอย พยายามต่อสู้มาโดยตลอด จนได้รับการปลดปล่อยอย่างแท้จริงในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามปฏิวัติสำเร็จ
            เวียดนามในปัจจุบันยังเป็นประเทศสังคมนิยม ชาวเวียดนามได้รับข้อมูลจำกัด มุมมองที่ชาวเวียดนามมีต่อจีนจึงอยู่ในกรอบที่จำกัดเช่นกัน หากจะปรับความสัมพันธ์ในระดับรากหญ้า จำต้องปรับทัศนคติเหล่านี้เสียก่อน

ผลเสียต่อเวียดนามและจีน :
            ไม่ว่ารัฐบาลเวียดนามจะยอมรับหรือไม่ ว่าตั้งใจใช้การชุมนุมประท้วงเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็น แทนที่การชุมนุมประท้วงจะเป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่งของเวียดนาม เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เป็นอุทาหรณ์ให้รัฐบาลต้องไตร่ตรองอีกครั้ง หากในวันข้างหน้าจะสนับสนุนให้ประชาชนลุกขึ้นชุมนุมประท้วงอีก ดังที่นายกฯ เหงียน สั่งการให้ดำเนินมาตรการป้องกันและลงโทษผู้ก่อเหตุร้ายจากการชุมนุมประท้วง และขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของทุกคนทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามท่านชื่นชมที่ชาวเวียดนาม “ทั่วประเทศได้แสดงความรักชาติ” ต่อต้านแท่นขุดเจาะน้ำมันจีนที่มาตั้งอยู่ในน่านน้ำของประเทศ

            ผลเสียอีกด้านที่เห็นชัดคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สื่อจีนรายงานว่าเหตุความวุ่นวายทำให้โรงงานของผู้ประกอบการต่างชาติ 400 แห่งได้รับความเสียหาย เจ้าของโรงงานเหล่านี้มีทั้งชาวจีน ชาวไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ และอาจเป็นเรื่องน่าเจ็บใจสำหรับชาวเวียดนามบางคน หากรู้ว่าจีนไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ ปัจจุบันจีนเป็นนักลงทุนอันดับ 13 ของเวียดนาม อีกทั้งผู้ประกอบการชาวไต้หวันที่ลงทุนในเวียดนามคือผู้ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด โรงงานที่เสียหาย 224 แห่งเป็นของชาวไต้หวัน ในจำนวน 18 แห่งไฟไหม้ และ 5 แห่งเสียหายทั้งหมด โรงงานต่างชาติทั้งหมดราว 1,100 แห่งปิดทำการเนื่องจากกังวลในความปลอดภัย เพียงชั่วข้ามคืนชาวเวียดนาม 6 หมื่นคนกลางเป็นผู้ว่างงาน
            ในระยะยาว นักลงทุนต่างชาติหลายคนอาจตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากเวียดนาม ส่วนผู้ประกอบการต่างชาติที่เคยคิดจะมาลงทุนในเวียดนาม คงต้องพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง เรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรงเพราะข้อมูลปี 2012 พบว่าผลิตผลจากโรงงานอุตสาหกรรมราวร้อยละ 50 มาจากโรงงานของผู้ประกอบการต่างชาติ รวมความแล้ว เหตุชุมนุมเพียงไม่กี่วันกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ กระทบต่อเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนเวียดนามนับหมื่นนับแสนคน

            นอกจากพิจารณาผลเสียต่อเวียดนาม ควรพิจารณาผลเสียต่อจีนด้วย เพราะผลเสียที่เกิดขึ้นต่อฝ่ายหนึ่งจะกระทบต่ออีกฝ่าย
            ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความตึงเครียด ความไม่ไว้วางใจต่อกัน รัฐบาลจีนพยายามปรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลเวียดนาม เมื่อปีที่แล้ว นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ กล่าวว่าการที่ตนเยือนเวียดนามเป็นการแสดงออกว่าจีนต้องการเป็นมิตร ขยายความสัมพันธ์ระหว่างกัน และสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะต้องใช้เศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นตัวนำ “เพื่อเศรษฐกิจของสองประเทศจะพัฒนาและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน พลเมืองสองประเทศมีคุณภาพมีชีวิตที่ดี”
            นายกฯ หลี่ เห็นว่าสองฝ่ายควรเร่งพัฒนาความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ความร่วมมือทวิภาคีไม่เพียงแต่สร้างผลประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ ยังส่งเสริมสันติภาพ การพัฒนาและความมั่งคั่งของภูมิภาคด้วย
            ด้านนายกฯ เหงียน กล่าวเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี พร้อมจะทำงานร่วมกับจีนในด้านการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง สร้างความไว้วางใจทางการเมือง เพิ่มความร่วมมือทั้งทางทะเล ทางบกและความร่วมมือทางการเงิน เวียดนามจะร่วมมือกับจีนเพื่อความร่วมมือในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก
            แต่การประท้วงของชาวเวียดนาม เป็นตัวบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีนกลับสู่ความตึงเครียดอย่างหนักอีกครั้ง สะท้อนความสัมพันธ์อันเปราะบาง ความไม่ไว้วางใจต่อจีน และยากจะมีความร่วมมือใดๆ อย่างจริงจัง
            และควรตีความว่าทั้ง 2 ประเทศต่างต้องเสียหาย เสียโอกาสจากความไม่ไว้วางใจ ขาดความร่วมมือระหว่างกัน แทนที่จะใช้ทรัพยากรชาติเพื่อเพิ่มขยายความร่วมมือ นำความสุขแก่ประชาชน สร้างความเจริญแก่ประเทศ กลับกลายเป็นต้องใช้ทรัพยากรชาติเพื่อต่อต้าน ต่อกรกับอีกฝ่าย

ข้อคิด ข้อเสนอ :
            เหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจนนำสู่ความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน บางคนอาจโทษว่าเพราะรัฐบาลจีนเป็นต้นเหตุติดตั้งแท่นขุดเจาะในน่านน้ำพิพาท บางคนอาจโทษว่าเพราะรัฐบาลเวียดนามหวังใช้การชุมนุมประท้วงเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ไม่ควร “เหมารวม” ว่าชาวเวียดนามทุกคนเป็นพวกนิยมความรุนแรง ฉวยโอกาสชิงทรัพย์ของคนอื่น เช่นเดียวกับที่ต้องรู้จัก “แยกแยะ” ระหว่างรัฐบาลกับเอกชน
            เมื่อประเทศถูกรุกราน ละเมิดอธิปไตย ประชาชนสมควรที่จะแสดงออกซึ่งความรักชาติ การชุมนุมประท้วงเป็นการแสดงพลังอย่างหนึ่ง เพื่อให้ต่างชาติระมัดระวังที่จะกระทำการใดๆ แต่การแสดงความรักชาติสามารถกระทำได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่จำต้องเป็นการชุมนุมประท้วงเพียงอย่างเดียว เป็นไปได้ไหมหากจะใช้พลังในทางสร้างสรรค์ ที่ก่อประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง ต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติ เช่น นักเรียนแสดงความรักชาติด้วยการลดดูโทรทัศน์วันละ 1 ชั่วโมง เพื่ออ่านหนังสือเรียน ช่วยทำงานบ้าน นักศึกษารวมตัวทั้งสถาบันใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ข้าราชการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน นักธุรกิจผู้ประกอบการแบ่งกำไรส่วนหนึ่งสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
            หากประเทศใดๆ ประท้วงด้วยการใช้พลังในทางสร้างสรรค์ จะก่อประโยชน์มหาศาล ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ ประเทศคู่ปรปักษ์จะต้องไตร่ตรองทบทวนอีกครั้ง เพราะทุกทั้งที่เกิดความขัดแย้งจะชักนำให้คนในประเทศนั้นแสดงความรักชาติและใช้พลังในทางสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น
6 มิถุนายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1353)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
ถ้ามองว่าการติดตั้งแท่นขุดเจาะเป็นเรื่องของ “การละเมิดอธิปไตย” จะกลายเป็นโจทย์ยาก แต่ถ้ามองว่าความขัดแย้งรอบนี้มีต้นเหตุจาก “แท่นขุดเจาะ” จะกลายเป็นโจทย์ว่าย และหากมองว่าเป็นเรื่องการช่วงชิงอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคนั้นเป็นโจทย์ซับซ้อน ประเทศที่เกี่ยวข้องควรระมัดระวังผลต่อมุมมองของประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
บรรณานุกรม:
1. Nguyen Khac Vien. (2552). เวียดนาม: ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร. ต้นฉบับ Vietnam: A Long History. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
2. Anti-Chinese rioting in Vietnam turns deadly. (2014, May 15). The Sydney Morning Herald. Retrieved from http://www.smh.com.au/world/antichinese-rioting-in-vietnam-turns-deadly-20140515-zrdzl.html
3. China leader visits Viet Nam. (2013, October 14). Viet Nam News. Retrieved from http://vietnamnews.vn/politics-laws/246197/china-leader-visits-viet-nam.html
4. China’s deployment of oil rig endangers peace, marine safety: Vietnam premier. (2014, May 11). Tuoi Tre News. Retrieved from http://tuoitrenews.vn/politics/19581/chinas-deployment-of-oil-rig-endangers-peace-marine-safety-vietnam-premier
5. China, Vietnam agree to deepen partnership. (2013, October 14). Viet Nam News. http://vietnamnews.vn/politics-laws/246235/china-vietnam-agree-to-deepen-partnership.html
6. China, Vietnam agree to deepen partnership along three tracks. (2013, October 14). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/13/c_132795280.htm
7. 2 Chinese dead in Vietnam riots: police chief. (2014, May 18). Tuoi Tre News. Retrieved from http://tuoitrenews.vn/society/19713/2-chinese-dead-in-vietnam-riots-police-chief
8. Chinese state councilor meets Vietnamese defense minister in Myanmar. (2014, May 19). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-05/20/c_126520563.htm
9. PM orders action to protect law, order. (2014, May 16). VNS. Retrieved from http://vietnamnews.vn/politics-laws/254936/pm-orders-action-to-protect-law-order.html
10. Taiwan, Vietnam in discussions over protecting investors. (2014, May 20). Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2014/05/20/2003590777
11. Vietnam police detain over 600 rioters in southern localitiess. (2014, May 14). Tuoi Tre News. Retrieved from http://tuoitrenews.vn/society/19644/fgagd
12. Vietnam’s PM, President request withdrawal of China’s illicit oil rig. (2014, May 16). Tuoi Tre News. Retrieved from http://tuoitrenews.vn/politics/19682/vietnams-prime-minister-president-request-withdrawal-of-chinas-illicit-oil-rig
13. VN: China must withdraw oil rig. (2014, May 7). VNS. Retrieved from http://vietnamnews.vn/politics-laws/254480/vn-china-must-withdraw-oil-rig.html
14. Wang Aihua. (2014, May 16). China Voice: Vietnam cannot afford foreigner enmity. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-05/16/c_133339728.htm
---------------------