กระแสข่าวที่ภายในทศวรรษนี้สหรัฐอเมริกาจะลดการนำเข้าทรัพยากรน้ำมันจากต่างประเทศลงเรื่อยๆ และอาจไม่นำเข้าเลยก่อนสิ้นปี 2035 มีความชัดเจนมากขึ้น เหตุเนื่องจากสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) และน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) จำนวนมากจากแหล่งผลิตในประเทศที่ในอดีตมีข้อจำกัดทั้งด้านต้นทุนการผลิตกับปัญหามลพิษ
Shale gas กับ Shale oil :
ทรัพยากรน้ำมันชั้นหินดินดานประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) กับน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil)
shale gas คือก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักไว้ในชั้นหินใต้ดิน มนุษย์ค้นพบ shale gas มานานแล้ว แต่ไม่สามารถนำมาใช้เพราะไม่อาจแข่งกับแหล่งก๊าซธรรมชาติประเภทอื่นๆ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า มีปัญหาเรื่องมลพิษน้อยกว่า
จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนากรรมวิธีการผลิตที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing และใช้เทคโนโลยีดังกล่าวร่วมกับเทคนิควิธีการขุดเจาะตามแนวนอนที่เรียกว่า Horizontal Drilling ทำให้สามารถผลิต shale gas ได้ในปริมาณมากและด้วยต้นทุนต่ำลง
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาใช้ก๊าซธรรมชาติจาก shale gas ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทุกประเภท และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในปี 2032 ตามความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
น้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) หลายครั้งพบได้จากแหล่งเดียวกับที่พบก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน ในขณะที่บางแหล่งพบน้ำมันเป็นหลัก เช่น แหล่งขุดเจาะ ‘Avalon and Bone Springs’ คาดว่ามีน้ำมันที่นำขึ้นมาใช้ได้ถึง 1.58 พันล้านบาร์เรล แหล่ง Bakken คาดว่ามีน้ำมันถึง 3.65 พันล้านบาร์เรล
ความสามารถใช้ทรัพยากรน้ำมันชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ กลายเป็นเหตุเขย่าวงการน้ำมันโลก
ผลดีต่อสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกาย่อมเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงในสองประการหลัก ดังนี้
ประการแรก ในอนาคตสหรัฐฯ สามารถพึ่งพาตนเองในด้านพลังงานน้ำมัน
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่บริโภคทรัพยากรน้ำมันมากที่สุดในโลก ในทศวรรษ 1970 ประสบปัญหาถูกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) คว่ำบาตรไม่ยอมขายน้ำมันให้ เป็นเหตุให้คนอเมริกาทั้งประเทศต้องต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอเติมน้ำมันรถ กระทบการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเกือบทั้งประเทศ นับจากนั้นประเด็นการเข้าถึงแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางกลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองภายในประเทศนอกเหนือจากเหตุผลด้านความมั่นคงทางการทหาร ในระยะหลังนโยบายสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคตะวันออกกลางมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นและอาจเป็นเหตุผลสำคัญทำให้สหรัฐฯ ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายโจมตีในเหตุวินาศกรรม 9/11 เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวอเมริกันเรียกร้องให้ประเทศลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง และกลายเป็นนโยบายของรัฐบาลในเวลาต่อมา
รายงาน Global Trends 2030: alternative world ของสภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ชี้ว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ เริ่มใช้ก๊าซและน้ำมันจากชั้นหินดินดานแล้วโดยเฉพาะ shale gas ส่วน shale oil ยังอยู่ช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา แต่คาดว่าอีกไม่เกิน 20 ปีสหรัฐฯ อาจไม่ต้องพึ่งการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศและมีศักยภาพในการส่งออกด้วย
หากการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นจริงเท่ากับสหรัฐฯ จะไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำมันจากต่างประเทศอีกต่อไป มีผลต่อนโยบายต่างประเทศอย่างชัดเจน
ประการที่สอง เศรษฐกิจได้รับผลดี
เนื่องจาก shale gas กับ shale oil ที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้ประเทศได้ใช้น้ำมันราคาถูกกว่าปัจจุบัน ก่อผลดีต่อเศรษฐกิจอเมริกาหลายประการ เช่น ช่วยลดต้นทุนการผลิต ราคาผันผวนน้อยลง ช่วยลดการขาดดุลการค้าต่างประเทศ มีผู้คาดว่าจะทำให้จีดีพีโตขึ้นร้อยละ 1.7-2.2 และเพิ่มการจ้างงาน 2.4-3 ล้านตำแหน่งก่อนปี 2030
โดยสรุปแล้ว การที่สหรัฐฯ สามารถนำน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวมาใช้ถือเป็นการปลดแอกจากการพึ่งพาน้ำมันต่างประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยตรง และส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง
ปัญหาและอุปสรรคจากมลพิษ
แม้ว่าเทคโนโลยีการผลิต shale gas กับ shale oil มาถึงจุดที่สามารถผลิตเพื่อการค้าและสามารถควบคุมมลพิษได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาเรื่องมลพิษไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง ยังเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคสำคัญของการใช้ shale gas กับ shale oil เช่น หากการสร้างฐานขุดเจาะไม่ดีแต่แรก หลุมบ่อต่างๆ ปิดไม่สนิท สารพิษร้ายแรงที่ใช้กับมลพิษที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตอาจกระจายขึ้นสู่ผิวดิน อีกทั้งยังมีปัญหาการบำบัดน้ำจำนวนมหาศาลที่ปนเปื้อนสารเคมี เหล่านี้อาจเป็นเหตุให้ประชาชนต่อต้านอย่างรุนแรง เป็นความเสี่ยงที่บริษัทกับรัฐบาลแบกรับอยู่
มีข้อมูลชี้ว่าการผลิต shale gas ในสหรัฐฯ ถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยอ้างว่าการสำรวจขุดเจาะ shale gas ทำให้เกิดการปนเปื้อนของก๊าซมีเทนในแหล่งน้ำท้องถิ่นขนาดที่ชาวนาสามารถจุดไฟบนน้ำจากบ่อในฟาร์มของตนเอง ตลอดจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องมลพิษมีมูลความจริงมากขึ้นเมื่อประเทศฝรั่งเศสกับบัลแกเรียได้เลื่อนเวลาการขุดเจาะออกไปด้วยความกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม การควบคุมมลพิษนั้นขึ้นกับการพัฒนาแหล่งก๊าซแหล่งน้ำมันของแต่บริษัทแต่ละประเทศ ในระยะยาวแล้วคาดว่าสหรัฐฯ จะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การควบคุมมลพิษให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ข้อจำกัดหรืออุปสรรคลดน้อยลง
ยากจะคาดการณ์ราคาน้ำมันโลกในอนาคต
shale gas กับ shale oil สร้างประโยชน์ต่อสหรัฐฯ อย่างแน่นอน คำถามสำคัญที่ตามมาคือราคาน้ำมันโลกจะลดลงด้วยหรือไม่
โดยทั่วไปแล้วราคาน้ำมันโลกขึ้นกับอุปสงค์อุปทานตามกลไกตลาด ปัจจุบัน shale oil ของสหรัฐฯ ยังอยู่ช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและไม่ชัดว่าจะสามารถผลิตในปริมาณมากน้อยเพียงใด คาดการณ์ว่าในปี 2020 จะสามารถผลิตได้ 5-15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ ราคาต้นทุนที่ 44-68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลขึ้นกับแต่ละแหล่ง
แม้จะมีการคาดการณ์ระดับราคาต้นทุนดังกล่าว ยังมีโอกาสที่ราคาจะลดลงมากกว่านี้เนื่องจากเทคโนโลยีอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาแบบก้าวกระโดด มีโอกาสที่เทคโนโลยีการผลิตจะดีขึ้นช่วยประหยัดต้นทุนได้มากกว่าที่คาดการณ์ในปัจจุบัน
ค่อนข้างเชื่อได้ว่านับจากนี้ shale gas กับ shale oil จะค่อยๆ ออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับอุปสงค์โลกที่เพิ่มมากขึ้นแต่ละปีละ ดังนั้น หากไม่คิดถึงปัจจัยอื่นๆ ราคาน้ำมันโลกไม่น่าจะผันผวนขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานในแต่ละช่วงเวลา
แต่ราคาน้ำมันมันโลกไม่ได้ขึ้นกับกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว มีปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
Oystein Noreng เป็นหนึ่งในผู้กล่าวอย่างชัดเจนว่าทุกวันนี้รัฐบาลกลุ่ม OPEC เป็นผู้กำหนดว่าจะผลิตและส่งออกน้ำมันแก่ตลาดโลกด้วยปริมาณมากน้อยเพียงใด ประเทศเหล่านี้มีข้อได้เปรียบกว่าประเทศผู้ผลิตอื่นเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำสุด ส่วนประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC จะผลิตมากหรือน้อยขึ้นกับราคาน้ำมันในตลาดโลกเนื่องจากแต่ละแหล่งมีต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน ประเทศผู้ส่งออกทั้งหมดมีการติดต่อเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตโดยยึดถือเป้าหมายกำไรทั้งปีเป็นสำคัญ (เป้าหมายกำไรทั้งปีขึ้นกับราคาและปริมาณส่งออก) ส่งผลต่อระดับราคาน้ำมันโลกโดยตรง
เมื่อสหรัฐฯ มีศักยภาพส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลก เกิดคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการให้ประเทศเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันด้วยหรือไม่ ต้องการเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีส่วนกำหนดราคาน้ำมันโลกหรือไม่ ที่ผ่านมานโยบายต่างประเทศกับนโยบายความมั่นคงเป็นตัวชี้ขาดเรื่องนี้
หากสหรัฐฯ ส่งออกจำนวนมากจะทำให้ราคาน้ำมันโลกอ่อนตัว ประชาชนที่เคยใช้พลังงานทางเลือกอาจหันกลับมาใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติดังเดิม ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตพลังงานทุกประเภท กระทบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพรัฐบาลของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งหลาย ในขณะที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน นโยบายส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯ จึงเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก มีผู้ได้กับผู้เสียประโยชน์ทั่วทั้งโลก แต่ ณ วันนี้สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศชัดว่าต้องการเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน เป็นปริศนาที่รอคำตอบในอนาคต
มีผู้กล่าวว่าพลังงานเปรียบเหมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป ในอนาคตโลกจะใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นทั้งจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากกับระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรพลังงานมากขึ้น ประเทศที่พึ่งการนำเข้ายิ่งเห็นความสำคัญต่อเรื่องนี้
การที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะประสบความสำเร็จในการพัฒนา shale gas กับ shale oil จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมน้ำมันโลก ต่อวงการน้ำมันโลกอย่างแน่นอน และจะยิ่งส่งผลเป็นทวีคูณถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจมีบทบาทเป็นผู้ส่งออกทรัพยากรพลังงานน้ำมัน ณ วันนี้ยังไม่อาจคาดการณ์ทิศทางการตัดสินใจดังกล่าว แต่เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศผู้ส่งออกหรือนำเข้าจำต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด
5 มกราคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5906 วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5906 วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ.2556)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
บรรณานุกรม:
2. John R. Fanchi. Energy in the 21st Century, 2nd Edition, 2011
3. Oystein Noreng. Crude Power: Politics and the Oil Market, reprint 2007
4. National Intelligence Council. Global Trends 2030: alternative world. http://www.dni.gov/files/documents/GlobalTrends_2030.pdf
5. ประสบการณ์จากการศึกษาดูงาน เรื่อง : การสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas) http://www.dmf.go.th/file/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99ShaleGas-%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%93%E0%B9%8C.pdf
6. Argus US Shale Oil Special Report - Argus Media http://www.argusmedia.com/Petroleum/Crude/~/media/Files/PDFs/Mkting/Argus%20US%20Shale%20Oil%20Special%20Report.ashx
7. What is shale gas and why is it important? http://www.eia.gov/energy_in_brief/article/about_shale_gas.cfm
8. U.S. Field Production of Crude Oil. http://www.eia.gov/dnav/pet/hist/LeafHandler.ashx?n=PET&s=MCRFPUS2&f=A
---------------------