นโยบายโจมตีซีเรีย ประเด็นถกเถียงประชาธิปไตยอเมริกา

สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียดำเนินต่อเนื่องมาสองปีครึ่งแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงหนึ่งแสนคนในปัจจุบัน พร้อมกับผู้อพยพออกจากประเทศอีกราว 2 ล้าน มีข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงในซีเรียอย่างต่อเนื่อง และช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมากลายเป็นประเด็นร้อนของโลกเมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามาประกาศคิดจะโจมตีซีเรียเนื่องจากการใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม
            บทความนี้จะวิเคราะห์วิพากษ์ประเด็นถกเถียงระบอบประชาธิปไตยอเมริกาโดยนำนโยบายโจมตีซีเรียเป็นกรณีตัวอย่าง มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
            ประการแรก ฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติควรฟังเสียงประชาชนหรือฟังหลักเหตุผล
            ในขณะที่ประธานาธิบดีโอบามายืนยันว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี เห็นว่าการอยู่นิ่งเฉยจะเป็นเหตุให้มีผู้ใช้อาวุธเคมีอีกในอนาคต และอาวุธดังกล่าวอาจตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายและนำมาโจมตีอเมริกาในที่สุด สั่งการหน่วยงานความมั่นคงเตรียมการโจมตี ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และหลายประเทศในโลกอาหรับให้การสนับสนุนรัฐบาลโอบามาอย่างเต็มที่ แต่ผลสำรวจของ CNN/ORC ชี้ว่าชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 70 ไม่ต้องการให้รัฐสภาอนุมัติโจมตีซีเรีย ด้วยเหตุผลว่าการโจมตีไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ สหรัฐไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองซีเรีย ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับอีกหลายสำนักวิจัยที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าประชาชนกว่าครึ่งไม่ต้องการให้ประเทศโจมตีซีเรีย
            คำถามคือประธานาธิบดีควรตัดสินใจอย่างไร เมื่อรัฐบาลเห็นว่าควรโจมตีด้วยเหตุผลต่างๆ นานาแต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
            น่าเสียดายที่ประธานาธิบดีโอบามาสั่งให้รัฐสภาหยุดพิจารณาเรื่องการโจมตีซีเรียไว้ก่อน เนื่องจากเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัสเซียที่ต้องการให้สหประชาชาติเข้าควบคุมอาวุธเคมีในซีเรีย แต่ยังเป็นคำถามว่าหากไม่มีทางออกจากรัสเซีย รัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไร จะฟังเสียงของประชาชนหรือฟังเหตุผลของรัฐบาล

            เมื่อพิจารณาผลสำรวจโดยละเอียดพบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เพียงไม่ต้องการโจมตีซีเรียเท่านั้น ยังไม่ต้องการให้ประเทศแสดงบทบาทเป็นตำรวจโลก (ลงโทษโจมตีซีเรียด้วยเหตุผลใช้อาวุธเคมีผิดกฎหมายระหว่างประเทศ) ไม่ต้องการให้รัฐบาลต่อต้านภัยคุกคามก่อการร้ายที่อยู่ไกลตัว (ข้ออ้างเรื่องผู้ก่อการร้ายอาจใช้อาวุธเคมีซีเรียโจมตีสหรัฐ)
            มุมมองของประชาชนคือเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น เรื่องคนว่างงาน เรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล แก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ
            รัฐบาลโอบามาเปรียบเสมือนผู้ที่มองการณ์ไกล ให้ความสำคัญกับทุกเรื่องอย่างครอบคลุม ส่วนประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องใกล้ตัวเป็นหลัก เกิดคำถามว่ารัฐบาลควรทำตามข้อเสนอของชาวอเมริกันหรือไม่ อีกนัยหนึ่งคือรัฐบาลควรทำตามความเห็นของประชาชนทุกเรื่องหรือไม่ หรือรัฐบาลควรดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้องแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงต่อไป
            หากกลับมาพูดเรื่องโจมตีซีเรีย นักการเมืองอเมริกันบางคนสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างเต็มที่ ถึงกับเรียกร้องให้รัฐบาลโอบามาส่งทหารโค่นล้มรัฐบาลอัสซาดเหมือนดังที่เคยทำกับรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก

            ประการที่สอง รัฐบาลควรยึดถือเจตจำนงของประชาชนโดยรวมหรือกลุ่มผลประโยชน์
            ระบบประชาธิปไตยอเมริกันเป็นประชาธิปไตยโดยอ้อม (Indirect Democracy) หรือประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ประชาชนผู้เป็นพลเมืองมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่แทนตัวเองในรัฐสภา และเจตจำนงของรัฐสภาถือเป็นความต้องการของประชาชนและต้องสะท้อนความต้องการของประชาชน
            ในแง่หนึ่งนโยบายโจมตีซีเรียเป็นตัวอย่างเพื่อวิพากษ์ว่ารัฐบาลเข้าใจความต้องการของประชาชนโดยรวมหรือไม่ หากรัฐบาลโอบามาเข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงก็ไม่น่าจะประกาศนโยบายโจมตีซีเรีย หรือว่าระบบการเมืองมีประเด็นที่ซับซ้อนกว่านั้น
            ประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจละเลยคือ ตามระบอบการเมืองอเมริกา ประชาชนผู้เรียกร้องต่อต้านสงครามไม่ใช่กลุ่มผู้มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลเพียงกลุ่มเดียว การดำเนินนโยบายขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ขึ้นกับกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก แต่ละวันแต่ละเดือนกลุ่มผลประโยชน์หลายพันกลุ่มกำลังวิ่งเต้นให้รัฐบาลทำตามความต้องการของตน ที่สำคัญคือไม่มีกฎหมายควบคุมว่ากลุ่มเหล่านี้จะต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม เพราะหลักประชาธิปไตยในแง่นี้ต้องการให้ทุกกลุ่มต่างแข่งขันกัน รัฐบาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่กลั่นกรองอีกชั้นเอง

            แนวคิดการโจมตีซีเรียอาจเริ่มต้นจากกลุ่มผลประโยชน์เล็กๆ แต่ทรงอิทธิพล ดังที่กล่าวแล้วว่าสมาชิกรัฐสภาบางคนถึงกับกดดันให้รัฐบาลส่งทหารบุกซีเรียโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด ซึ่งชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะหวนนึกถึงกรณีสงครามอิรัก อัฟกานิสถานที่ทหารอเมริกันต้องเสียชีวิตหลายพันนาย รัฐสูญเสียงบประมาณมหาศาลโดยที่ประชาชนไม่แน่ใจว่าสงครามดังกล่าวช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงขึ้นหรือไม่
            โดยวัฒนธรรมแล้วสังคมอเมริกันไม่มีชนชั้น ทุกคนมีความเสมอภาคทางสังคม แต่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีอิทธิพลมากน้อยแตกต่างกัน ต่างพยายามมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ต้องนำความต้องการของทุกคนทุกฝ่ายมาประมวลเพื่อกำหนดนโยบาย ก่อนจะมีการโจมตีซีเรียการต่อสู้อย่างเข้มข้นเกิดขึ้นในระบบการเมืองอเมริกา

            ประการที่สาม วิพากษ์คะแนนนิยมของประธานาธิบดี
            ผลสำรวจชนิดหนึ่งที่มักทำเสมอคือ การสำรวจว่าประชาชนให้คะแนนรัฐบาลเท่าใด ให้สอบผ่านหรือสอบตก
            สำนักวิจัย Gallup ที่ติดตามสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันต่อผลงานของประธานาธิบดี รายงานผลเมื่อวันที่ 13 กันยายน ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45 ให้สอบผ่าน ร้อยละ 47 ให้สอบตก และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2010 เป็นต้นมาคะแนนของประธานาธิบดีโอบามาอยู่ในลักษณะก้ำกึ่งระหว่างคะแนนสอบได้กับสอบตกเรื่อยมา ช่วงที่ได้คะแนนสอบผ่านสูงคือช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อปลายปีที่แล้ว ประชาชนให้สอบผ่านราวร้อยละ 50 สอบตกร้อยละ 40

            การดูคะแนนรัฐบาลหรือผู้นำประเทศว่าสอบได้หรือสอบตก ถ้าดูที่คะแนนรวมจะได้ผลสรุปแบบง่ายๆ คือสอบผ่านหรือไม่ผ่าน แต่หากดูในรายละเอียดจะกลายเป็นเรื่องซับซ้อนแต่น่าสนใจ
            ยกตัวอย่าง สมมุติว่าประธานาธิบดีโอบามาสั่งโจมตีซีเรียโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวอเมริกัน หากคิดในกรอบเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวประธานาธิบดีโอบามาน่าจะสอบตก แต่ในความเป็นจริงการวัดผลงานของรัฐบาลต้องคำนวณจากหลายเรื่องหลายด้าน ดังนั้นหากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ได้ดี เช่น เศรษฐกิจประเทศกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ อัตราคนว่างงานลดน้อยลงทุกที นโยบายสวัสดิการรักษาโรคเป็นที่พอใจและมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาการขาดดุล ผลคะแนนรวมของประธานาธิบดีน่าจะได้คะแนนสอบผ่าน
            เท่ากับว่าเรื่องการโจมตีซีเรียลดความสำคัญลงไปมาก ทุกรัฐบาลสามารถใช้กลวิธีเช่นนี้ในการบริหารประเทศ รู้จังหวะว่าเมื่อใดควรดำเนินนโยบายอะไร ถ้าเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งต้องดำเนินนโยบายที่จะได้คะแนน ดึงให้ตัวเองมีคะแนนสูงสุด แต่หากพึ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งคะแนนนิยมอาจไม่มีความจำเป็นมากเท่าช่วงกำลังหาเสียง ฯลฯ

            การวิเคราะห์แนวนี้ชี้ให้เห็นว่านักการเมืองกำลังเล่นกับคะแนนเสียงของตนเอง เล่นกับความคิดเห็นความรู้สึกของประชาชน หลักฐานที่ดีที่สุดดูได้จากผลสำรวจ
            ผลสำรวจของ Gallup นำเสนอเมื่อวันที่ 11 กันยายนชี้ว่าในช่วงความคิดที่จะโจมตีซีเรียกำลังเป็นประเด็นร้อน แม้ผลสำรวจหลายสำนักต่างรายงานในทำนองเดียวกันว่าชาวอเมริกันกว่าราวร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วยกับการโจมตีซีเรีย แต่มีชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่เห็นว่าสถานการณ์ซีเรียเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศ ประเด็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจ อัตราคนว่างงาน ความไม่พอใจต่อการบริหารประเทศโดยรวม และประเด็นการรักษาพยาบาลยังเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดตามลำดับ
            สถานการณ์ซีเรียที่กลายเป็นประเด็นร้อนสามารถกดคะแนนของประเด็นเศรษฐกิจและอีกสามอันดับถัดมา แต่ทั้งสี่อันดับแรกดังกล่าวยังคงตำแหน่งเดิม (ดูตารางประกอบ บรรณานุกรม 5)
            รายงานของ Gallup ทำให้ได้ข้อสรุปว่าประเด็นโจมตีซีเรียในขณะนี้ยังไม่กระทบต่อความนิยมของประธานาธิบดีเท่าไรนัก ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกอาจเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งแต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่คิดเช่นนั้น เป็นความเข้าใจที่ผู้สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำต้องตระหนักไว้เสมอ อีกเรื่องหนึ่งคือแม้ในระยะหลังผลคะแนนรวมของประธานาธิบดีคือสอบตกหรือก้ำกึ่ง ท่านก็ยังบริหารประเทศต่อไป ไม่ปรากฏข่าวว่าสมาชิกรัฐสภากลุ่มใดคนใดต้องการให้ท่านลาออกจากตำแหน่ง

            สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีพัฒนาการประชาธิปไตยอย่างยาวนาน มีสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง หลายประเทศให้การยอมรับความเป็นประชาธิปไตยของอเมริกา แต่ภายใต้บริบทดังกล่าวยังมีประเด็นให้วิพากษ์ได้อีกมากว่าประชาธิปไตยที่เข้มแข็งคืออะไร ที่เห็นได้ชัดภายใต้ระบบการเมืองอเมริกาคือการต่อสู้ของประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้รัฐทำตามความต้องการของตน การอยู่นิ่งเฉยมีแต่จะเสียผลประโยชน์และอาจเป็นภัยต่อตนเอง
            ในภาพกว้าง ความเป็นไปในทางการเมืองของอเมริกาเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายต่างประเทศ แนวทางที่สหรัฐสัมพันธ์กับนานาประเทศ ส่งผลต่อความเป็นไปของโลกอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
14 กันยายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6159 วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ.2556 และได้รับการเผยแพร่ผ่าน US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ, http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1746)
--------------------
ตาราง: แนวโน้มปัญหาที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาในระยะนี้
(ดูใน) ที่มา: Andrew Dugan, “In U.S., Syria Emerges as a Top Problem, but Trails Economy”, Gallup, 11 September 2013, http://www.gallup.com/poll/164348/syria-emerges-top-problem-trails-economy.aspx

บทความที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 10 ก.ย. 20.00 น.) รัสเซียเสนอให้หน่วยงานระหว่างประเทศเข้าควบคุมอาวุธเคมีของซีเรีย ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับจากรัฐบาลโอบามา รัฐสภาอเมริกันขอพิจารณารายละเอียดข้อเสนอ ล่าสุด ฝรั่งเศสจะเสนอร่างมติแก่คณะมนตรีความมั่นคง เป็นระเบียบ แนวทางการควบคุมอาวุธเคมีซีเรีย จากท่าทีของประธานาธิบดีโอบามา รัสเซีย ซีเรีย จนล่าสุดคือฝรั่งเศส เชื่อว่าคณะมนตรีฯ จะมีข้อมติดังกล่าว ผลคือเมื่อหน่วยงานระหว่างประเทศเข้าควบคุมอาวุธเคมีซีเรียแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่คองเกรสต้องพิจารณาเรื่องการโจมตีซีเรียอีก (เว้นแต่ว่าในอนาคตจะมีประเด็นใหม่)
บรรณานุกรม:
1. CNN poll: Public against Syria strike resolution, CNN, 9 September 2013, http://edition.cnn.com/2013/09/09/politics/syria-poll-main/
2. U.S. weapons reaching Syrian rebels, The Washington Post, 12 September 2013, http://www.washingtonpost.com/world/national-security/cia-begins-weapons-delivery-to-syrian-rebels/2013/09/11/9fcf2ed8-1b0c-11e3-a628-7e6dde8f889d_story.html
3. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง: แนวความคิดและการพัฒนา, พิมพ์ครั้งที่ 18 (กรุงเทพฯ: เสมาธรรม, 2553)
4. Gallup Daily: Obama Job Approval, Gallup, http://www.gallup.com/poll/113980/gallup-daily-obama-job-approval.aspx, accessed 14 September 2013
5. Andrew Dugan, “In U.S., Syria Emerges as a Top Problem, but Trails Economy”, Gallup, 11 September 2013, http://www.gallup.com/poll/164348/syria-emerges-top-problem-trails-economy.aspx, accessed 12 September 2013
6. Barbara A. Bardes, Mack C. Shelley and Steffen W. Schmidt, “American Government and Politics Today: Essentials”, 2011 - 2012 Edition, (USA: Wadsworth, Cengage Learning, 2012).
7. G. William Domhoff, “Who Rules America? Power, Politics and Social Change”, 5th ed (NY: McGrawHillm, 2006).
-------------------------------