สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 1 ก.ค. 16.30 น.)ในขณะที่สถานการณ์ทะเลจีนใต้หรือทะเลฟิลิปปินส์ยังมีเหตุระหองระแหงระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศ
ในที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน (AMM) ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2013 ที่ประเทศบรูไน จีนได้มีส่วนร่วมและถือโอกาสประกาศนโยบายที่สำคัญ
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 1 ก.ค. 16.30 น.)
แถลงการณ์ที่ประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียน+3
ทางการจีนตกลงจะเจรจากับอาเซียนในเดือนกันยายน เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC)
ป้องกันความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
นายหวังอี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า “จีนกับประเทศในอาเซียนเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง
และเราเหมือนสมาชิกในครอบครัวใหญ่เดียวกัน” “เราเชื่อว่าอาเซียนที่รวมเป็นหนึ่ง มีความมั่งคั่งและ
มีพลวัตรนั้นเป็นประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์แก่จีน” และเรียกร้องให้จีนกับอาเซียนเจรจาทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional
Comprehensive Economic Partnership) ต่อไป
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า
13 ประเทศ (อาเซียน+3) ควรร่วมมือกันเพื่อทำให้ปกป้องความสงบสุข
ความมั่งคั่งและเกื้อหนุนการพัฒนาของภูมิภาค และหวังจะใช้กรอบความร่วมมือดังกล่าวเป็นช่องทางร่วมกับกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก (หมายถึง ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้) เร่งสร้างประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก
ร่วมมือด้านการเงิน ด้านการงบประมาณ ให้กลายเป็นกลุ่มความร่วมมือทางการเงินแห่งภูมิภาค
ด้านความมั่นคงทางอาหาร จัดตั้งองค์กรสำรองฉุกเฉิน (ASEAN Plus Three
Emergency Rice Reserve หรือ APTERR)
นายอัลเบิร์ต
เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์
กล่าวว่า จีน “เพิ่มสิ่งปลูกสร้างทางทหาร” บนเกาะปะการังสองแห่งในทะเลฟิลิปปินส์ (ทะเลจีนใต้) ซึ่งเป็นการละเมิดปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration
on the Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) เพราะเป็นการเพิ่มความตึงเครียด และเห็นว่าจีนยังคงแสดงพฤติกรรมบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์ของ Lu Yu ในสื่อ Xinhua ของทางการจีนพูดอย่างชัดเจนว่า “รัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดปัจจุบันเป็นตัวสร้างปัญหาของภูมิภาค”
และโจมตีรัฐบาลฟิลิปปินส์ว่าได้โจมตีเรือประมง จับตัวลูกเรือจีนที่อยู่ในเขตน่านน้ำของจีน
วิเคราะห์: (อัพเดท 1 ก.ค. 16.30 น.)
1.รัฐบาลจีนเปิดความสัมพันธ์เชิงรุกกับอาเซียนและญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต้องการสร้างเขตเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ประกอบด้วยจีน
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้บวกชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ โดยใช้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เป็นกลไกขับดันสู่เป้าหมาย
นายหวังอี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน พูดเป็นนัยว่าเป้าหมายยุทธศาสตร์คือการจัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 13 ประเทศ ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับความร่วมมือของสหภาพยุโรปหรือยูโรโซน ที่เชื่อมระบบการเงินการคลังให้มีความผูกพันอย่างใกล้ชิด
2.หากพิจารณาตามระดับความสำคัญต้องถือว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ระดับแม่บท
(Grand Strategy) เป็นวิสัยทัศน์ระดับภูมิภาคของจีน
แน่นอนว่าต้องอาศัยเวลาอีกยาวนานกว่าจะไปถึงเป้าหมาย
แต่เป็นประกาศวิสัยทัศน์ของจีน
3.
เป็นไปได้ว่าจีนจะใช้การจัดทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
เป็นเครื่องมือต่อรองจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ที่ผ่านมาอาเซียนได้ประกาศว่าสนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่เพื่อให้กระบวนการเจรจาจัดทำ
RCEP ดำเนินไปอย่างราบรื่นและบรรลุผลในปี 2015 (หรือปีเดียวกับการเป็นประชาคมอาเซียน)
4.ทั้งเรื่องการจัดทำ
COC กับ RCEP คงต้องเจรจากันอีกมาก
เนื้อหาจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่อาเซียนจะต้องตกลงเนื้อหา COC
ให้ได้ก่อน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศแสดงท่าทีแข็งกร้าว
บางประเทศแสดงท่าทีประนีประนอม หากเก็บเรื่องอธิปไตยความเป็นเจ้าของพื้นที่ข้อพิพาทไว้ก่อน
โอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงจะมีมากขึ้น
5.
ส่วนปัญหาของปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on
the Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ คือไม่มีอำนาจบังคับใช้ ดังนั้น
การจะปฏิบัติตามหรือไม่เป็นเรื่องของความสมัครใจ เนื้อหา DOC
บางข้อเป็นหลักการกว้างๆ จึงเกิดการตีความแตกต่างกัน อาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางปฏิบัติ
DOC (Guidelines for the implementation of the DOC) และหวังว่าที่จะสุดแล้วจะกลายเป็น
COC ซึ่งอยู่ระหว่างประชุมของเจ้าหน้าที่
เรื่องที่ยังต้องกระทำอยู่เสมอคือการสร้างความไว้วางใจ
ความเชื่อถือต่อกัน ส่วนทิศทางความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
1 กรกฎาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
ข้อพิพาททะเลจีนใต้ (ฟิลิปปินส์) เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ
ในมุมหนึ่งอาจมองว่าไม่ค่อยมีความคืบหน้า เป็นการเจรจาที่ไร้ที่สุดสิ้น
แต่ภายใต้สภาพดังกล่าวชาติสมาชิกอาเซียนอยู่ด้วยกันอย่างสันติ
อยู่กับจีนอย่างสงบสุข
เป็นการบริการจัดการข้อพิพาททั้งภายในอาเซียนด้วยกันและระหว่างอาเซียนกับจีน
บรรณานุกรม:
1. China Agrees to Asean Talks on Sea Spat Amid Philippine
Warning, Bloomberg, 30 June 2013, http://www.bloomberg.com/news/2013-06-30/china-agrees-to-asean-talks-on-sea-spat-amid-philippine-warning.html
2. “China urges more cooperation between ASEAN, China,
Japan, S. Korea”, Xinhua, 30 June 2013, http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-06/30/c_132499195.htm
3. PH rebukes China for militarizing sea, Philippine
Daily Inquirer, 1 July 2013, http://globalnation.inquirer.net/79215/ph-rebukes-china-for-militarizing-sea
4. “ข่าวเด่น :
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วม การประชุม.รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
– จีน”, ศูนย์ข่าว, กระทรวงการต่างประเทศ, http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/28/36516-%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80.html,
accessed 1 July 2013.
5. “Plan of Action to Implement the Joint Declaration on the
ASEAN-China Strategic Partnership for Peace and Prosperity (2011-2015)”, ASEAN
Secretariat, http://www.asean.org/asean/external-relations/china/item/plan-of-action-to-implement-the-joint-declaration-on-asean-china-strategic-partnership-for-peace-and-prosperity-2011-2015
6. “Joint Communiqué 46th ASEAN Foreign Ministers’ Meeting
Bandar Seri Begawan, Brunei Darussalam 29 – 30 June 2013”, ASEAN Secretariat, http://www.asean.org/images/2013/news/joint%20communique%20of%20the%2046th%20asean%20foreign%20ministers%20meeting%2046th%20amm%20-%20final%20-%2030%20june%202013.pdf,
accessed 1 July 2013.
7. Lu Yu, Commentary: Territorial disputes should not
overshadow China-ASEAN cooperation, Xinhua, 1 July 2013, http://news.xinhuanet.com/english/indepth/2013-07/01/c_132501554.htm.
---------------