เจ้าชาย Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz แห่งซาอุดิอาระเบียเขียนบทความลงสื่อ
New York Times เมื่อต้นสัปดาห์ (17 ธันวาคม) ชี้ว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมาชาติตะวันตกกับซาอุฯ
ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีต่อกันนานหลายทศวรรษ
แต่มาวันนี้ความสัมพันธ์เหล่านี้กำลังถูกทดสอบจากความเห็นต่างต่อเรื่องอิหร่านกับซีเรีย
รัฐบาลซาอุฯ ไม่อาจทนนิ่งเงียบนิ่งเฉยอีกต่อไปเพราะนโยบายชาติตะวันตกต่ออิหร่านกับซีเรียหลายข้ออาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคตะวันออกกลาง
มุมมองที่แตกต่าง:
การที่เจ้าชายพูดว่าวิกฤตการณ์ซีเรียยังผลทำให้พลเรือนเสียชีวิตแล้วกว่าแสนราย
และส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ กระสุนปืนใหญ่ที่ยิงใส่เขตพื้นที่พลเรือน
เป็นความพยายามชี้ว่ารัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาดเป็นฝ่ายผิดกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ
แต่หากมองในมุมของรัฐบาลซีเรีย ย่อมเห็นว่ารัฐบาลกำลังปกป้องกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่พยายามจะล้มล้างประเทศ
และเป็นเรื่องจริงที่ว่าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้มาจากหลากหลายกลุ่ม
ตั้งแต่พวกสายกลางจนถึงพวกที่อิงกับอัลกออิดะห์ที่ชาติตะวันตกประกาศว่าจะต้องปราบปราม
นอกจากนี้ยังประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ
ตั้งแต่พวกที่มาจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง
พวกที่มาจากทวีปแอฟริกาและแม้กระทั่งพวกที่มาจากยุโรป ความขัดแย้งในซีเรียจึงซับซ้อน
ไม่อาจยุติได้ด้วยการเจรจากับฝ่ายต่อต้านเพียงไม่กี่กลุ่ม
อีกสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเป็นแสน
คือ ทั้งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านต่างได้รับการสนับสนุนปัจจัยการรบจากมิตรประเทศ กองทัพรัฐบาลอัสซาดได้จากรัสเซีย
อิหร่าน ส่วนฝ่ายต่อต้านได้จากซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ และเชื่อได้ว่าบางส่วนมาจากอังกฤษ
ฝรั่งเศสและสหรัฐ
ต่อเรื่องอิหร่าน
บทความได้กล่าวโจมตีชาติตะวันตกที่ยินยอมให้อิหร่านสามารถเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมต่อไป
และด้วยความเชื่อที่ว่ารัฐบาลอิหร่านต้องการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ จึงเห็นว่าข้อตกลงที่เจนีวาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนจะเป็นเหตุให้อิหร่านยังคงมีศักยภาพที่จะสร้างอาวุธร้ายแรงในอนาคต
เป็นภัยคุกคามต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โลกอาหรับอย่างไม่สิ้นสุด
ในขณะที่กลุ่ม P-5+1 เห็นด้วยกับข้อตกลงเจนีวา
เพราะภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวโครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะถูกจำกัดขอบเขตให้เป็นการใช้นิวเคลียร์ในทางสันติเท่านั้น
หากพิจารณาเนื้อหาข้อตกลงจะพบว่ากิจกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมดอยู่ภายใต้การตรวจตราอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
(IAEA) หากรัฐบาลอิหร่านในอนาคตตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์
เชื่อว่าจะถูกตรวจจับได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อนั้นชาติมหาอำนาจจะไม่ลังเลที่จะตอบโต้อย่างรุนแรง
จุดอ่อน:
บทความของเจ้าชาย
Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz พบว่ามีจุดอ่อนที่สำคัญ ดังนี้
ประการแรก
ขาดการให้ความสำคัญต่อบทบาทของรัสเซียกับจีน
ตลอดทั้งบทความไม่ได้กล่าวถึงรัสเซียกับจีนซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งกรณีซีเรียกับอิหร่าน
เป็นไปได้ว่าบทความดังกล่าวต้องการเจาะจงพูดถึงชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ต้องตระหนักว่าไม่อาจเพิกเฉยต่อบทบาทของรัสเซียกับจีน
ซึ่งเห็นชัดว่านโยบายรัฐบาลซาอุฯ ขัดแย้งกับสองประเทศนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะรัสเซียที่พยายามชี้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียอาจเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชน
ชี้ว่าการใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมทำให้พลเรือนหลายร้อยคนเสียชีวิตนั้นปราศจากหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือ
เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้รัฐบาลโอบามา อังกฤษและฝรั่งเศสต้องระงับแผนการโจมตีกองทัพรัฐบาลซีเรีย
นอกจากนี้รัสเซียยังช่วยสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้า Bushehr จนแล้วเสร็จ เป็นหลักฐานชี้ว่ารัสเซียสนับสนุนการที่อิหร่านจะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ
ประการที่สอง รัฐบาลซาอุฯ พยายามผลักดันให้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
ประการที่สอง รัฐบาลซาอุฯ พยายามผลักดันให้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
ที่สุดแล้ว
หากสหรัฐกับชาติสมาชิกอียูบางประเทศ
โดยเฉพาะฝรั่งเศสกับอังกฤษกระทำตามข้อเรียกร้องของซาอุฯ จะหมายถึงการโจมตีซีเรียโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
กดดันคว่ำบาตรอิหร่านเพื่อบีบรัฐบาลอิหร่านให้สละสิทธิ์การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเพื่อใช้ในทางสันติ
อันเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่อิหร่านพึงมีเฉกเช่นบรรดาประเทศทั้งหลายในโลก
หากสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสยอมกระทำตามโจมตีกองทัพรัฐบาลอัสซาด
ประวัติศาสตร์โลกจะจารึกเรื่องนี้อย่างไร
คนในรุ่นนี้และอนาคตจะรับรู้ว่ารัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสอยู่ใต้การชี้นำของรัฐบาลซาอุฯ
หรือไม่ หรือหากรัฐบาลโอบามาโจมตีซีเรียโดยลำพัง จะเป็นอีกครั้งที่ชาติมหาอำนาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่
เป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติหรือไม่
ประการที่สาม
แปลกแยกจากจุดยืนของรัฐบาลโอบามา
หากรัฐบาลโอบามากระทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลซาอุฯ
ประเทศสหรัฐอาจต้องพัวพันกับความวุ่นวายในซีเรียกับอิหร่านไปอีกนาน ไม่มีอะไรประกันได้ว่าการโจมตีทางอากาศจะช่วยโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด
และหากระบอบอัสซาดล่มสลายก็ใช่ว่าจะทำให้ซีเรียคืนสู่ความสงบสุข ตลอด 10
ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่กองทัพสหรัฐโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก จนมาถึงการล่มสลายของระบอบกัดดาฟี่แห่งลิเบีย
ระบอบมูบารัคแห่งอียิปต์จากอาหรับสปริง ล้วนแต่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าประเทศเหล่านี้ยังไม่สงบสุข
เป็นที่ถกเถียงว่าประชาชนของประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือไม่
และหากต้องการโค่นล้มระบอบอิหร่านคงต้องกระทำอีกหลายขั้นตอน
กินเวลาอีกหลายปี รวมถึงอาจต้องส่งกองทัพนับแสนคนเข้าทำสงครามบนผืนแผ่นดินอิหร่าน
ตลอด
5 ปีของการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีโอบามาแสดงท่าทีลังเลใจต่อการโจมตีซีเรียมาโดยตลอด
แม้มีข่าวเรื่องการใช้อาวุธเคมีที่ประธานาธิบดีโอบามาถือว่าเป็นการล้ำเส้นต้องห้ามก็ตาม
ที่สุดแล้วประธานาธิบดีโอบามาโยนเรื่องการโจมตีซีเรียให้รัฐสภาตัดสินใจ
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกและไม่จำเป็น เนื่องจากในกรณีเช่นนี้
ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มสามารถสั่งใช้กำลังได้ด้วยตนเอง
ทำนองเดียวกับกรณีโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
รัฐบาลโอบามายืนยันเสมอว่าโครงการดังกล่าวยังห่างไกลจากการพัฒนาเป็นอาวุธ พร้อมกับกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าต้องการแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิถีทางการทูต
เห็นชัดว่านโยบายของซาอุฯ แตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลโอบามา
ประการที่สี่ รัฐบาลซาอุฯ กำลังโดดเดี่ยวตัวเองหรือไม่
เป็นที่เข้าได้ว่ารัฐบาลซาอุฯ ในฐานะพี่ใหญ่ของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ
(GCC) พยายามมีบทบาทในโลกอาหรับ ย่อมต้องแสดงบทบาทผู้นำ
ที่ผ่านมานับว่าประสบผลสำเร็จในหลายเรื่อง แต่การแสดงบทบาทโดยลำพังจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร
ที่ผ่านมาเห็นอยู่แล้วว่าต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากชาติตะวันตก และแม้หลายประเทศสนับสนุนแต่สุดท้ายก็ไม่อาจประสบผลเสมอไป
ดังนั้น หากซาอุฯ ยังพยายามดำเนินต่อด้วยตนเองตามลำพังจะได้ผลมากน้อยเพียงไร มีแต่จะยิ่งตอกย้ำจุดยืนที่แปลกแยกแตกต่างจากชาติตะวันตก
แนวทางเช่นนี้จะเป็นการโดดเดี่ยวตนเองหรือไม่
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป:
จากเรื่องราวทั้งหมด
ทำให้ได้ข้อสรุปค่อนข้างชัดเจน หลายประการ ดังนี้
ประการแรก
รัฐบาลซาอุฯ อยู่เบื้องหลังกดดันสหรัฐ
เหตุการณ์ที่รัฐบาลโอบามาทำท่าจะโจมตีทางอากาศต่อกองทัพอัสซาดหลังจากแสดงท่าทีลังเลใจนานนับปี
เหตุการณ์ที่ซาอุฯ ปฏิเสธรับตำแหน่งสมาชิกชั่วคราวของคณะมนตรีความมั่นคง
จนถึงบทความล่าสุดของเจ้าชาย Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz ล้วนชี้ว่าซาอุฯ
คือประเทศหลักที่กดดันให้รัฐบาลโอบามาต่อต้านรัฐบาลอัสซาด
จนถึงขั้นเรียกร้องให้โจมตีโค่นล้มระบอบอัสซาด
ส่วนกรณีการคว่ำบาตรอิหร่านนั้น
หากไม่นับรัฐบาลอิสราเอล ซาอุฯ กับพวกเป็นอีกฝ่ายที่ร้องขอรัฐบาลโอบามากดดันอิหร่านยกเลิกการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม
รัฐบาลซาอุฯ อาจมีเป้าหมายที่ลึกกว่านี้ เพราะมองว่ารัฐบาลอิหร่านเป็นภัยคุกคามไม่ว่าจะด้วยอาวุธนิวเคลียร์
หรือกระแสอาหรับสปริงในบาห์เรน ที่รัฐบาลบาห์เรนอ้างว่ากลุ่มผู้ประท้วงอยู่ภายใต้การชี้นำของอิหร่าน
ประการที่สอง
ซาอุฯ ผู้จัดระเบียบตะวันออกกลาง
เรื่องราวทั้งหมดนี้อธิบายได้ว่ารัฐบาลซาอุฯ
กำลังจัดระเบียบตะวันออกกลางกับแอฟริกาตอนเหนือ เป็นการขยายบทบาทของซาอุฯ กับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ
(GCC) ระบอบซีเรียกับอิหร่านคือหนึ่งในเป้าหมายเฉพาะหน้าในขณะนี้ บทความของเจ้าชาย
Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz เป็นเพียงการตอกย้ำความเป็นผู้นำภูมิภาคของซาอุฯ
กล่าวโทษชาติตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลโอบามา แต่ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อนโยบายของสหรัฐแต่อย่างไร
ประการที่สาม
อนาคตที่ไม่แน่นอน
นายบารัก
โอบามากำลังจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 5 ปีในต้นปีหน้า นั่นหมายความว่ารัฐบาลซาอุฯ
ยังต้องอยู่ในกับนโยบายสหรัฐเช่นนี้ต่ออีก 3 ปี ต้องรอลุ้นว่าอีก 3 ปีจากนี้สหรัฐจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีนโยบายตรงข้ามกับประธานาธิบดีโอบามาหรือไม่
แม้มีความเป็นไปได้ต่ำแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ในอนาคตสหรัฐอาจได้ประธานาธิบดีที่เห็นว่าควรส่งกองทัพเข้าตะลุยในดินแดนของซีเรียกับอิหร่าน
เป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ที่ควรเก็บไว้ในใจเสมอ สหรัฐกับชาติตะวันตกยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค
อีกคำถามสำคัญคือ
ภายใต้การจัดระเบียบตะวันออกกลางของซาอุฯ แผนการที่มีต่อประเทศอิสราเอลเป็นอย่างไร
ในเมื่อรัฐบาลซาอุฯ กับประเทศในกลุ่ม GCC ยังคงแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่อิสราเอลกดขี่ข่มเหงปาเลสไตน์
อิสราเอลยังคงก่อสร้างบ้านเรือนลุกล้ำพื้นที่ยึดครองปาเลสไตน์มากขึ้นทุกที ในขณะที่อิสราเอลเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ
หากซาอุฯ ไม่สามารถจัดการซีเรียกับอิหร่าน การจะจัดการอิสราเอลจะยิ่งยากกว่านั้นสักเท่าใด
จะคำนวณผลประโยชน์ระหว่างชาติตะวันตก กลุ่มซาอุฯ และอิสราเอลอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องแก้สมการซับซ้อนหลายชั้น
ยากแก่การตัดสินใจจริงๆ
22 ธันวาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6257 วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6257 วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2556)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ซาอุดิอาระเบียปฏิเสธเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
เมื่อศึกษาโดยละเอียดพบว่าทางการซาอุฯ ไม่พอใจการดำเนินนโยบายของรัฐบาลโอบามาต่อตะวันออกลาง
ในยามที่ซาอุฯ กับมิตรประเทศอาหรับกำลังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบตะวันออกกลาง
บรรณานุกรม:
1. Prince Mohammed bin Nawaf bin
Abdulaziz. Saudi Arabia Will Go It Alone. New York Times. http://www.nytimes.com/2013/12/18/opinion/saudi-arabia-will-go-it-alone.html?_r=0.
17 December 2013.
2. Syria Foreign Ministry's letters to
UN Security Council and the UN Secretary General. Armweeklynews. http://www.armweeklynews.am/awn/e12/en_1054.htm17 March 2012.
3. Putin to Cameron: No evidence Syria chemical weapons
attack occurred. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/world/110333-putin-to-cameron-no-evidence-syria-chemical-weapons-attack-occurred.
27 August 2013.
4. Russia to Deliver Control of Bushehr N. Power Plant to
Iran in 2 Months. FNA. http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13920606000887.
28 August 2013.
5. Lynch, Marc. 2012. The Arab Uprising: The Unfinished
Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.
------------------------