27 พฤษภาคม 2013
ชาญชัย
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1263)
ประเทศมาเลเซียประกอบด้วยพลเมืองหลายเชื้อสาย
ปัจจุบันร้อยละ 50 เป็นพวกเชื้อสายมาเลย์ ร้อยละ 24 คือจีน ส่วนชนพื้นเมืองมีราวร้อยละ 11 พวกเชื้อสายอินเดียราวร้อยละ 7 และเชื้อสายอื่นๆ อีกราวร้อยละ 8 แม้พลเมืองจะประกอบด้วยหลายเชื้อสายแต่รัฐธรรมนูญมาเลเซีย
มาตรา 153 บัญญัติให้ “ฐานะพิเศษ” แก่คนเชื้อสายมาเลย์และคนพื้นเมืองรัฐซาบาห์กับซาราวัก
หรือที่เรียกว่าพวกภูมิบุตร คนกลุ่มนี้รัฐจะต้องเกื้อกูลช่วยเหลือ แม้ว่ามาตราเดียวกันนี้บัญญัติว่ารัฐบาลจะต้องปกป้องสิทธิของชนเชื้อสายอื่นๆ
อย่างเท่าเทียม แต่มีผู้โต้แย้งว่าเสียงของพวกภูมิบุตรดังกว่าเชื้อสายอื่นๆ
ในด้านการเมืองการบริหารประเทศ ตลอดห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมาอัมโน (United Malays National Organisation หรือ UMNO) คือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาโดยตลอด
พรรคดังกล่าวมีคนเชื้อสายมาเลย์เป็นฐานเสียงหลัก ในปี 1971 ประกาศนโยบาย New
Economic Policy (NEP) โดยระบุเป้าหมายหลักของนโยบายดังกล่าวคือเพื่อลดความยากจนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อสายและต้องการปรับโครงสร้างสังคมไม่ให้กิจกรรมเศรษฐกิจผูกกับความเป็นเชื้อสาย
จนมาถึงปี 2010 นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ประกาศนโยบาย
New Economic Model (NEM) ทั้งนโยบาย NEP กับ NEM
ที่มาใหม่ต่างถูกชาวมาเลเซียโดยเฉพาะพวกเชื้อสายจีนกับอินเดียและพรรคฝ่ายค้านโจมตีว่าเป็นนโยบายที่ไม่เท่าเทียม ต้องการเอาใจพวกเชื้อสายมาเลย์และมีข้อเสียมากมาย
ฝ่ายที่โจมตีนโยบายของรัฐบาลชี้ว่านโยบาย NEP/NEM เป็นต้นเหตุของการคอร์รัปชัน เนื่องนโยบายเหล่านั้นเป็นที่มาของการบริหารภาครัฐอย่างไม่โปร่งใส
ตรวจสอบไม่ได้ เกิดคดีคอร์รัปชันในภาครัฐจำนวนมาก ชาวมาเลเซียบางคนวิจารณ์ว่านักการเมือง รัฐมนตรีฝ่ายรัฐบาลมีพฤติกรรมทุจริตใช้อำนาจในทางมิชอบ เช่น กิจการเอกชนที่มีเคยมีกำไรสูงจะถูกบีบให้ขายให้แก่บริษัทที่นักการเมืองเป็นเจ้าของหรือด้วยการออกกฎระเบียบเพื่อจะได้กิจการ เช่นเดียวกับบรรดากิจการของรัฐที่มีกำไรนักการเมืองจะใช้อำนาจเข้าควบคุมโดยใช้บริษัทของพวกตนเข้ามาซื้อกิจการ เช่น กิจการทางด่วน ไฟฟ้า น้ำประปา ส่วนกิจการที่ไม่มีกำไร เช่น รถไฟ ก็จะปล่อยให้รัฐเป็นเจ้าของต่อไป
การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลที่แพงเกินจริงเป็นการคอร์รัปชันอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำกันมาก กรณีตัวอย่างบริษัท
Kuala Dimensi ทำการซื้อที่ดินจากกลุ่มชาวประมงในราคา
100 ล้านริงกิตแล้วนำมาขายให้แก่หน่วยงานรัฐ
Port Klang Authority ในราคา 1
พันล้านริงกิต เชื่อกันว่าบริษัทดังกล่าวคือคนของนักการเมืองพรรครัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูกแล้วนำมาขายแก่หน่วยงานรัฐที่พวกเขาควบคุม
นอกจากนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าคดีคอร์รัปชันสำคัญๆ
หลายคดีไม่คืบหน้าเพราะคดีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีอาวุโส
ข้อเสียที่ร้ายแรงกว่าคอร์รัปชันคือทำให้สังคมอยู่ในภาวะแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย
นักวิชาการบางคนเห็นว่าการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายเริ่มต้นจากการที่พวกภูมิบุตรเชื่อมาแต่ดั้งเดิมว่าพวกเชื้อสายจีนเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจประเทศที่เป็นของตน ในขณะที่พวกเชื้อสายจีน อินเดียที่มีฐานะเป็นพลเมืองเต็มขั้นเห็นว่ารัฐบาลไม่เสมอภาค พยายามลิดรอนสิทธิของตน
พวกเชื้อสายจีนเห็นว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเขาไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ได้แต่ทำตามที่รัฐบาลกำหนด เป็นความรู้สึกเก็บกด เห็นว่าพวกเขาเป็นผู้รับคำสั่ง ส่วนพวกเชื้อสายมาเลย์เป็นผู้ออกคำสั่ง นโยบายเรื่องความเท่าเทียมที่รัฐบาลประกาศนั้นในทางปฏิบัติไม่ตรงกับสิ่งที่เขียนไว้บนกระดาษ รัฐบาลภายใต้พรรคอัมโนมักดำเนินนโยบายที่พวกภูมิบุตรได้ประโยชน์เป็นพิเศษเสมอ
รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ (คนจากพรรคอัมโน)
เคยยอมรับผลเสียอันเนื่องจากนโยบายเกื้อหนุนภูมิบุตร ยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลแทรกแซงเศรษฐกิจและครอบงำด้วยกิจการที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(Government Linked Companies) บริษัทเหล่านี้มักมีผลประกอบการต่ำกว่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อกิจการอื่นๆ ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ กระทบต่อธุรกิจภาคเอกชน รัฐบาลจึงหวังปฏิรูปเศรษฐกิจให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนมากขึ้น ลดการแทรกแซง ให้ตลาดแข่งขันโดยเสรี
แต่นักวิเคราะห์บางคนยังเห็นว่ารัฐบาลนาจิบยังบริหารภายใต้แนวทางแบบเดิมมากกว่าจะยึดแนวปฏิรูปเศรษฐกิจ
ในขณะที่พวกเชื้อสายจีนกับอินเดียและพรรคฝ่ายค้านโจมตีนโยบายเชื้อสายนิยมของรัฐบาล
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและออกมาโต้แย้งคือพรรคร่วมรัฐบาลบีเอ็น (Barisan
Nasional หรือ BN) โดยมีพรรคอัมโนเป็นแกนนำกับสมาชิกพรรคได้โต้แย้ง
เริ่มจากการกล่าวว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเชื้อสายเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้างเพื่อการหาเสียงโจมตีรัฐบาล
พรรคร่วมรัฐบาลปฏิเสธแนวคิดความไม่เท่าเทียมทางเชื้อสาย ยืนยันว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัยและอดีตหัวหน้าพรรคอัมโน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด กล่าวว่าพรรคฝ่ายค้านยึดถือคติดังกล่าว
“และพยายามเผยแพร่ว่าไม่มีความเท่าเทียมในประเทศมาเลเซีย พวกเขาต้องการให้พวกเชื้อสายมาเลย์ละทิ้งสิทธิที่พวกเขาพึงมี”
ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพวกเขาคือทำให้คนเชื้อสายอื่นๆ เห็นว่าพวกตนได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
พรรคร่วมรัฐบาลบีเอ็นยกเหตุผลอีกว่า
พรรคของตนไม่ใช่มีแต่พวกภูมิบุตรหรือพวกเชื้อสายมาเลย์เท่านั้น คนเชื้อสายจีน เชื้อสายอินเดียสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน
และชี้ว่าด้วยเหตุที่พรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยสมาชิกทุกเชื้อสายจึงเป็นเหตุให้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
(ยกเว้นการเลือกตั้งปี 2008 กับ 2013) พรรคร่วมรัฐบาลได้ที่นั่งในสภาเกินสองในสาม หากไม่แล้วพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่มีโอกาสได้ที่นั่งในสภามากขนาดนั้น
พรรคร่วมรัฐบาลยังชี้อีกว่าสิ่งสำคัญที่คนเชื้อสายอื่นต้องการคือเศรษฐกิจที่ดี
หาใช่เรื่องความไม่เท่าเทียมตามที่พรรคฝ่ายค้านกล่าวอ้าง โดยยกกรณีตัวอย่างการเลือกตั้งเมื่อปี
1999 พรรคร่วมรัฐบาลได้ชนะชัยท่วมท้นเนื่องจากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาวิกฤตการเงินในยุคนั้น
(วิกฤตต้มยำกุ้ง) ดังนั้น สิ่งที่พวกเชื้อสายจีนต้องการคือเศรษฐกิจที่ดี ไม่ใช่แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้าง
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าพวกเชื้อสายจีนต้องการนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อให้ประเทศเจริญเติบโตรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ แต่หากการเร่งเติบโตจนเกินควรจะกลายเป็นความไม่ยั่งยืน พรรคร่วมรัฐบาลขอยึดแนวทางระบบเศรษฐกิจที่กระจายความมั่งคั่งอย่างยุติธรรม
(fairly) แทนนโยบายเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง
เป้าหมายของพรรคร่วมรัฐบาลคือส่งเสริมความเท่าเทียมของทุกเชื้อสาย พยายามลดความเลื่อมล้ำต่างๆ จึงมีนโยบายสนับสนุนให้คนยากจนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดปัญหาความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจที่มากเกินไป ความเหลื่อมล้ำที่มากเกินเป็นเหตุให้สังคมไร้เสถียรภาพ เกิดความวุ่นวายทางการเมือง
สถิติระหว่างปี 2000-2012 มาเลเซียมีค่าเฉลี่ยจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ
1.30 สูงสุดที่ 5.90 เมื่อเดือนกันยายน 2009 ต่ำสุดติดลบ 7.60 เมื่อเดือนมีนาคม 2009 (ผลจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) โดยรวมแล้วเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วในเอเชีย อัตราว่างงานเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ
3 ลดลงจากร้อยละ 3.30 เมื่อเดือนมกราคม 2013 ดังนั้น ตลอดหลายปีที่พรรคร่วมรัฐบาลบริหารประเทศนั้นเศรษฐกิจประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี
ไม่ว่าจะด้วยเหตุพรรคฝ่ายค้านเข้าใจผิดหรือพรรคร่วมรัฐบาลไม่ยอมเข้าใจ ความจริงอย่างหนึ่งที่แน่นอนคือความแตกแยกของพลเมืองเชื้อสายต่างๆ นั้นมีอยู่จริง
แต่จะมากหรือน้อยรุนแรงเพียงใดขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน นับจากประเทศได้รับเอกราชเป็นต้นมาจบถึงบัดนี้ ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเชื้อสายยังเป็นประเด็นหลักที่สังคมถกเถียงเรื่อยมา ประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่พ้นสภาวะแห่งการต่อสู้แข่งขันทางเชื้อสาย เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน บรรดาพรรคการเมืองมีสภาพเป็นตัวแทนการต่อสู้ทางเชื้อสายไม่มากก็น้อย
การที่พรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ไม่ใช่เรื่องผิด หรือที่จะนำเสนอนโยบายตอบสนองกลุ่มผลประโยชน์ของตนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเด็นอยู่ที่ว่าพรรคการเมืองพยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศทั้งมวลหรือไม่ พรรคการเมืองที่มัวแต่ต่อสู้เพื่อกลุ่มผลประโยชน์อาจจะสร้างประโยชน์แก่ฐานเสียงของตน แต่สังคมโดยรวมจะเป็นฝ่ายเสียหายและที่สุดแล้วความเสียหายจะตกแก่ทุกพรรคทุกคน
ทางออกที่เหมาะสมคือพรรคการเมืองนอกจากมีบทบาทเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์แล้ว ยังต้องเน้นบทบาทเผยแพร่ให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกของตน คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมโดยรวม เพื่อสร้างประเทศที่น่าอยู่สำหรับทุกคนทุกกลุ่มผลประโยชน์ และเมื่อนั้นประชาชนทุกเชื้อสายในมาเลเซียจะอยู่ด้วยความเข้าใจมากกว่าที่เป็นอยู่
-------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
ความฮึกเหิมของแนวร่วมฝ่ายค้านมาเลเซียและข้อโต้แย้ง
ความฮึกเหิมของแนวร่วมฝ่ายค้านมาเลเซียและข้อโต้แย้ง
ภายใต้การนำของนายอัลวาร์
อิบราฮิมทำให้แนวร่วมฝ่ายค้านให้ได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นถึง 3
เท่าตัวในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2008 เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวร่วมฯ
เชื่อว่าพวกเขามีโอกาสโค่นล้มการบริหารประเทศที่พรรคอัมโนเป็นแกนนำตลอด 56 ปี แต่ความหวังนั้นมีอุปสรรค
ปัญหาหลายประการ
บรรณานุกรม:
1. ประเทศมาเลเซีย,
ศูนย์ศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศ,
http://www.apecthai.org/apec/th/profile1.php?continentid=2&country=m9,
accessed 28 April 2013
2. Lee Hock Guan, Malaysia in 2007: Abdullah Administration
under Siege, Southeast Asian Affairs, Vol. 2008, pp.187-206.
3. Indian Votes Still Matters And Up For Grabs In GE 13, The
Kuala Lumpur Post, 23 April 2013, http://www.kualalumpurpost.net/indian-votes-still-matters-and-up-for-grabs-in-ge-13/
4. ‘Kongsi concept key to our peace and harmony’, News
Straits Times, 14 April 2013.
5. Wan Saiful Wan Jan, New Economic Model: Is the Malaysian
government serious about economic liberalisation? Friedrich-Naumann-Stiftung
für die Freiheit, http://ideas.org.my/wp-content/uploads/2011/09/Malaysias-New-Economic-Model-Sept-2011-FNF.pdf
6. Najib Warns Anwar Malaysia Election Win Spells Disaster, Bloomberg,
17 April 2013, http://www.bloomberg.com/news/2013-04-17/najib-warns-anwar-malaysia-election-win-spells-disaster.html
7. MALAYSIA GDP GROWTH RATE, Trading Economics, http://www.tradingeconomics.com/malaysia/gdp-growth,
accessed 1 May 2013
8. Arnold Puyok, Malaysia’s 13th general election, East Asia
Forum, http://www.eastasiaforum.org/2013/05/02/malaysias-13th-general-election/)
------------------------------