ผลประโยชน์แห่งชาติร่วมและการขัดแย้ง กรณีออสเตรเลียดักฟังอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำออสเตรเลียกลับประเทศหลังจากมีข้อมูลว่าหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียดักฟังโทรศัพท์มือถือผู้นำประเทศ นายมาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวโจมตีโดยอ้างอิงข้อมูลของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนที่เปิดเผยผ่านสื่อว่าเมื่อปี 2009 หน่วยข่าวกรองออสเตรเลียสอดแนมบุคคลสำคัญของอินโดนีเซีย 10 คน ได้แก่ ประธานาธิบดีกับภรรยาและบุคคลในรัฐบาลอีก 8 คน พฤติกรรมดังกล่าวเป็น “การกระทำที่ไม่เป็นมิตร ไม่ใช่ลักษณะความสัมพันธ์ของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี
            ด้านนายโทนี แอบบอตต์ (Tony Abbott) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียปกป้องสิทธิ์ในงานข่าวกรองที่จำต้องมีเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติพร้อมกับอ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตร ไม่ใช่เพื่อทำร้าย “รัฐบาลทุกประเทศเก็บข้อมูลและรัฐบาลทุกประเทศรู้ว่ารัฐบาลอื่นๆ เก็บข้อมูล” ท่าทีของนายกฯ แอบบบอตต์ชี้ว่าไม่ได้กระทำอะไรผิด การข่าวเพื่อประโยชน์ของมิตรประเทศ และทุกประเทศก็กระทำในลักษณะเดียวกัน
            ฝ่ายอินโดนีเซียไม่เห็นด้วย เห็นว่าการปกป้องการดักฟังเป็นเรื่องการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ประธานาธิบดียูโดโยโนกล่าวว่า “การกระทำดังกล่าวจากสหรัฐกับออสเตรเลียกำลังทำลายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอินโดนีเซีย”
            รัฐมนตรีนาตาเลกาวาตั้งคำถาม “ผมต้องการคำตอบอย่างยิ่งว่าทำไมการสนทนาส่วนตัวระหว่างท่านประธานาธิบดีกับภรรยาจึงสำคัญต่อความมั่นของออสเตรเลีย” พร้อมกับเรียกร้องขอคำโทษ และออสเตรเลียจะต้องให้คำมั่นว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ผลประโยชน์แห่งชาติ เรื่องที่ประนีประนอมไม่ได้:
            ในหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมื่อเอ่ยถึงผลประโยชน์แห่งชาติ ทุกรัฐบาล นักการเมืองทุกคนย่อมต้องประกาศตัวรักษาผลประโยชน์แห่งชาติสุดกำลัง ข้อดีคือประเทศได้รับประโยชน์ ข้อเสียคืออาจเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งเมื่อฝ่ายหนึ่งได้แต่อีกฝ่ายเสีย กรณีออสเตรเลียดักฟังโทรศัพท์ผู้นำอินโดนีเซียก็เข้าข่ายนี้
            เมื่อเรื่องราวปรากฏเพื่อข่าวที่รู้กันทั่ว บรรดารัฐมนตรี นักการเมืองในสังกัดของประธานาธิบดียูโดโยโนต่างดาหน้าออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าว ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ การเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ การระงับการแลกเปลี่ยนข่าวกรองคือส่วนหนึ่งของการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม
            ไม่ต่างจากรัฐบาลของนายกฯ แอบบอตต์ที่ต้องกล่าวปกป้องการสอดแนม เพราะเป็นผลประโยชน์แห่งชาติเช่นกัน “ทุกประเทศ ทุกรัฐบาลทำการเก็บข้อมูล ไม่ใช่เรื่องประหลาด ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ” รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแบ่งปันข้อมูลให้กับอินโดนีเซียมากขึ้น “เพราะข้าพเจ้าต้องการให้ประชาชนอินโดนีเซียรู้ทุกเรื่อง และรู้ว่าทุกอย่างที่เราทำคือเพื่อช่วยเหลืออินโดนีเซียเช่นเดียวกับที่ช่วยเหลือออสเตรเลีย อินโดนีเซียคือประเทศที่ข้าพเจ้าให้ความเคารพอย่างยิ่ง”
            ลักษณะการพูดของนายกฯ แอบบบอต์คือปกป้องการสอดแนม เป็นการแสดงตัวว่าปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ พร้อมกับพยายามชี้ว่าการกระทำดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ของอินโดนีเซียด้วย การชี้แจงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์หลายด้านที่ต้องรักษา คือ ผลประโยชน์ของประเทศ ผลประโยชน์ในความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียและกับสหรัฐซึ่งมีความทับซ้อน มีความเข้ากันได้และการขัดแย้งกัน การมุ่งผลประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของอีกด้าน เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

            ฝ่ายอินโดนีเซียย่อมไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจง ประธานาธิบดียูโดโยโนเดินหน้ารุกต่อ กล่าวตอบโต้ว่า “ข้าพเจ้าเสียใจอย่างยิ่งที่นายกฯ ออสเตรเลียเห็นว่าให้การดักฟังอินโดนีเซียเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่รู้สึกผิด”
            รัฐบาลยูโดโยโนเรียกร้องการขอโทษ (apologize) แต่การขอโทษอาจไม่ใช่เพียงการกล่าวอย่างเป็นทางการเท่านั้น อาจมีข้อเรียกร้องอื่นที่ต้องกระทำ เช่น ยุติการดักฟังผู้นำประเทศ นักการเมืองทั้งหมด เป็นการแก้ไขตามข้อมูลที่เปิดเผยออกมา ทำให้รัฐบาลแอบบอตต์ต้องคิดหนัก
             นายกฯ แอบบอตต์พยายามแก้เกมด้วยการกล่าวเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมรัฐสภา “ออสเตรเลียให้ความเคารพต่อรัฐบาลและประชาชนอินโดนีเซียอย่างสูง ... ข้าพเจ้าถือว่าประธานาธิบดียูโดโยโนเป็นเพื่อนที่ดีของออสเตรเลีย อันที่จริงเป็นหนึ่งในเพื่อนที่ดีที่สุดที่เรามีในโลกนี้ นี่จึงเป็นเหตุที่ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจ (sincerely regret) ต่อรายงานข่าวอันน่าอับอายทุกชิ้นเมื่อไม่นานนี้ที่กระทบต่อท่าน” แต่ “อย่าได้คาดหวังว่าประเทศออสเตรเลียจะขอโทษ (apologize) ในสิ่งที่เรากระทำเพื่อปกป้องประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นตอนนี้หรือในอดีต” เหมือนกับที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ จะไม่ขอโทษในการกระทำในลักษณะเดียวกันนี้ พร้อมกับยืนยันว่าในกรณีของออสเตรเลีย “เราใช้ทรัพยากรทั้งสิ้นที่เรามี รวมทั้งเรื่องข้อมูล (information) เพื่อช่วยเหลือมิตรประเทศและพันธมิตรของเรา”
            นี่เป็นการแก้เกมของรัฐบาลแอบบอตต์ที่แสดงความเสียใจ (regret) แต่ไม่ขอโทษ (apologize) พร้อมกับให้เหตุผลว่าทุกประเทศก็กระทำการสอดแนม และไม่มีรัฐบาลใดจะขอโทษในพฤติกรรมเช่นนี้

            ผลที่ตามมาคือรัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่พอใจ ไม่ถือว่าการแถลงในรัฐสภาดังกล่าวคือคำชี้แจงหรือการตอบสนองที่เพียงพอ ประธานาธิบดียูโดโยโนกล่าวย้ำอีกครั้งว่า “ประเทศอินโดนีเซียและข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมออสเตรเลียจึงดักฟังเจ้าหน้าที่บางคน รวมทั้งข้าพเจ้า นี่ไม่ใช่ยุคสงครามเย็น” ด้านรัฐมนตรีมาร์ตีกล่าวว่ารัฐบาล “กำลังลดความร่วมมือทีละด้าน” เหมือนน้ำประปาที่ไหลออกเรื่อยๆ
            สถานการณ์จึงดูเหมือนว่ารัฐบาลแอบบอตต์ตกเป็นรอง เป็นฝ่ายถูกโจมตี รัฐบาลแอบบอตต์ยืดอกประกาศรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งสองฝ่ายอยู่ในฐานะเดียวกันคือรัฐบาลผู้มีหน้าที่ต้องปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ

ผลประโยชน์แห่งชาติระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซียและสหรัฐ:
            ออสเตรเลียกับอินโดนีเซียเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง แม้ว่าชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายตะวันตก พูดภาษาอังกฤษ มีวัฒนธรรมแบบตะวันตก และในขาข้างหนึ่งพยายามอิงว่าตนเป็นพวกตะวันตก แต่ที่หลีกไม่พ้นคือตัวกับขาอีกข้างอยู่ติดกับทวีปเอเชีย อยู่ทางตอนใต้ของอาเซียน ติดกับอินโดนีเซีย
            ส่วนอินโดนีเซียแม้จะถูกรัฐบาลออสเตรเลียสอดแนมเรื่อยมานานหลายทศวรรษ มีเรื่องเห็นตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง โดยรวมแล้วสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมจำนวนมาก อินโดนีเซียยังต้องร่วมมือกับออสเตรเลียในการต่อต้านการก่อร้าย ไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของตนดังเช่นเหตุที่เกาะบาหลีเมื่อปี 2002 สังหารนักท่องเที่ยวกว่า 2 ร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินมากที่สุดจากออสเตรเลีย สองประเทศมีข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคง วัฒนธรรม การศึกษา บริษัทออสเตรเลียจำนวนมากเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่
            หากออสเตรเลียไม่อาจตัดสัมพันธ์กับอินโดนีเซีย การตัดสัมพันธ์กับสหรัฐยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าจะเอ่ยเฉพาะงานข่าวกรอง ออสเตรเลียเป็นหนึ่งสมาชิก  “Five Eyes” กลุ่มพันธมิตรเพื่อการสอดแนม 5 ชาติ มีสหรัฐเป็นแกนนำ ถ้อยแถลงของนายกฯ แอบบอตต์ต่อรัฐสภายืนยันจุดยืนดังกล่าวชัดเจน พูดชัดๆ คือออสเตรเลียจะทำการสอดแนมต่อไป
            หรือจะถ้าจะดูความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐ การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับชาติมหาอำนาจเป็นเรื่องสำคัญยิ่งไม่ว่าจะมองในมิติใด ถ้าอธิบายแบบสั้นๆ จะพบว่าในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รัฐบาลอินโดนีเซียแทบไม่เอ่ยถึงสหรัฐ ไม่พยายามกล่าวโทษ ทั้งๆ ที่เป็นที่รู้กันว่าออสเตรเลียเป็นหนึ่งในเครือข่ายเท่านั้น เจ้าของระบบสอดแนมและผู้ต้องการข้อมูลตัวจริงคือรัฐบาลอเมริกัน

เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง:
            ในเรื่องราวที่เกิดขึ้น การตอบโต้ไปมา หากไม่พูดถึงความเกี่ยวโยงกับการเมืองภายในประเทศจะทำให้เข้าใจไม่ครบถ้วน
            อินโดนีเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในกลางปีหน้า ในขณะที่พลพรรคของประธานาธิบดียูโดโยโนกำลังย่ำแย่ สังคมเต็มด้วยการคอร์รัปชัน นักการเมืองคนสำคัญหลายคนของพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต สังคมมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งของกลุ่มศาสนา นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านอย่าง Kopassus น่าจะได้คะแนนเพิ่ม การแสดงท่าทีขึงขังต่อการดักฟังโทรศัพท์อาจช่วยดึงคะแนนเสียงให้กับพลพรรคผู้สนับสนุนได้บ้าง หรืออย่างน้อยไม่เป็นเหตุให้เสียคะแนนมากกว่าที่เป็นอยู่
            ไม่ต่างจากรัฐบาลแอบบอตต์ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อไม่นาน ฝ่ายค้านจ้องหาโอกาสเล่นงานรัฐบาลมือใหม่
            หากพิจารณาเรื่องราวทั้งหมด ทั้งสองรัฐบาลแตะเรื่องการสอดแนมอย่างผิวเผิน จำกัดขอบเขตเฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าวเท่านั้น ไม่มีฝ่ายเรียกร้องให้อีกฝ่ายเลิกการล้มสอดแนมทั้งหมดเพราะเป็นไปไม่ได้ การสอดแนมจึงยังดำเนินต่อไป บรรดานักการเมืองทั้งสองฝ่ายต่างรู้ดี ดังนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงงานข่าวกรองของแต่ละประเทศอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีผลต่อการเมืองภายในประเทศ

            ประเด็นที่ควรคิดต่อคือเรื่องนี้ควรจบอย่างไร การลงเอยแบบใดจึงจะเรียกว่าได้ดูแลผลประโยชน์แห่งชาติมากที่สุด แบบใดที่ต่างฝ่ายต่างไม่เสียคะแนนนิยมภายในประเทศ เป็นไปได้ว่าอาจจบลงที่สมัชชาสหประชาชาติประกาศข้อมติเรียกร้องยกเลิกการสอดแนมผู้นำประเทศ ลดการสอดแนมที่ไม่สมเหตุผล
            เรื่องเหล่านี้คือหัวข้อที่ตัวแทนของสองรัฐบาลต้องพูดคุยส่วนตัว (เป็นไปได้ว่าอาจพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์เพราะสะดวกที่สุด ตัวแทนแต่ละฝ่ายสามารถสนทนาได้โดยตรง) เวลาจะเป็นเครื่องมือเยียวยาที่ดีจนกว่าสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายเบื้องลึกที่ต้องการ และจนกว่าจะมีข้อมูลใหม่จากนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน
24 พฤศจิกายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6229 วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2556)
---------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ในยามที่การสอดแนม การจารกรรมจาก NSA กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลก คุณอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้ประกาศนโยบายต่อต้านการสอดแนมอันเกินกว่าเหตุ ด้วยการริเริ่มและการดำเนินอย่างจริงจัง ทำให้อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างเข้ามาประสานพลัง ต่อต้านการสอดแนมจาก NSA และได้เห็นแบบอย่างภาวะผู้นำโลกของเยอรมนีในหลายด้าน
นับวันคนทั่วโลกจะรับทราบข้อมูลการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐหรือ NSA และกลายเป็นที่วิพากษ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ รัฐบาลหลายประเทศไม่อาจทนนิ่งเฉยต้องหากไม่ต่อต้านการสอดแนมก็คือต่อต้านการเปิดโปง เรื่องที่เกิดขึ้นมีข้อคิดหลายแง่มุม เช่น มีความจำเป็นเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนนับล้าน การกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เรื่องของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนยังไม่จบเพียงเท่านี้

บรรณานุกรม:
1. Jakarta retaliates over spy claims. The Australian. http://www.theaustralian.com.au/national-affairs/policy/jakarta-retaliates-over-spy-claims/story-fn59nm2j-1226762903398# 18 November 2013.
2. Indonesia Reviews Cooperation With Australia Over Spy Claims. Jakarta Globe/AFP. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-reviews-cooperation-with-australia-over-spy-claims/ 19 November 2013.
3. Indonesia Recalls Ambassador From Australia Over Spy Allegations. Jakarta Globe. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-recalls-ambassador-from-australia-over-spy-allegations/ 18 November 2013.
4. Australia's spy agencies targeted Indonesian president's mobile phone. The Guardian. http://www.theguardian.com/world/2013/nov/18/australia-tried-to-monitor-indonesian-presidents-phone 18 November 2013.
5. Abbott treating spy issue 'too lightly', Indonesian President Yudhoyono says. The Australian. http://www.theaustralian.com.au/national-affairs/policy/indonesian-ambassador-to-fly-to-jakarta-alone-to-tell-sby-spying-story/story-fn59nm2j-1226763037214 19 November 2013.
6. Australian PM ‘Regrets Any Embarrassment’ to Indonesia. Jakarta Globe/AFP. http://www.thejakartaglobe.com/news/australian-pm-regrets-any-embarrassment-to-indonesia/ 19 November 2013.
7. Tony Abbott refuses to apologise for Indonesian spying program. The Sydney Morning Herald. http://www.smh.com.au/federal-politics/political-news/tony-abbott-refuses-to-apologise-for-indonesian-spying-program-20131119-2xsn4.html 19 November 2013.
8. Indonesia Suspends People Smuggling Cooperation Following Australia Spy Scandal. Jakarta Globe/AFP. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-suspends-intelligence-military-cooperation-with-australia/ 20 November 2013.
9. Tempers Flare in Indonesia Over Australia Spy Scandal. Jakarta Globe. http://www.thejakartaglobe.com/news/tempers-flare-in-indonesia-over-australia-spy-scandal/ 20 November 2013.
--------------------