ปลดล็อคการเมืองอิตาลีด้วยนโยบายที่เห็นร่วม

หนึ่งเดือนเต็มที่ผ่านมานายปิแอร์ แบร์ซานิ หัวหน้าพรรคฝ่ายซ้าย Democratic Party (PD) ของอิตาลีพยายามจัดตั้งรัฐบาลโดยหวังดึงกลุ่ม 5-Star Movement (M5S) เข้าร่วมรัฐบาล โดยพยายามประนีประนอมเสนอนโยบายปฏิรูประเทศที่น่าจะสอดคล้องกับแนวทางของ M5S แต่ได้รับการปฏิเสธมาแล้วหลายรอบจนนายแบร์ซานิถอดใจ เป็นการยืนยันจุดยืนเดิมของ M5S ที่นำโดยนายเบ็บเป กรีโล ที่เห็นว่าพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาต่างเป็นต้นเหตุวิกฤตเศรษฐกิจสังคมของประเทศ
            และเมื่อนายซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี หัวหน้าพรรค Popolo della Liberta (PdL) แกนนำพรรคฝ่ายขวาเสนอร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายซ้ายก็ได้รับการปฏิเสธเช่นกัน
            ผลสรุปหนึ่งเดือนเต็มหลังประกาศผลการเลือกตั้งคือ พรรคแกนนำทั้งสามพรรคต่างยึดมั่นกับจุดยืนสำคัญของตน มีนโยบายที่แตกต่างและมีมวลชนสนับสนุนของตนเอง กลายเป็นภาวะชะงักงันทางการเมืองที่การเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตยไม่สามารถนำสู่การจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
            ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจประเทศไม่สู้ดีพร้อมจะเข้าสู่วิกฤต นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่าอิตาลีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของยูโรโซนอาจต้องประสบวิกฤตในไม่ช้า ผลการเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคใดชนะขาด ภาวะชะงักงันทางการเมือง เรื่องทั้งหมดเป็นเหตุผลมากเกินพอให้แกนนำทางการเมืองตลอดจนประธานาธิบดี นายจิออร์จิโอ นาโพลิทาโนต่างพยายามหาปลดล็อคการเมืองครั้งนี้
            แนวทางที่เหมาะสมและง่ายที่สุดคือพรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ถ้าแนวทางดังกล่าวไม่เป็นผล ประธานาธิบดีนาโพลิทาโนอาจใช้วิธีหา “นายกฯ คนนอก” พร้อมกับชุดนโยบายที่ยอมรับได้ แนวทางนี้เคยใช้มาแล้วเมื่อปี 2011 และได้นายมาริโอ มอนติ เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถกอบกู้ความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติ แต่รัฐบาลของนายมอนติอยู่ได้ไม่นานเป็นเหตุนำสู่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา นอกจากนี้ นายซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี แกนนำพรรคการเมืองฝ่ายขวาประกาศยืนยันว่าไม่สนับสนุน “นายกฯ คนนอก” ดังนั้น การเฟ้นหา “นายกฯ คนนอก” จึงไม่ง่ายและอาจเป็นได้เพียงนายกฯ ขัดตาทัพเท่านั้น
            ประเด็นที่สำคัญกว่านายกฯ ขัดตาทัพคือ ผลการเลือกตั้งล่าสุดกลุ่มของนายมอนติได้ลงเลือกตั้งและได้คะแนนนิยมราวร้อยละสิบเท่านั้น ผู้สังเกตการณ์บางคนจึงให้ความเห็นว่าผลการเลือกตั้งเท่ากับเป็นการหยั่งเสียงว่าประชาชนอิตาลีไม่สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัดของนายมาริโอ มอนติ ที่เดินตามแนวทางปฏิรูปของยูโรโซน ประกอบด้วยแผนลดรายจ่ายภาครัฐ แก้ไขกฎหมายแรงงานและระบบบำนาญเพื่อทำให้เศรษฐกิจอิตาลีมีความสามารถการแข่งขันเพิ่มขึ้น ดังนั้น วิธีหานายกฯ คนนอกในตอนนี้จึงยากกว่าที่คิดเพราะแม้รัฐสภายอมรับแต่ประชาชนอาจไม่เห็นด้วย ต้องได้คนที่เป็นที่ยอมรับทั้งจากฝ่ายการเมืองและจากประชาชน
            ปัญหาการเมืองของอิตาลีในขณะนี้จึงซับซ้อน หนึ่งในความซับซ้อนที่สำคัญที่สุดคือเรื่องนโยบายบริหารประเทศ เพราะพรรคแกนนำพรรคทั้งสามพรรคคิดเห็นต่างออกไป พรรคฝ่ายซ้ายเห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมือง มาตรการแก้ไขเศรษฐกิจด้วยการรัดเข็มขัด พรรคฝ่ายขวาเห็นว่าควรคลายการรัดเข็มขัด มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่ม M5S ชี้ว่าสองพรรคใหญ่คือต้นเหตุปัญหาของประเทศ เช่นเดียวกับที่ประชาชนคิดเห็นต่างกันต่างสนับสนุนพรรคของตน
            ที่สุดแล้ว หากพรรคการเมืองไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือไม่มีนายกฯ คนนอกที่ได้รับการยอมรับ จะนำสู่การเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าที่นักวิเคราะห์บางคนเกรงว่าผลการเลือกตั้งใหม่อาจไม่แตกต่างจากเดิม ทำให้การเมืองตกในสภาวะชะงักงันมากขึ้น
            อีกหนึ่งทางออกที่เป็นไปได้คือ จัดเลือกตั้งใหม่โดยพรรคใหญ่เสนอนโยบายประนีประนอมที่ผ่านการปรึกษากับพรรคคู่แข่งแล้วว่ายินดีเข้าร่วมรัฐบาลด้วยหากพรรคใหญ่นั้นชนะการเลือกตั้ง เช่น พรรคฝ่ายซ้ายหาเสียงด้วยนโยบายที่ได้คุยกับพรรคฝ่ายขวาหรือพรรคอื่นๆ ว่า หากพรรคฝ่ายซ้ายของตนได้คะแนนเสียงสูงสุด พรรคอื่นยินดีร่วมรัฐบาล ในทำนองเดียวกันพรรคฝ่ายขวาก็หาเสียงด้วยชุดนโยบายที่ได้ปรับแก้หลังจากคุยกับพรรคฝ่ายซ้าย หากประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคฝ่ายขวาพร้อมนโยบายชุดใหม่ พรรคฝ่ายซ้ายก็ยินดีพร้อมสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาล
            ส่วนพรรคที่เลือกยืนหยัดจุดเดิม เช่น ถ้ากลุ่ม 5-Star Movement (M5S) ยืนยันไม่ประนีประนอมจุดยืนของตนก็สามารถทำได้ และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นเดียวกันถ้าผลการเลือกตั้งใหม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา แต่ในกรณีนี้ พรรคที่เลือกแนวทางไม่ประนีประนอมทางนโยบายกับพรรคใดๆ มีโอกาสที่จะเป็นฝ่ายค้านมากกว่า
            วิธีการนี้เป็นอีกหนึ่งทางออกเพื่อป้องกันไม่ให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ผลเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อน โดยเสนอชุดนโยบายประนีประนอมเพื่อหวังว่าประชาชนที่อยู่พรรคฝ่ายตรงข้ามหรือประชาชนที่ไม่สังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งจะหันมาเลือกพรรคของตนที่บัดนี้มีนโยบายถอยห่างจากจุดยืนเดิมของตนออกไปบ้าง เป็นแนวนโยบายที่พรรคของตนกับพรรคคู่แข่งเห็นด้วยร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกันต้องระวังว่าชุดนโยบายใหม่ของตนจะทำให้ประชาชนที่เคยสนับสนุนถอนตัวไปสนับสนุนพรรคอื่นหรือไม่เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งเลย ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการถ่วงดุลทางนโยบายระหว่างที่พรรคจะได้ประชาชนคนใหม่สนับสนุนเพิ่มกับคนเก่าที่ถอนตัวออกไป
            เป็นความจริงที่ว่าไม่มีรัฐบาลใดที่ดีสมบูรณ์ไร้ที่ติ ไม่มีชุดนโยบายใดที่ประชาชนทุกคนจะพอใจ แต่รัฐจำต้องมีรัฐบาล รัฐบาลจำต้องมีชุดนโยบายบริหารประเทศ สำคัญที่ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกด้วยความเข้าใจ ภายใต้กระบวนการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม อีกทั้งเป็นความรับผิดชอบของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจะต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ในฐานะที่ประชาชนไว้วางใจเลือกเป็นตัวแทนของพวกเขา
            ในแง่มุมหนึ่ง ประเทศมีเรื่องต่างๆ มากมายที่รอรัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการ ความล่าช้าอาจเป็นเหตุให้ประชาชนเสียประโยชน์ ปัญหารุนแรงมากขึ้น ประเทศเสียโอกาสมากมาย แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากไม่ได้รัฐบาลที่พร้อมจะบริหารประเทศ ประชาชนให้การยอมรับ การมีอีกกี่รัฐบาลกี่นายกฯ อาจไม่แตกต่างกับการที่ประเทศไร้รัฐบาล ยิ่งในภาวะที่ประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นสามฝ่ายสี่ฝ่าย สังคมจำต้องพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เห็นร่วมกันให้มากที่สุดสะท้อนออกมาเป็นชุดนโยบายบริหารประเทศที่เห็นชอบร่วมกัน
            ภาวะชะงักงันทางการเมืองของอิตาลียังสร้างความหวั่นวิตกแก่นานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยูโรโซนกำลังรอลุ้นว่าเมื่อไหร่อิตาลีจะได้รัฐบาลใหม่ และที่สำคัญกว่านั้นคือได้รัฐบาลที่เพิ่มเสถียรภาพแก่ยูโรโซน ในยุคโลกาภิวัตน์อิตาลีไม่ได้รับผิดชอบเฉพาะเรื่องภายในประเทศของตน ยังมีความรับผิดชอบต่อยูโรโซน ต่อประเทศอื่นๆ ด้วย การปลดล็อคทางการเมืองอิตาลีจะเป็นการปลดปมปัญหาอีกเปราะหนึ่งของยูโรโซน
31 มีนาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5993 วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ.2556)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:

บรรณานุกรม:

1. Italy's political crisis deepens, Grillo refuses to support government, Reuters, 28 February 2013, http://uk.news.yahoo.com/italys-political-crisis-deepens-grillo-refuses-support-govt-170727579.html

2. Italy’s election set to result in gridlock, Market Watch, 26 February 2013, http://www.marketwatch.com/story/italys-lower-house-to-go-to-bersani-coalition-2013-02-25

3. Italy’s election set to result in gridlock, Market Watch, 26 February 2013, http://www.marketwatch.com/story/italys-lower-house-to-go-to-bersani-coalition-2013-02-25
4. Bersani ultimatum may bring new Italy election closer, Reuters, 4 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/prospect-italy-vote-heightens-grillo-faces-ultimatum-091156488--business.html
5. Italy's Berlusconi demands coalition with centre-left or new vote, Reuters, 25 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/italys-berlusconi-demands-coalition-centre-left-vote-081201327--business.html
6. Italy in limbo after Bersani loses government bid, AFP, 29 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/clock-ticks-down-bersanis-bid-govern-italy-125029852.html
7. Italy in limbo after Bersani loses government bid, AFP, 29 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/clock-ticks-down-bersanis-bid-govern-italy-125029852.html
8. Italy's Berlusconi says only coalition can end deadlock, Reuters, 29 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/italys-president-seeks-way-political-deadlock-091643075.html
---------------------