กระแสพลเอกซิซี อียิปต์ต้องการผู้นำเข้มแข็ง ต่อต้านภราดรภาพมุสลิม

และแล้วการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็เสร็จสิ้น สื่อ Ahram Online ของอียิปต์รายงานเบื้องต้นว่ามีผู้ใช้สิทธิ์ทั้งหมด 20,308,358 คน ลงมติรับร่าง 19,538,071 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 97.7 ไม่รับร่าง 475,091 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 2.3 จากผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 52,742,139 คน
            เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2012 ที่เนื้อหาอิงแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) พบว่าฉบับปี 2014 มีผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่าราว 4 ล้านคน (ฉบับปี 2012 มีผู้ใช้สิทธิ์ราว 17.49 ล้านเสียง เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 64 หรือเท่ากับ 11.19 ล้านเสียง)
            หากย้อนกลับไปเมื่อ 6-7 เดือนก่อน ฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีมอร์ซีเห็นว่าพวกตนมีความชอบธรรม ในการเรียกร้องให้รัฐบาลมอร์ซีลาออก เนื่องจากอ้างว่ามีรายชื่อผู้สนับสนุนพวกตนถึง 22 ล้านรายชื่อ ในขณะที่ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซีได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งเพียง 13 ล้านเสียง
            ผู้รับร่างกว่า 19.5 ล้านเสียงนี้นับว่าใกล้เคียงกับรายชื่อผู้สนับสนุนต่อต้านรัฐบาลมอร์ซี แม้ว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทั้งหมด (ทั้งที่รับกับไม่รับร่าง) คิดเป็นเพียงร้อยละ 38 จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั่วประเทศ 52.7 ล้านคน เป็นการยืนยันว่าน่าจะมีผู้ต้องการขับไล่รัฐบาลมอร์ซีมากถึง 20 ล้านคนจริง แต่ไม่ได้ยืนยันว่าคนอียิปต์ส่วนใหญ่เห็นด้วย
            ผลการเลือกตั้งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนที่ชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกับพันธมิตรคว่ำบาตรการลงมติ ฝ่ายรัฐบาลชั่วคราวที่ควบคุมการเลือกตั้งดำเนินการหลายอย่างเพื่อให้ประชาชนลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเกิดกระแสอย่างต่อเนื่องเรียกร้องให้พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี (Abdul Fatah al-Sisi) ผู้นำการรัฐประหารลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
            การวิเคราะห์แนวทางนี้ นอกจากเป็นการปูทางให้พลเอกซีซีแล้ว ยังเป็นการชี้ว่าการรัฐประหารชอบธรรม ก่อการแล้วเสร็จ กำลังนำประเทศสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากเลือกตั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือ การพูดถึงฝ่ายสูญเสียนั่นคือกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
ย้อนรอยการโค่นล้มรัฐบาลมอร์ซี การปราบปรามกลุ่มภราดรภาพมุสลิม :
            ย้อนหลังเดือนมกราคม 2011ชาวอียิปต์จำนวนหนึ่งลุกขึ้นประท้วงประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค พร้อมกับกระแสอาหรับสปริง ด้วยความไม่พอใจที่คนกลุ่มน้อยผู้มีอำนาจเสวยสุข ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก การประท้วงลงเอยด้วยการที่กองทัพยึดอำนาจแบบเงียบๆ 6 เดือนต่อมาประเทศจัดการเลือกตั้ง นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีชนะการเลือกตั้ง ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นประธานาธิบดีของประชาชน
            แต่เนื่องด้วยประธานาธิบดีมอร์ซียึดหลักแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม จึงพยายามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ปี 2012) ที่อิงแนวทางของกลุ่ม แรงต่อต้านเริ่มมีมากขึ้น ผนวกกับข้อกล่าวหาว่าพยายามรวบอำนาจ ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นฟาโรห์องค์ใหม่ กระแสประท้วงรุนแรงมากขึ้นจนกองทัพต้องก่อการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2013 เท่ากับว่าในเวลาไม่ถึง 3 ปี กองทัพก่อการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง
            เรื่องไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะรัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดยประธานาธิบดีอัดลี มานซูร์ (Adly Mansour) ประกาศให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นองค์กรก่อการร้าย ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้วกลุ่มดังกล่าวคือกลุ่มศาสนากลุ่มหนึ่ง ต้องการสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตน แต่ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าคนของกลุ่ม รวมทั้งนายมอร์ซีกระทำความผิดหลายข้อที่ชี้ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
            เมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกลายเป็นองค์กรก่อการร้าย รัฐบาลย่อมมีความชอบธรรม มีหน้าที่ดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ขวากหนามขนาดใหญ่ :
            การปราบปรามกลุ่มภราดรภาพมุสลิมไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงทศวรรษ 1950 สมัยประธานาธิบดีกามัล อับเดล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) เคยทำการปราบปรามอย่างหนักมาครั้งหนึ่งแล้ว ทำให้ อิทธิพลของกลุ่มถดถอยลงไปมาก นักวิเคราะห์บางคนอธิบายว่าประธานาธิบดีนัสเซอร์ไม่ต้องการให้กลุ่มใดมาแข่งอิทธิพลกับตน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มศาสนาหรือพวกสังคมนิยมที่มีอิทธิพลในระยะนั้น
            ในทศวรรษ 1970 กลุ่มเริ่มฟื้นตัวพร้อมกับยุทธศาสตร์ใหม่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือทางสังคม ทำงานผ่านมัสยิด องค์กรการกุศล สามารถตอบสนองความต้องการของชาวอียิปต์จำนวนมากที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเพียงพอ พร้อมกับการเข้าไปมีบทบาทในกลุ่มทางสังคมต่างๆ สมาชิกของกลุ่มได้รับเลือกเป็นตัวแทนขององค์กรวิชาชีพต่างๆ จำนวนมาก ตั้งแต่แพทย์ วิศวกร จนถึงกลุ่มเกษตรกร
            พลังอำนาจของกลุ่มจึงฟื้นคืนมาและสะท้อนผ่านการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองระดับประเทศ กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อ 2005 ผู้สมัครของกลุ่มได้รับคะแนนเสียงจำนวนมากในการเลือกรอบแรก เมื่อมาถึงการเลือกรอบที่ 3 ตำรวจปราบจลาจลจำนวนมหาศาลปรากฏตัวในหลายพื้นที่ เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่คูหา แม้ถูกขัดขวางขนาดนั้นยังกวาดชัยชนะถึง 88 ที่นั่งหรือราวร้อยละ 20 ของที่นั่งทั้งหมด ส่วนกลุ่มอื่นๆ เช่น พวก Nasserists พวกฝ่ายซ้ายและพวกเสรีนิยม รวมแล้วได้ 14 ที่นั่งหรือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
            พลังการชุมนุมประท้วงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เพราะกลุ่มประท้วงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่สามารถระดมคนได้คราวละหลายหมื่นคน มีสมาชิกกระจายทั่วประเทศ ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ได้ระดับพันเท่านั้น
            นักวิเคราะห์บางคนจึงชี้ว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมคือกลุ่มที่มีพลังอำนาจทางการเมืองมากที่สุด รองจากกองทัพเท่านั้น
            จึงไม่แปลกใจเมื่อเกิดอียิปต์สปริง โค่นล้มระบอบมูบารัค มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตามแรงกดดันของชาติตะวันตก ฝ่ายของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมชนะการเลือกตั้ง นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ผู้นำกลุ่มขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี บริหารประเทศตามแนวทางของกลุ่ม
            วิเคราะห์ต่อได้ไม่ยากว่า หากปล่อยให้รัฐบาลมอร์ซีบริหารประเทศต่อเนื่อง ทำการรวบอำนาจบริหาร จะกระทบต่อชนชั้นปกครองดั้งเดิมในที่สุด (ทั้งนี้ยังไม่กล่าวถึงประเด็นกลุ่มประเทศอาหรับไม่สนับสนุนรัฐบาลมอร์ซีซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญอีกข้อทำให้รัฐบาลมอร์ซีต้องล้มไปในที่สุด)
            เหตุผลลึกที่สุดของการประกาศให้เป็นองค์กรก่อการร้าย คือทำให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเปลี่ยนจากกลุ่มที่มีพลังอำนาจทางการเมืองอันดับสองของประเทศ กลายเป็นกลุ่มผิดกฎหมายที่ไม่อาจเกี่ยวข้องกับตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป ชวนให้ตั้งคำถามว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการกุมอำนาจของชนชั้นปกครองเดิมหรือไม่ การรัฐประหาร การลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด คือกระบวนการที่การเมืองอียิปต์หวนเข้าสู่แนวทางดั้งเดิม

อำนาจนิยมกับขนมปัง :
            นับจากอียิปต์ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1922 ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองราชาธิปไตย และเมื่อเกิดการปฏิวัติโดย Free Officers Movement ในปี 1952 อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือของผู้นำกองทัพมาโดยตลอด
            หลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีสัญลักษณ์บางอย่างที่แสดงความเป็นประชาธิปไตย เช่น มีหลายพรรคการเมืองหลายพรรค มีสหภาพแรงงาน มีกลุ่มการเมือง แต่เกือบทั้งหมดเป็นการจัดตั้งเพื่อแสดงภาพลักษณ์เท่านั้น อำนาจการปกครองที่แท้จริงอยู่ในชนชั้นปกครองกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมักเป็นนายทหารกับข้าราชการระดับสูง
            ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ประชาชนอียิปต์ก่อการประท้วงครั้งใหญ่หลายครั้ง แต่ทั้งหมดเป็นการประท้วงเรื่องปากท้องเป็นหลัก ไม่มีการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการหรือต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชัน เช่นในปี 1977 เกิด กบฏอาหาร ประท้วงรัฐบาลที่ลดการอุดหนุนราคาอาหารกับเชื้อเพลิง เหตุการณ์ซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2007 เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกการอุดหนุนแป้งบางชนิด ทำให้ขนมปังขาดตลาด เกิดความวุ่นวายอยู่หลายเดือน
            การโค่นล้มระบอบมูบารัคเมื่อปี 2011 ก็ด้วยเหตุผลจากเรื่องปากท้องเป็นตัวจุดประเด็น แรงกดดันจากชาติมหาอำนาจ ทำให้ผู้นำกองทัพรวมทั้งตำรวจไม่เข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดเหมือนทุกครั้งที่ผ่าน ฝ่ายต่อต้านจึงประสบชัยชนะ นำสู่การเลือกตั้ง และได้ประธานาธิบดีมอร์ซี
            ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาคนอียิปต์จึงประท้วงรัฐบาลเพราะเรื่องปากท้องเป็นหลัก

ประวัตศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ :
            ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปที่สื่ออียิปต์กับสื่อต่างประเทศหลายแห่งประโคมข่าว หากไม่ใช่พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี ผู้นำการรัฐประหาร ก็น่าจะเป็นคนสนิทคนใกล้ชิดของท่าน เป็นอีกหลักฐานที่ชัดเจนว่า ชนชั้นปกครองเดิมกำลังจะเข้าไปควบคุมอำนาจอย่างชอบธรรม (ในขณะนี้เป็นฝ่ายกุมอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว ภายใต้รัฐบาลชั่วคราวที่นำโดยนายมานซูร์ ที่พลเอกซีซีเป็นผู้แต่งตั้ง)
            การลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเพื่อปูทางสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พูดได้อีกนัยได้ว่า การลงมติร่างรัฐธรรมนูญคือขั้นตอนหนึ่งของการเชิญตัวแทนของชนชั้นปกครองขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศอย่างชอบธรรม เป็นไปตามระบบการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่รัฐบาลชาติตะวันตกเรียกร้องตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน
            หากแนวทางการอธิบายข้างต้นถูกต้อง เท่ากับว่าการเมืองการปกครองอียิปต์ ณ วันนี้กำลังหวนคืนสู่ระบอบเดิมๆ ดังเช่นหลายทศวรรษที่ผ่านมา

            หากมองว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมปีที่แล้วคือการที่กองทัพยึดอำนาจคืน ประวัติศาสตร์อียิปต์น่าจะบันทึกว่านับจากได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อกุมภาพันธ์ 1922 อำนาจการปกครองอียิปต์อยู่ในมือของระบอบกษัตริย์หรือทหารมาโดยตลอด มีเพียงกลุ่มภราดรมุสลิมที่สามารถครองอำนาจในช่วงสั้นๆ ราวปีเศษเท่านั้น

            ถ้าอธิบายควบคู่กับความต้องการของประชาชนตามที่สื่อนำเสนอ น่าจะสรุปได้ว่า ณ วันนี้ชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ต้องการกินอิ่มนอนหลับมากกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องการระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ต้องการให้รัฐบาลดูแลระบบเศรษฐกิจ ไม่ต้องการให้คนกลุ่มใดมาก่อความวุ่นวาย ทั้งหมดนี้สื่อหลายแห่งเสนอภาพว่าชาวอียิปต์เห็นว่านายพลซีซีมีความเข้มแข็งมากพอที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว
            แต่ไม่ว่าชาวอียิปต์ต้องการกินอิ่มนอนหลับมากกว่าประชาธิปไตย มากกว่าแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหรือไม่ ในวันข้างหน้าไม่ว่าใครเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมีโอกาสเผชิญหน้ากับมวลชนอีกแน่นอนหากไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง สถานการณ์จะกลับเข้าสู่เมื่อ 3 ปีก่อนอีกรอบ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ต้องติดตามต่อไป

            น่าจะสรุปได้ว่า อียิปต์สปริง หมายถึง การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก แต่ด้วยแรงกดดันจากชาติมหาอำนาจตะวันตก ทำให้แนวทางประชาธิปไตยเข้ามาสอดแทรกในการเมืองอียิปต์มากขึ้น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองอียิปต์ในปัจจุบัน อย่างน้อยก็มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี
            ส่วนที่อียิปต์จะเป็นประเทศประชาธิปไตยจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด คงต้องดูจากรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตว่าจะดำเนินนโยบายปฏิรูปอย่างจริงจังหรือไม่ แต่หากเป็นเพียงลมปาก กลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจการเมืองเศรษฐกิจยังเป็นกลุ่มเดิม ก็ยากจะเชื่อว่าอียิปต์มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ทั้งนี้ทั้งนั้น ประชาชนอียิปต์จำนวนมากอาจไม่สนใจเรื่องทำนองนี้ หากพวกเขายังมีกินมีใช้ตามอัตภาพ หรือหากสภาพการดำเนินชีวิตดีขึ้นเล็กน้อยก็จะสรรเสริญยกย่องรัฐบาล กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแนวทางอธิบายนี้ถูกต้องมากน้อยเพียงใด
            ทุกสังคมทุกประเทศต่างมีบริบท มีค่านิยม วัฒนธรรมทางการเมืองของตน ถ้าพูดว่าต้องการโค่นล้มระบอบมูบารัคเพื่อนำสู่ประชาธิปไตยที่แท้ตามแบบตะวันตก นับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก เพราะแท้ที่จริงแล้วชาวอียิปต์คุ้นเคยกับการอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมดังที่เกิดขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสำคัญคือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันมากกว่า พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ของแต่ละวันไปกับการทำมาหากิน เพื่อที่จะมีกินอิ่มท้องอีกวันหนึ่ง พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลหรือระบอบการปกครองที่ดีหมายถึงจะต้องทำให้พวกเขากินอิ่มนอนหลับ และหากชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ต้องการเช่นนี้ด้วยบริสุทธิ์ใจ ประชาคมโลกก็ควรให้การยอมรับการตัดสินใจดังกล่าว และหากชาวอียิปต์ต้องการปฏิรูปการเมืองตามแนวทางของตน ประชาคมโลกก็ควรให้การสนับสนุน
19 มกราคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6284 วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ.2557)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ในเวลาไม่ถึง 3 ปี ประเทศอียิปต์เกิดเหตุประชาชนขับไล่รัฐบาลมาแล้ว 2 ชุด คือรัฐบาลของประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค กับรัฐบาลของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ทั้งสองครั้งประชาชนผู้สนับสนุนต่างประกาศว่าคือส่วนหนึ่งของอียิปต์สปริง เป็นชัยชนะของประชาชน การชุมนุมทั้งสองครั้งกองทัพอียิปต์เข้าเกี่ยวข้องด้วยเสมอ และสหรัฐมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพอียิปต์มานานหลายทศวรรษแล้ว
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการโค่นล้มระบอบของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค มีรัฐบาลอเมริกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ช่วยให้ประเทศอียิปต์ได้รัฐบาลใหม่ นำโดยประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีโอบามากล่าวกับประธานาธิบดีมอร์ซี ว่าสหรัฐสนับสนุนประชาชนอียิปต์และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของประชาชนอียิปต์ทุกคน
หลังชุมนุมยืดเยื้อ 6-7 สัปดาห์ รัฐบาลก็เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม เหตุการณ์ความรุนแรงลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรอบปีที่ผ่านมาในสมัยที่มอร์ซีเป็นประธานาธิบดี กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลมอร์ซีก็บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากเช่นกัน เพียงแต่สถานการณ์วันนี้สลับฝ่ายสลับขั้ว

บรรณานุกรม:
1. Egyptians turn out to vote on draft constitution. (2014, January 14). Daily News Egypt . Retrieved from http://www.dailynewsegypt.com/2014/01/14/egyptians-turn-out-to-vote-on-draft-constitution/
2. Preliminary results: 97.7% of votes in favour of Egyptian draft constitution. (2014, January 16). Ahram Online. Retrieved from http://english.ahram.org.eg/NewsContent/1/64/91686/Egypt/Politics-/Preliminary-results--of-votes-in-favour-of-Egyptia.aspx
3. In Egypt Charter, New Rights, but No Great Change. (2013, December 1). The New York Times. http://www.nytimes.com/2013/12/02/world/middleeast/in-egypt-charter-new-rights-but-no-great-change.html?_r=0
4. Egypt prepares for worst ahead of Sunday protest. (2013, June 30). AP. Retrieved from http://news.yahoo.com/egypt-prepares-worst-ahead-sunday-protest-074010870.html
5. Naguib, Sameh. (2009). Egypt: The Moment of Change. El-Mahdi, Rabab., & Marfleet, Philip (editors). New York: Zed Books.
6. Muslim Brotherhood is a terrorist organisation: Cabinet. Daily News Egypt. http://www.dailynewsegypt.com/2013/12/25/muslim-brotherhood-terrorist-organisation-cabinet/. 25 December 2013.
----------------------------