สงครามนานกิง สมรภูมิจีน-ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 21

เมื่อสามสี่วันก่อน ทางการจีนได้ประกาศให้ทุกวันที่ 13 ธันวาคม เป็นวันสำคัญประจำปี เพื่อรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง (Nanjing Massacre) เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1930 ตามข้อมูลของจีน การสังหารหมู่ทำให้ชาวจีนกว่า 3 แสนคนเสียชีวิตภายใน 40 วัน การรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวมุ่งชี้ความโหดร้าย การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยนั้น
            นอกจากนี้ ให้ทุกวันที่ 3 กันยายน เป็นวันแห่งชัยชนะของสงครามที่กองทัพประชาชนจีนสามารถต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น (Victory Day of the Chinese People's War of Resistance Against Japanese Aggression) เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้รำลึกประวัติศาสตร์ ที่จีนได้ต่อต้านพวกลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพวกเผด็จการฟาสซิสต์ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และนับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่จีนสามารถต่อต้านการรุกรานจากต่างชาติ
            พร้อมกับตอกย้ำว่าจีนต้องการสันติภาพและสร้างอนาคตที่สดใส ให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักว่าคนรุ่นก่อนได้ร่วมกันขับไล่การรุนรานจากญี่ปุ่นอย่างไร มีวีรกรรมของผู้รักชาติมากมาย ให้เห็นความสำคัญของการปกป้องอธิปไตยจากผู้รุกราน ส่งเสริมความรักชาติ
            หากนับจากวันเกิดเหตุสังหารหมู่นานกิง เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วเกือบ 8 ทศวรรษ และมาวันนี้ทางการจีนเพิ่งจะประกาศให้เป็นวันสำคัญแห่งชาติ เหตุผลเบื้องหลังของการประกาศ จึงตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากการตอบโต้รัฐบาลอาเบะในช่วงนี้
            ภายใต้กรอบคิดดังกล่าว สามารถอธิบายการตอบโต้จากจีนได้ดังนี้
            ประการแรก ตอบโต้ที่นายกฯ อาเบะไปสักการะทหารญี่ปุ่นผู้เสียชีวิตที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ
            ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมื่อผู้นำญี่ปุ่นไปเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) ไม่ว่าจะเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการหรือส่วนตัว ไม่ว่าจะไปเพื่อสันติภาพหรือไม่ ทางการจีนจะตีความว่าผู้นำญี่ปุ่นให้เกียรติอาชญากรสงครามที่กระทำการอันโหดร้ายต่อจีนในช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา รัฐบาลจีนโจมตีนายกฯ อาเบะอย่างต่อเนื่อง หลังการเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิเมื่อปลายปีที่ผ่าน กล่าวหาว่ากำลังรื้อฟื้นลัทธิชาตินิยม ทหารนิยมขึ้นมาอีกครั้ง
            ในมุมมองนี้ชี้ว่า เมื่อรัฐบาลอาเบะพยายามรื้อฟื้นชาตินิยมญี่ปุ่นด้วยการไปเยือนศาลเจ้า รัฐบาลจีนจึงตอบโต้ด้วยการประกาศวันสำคัญส่งเสริมชาตินิยมจีน ต่อต้านชาตินิยมญี่ปุ่น

            ประการที่สอง ตอบโต้ที่รัฐบาลอาเบะปฏิเสธเรื่องการทำลายล้างนานกิง
            เรื่องราวการทำลายล้างนานกิง เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 1937 ทหารญี่ปุ่นระดับล่างและระดับกลางได้สังหารหมู่ประชาชนในเมือง 6-7 สัปดาห์ ข้อมูลบางแหล่งอ้างว่าพลเอกเจ้าชายยาสุฮิโกะ อาซากะ (Yasuhiko Asaka) พระญาติในสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ (Hirohito) ได้รับการแต่งตั้งให้ควบคุมสงครามนานกิง และมีคำสั่งลับจากศูนย์บัญชาใหญ่ของพลเอกเจ้าชายอาซากะ ให้สังหารเชลยทุกคน อ้างว่าทหารจีนปลอมตัวเป็นพลเรือนซ่อนตัวอยู่ในเมือง
            ในช่วงเวลานั้น ฝ่ายจีนไม่ได้ประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการ การถอยร่นออกจากเมืองเป็นไปอย่างวุ่นวาย ทหารราว 7 หมื่นนายติดอยู่ในเมือง ชาวเมืองส่วนใหญ่อพยพออกจากเมืองได้ทัน แต่อีกราว 2.5 แสนคนยังติดอยู่ภายใน
            เมื่อเมืองไม่อยู่ภายใต้การควบคุมจากรัฐบาลจีน ชาวต่างชาติที่อยู่ในเมือง 4 ประเทศประกอบด้วยสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารเขตพื้นที่ปลอดภัย ที่กินบริเวณราว 2 ตารางไมล์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง รายงานการศึกษาเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิงจำนวนมากมักอ้างหลักฐานเอกสารราว 4 พันหน้าที่ชาวต่างชาติในเมืองบันทึกความโหดร้ายทารุณที่ทหารญี่ปุ่นกระทำต่อชาวจีน ทั้งยังมีภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวจำนวนมากที่ปัจจุบันสามารถหาดูได้ในสื่อออนไลน์
            เชลยชายทุกคนที่มีวัยเป็นทหารถูกมัดและสังหารด้วยปืนกลหรือด้วยดาบปลายปืน เชลยบางคนถูกจับย่างไฟหรือเผาทั้งเป็น ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่สามารถระบุจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีผู้ประเมินว่าน่าจะราว 3 แสนคน หรืออย่างน้อยจะต้องมากกว่า 150,000 คน ผู้หญิงกว่า 20,000 คนถูกข่มขืน หลายคนถูกรุมข่มขืน หลายคนถูกข่มขืนแล้วฆ่า

            สำหรับญี่ปุ่น เรื่องการทำลายล้างนานกิง เป็นเรื่องที่สังคมญี่ปุ่นยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน บ้างเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น บางยอมรับว่าได้สังหารคนจีนจำนวนหนึ่งแต่ไม่มากอย่างที่ฝ่ายจีนกล่าวอ้าง และบ้างก็ยอมรับตามข้อมูลของฝ่ายจีน
            ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มักมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงญี่ปุ่นออกมากล่าวว่าเรื่องการทำลายล้างนานกิงไม่เป็นความจริง กรณีที่เป็นข่าวล่าสุดคือ กรณีที่นายนาโอกิ ยากุตะ (Naoki Hyakuta) เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของ NHK สื่อทางการญี่ปุ่นกล่าวว่า เหตุการณ์สังหารหมู่นานกิงไม่เคยเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็น “การโฆษณาชวนเชื่อ” ของฝ่ายจีน ทางการจีนจึงตอบโต้ด้วยการประกาศจัดตั้งวันรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง เพื่อตอกย้ำประวัติศาสตร์ตามข้อสรุปของฝ่ายจีน

            ประการที่สาม ตอบโต้ที่รัฐบาลอาเบะแก้การเรียนการสอนประวัติศาสตร์
            การแก้ไขตำราเรียนคือเรื่องที่เกิดขึ้นควบคู่การการเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ การปฏิเสธการทำลายล้างนานกิง ที่จีนโจมตีว่านี่คือการปลุกลัทธิชาตินิยม ลัทธิทหารนิยมขึ้นมาใหม่
            รัฐบาลอาเบะกำลังปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมต้นกับมัธยมปลายให้มีความรักชาติมากยิ่งขึ้น รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติญี่ปุ่น มุ่งพูดถึงแต่เรื่องดีของกองทัพ มากกว่าที่จะพูดถึงกองทัพญี่ปุ่นในฐานะเป็นผู้รุกราน กระทำการอันโหดร้ายทารุณ จึงห้ามการพูดถึงเหตุการณ์ทำลายล้างนานกิงและเรื่องอื่นๆ ที่สร้างความเสื่อมเสีย
            ทางการจีนจึงโต้ตอบด้วยการประกาศวันสำคัญทั้ง 2 วัน เพื่อย้ำเตือนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง (ตามมุมมองของจีน) เป็นอย่างไร กองทัพญี่ปุ่นในอดีตไม่ได้ยิ่งใหญ่ ไม่ได้มีเกียรติอย่างที่รัฐบาลอาเบะพยายามปลูกฝัง

            ประการที่สี่ ย้ำเตือนว่าสุดท้ายจีนเป็นฝ่ายชนะสงคราม
            ผลลัพธ์สุดท้าย คือการตอกย้ำว่า จีนเป็นฝ่ายมีชัย ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัย และย้ำว่าญี่ปุ่นเคย “รุกราน” แผ่นดินจีน (สังเกตการใช้คำว่า ‘Japanese Aggression’) ตอบโต้ที่นายกฯ อาเบะพูดในรัฐสภาว่าเขาไม่เชื่อว่าการที่ญี่ปุ่นยึดครองประเทศอื่นๆ ในระหว่างสงครามถือว่าเป็น “การรุกราน” โดยให้เหตุผลว่าคำดังกล่าวยังไม่มีนิยามอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป “มันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละประเทศ” และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงคำๆ นี้
            ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นการย้ำเยือนให้คนจีนปัจจุบันเห็นว่าพวกฝ่ายขวาจัดญี่ปุ่นเป็นปรปักษ์ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต สงครามนานกิงในอดีตจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพูดอย่างกว้างขวาง กลายเป็นวิวาทะทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็น สงครามนานกิงในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังเป็นไป และคงไม่ยุติในระยะเวลาอันใกล้นี้

จุดอ่อน ข้อควรระวัง :
            ดังที่วิเคราะห์ข้างต้นว่า การจัดงานรำลึกทั้ง 2 วันมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้ญี่ปุ่นเป็นหลัก  ซึ่งน่าจะมีผลต่อชาวจีนไม่มากก็น้อย แต่ในอีกมุมหนึ่งมีจุดอ่อนและข้อควรระวัง ดังนี้
            ประการแรก การจัดวันรำลึก วันฉลองชัยชนะจะมีผลต่อญี่ปุ่นหรือไม่
            ไม่ว่าประเทศจีนจะจัดวันรำลึกอย่างไร หรือจะจัดกี่วันต่อปีก็ตาม ทั้งหมดคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ชาวญี่ปุ่นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างไร
            ที่สุดแล้วประวัติศาสตร์ในช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา ยังเป็นชุดความจริง 2 ชุดที่แตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างยึดถือว่าของตนถูกต้อง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก
            ที่สำคัญคือ ไม่อาจเปลี่ยนแนวคิดของฝ่ายขวาจัดญี่ปุ่น ไม่อาจเปลี่ยนนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลอาเบะ ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายขวาจัดยึดแนวทางนี้มานานแล้ว และดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วหลายสิบปี นายกฯ อาเบะเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งในขณะนี้ที่สะท้อนแนวคิดฝ่ายขวาจัด รัฐบาลอาเบะมาแล้วและจะจากไปในที่สุด รัฐบาลใหม่ในอนาคตหากเป็นพวกขวาจัดก็จะดำเนินนโยบายเช่นนี้อีก

            ประการที่สอง เพิ่มการเผชิญหน้า เพิ่มวาทะกรรม
            ผลที่เกิดขึ้นแน่นอนและเกิดขึ้นแล้วคือ การตอบโต้ไปมาที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่จำนวนประเด็นกับความถี่ จนสหรัฐต้องออกมาปรามเพื่อลดความร้อนแรง
            สะท้อนว่า 2 ฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอก ทั้งยังน่าคิดอีกว่า รัฐบาลอาเบะต้องการให้เกิดการตอบโต้ใช่หรือไม่ ญี่ปุ่นกำลังขึ้นชั้นเข้ามาต่อกรกับจีนโดยตรง ความตึงเครียดที่เพิ่มพูน ทำให้บทบาทญี่ปุ่นในภูมิภาคโดดเด่น

            ประการที่สาม ชาตินิยมเข้มข้น
            หากวิเคราะห์ในระดับประชาชน สงครามนานกิงในศตวรรษที่ 21 เป็นสมรภูมิที่ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ปัจจุบันจีนมีประชากรราว 1,350 ล้าน (ข้อมูลปี 2013) ส่วนญี่ปุ่นมี 127 ล้าน รวม 2 ประเทศเท่ากับ 1,477 ล้านคน หรือเกือบเท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรโลก
            ถ้ามองในกรอบนี้ น่าจะพูดได้ว่านี่เป็นสงครามขนาดใหญ่ มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก คนเหล่านี้หากไม่ระวัง ขาดความเข้าใจ ย่อมได้รับการปลูกฝังความเป็นชาตินิยมได้ง่ายๆ ต่างฝ่ายต่างรักชาติคนตน และมุ่งมองแง่ลบของอีกฝ่าย

            การปลูกฝังให้คนในประเทศรักชาติเป็นเรื่องดี แต่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง หากเป็นการปลูกฝังด้วยการมองคนต่างชาติในแง่ลบ
            รัฐบาลจีนกับญี่ปุ่นต่างมีหน้าที่ต้องปกป้องอธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่หนทางสู่การบรรลุเป้าหมายสามารถทำได้หลายวิธี สมควรไตร่ตรองว่าวิธีการใดจะสร้างคนในชาติได้ดีกว่า อารยธรรมของจีนกับญี่ปุ่นคืออารยธรรมแห่งสังคมผู้รักสันติจริงหรือไม่ หรือว่าเรื่องเหล่านี้มีแต่ในตำราประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลตั้งใจเขียนให้เยาวชนรุ่นใหม่อ่านแล้วรู้สึกดีเท่านั้น
            หากมองในภาพกว้าง นักวิเคราะห์บางคนเช่นนายปีเตอร์ ลี (Peter Lee) ชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นคือแนวรบหลักของสมรภูมิทางการเมืองระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบันสงครามนานกิงในศตวรรษที่ 21 จึงอยู่ในฐานะเป็น 1 ในสมรภูมิย่อยของสงครามใหญ่ในขณะนี้
มีนาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6326 วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2557)
-----------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ทุกคนทุกชาติต่างมีความเชื่อศาสนาของตนเอง ทหารญี่ปุ่นหลายคนเข้าทำสงครามด้วยความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่านี่คือสงครามศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่คนชาติอื่นย่อมมีความคิดเห็นของตนเอง เป็นอีกภาพความจริงของโลกที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะคิดเห็นตรงกัน ชาวญี่ปุ่นที่ไปสักการะศาลเจ้ายาสุกินิก็ใช่ว่าจะไปด้วยความหมายเดียวกัน หรือมีความรู้สึกที่เข้มข้นตรงกัน 
บรรณานุกรม:
1. Central Intelligence Agency. (2014, February 2). The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ja.html
2. China plans Nanjing Massacre memorial day. (2014, February 25). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-02/25/c_133142561.htm
3. China ratifies anti-Japanese war victory day. (2014, February 27). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-02/27/c_133148388.htm
4. China ratifies day for Nanjing Massacre victims. (2014, February 27). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-02/27/c_133148350.htm
5. China to set anti-Japanese war victory day. (2014, February 25). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-02/25/c_133142573.htm
6. Egler, David G. (2007). Great Events from History: The 20th Century. Gorman, Robert F. (Ed.). USA: Salem Press.
7. Kingston, Jeff. (2013). Contemporary Japan: History, Politics, and Social Change since the 1980s (2nd ed.). USA: John Wiley & Sons Ltd.
8. Lee, Peter. (2014, February 25). Asia pivot comes back to bite the US. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/China/CHIN-01-250214.html
9. NHK massacre denier "historically shortsighted": expert. (2014, February 6). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/indepth/2014-02/06/c_133095713.htm
10. Takahashi, Kosuke. (2014, February 13). Shinzo Abe’s Nationalist Strategy. Retrieved from http://thediplomat.com/2014/02/shinzo-abes-nationalist-strategy/
-------------------------------