บทบาทของสหรัฐอเมริกาต่อการปฏิรูปทางการเมืองอียิปต์

ผ่านมาเกือบสองปีที่ประชาชนอียิปต์จำนวนมากสามารถกดดันให้อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคสละอำนาจตามกระแสการลุกฮือของอาหรับหรือที่บางคนเรียกว่า อาหรับสปริง จากนั้นมีการเลือกตั้งอย่างเสรีได้นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ในอียิปต์กลับมาสู่การชุมนุมประท้วงอีกครั้ง ล่าสุดกลุ่ม National Salvation Front แกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอียิปต์ประกาศต่อต้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเตือนว่าการลงมติดังกล่าวจะยิ่งทำให้ประเทศ “แบ่งแยกและเกิดการต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น ... พวกเราไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าไม่เป็นตัวแทนของคนอียิปต์” เนื่องจากมองว่าคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่คือคนของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม มีแนวทางละเมิดสิทธิสตรีและปฏิเสธเสรีภาพส่วนบุคคล
โฆษกของกลุ่ม National Salvation Front นายคาเดด ดาวู๊ด กล่าวว่า เราเคารพที่ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี “ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ 51.7 แต่อีกร้อยละ 48 ไม่ได้เลือกเขา” นั่นหมายความว่าเขาต้องประนีประนอมเพื่อให้เกิดฉันทามติ
            สถานการณ์ในปัจจุบันจึงเหมือนกับว่าอียิปต์กำลังอยู่ในช่วงอาหรับสปริงอีกรอบ
            ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคืออาหรับสปริงไม่ได้เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติด้วยบริบทภายในประเทศเท่านั้น แต่หลายประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่าเหตุที่ฝ่ายประชาชนสามารถโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เกิดจากการที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาคอยจัดแจงอยู่เบื้องหลัง ขณะเมื่อทางการมีนโยบายปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงแต่ไม่อาจสลายการชุมนุมได้อย่างสมบูรณ์ เพราะฝ่ายทหารประกาศต่อสาธารณะแต่แรกว่าพวกเขาจะไม่ยิงประชาชน เหตุที่ทหารไม่ยิงเพราะรัฐบาลโอบามาได้ติดต่อกับนายทหารของอียิปต์ทุกระดับอย่างใกล้ชิด และขอให้ทหารไม่ใช้ปืนโดยเด็ดขาด เหล่าทหารอียิปต์จึงวางตัวเป็นกลางต่อความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ในขณะที่นักวิเคราะห์บางคนให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าบรรดาผู้นำกองทัพไม่ชอบลูกชายนายมูบารัคเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงยึดแนวทางที่รัฐบาลโอบามาเสนอ
            ดังนั้นภายใต้ข้อมูลข้างต้น สหรัฐฯ จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้ฝ่ายประท้วงสามารถโค่นอำนาจประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค และเท่ากับเป็นผู้สนับสนุนให้นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศอียิปต์คนใหม่นั่นเอง

            ในรอบนี้ที่ประชาชนบางกลุ่มหันมาประท้วงประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี สหรัฐฯ แสดงจุดยืนยืนยันสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยแบบตะวันตก ให้ความสำคัญกับการเคารพหลักนิติรัฐ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช้ความรุนแรงและอาศัยการมีส่วนร่วม เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน รวมทั้งสตรี ชนกลุ่มน้อยและคนในทุกความเชื่อ สร้างสถาบันประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอย่างแท้จริง
            ถ้อยแถลงของรัฐบาลโอบามาหลายชิ้นที่นำเสนอต่อสาธารณะแสดงท่าทีอย่างระมัดระวังต่อทั้งฝ่ายประธานาธิบดีมอร์ซีกับฝ่ายต่อต้าน แต่ในการโทรคุยระหว่างประธานาธิบดีโอบามากับประธานาธิบดีมอร์ซี ได้ย้ำว่าสหรัฐฯ สนับสนุนประชาชนอียิปต์และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของประชาชนอียิปต์ทุกคน
            ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโอบามาสนับสนุนฝ่ายต่อต้านมากกว่าประธานาธิบดีมอร์ซี ขัดแย้งจากเดิมที่สนับสนุนนายมอร์ซีเป็นผู้นำอียิปต์คนใหม่
            เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่ารัฐบาลโอบามาประเมินว่าในขณะนี้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถกุมอำนาจประเทศโดยเด็ดขาด จึงพยายามวางตัวว่าสนับสนุนทุกฝ่าย พร้อมกับคงจุดยืนให้อียิปต์มีความเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกให้มากที่สุด
            อาหรับสปริงของอียิปต์รอบที่แล้วรัฐบาลโอบามาสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน มารอบนี้ยังไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเด็ดขาด แต่สหรัฐอเมริกายังคงพยายามชี้นำและจัดแจงอาหรับสปริงในอียิปต์ให้เป็นไปตามทิศทางที่ตนต้องการแม้ไม่สมบูรณ์เต็มร้อยก็ตาม
10 ธันวาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------------
บรรณานุกรม:
1. An American Coup in Egypt? http://english.al-akhbar.com/node/14286
2. Muslim Brotherhood Victory in Egypt Presidential Election Reveals Flaws of US Foreign Policy. http://www.policymic.com/articles/10297/muslim-brotherhood-victory-in-egypt-presidential-election-reveals-flaws-of-us-foreign-policy
3. PRESIDENT OBAMA'S PHONE CALL WITH EGYPTIAN PRESIDENT MORSI. http://www.uspolicy.be/headline/president-obamas-phone-call-egyptian-president-morsi)
4. STATE'S BURNS ON U.S. MIDDLE EAST POLICY. December 8, 2012, http://www.uspolicy.be/headline/states-burns-us-middle-east-policy
.......................