เป็นที่ทราบกันว่าการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone หรือ ADIZ) ของจีนเหนือน่านฟ้าทะเลจีนตะวันออก เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2013 กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งใหม่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก สื่อกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่รายงาน วิเคราะห์ในแง่มุมของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นหลัก ทั้งที่โดยความจริงแล้ว ADIZ หรือเขตแสดงตนมีผลต่อมิติความมั่นคงทางทหารโดยตรง
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
นิยาม ADIZ คือ “ขอบเขตน่านฟ้า (Airspace) ที่อากาศยานซึ่งอยู่ภายใต้เขตจะต้องพร้อมแสดงตน (identification) ระบุตำแหน่งที่อยู่ (location)
และอยู่ใต้การควบคุมการบิน” ส่วนทางการญี่ปุ่นให้นิยามว่า ADIZ คือขอบเขตน่านฟ้าที่ไกลออกจากน่านฟ้าของประเทศ (national airspace) เป็นเขตป้องกัน ตรวจตราการรุกรานจากอากาศยานต้องสงสัย
ช่วยเพิ่มเวลาเพื่อการตรวจสอบว่าอากาศยานนั้นเป็นมิตรหรือศัตรู
รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นต้นความคิดเรื่องเขตแสดงตน เริ่มใช้แนวทางดังกล่าวในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล
ฮาเบอร์ ต่อมาเมื่อสิ้นสงครามโลกและเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น
ภัยคุกคามทางทหารสร้างความตึงเครียดเป็นอย่างมาก
ความหวาดกลัวที่จะถูกโจมตีทางอากาศ ทำให้ในปี 1950 สหรัฐฯ ได้สร้างศูนย์ควบคุมและสั่งการเพื่อควบคุมอากาศยานทุกชนิดทุกประเทศที่บินเข้าใกล้ชายฝั่ง
กล่าวได้ว่า ADIZ ที่มีอยู่กว่า 20 ประเทศทั่งโลกเกือบทั้งหมดเป็นมรดกจากสงครามเย็น
หากมอง
ADIZ ของจีนในมิติความมั่นคงทางทหาร มีประเด็นที่สำคัญๆ ดังนี้
1. เพื่อติดตามอากาศยาน เรือรบเพื่อนบ้าน
ทางการจีนยืนยันยึดมั่นนโยบายพัฒนาโดยสันติ นโยบายปกป้องประเทศเชิงรับ (defensive
national defense policy) มุ่งหวังให้เขตแสดงตนในทะเลจีนตะวันออกเป็นเขตแห่งความปลอดภัย
ไม่เกิดเหตุเสี่ยง เป็นเขตแห่งความร่วมมือไม่ใช่การแข่งขัน ยินดีที่จะสื่อสาร ปรึกษาหารือกับประเทศต่างๆ
เพื่อรักษาความปลอดภัยในการบิน เพื่อส่งเสริมสันติภาพ
เสถียรภาพและการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
พร้อมกับยืนยันว่าเขตแสดงตนไม่มุ่งต่อต้านประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างเจาะจง
แต่หากพิจารณาจากผลทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นและเหตุผลแวดล้อม ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า
สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันคือกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง
และประเทศเหล่านี้มีนโยบายความมั่นคงทางทหารใกล้ชิดกับสหรัฐฯ
โดยมีฝ่ายตรงข้ามคือจีน
ผลทางปฏิบัติคือ
ทางการจีนมีความชอบธรรมที่จะใช้เรดาร์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ตรวจจับอากาศยานต่างๆ สามารถส่งเครื่องบินติดตามสังเกตปฏิบัติการของอากาศยานญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ
เกาหลีใต้และไต้หวันในน่านฟ้าดังกล่าวและใกล้เคียงได้ดีกว่าเดิม สามารถใช้โอกาสนี้เพื่อการฝึกซ้อมและปฏิบัติการจริงซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งหากเกิดการปะทะกันอนาคต
นอกเหนือจากผลในทางน่านฟ้า ยังสามารถส่งอากาศยานติดตามความเคลื่อนไหวของเรือรบต่างๆ
โดยเฉพาะเรือดำน้ำได้อีกด้วย
การประกาศใช้เขตแสดงตนจึงมีประโยชน์มากกว่าเรื่องความปลอดภัยในการบิน
ยังมีผลต่อการติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามทั้งในน่านฟ้ากับน่านน้ำ
2. เพื่อสกัดกั้นอากาศยานต่างชาติ ต่อต้านการสอดแนม
2. เพื่อสกัดกั้นอากาศยานต่างชาติ ต่อต้านการสอดแนม
ทางการจีนอ้างว่านอกจากไม่กระทบต่อเครื่องบินพลเรือนแล้ว
จะไม่กระทบต่ออากาศยานทางทหารของประเทศใดที่บินผ่านเขตแสดงตนดังกล่าวด้วย การให้แสดงตนก็เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย
ป้องกันเหตุร้ายที่ไม่คาดฝัน
แต่ทางการจีนย่อมทราบอยู่แล้วว่ากองทัพสหรัฐฯ
ไม่เคยยอมรับเขตแสดงตนของประเทศใดๆ ดังนั้น น่าจะไม่ยอมรับ ADIZ ของจีนด้วย แต่ไม่ว่าสหรัฐฯ จะยอมรับหรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นคือจีนมีความชอบธรรม
(ที่ประกาศด้วยตนเอง) ส่งเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นอากาศยานของกองทัพสหรัฐฯ ในน่านฟ้าที่ห่างจากเขตอธิปไตยนับร้อยกิโลเมตร
เช่นเดียวกับญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้และประเทศใดๆ ที่จะไม่ยอมรับ ADIZ ของจีน อากาศยานของกองทัพสหรัฐฯ
กับญี่ปุ่นคือเป้าหมายหลักของเขตแสดงตนนี้อยู่แล้ว
ประเด็นที่ไม่ควรถูกมองข้ามคือการมอง ADIZ ในเชิงต่อต้านการสอดแนม
โดยเฉพาะเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ ที่มักจะบินใกล้ชายฝั่งจีน กองทัพสหรัฐฯ
ได้ประจำการเครื่องบินลาดตระเวนสอดแนมรุ่นใหม่ อากาศยานไร้คนขับรุ่นล่าสุด เป็นอีกเหตุผลกระตุ้นให้จีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อต่อต้านการลุกล้ำ
การสอดแนม
หนึ่งในเครื่องบินลาดตระเวนสอดแนมที่พูดถึงคือ
เครื่องบินรุ่น P-8A Poseidon ที่เพิ่งเข้าประจำการที่ฐานทัพ
Kadena Air Base
ที่เกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2013
เพื่อทดแทนเครื่องรุ่น P-3A Orion ที่กองทัพเรือสหรัฐฯ
ใช้ตั้งแต่ปี 1962 P-8A Poseidon เป็นเครื่องบินอเนกประสงค์
นอกจากมีความสามารถในการลาดตระเวนสอดแนม ยังสามารถทำสงครามต่อต้านเรือดำน้ำกับเรือผิวน้ำ
มีระบบป้องกันการโจมตีและง่ายต่อการซ่อมบำรุง
นอกจากนี้ ขีปนาวุธพื้นสู่พื้น อากาศสู่พื้นรุ่นใหม่ที่ติดตั้งในเครื่องบิน
เรือรบ ฯลฯ มีรัศมีหลายสิบหรือนับร้อยกิโลเมตร จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากสามารถรับมือการโจมตีในระยะไกล
รวมความแล้วเรือรบ เรือดำน้ำของจีนอาจถูกติดตามและพร้อมจะถูกโจมตีได้ทุกเมื่อ
ดังนั้น จีนจึงต้องวางระบบที่จะส่งเครื่องบินขับไล่เข้ากับสกัดเครื่องบินของฝ่ายตรงข้ามก่อน
3. ศักยภาพของจีนทั้งในเชิงรุก-รับ
การประกาศ
ADIZ กำลังชี้ให้เห็นว่ากองทัพจีนมีศักยภาพ มีความพร้อมมากพอที่จะดูแล
กำกับการบินในเขตแสดงตนดังกล่าว อันหมายถึงการมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า เรดาร์
ระบบการสื่อสารอันทันสมัย สามารถตรวจจับ ติดต่อสื่อสารในระยะไกล มีเครื่องบินลาดตระเวนติดตั้งระบบ
Airborne Warning and Control System (AWACS) ที่สามารถควบคุม
สั่งการ กองทัพอากาศจีนในยุคปัจจุบันไม่ได้มีแต่เครื่องบินรบล้าสมัยอีกต่อไป
เริ่มมีความเข้มแข็งมากพอที่จะบินเข้าเทียบเครื่องบินรบล้ำสมัยของสหรัฐฯ
กับญี่ปุ่น ไม่ต่างจากกองทัพเรือจีนที่กำลังมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น
มีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก และกำลังต่อเพิ่มอีกหนึ่งลำ กองทัพเรือจีนกำลังจะโลดแล่นสู่ทะเลหลวง
ไม่ใช่กองเรือยามฝั่งอีกต่อไป
ในแง่เชิงรุก ADIZ ทำให้อากาศยานจีนมีความชอบธรรมที่จะบินในเขตน่านฟ้าดังกล่าว
การป้องกันน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านยากลำบากกว่าเดิม
โดยที่กองทัพจีนไม่ได้เสียอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องบินรบจีนสามารถอาศัยเขตแสดงตนที่อยู่ใกล้เขตแดนเพื่อนบ้าน
เป็นจุดเริ่มโจมตีเป้าหมายทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ
โดยรวมแล้ว
การประกาศเขตแสดงตนเอื้อประโยชน์ในทางยุทธการหลายด้าน เพิ่มพื้นที่ทั้งการรุก-การรับ
เพิ่มพื้นที่ลาดตระเวนสอดแนม เสริมขีดความสามารถของกองทัพเรือ และต่อต้านการกระทำของฝ่ายตรงข้าม
นายคูนิ
มิยาเกะ (Kuni Miyake) จาก Ritsumeikan University อธิบายภาพกว้างว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จีนพยายามควบคุมการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ตอนนี้เริ่มควบคุมการบินเหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ
จีน “กำลังอ้างกึ่งกรรมสิทธิ์” (semi-territorial claim) ด้วยการควบคุมเสรีภาพในการเดินเรือ-การบินในเขตทะเลจีนตะวันออก
แน่นอนว่าจีนยังต้องพัฒนาอีกมากหากจะเทียบเคียงกองทัพสหรัฐฯ แต่หากมองย้อนอดีต
กองทัพจีนกำลังก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ
อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มพูน การประกาศ ADIZ ในทะเลจีนตะวันออกคืออีกก้าวหนึ่งของสิ่งเหล่านี้
ส่วนเรื่องที่จีนจะประกาศเขตแสดงตนเพิ่มในอนาคตย่อมเป็นไปได้
แม้การประกาศแต่ละครั้งจะมีทั้งผลดีผลเสีย เป็นประเด็นที่ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งผลประโยชน์แห่งชาติ สถานการณ์บีบบังคับ บริบทที่สุกงอม
นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่าในวันข้างหน้าจีนจะประกาศเขตแสดงตนในทะเลจีนใต้
กุมภาพันธ์ 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน นิตยสารหนังสือข่าวทหารอากาศ ปีที่ 74 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2557, http://www.airforcemagazine.rtaf.mi.th/main/index.php/e-magazine/118-2557-02.html)
(ตีพิมพ์ใน นิตยสารหนังสือข่าวทหารอากาศ ปีที่ 74 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2557, http://www.airforcemagazine.rtaf.mi.th/main/index.php/e-magazine/118-2557-02.html)
----------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
การประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ หรือ
ADIZ ของจีนเหนือน่านฟ้าทะเลจีนตะวันออก แม้อาเซียนไม่เกี่ยวข้องโดยตรง
แต่ทำให้ชาติสมาชิกบางประเทศมีความกังวลไม่น้อย
เมื่อคิดว่าในวันข้างหน้าจีนจะมีเขตแสดงตนในทะเลจีนใต้
อีกทั้งญี่ปุ่นพยายามดังอาเซียนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ทางออกที่ดีของเรื่องนี้อยู่ที่การวางแนวปฏิบัติเพื่อลดความหวาดระแวง ป้องกันเหตุร้ายไม่คาดฝัน
2. เผยธาตุแท้รัฐบาลจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐผ่านการประกาศ ADIZ ของจีน
การประกาศ ADIZ หรือเขตแสดงตนของจีนนำมาซึ่งวิวาทะจากประเทศที่เกี่ยวข้อง บ้างเห็นว่าเขตแสดงตนของจีนผิดจากมาตรฐานสากล บ้างเห็นว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง บ้างเห็นว่าจีนต้องการแย่งชิงหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ แต่ความจริงแล้ว ADIZ ไม่มีมาตรฐานสากล สามารถเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการยั่วยุ กรรมสิทธิ์หมู่เกาะยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ แต่ผู้นำประเทศของแต่ละรัฐบาลต้องหาทางออกที่เหมาะสม มีปัจจัยการเมืองภายในเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
การประกาศ ADIZ หรือเขตแสดงตนของจีนนำมาซึ่งวิวาทะจากประเทศที่เกี่ยวข้อง บ้างเห็นว่าเขตแสดงตนของจีนผิดจากมาตรฐานสากล บ้างเห็นว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง บ้างเห็นว่าจีนต้องการแย่งชิงหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ แต่ความจริงแล้ว ADIZ ไม่มีมาตรฐานสากล สามารถเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการยั่วยุ กรรมสิทธิ์หมู่เกาะยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ แต่ผู้นำประเทศของแต่ละรัฐบาลต้องหาทางออกที่เหมาะสม มีปัจจัยการเมืองภายในเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
บรรณานุกรม:
1. Keck, Zachary. China Imposes Restrictions on Air Space
Over Senkaku Islands. The Diplomat. http://thediplomat.com/2013/11/china-imposes-restrictions-on-air-space-over-senkaku-islands/.
23 November 2013.
2. Chao, Xie. China's ADIZ is for more than just Diaoyu
sovereignty. Global Times. http://www.globaltimes.cn/content/829275.shtml#.Up0_qdIW0Rk.
2 December 2013.
3. Defense Ministry spokesman on China's air defense
identification zone. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-12/03/c_132938762.htm.
3 December 2013.
4. SDF, U.S. military say operations unaffected by China's
ADIZ. The Asahi Shimbun. http://ajw.asahi.com/article/behind_news/politics/AJ201311290064.
29 November 2013.
5. Defense Ministry spokesman on China's air defense
identification zone. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-12/03/c_132938762.htm.
3 December 2013.
6. US sends new reconnaissance planes to Japan amid tension.
The Indian Express. http://www.indianexpress.com/news/us-sends-new-reconnaissance-planes-to-japan-amid-tension/1202602/.
2 December 2013.
7. China’s new ADIZ may be aimed at Japan, but what about
Taiwan? AEIdeas. http://www.aei-ideas.org/2013/12/chinas-new-adiz-may-be-aimed-at-japan-but-what-about-taiwan/.
5 December 2013.
8. China air zone divides US and its allies. Financial
Times. http://www.ft.com/intl/cms/s/0/7927a56e-5b47-11e3-a2ba-00144feabdc0.html#axzz2mNT0d2oK.
2 December 2013.
9. P-8A Poseidon. http://www.boeing.com/assets/pdf/defense-space/military/p8a/docs/P-8A_overview.pdf.
Accessed 10 December 2013.
-------------------------