จากข้อมูลที่นายเอ็ดเวิร์ด
สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอและสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Security Agency หรือ NSA)
ส่งมอบให้แก่สื่อบางฉบับ ข้อมูลดังกล่าวชี้ว่า NSA ดักฟังโทรศัพท์คนฝรั่งเศสกับสเปนหลายสิบล้านครั้งภายในเวลาเพียงเดือนเดียว
ในเวลาไล่เลี่ยงกันสื่อบางฉบับเผยแพร่ข้อมูลชิ้นหนึ่งชี้ว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ
สอดแนมผู้นำ 35 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ อย่างเยอรมนี
ฝรั่งเศส เม็กซิโก บราซิลและหลายประเทศในสหภาพยุโรป กับประเทศที่เป็นปรปักษ์อย่างคิวบาและเวเนซุเอลา
การสอดแนมที่ไม่ใช่เรื่องใหม่กลายเป็นประเด็นที่หลายประเทศให้ความสำคัญขึ้นมาทันที
การสอดแนมผู้นำประเทศและประชาชนจำนวนมาก:
การสอดแนมผู้นำประเทศโดยเฉพาะพันธมิตรหรือมิตรประเทศกลายเป็นประเด็นร้อนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
ใจความสำคัญที่หยิบยกขึ้นมาพูดคือเมื่อเป็นมิตรต่อกันไยจึงต้องสอดแนม อะไรคือจุดมุ่งหมายของการกระทำดังกล่าว
เมื่อสื่อพยายามจี้ถามรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ นายเจย์
คาร์นีย์ (Jay Carney) โฆษกทำเนียบขาวให้คำตอบว่าขณะนี้ไม่ได้ดักฟังและอนาคตจะไม่ดักฟังโดยไม่ยอมตอบว่าก่อนหน้านี้เคยดักฟังหรือไม่
ด้านคุณอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมันถึงกับกล่าวว่า “เรายังเป็นพันธมิตร...
แต่การเป็นพันธมิตรจะต้องตั้งบนความไว้ใจต่อกัน”
ส่วนประเด็นการดักฟังประชาชนฝรั่งเศสกับสเปนจำนวนนับหมื่นนับแสนคนถูกตั้งคำถามเช่นกันว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร
รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างเหตุผลเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายแต่จำต้องสอดแนมคนนับหมื่นนับแสนหรือ
หลายประเทศในยุโรปร่วมแสดงจุดยืนว่าการสอดแนมประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
การสอดแนมจะต้องกระทำในกรอบเพื่อยับยั้งการก่อการร้าย
ต่อต้านอาชญากรรมและป้องกันสงคราม เป้าหมายการสอดแนมต้องชัดเจนชอบธรรม
นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้
รัฐบาลทุกประเทศต่างรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าการสอดแนมมีวัตถุประสงค์หลายข้อ:
รัฐบาลทุกประเทศต่างรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าการสอดแนมมีวัตถุประสงค์หลายข้อ:
ถ้าจะวิพากษ์อย่างเป็นกลาง
รัฐบาลทุกประเทศต่างรู้อยู่แก่ใจว่าการสอดแนมมีวัตถุประสงค์หลายประการ
ไม่เพียงการต่อต้านการก่อการร้ายหรือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติเท่านั้น แต่ไหนแต่ไรเรื่องของการข่าวให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านการทหารมากที่สุด
เป็นภารกิจที่ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีบทบาทระหว่างประเทศมากและมีพลังอำนาจทางทหารมาก
ย่อมต้องมีขีดความสามารถด้านการข่าวอย่างสูงและทำงานอย่างแข็งขัน สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ
ที่กำลังกล่าวถึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี หน้าที่หลักคือการเก็บรวบรวมข่าวกรองต่างประเทศและต่อต้านการสอดแนมการจารกรรมจากต่างชาติ
โดยจะรวบรวมข้อมูลผ่านทุกช่องทาง ผ่านสัญญาณสื่อสารทุกชนิด เช่น สัญญาณวิทยุ
สัญญาณตามสายและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในทุกรูปแบบ (อีเมล ข้อความสั้นหรือ SMS ล้วนอยู่ในข่ายทั้งสิ้น) ความสามารถของ NSA ยังมีมากกว่านี้
เช่น สามารถดักฟังเสียงสนทนาระหว่างนักบินกับผู้ควบคุมทางภาคพื้นดินจากที่อยู่ห่างไกล
นอกเหนือจากความมั่นคงทางการทหาร
การข่าวในปัจจุบันยังใช้เพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ
เรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า การต่อต้านการจารกรรมทางเศรษฐกิจจากต่างชาติ การติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ
ทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนการเจรจาต่อรอง การตัดสินใจของฝ่ายบริหาร และเป็นข้อมูลแก่ฝ่ายวางแผนประกอบการจัดทำนโยบาย
การสอดแนมไม่ได้กระทำต่อรัฐหรือหน่วยงานรัฐเท่านั้น ยังกระทำต่อบริษัทเอกชน
องค์กรภาคประชน จนถึงระดับปัจเจกบุคคล
นอกจากนี้ไม่ใช่สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวที่ทำการจารกรรม ประเทศอื่นๆ
ทั้งหลายก็กระทำเช่นเดียวกัน การข่าวกรองจึงเป็นยิ่งกว่าเรื่องการเมืองระหว่างประเทศแต่เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ
การปรับปรุงระบบสอดแนมสหรัฐฯ:
ท่ามกลางกระแสการต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากในและต่างประเทศ
การแสดงออกของรัฐบาลโอบามาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจะทำการปรับปรุงระบบสอดแนมให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน
ทำเนียบขาวเผยท่าทีชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังทบทวนแผนการรวบรวมข่าวกรองเพื่อให้มีความสมดุลระหว่างความจำเป็นด้านความมั่นคงกับความเป็นส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นของพลเมืองอเมริกันหรือพันธมิตร
โดยการปรับปรุงครั้งนี้คาดว่าจะเจาะจงที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ
อีกด้านหนึ่ง
หลายประเทศทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างปรึกษาหารือจัดทำร่างข้อมติสมัชชาสหประชาชาติเพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวของบุคคล
หวังป้องกันไม่ให้ทางการสหรัฐฯ ทำการสอดแนมจนเกินความจำเป็น
ข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติไม่มีผลบังคับใช้เหมือนอย่างข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแต่จะเป็นแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ
น่าติดตามว่าท้ายที่สุดแล้วข้อมติดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมการสอดแนมมากน้อยเพียงใด
มีผลต่อสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวหรือครอบคลุมประเทศอื่นๆ ด้วย
ไม่ดักฟังผู้นำประเทศ
ใช่ว่าจะไม่ดักฟังคนใกล้ชิด:
ดังที่กล่าวแล้วว่าการดักฟังโทรศัพท์ผู้นำประเทศคือหนึ่งในประเด็นร้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
และอาจมีผลห้ามการสอดแนมผู้นำประเทศที่เป็นมิตรต่อกัน ในประเด็นนี้มีข้อคิดที่สำคัญว่าการไม่สอดแนมผู้นำประเทศใช่ว่าจะไม่สอดแนมคนใกล้ชิดที่เกี่ยวข้อง
เป็นเรื่องที่เข้าใจทั่วไปว่าบรรดาผู้นำประเทศหรือผู้นำองค์กรระดับสูงจะต้องออกคำสั่งหรือถ่ายทอดคำสั่งแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อนำไปปฏิบัติ
ดังนั้น หากต้องการทราบการตัดสินใจของผู้นำจึงไม่จำต้องดักฟังคำพูดของผู้นำเพียงอย่างเดียว
สามารถตรวจสอบคำสั่งหรือนโยบายของผู้นำผ่านผู้ใต้บังคับบัญชา
หากคำสั่งดังกล่าวต้องถ่ายทอดสู่ระดับปฏิบัติการหลายทอดจะยิ่งเป็นเหตุให้สามารถตรวจสอบได้จากหลายคนหลายระดับ
และสามารถสอบทานไปในตัวว่าคำสั่งหรือนโยบายของผู้นำคืออะไร
การสอดแนมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมจึงมีหลายคนที่ถูกสอดแนมหรือต้องสอดแนมคนจำนวนมาก
ยกตัวอย่าง หากคำสั่งของผู้นำเกี่ยวข้องกับผู้มีหน้าที่จำนวน 100 คน คนทั้ง 100
คนคือผู้อยู่ในข่ายต้องสอดแนมทั้งหมด เรื่องนี้เป็นหลักการจารกรรมที่จะต้องกระทำต่อคนทั้งหมดในเครือข่าย
จึงไม่แปลกใจหากชาวฝรั่งเศสชาวสเปนนับหมื่นนับแสนคนถูกดักฟังทางโทรศัพท์
และเป็นเครื่องเตือนใจว่ายิ่งคำสั่งถูกถ่ายทอดลงไปเรื่อยๆ มากเท่าใดโอกาสที่ข้อมูลจะรั่วไหลย่อมมากขึ้นเท่านั้น
เน้นกรอบการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นหลัก:
เมื่อพิจารณาเรื่องราวที่ปรากฏทางสื่อทั้งหมด
ประเด็นการสอดแนม NSA ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้กรอบการต่อต้านการก่อการร้าย
การดักฟังผู้นำประเทศและแตะประเด็นเรื่องเศรษฐกิจเล็กน้อย ทั้งๆ ที่การจารกรรมการสอดแนมมีขอบข่ายกว้างขวางกว่านี้มาก
รัฐบาลประเทศต่างๆ
นักการเมืองทั้งหลายต่างเน้นหนักอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์และแสวงหาทางออกภายใต้กรอบดังกล่าว
เรื่องดำเนินในทิศทางว่าด้วยแรงกดันทางการเมืองระหว่างประเทศทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ จำต้องปรับการทำงานของ
NSA จำกัดขอบเขตการสอดแนมให้ลดลงกว่าที่เป็นอยู่
ให้มีการตรวจสอบควบคุมภายในที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย ทั้งหมดนี้เพื่อรักษามิตรภาพระหว่างประเทศ
เพื่อความร่วมมืออันดีระหว่างสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรและมิตรประเทศทั้งหลาย และเพื่อให้เรื่องราวอันเนื่องจากการเปิดโปงของนายเอ็ดเวิร์ด
สโนว์เดนจบลงด้วยดี
อย่างไรก็ตาม นายสโนว์เดนยังคงมีข้อมูลลับอีกมาก เรื่องราวของการสอดแนมการจารกรรมของสหรัฐฯ
จึงอาจไม่จบเพียงเท่านี้ น่าติดตามว่าข้อมูลลับชิ้นต่อไปที่ถูกนำออกเผยแพร่คืออะไร
มีผลต่อระบบการจารกรรมของสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร
มกราคม 2557
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน นิตยสารหนังสือข่าวทหารอากาศ. ปีที่ 74 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2557, http://www.airforcemagazine.rtaf.mi.th/main/index.php/e-magazine/117-2557-01.html)
-----------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
บรรณานุกรม:
นับวันคนทั่วโลกจะรับทราบข้อมูลการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐหรือ
NSA และกลายเป็นที่วิพากษ์ว่าเหมาะสมหรือไม่
รัฐบาลหลายประเทศไม่อาจทนนิ่งเฉยต้องหากไม่ต่อต้านการสอดแนมก็คือต่อต้านการเปิดโปง
เรื่องที่เกิดขึ้นมีข้อคิดหลายแง่มุม เช่น
มีความจำเป็นเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนนับล้าน
การกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เรื่องของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนยังไม่จบเพียงเท่านี้
ในยามที่การสอดแนม การจารกรรมจาก NSA กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลก คุณอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้ประกาศนโยบายต่อต้านการสอดแนมอันเกินกว่าเหตุ
ด้วยการริเริ่มและการดำเนินอย่างจริงจัง
ทำให้อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างเข้ามาประสานพลัง ต่อต้านการสอดแนมจาก NSA และได้เห็นแบบอย่างภาวะผู้นำโลกของเยอรมนีในหลายด้าน
1. France condemns US for spying on its
citizens. Al Jazeera. http://www.aljazeera.com/news/europe/2013/10/french-president-condemns-us-spying-2013102122312435733.html
22 October 2013.
2. Spying on allied leaders carries big risks: Our view. USA
Today. http://www.usatoday.com/story/opinion/2013/10/24/nsa-eavesdropping-foreign-leaders-angela-merkel-editorials-debates/3183277/
24 October 2013.
3. Press TV. 21 Nations United Nations Resolution against
the US for Spying on World Leaders. Global Research. 27 October 2013. http://www.globalresearch.ca/21-nations-united-nations-resolution-against-the-us-for-spying-on-woreld-leaders/5355676
accessed 29 October 2013.
4. Merkel calls US spying breach of trust. Al Jazeera.
http://www.aljazeera.com/news/europe/2013/10/merkel-calls-us-spying-breach-trust-2013102416161685214.html
24 October 2013.
5. 'That's Just Not Done': Merkel Comments on Spying
Allegations. Spiegel Online. http://www.spiegel.de/international/germany/merkel-comments-on-allegations-the-us-spied-on-her-cell-phone-a-929870.html
24 October 2013.
6. Herman, Michael. 1996. Intelligence Power in Peace and
War. UK: Cambridge University Press.
7. Lowenthal, Mark. 2009. Intelligence: From Secrets to
Policy. 4th edition. USA: CQ Press.
8. Readout of the President’s Phone Call with Chancellor
Merkel of Germany. The White House. 23 October 2013. http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/10/23/readout-president-s-phone-call-chancellor-merkel-germany
accessed 25 October 2013
9. Cook, Terry L. 1999. Big Brother NSA & its Little
Brother: National Security Agency's Global Surveillance Network. USA: Hearthstone
Pub.
10. The
National Security Agency: Missions, Authorities, Oversight and Partnerships.
National Security Agency. http://www.nsa.gov/public_info/_files/speeches_testimonies/2013_08_09_the_nsa_story.pdf
accessed 28 October 2013.
----------------------