ภาวะชะงักงันทางการเมืองและแนวนโยบายเศรษฐกิจของอิตาลี

เพียงชั่วข้ามคืนตลาดทุนตลาดเงินยุโรปผันผวนหนักเมื่อผลการเลือกตั้งอิตาลีชี้ว่าขั้วพรรคการเมืองที่สนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยมาตรการรัดเข็มขัดแม้ได้คะแนนสภาล่างเป็นลำดับหนึ่ง แต่กลับได้คะแนนเป็นรองในสภาสูง (วุฒิสภา) จึงยากต่อการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งตลาดหุ้นยุโรปยังกังวลว่ารัฐบาลที่จัดตั้งใหม่อาจเลิกล้มนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการรัดเข็มขัด อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีของอิตาลีขยับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือนทันที
            ผลการเลือกตั้งค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าพรรค Democratic Party (PD) ของนายปิแอร์ แบร์ซานิได้คะแนนสภาล่าง 340 เสียงมาเป็นลำดับแรก ส่วนพรรค Popolo della Liberta (PdL) ของนายซิลวีโอ แบร์ลุสโกนีได้คะแนนมาเป็นที่สอง แต่คะแนนวุฒิสภานั้นกลับกลายเป็นว่าพรรค PdL ได้เป็นที่หนึ่งคือได้ 116 เสียงในขณะที่พรรค PD มีคะแนนเป็นรอง
            สองพรรคดังกล่าวคือสองขั้วการเมืองที่ขั้วของพรรค PD สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัด ในขณะที่พรรค PdL เน้นการกระตุ้นการใช้จ่าย ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดว่าพรรค PD จะดึงพรรคของนายมาริโอ มอนติเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ส่วนอีกขั้วนั้นพรรค PdL ของนายซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี กับนายเบ็บเป กรีโลต่างหาเสียงชูนโยบายไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดของนายมอนติ
            หากรวมคะแนนพรรคตามขั้วการเมืองจะพบว่าขั้วพรรค PD มีเสียงข้างมากในสภาล่าง แต่ขั้วพรรค PdL มีเสียงข้างมากในสภาบน ประเด็นปัญหาคือกฎหมายเลือกตั้งของอิตาลีบัญญัติว่ารัฐบาลที่จัดตั้งใหม่จะต้องมีเสียงข้างมากทั้งสองสภา

            นายปิแอร์ แบร์ซานิหัวหน้าพรรค Democratic Party (PD) ที่ได้คะแนนสภาล่างสูงสุดยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองอิตาลีอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพ “เราระวังตัวว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม อิตาลีกำลังอยู่ในภาวะไม่แน่นอน”
            สถานการณ์ที่ยากจะจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นภาวะชะงักงันทางการเมืองว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ และหากจัดตั้งได้หมายความว่าจะต้องรวมกับพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปด้วยการรัดเข็มขัด และเมื่อเป็นเช่นนั้นนโยบายเศรษฐกิจจะต้องออกมาในแนวทางประนีประนอมทั้งสองฝ่าย
            ดาเนียเล อันโตนุชชีนักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์ให้ความเห็นว่า “รัฐสภาที่ประกอบด้วยหลากหลายพรรคชี้ว่าการเมืองเปราะบาง เกิดข้อสงสัยว่าอิตาลีจะสามารถปฏิรูปได้อย่างจริงจังหรือไม่” ด้านนายนูเรียล รูบินินักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กให้ภาพลบกว่านั้นโดยกล่าวว่า “อิตาลีจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่อีกครั้งภายใน 6 เดือนข้างหน้า” เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้รัฐบาลร่วมที่ไร้เสถียรภาพ ส่งผลให้การเมือง เศรษฐกิจ การเงินปั่นป่วนวุ่นวาย
            นอกจากนี้ผู้สังเกตการณ์บางคนให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีค่าเท่ากับเป็นการหยั่งเสียงว่าประชาชนอิตาลีสนับสนุนนโยบายรัดเข็ดขัดของนายมาริโอ มอนติหรือไม่ พรรค PdL ของนายแบร์ลุสโกนี กับพรรคของนายเบ็บเป กรีโลต่างหาเสียงชูนโยบายไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดของนายมอนติ หากรวมคะแนนของสองพรรคจะได้คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด (popular vote) มากกว่าครึ่งคือได้ราวร้อยละ 55 ส่วนพรรคของนายมอนติได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 10 ตัวเลขสถิติสองค่านี้ชี้ว่าประชาชนไม่สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัดของนายมอนติที่แล้วมา
            ในขณะที่ชาวอิตาลีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการรัดเข็มขัดเพราะทำให้รายได้ลดรายจ่ายเพิ่ม แต่รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกว่าการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจตามแนวทางของนายกฯ มาริโอ มอนตินั้นมาถูกทาง ชื่นชมว่ารัฐบาลสามารถลดการขาดดุลงบประมาณและยังต้องดำเนินการต่อให้เข้มข้นกว่านี้ แนวทางของไอเอ็มเอฟสอดคล้องกับความเห็นของผู้นำประเทศสหภาพยุโรปอีกหลายชาติที่ขอให้อิตาลีดำเนินนโยบายของนายมอนติต่อไป

            ความต้องการของชาวอิตาลีกับไอเอ็มเอฟและประเทศที่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดจึงสวนทางกัน เป็นภาวะชะงักงันทางนโยบายเศรษฐกิจ
            หากย้อนหลังสักสองปี ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีซิลวีโอ แบร์ลุสโกนีกำลังประสบปัญหาหนัก เนื่องจากหนี้สินสาธารณะเพิ่มขึ้นมากและตลาดไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลอิตาลีสามารถชำระหนี้ได้ ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของอิตาลีขยับขึ้นเกินระดับร้อยละ 7 ระดับที่ตลาดเชื่อว่าลูกหนี้ไม่มีปัญญาชำระได้แล้ว ผลจากแรงกดดันรอบด้านส่งผลให้นายแบร์ลุสโกนีประกาศลาออก และนายมอนติเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แทน
            เมื่อนายกฯ มอนติประกาศและดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง รวมทั้งใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดหนี้สินสาธารณะจึงทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะที่ควบคุมได้
            มาวันนี้ประชาชนอิตาลีส่วนใหญ่แสดงไม่เห็นกับนโยบายของนายมอนติ การใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างจริงจังไม่เป็นที่ต้อนรับ และหากรวมกับแนวทางที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องใช้นโยบายแบบประนีประนอม ปลายทางของการเจรจาต่อรองอาจลงเอยที่ไม่อาจใช้นโยบายรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดอีก ประเด็นสำคัญคือต้องไม่ลืมความจริงที่ว่างบประมาณที่รัฐบาลอิตาลีใช้อยู่ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้ต่างประเทศผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งพันธบัตรรัฐบาล
            ทันทีที่ผลการเลือกตั้งค่อนข้างชัดเจน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศว่า “แทนที่จะเห็นความชัดเจนต่อทิศทางการเมืองของประเทศ ผลการเลือกตั้งเมื่อไม่นานนี้ทำให้แรงปฏิรูปโครงสร้างที่รัฐบาลมาริโอ มอนติวางไว้มีความเสี่ยงว่าจะหยุดชะงัก” และเตือนว่าจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อลงอีกหากการปฏิรูปไร้ผล (หรือไม่ดำเนินการปฏิรูปต่อไป) ปัจจุบันมูดี้ส์ให้อันดับความน่าเชื่อของอิตาลีอยู่ที่ Baa2 เหลืออีกเพียง 2 ขั้นก่อนถึงระดับขยะ
            คำตอบสุดท้ายอาจอยู่ที่มูดี้ส์
28 กุมภาพันธ์ 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:อิตาลีจะเป็นตัวปัญหาประเทศต่อไปหรือไม่” 

บรรณานุกรม:
1. Italy: Govt bonds slump after inconclusive elections, AKI/Bloomberg, 26 February 2013, http://www.adnkronos.com/IGN/Aki/English/Business/Italy-Govt-bonds-slump-after-inconclusive-elections_314222685876.html
2. Italian leftist leader seeks way out of deadlock, AFP, 27 February 2013, http://uk.news.yahoo.com/tense-wait-italian-leftists-neck-neck-election-232750594.html
3. Italy’s election set to result in gridlock, Market Watch, 26 February 2013, http://www.marketwatch.com/story/italys-lower-house-to-go-to-bersani-coalition-2013-02-25
4. Italian election gridlock rattles Europe markets, Market Watch, 26 February 2013, http://www.marketwatch.com/story/italian-election-gridlock-rattles-europe-markets-2013-02-26
5. Europe Frets over Italy: 'Two Clowns Won the Election', Spiegel Online, 27 February 2013,
http://www.spiegel.de/international/europe/european-union-leaders-worry-that-italian-election-may-spur-crisis-a-885816.html
6. Guy Dinmore, “More reform needed, IMF warns Italy,” Financial Times, 10 July 2012, http://www.ft.com/intl/cms/s/0/c98af38e-ca9e-11e1-8872-00144feabdc0.html#axzz2M6mqKbv5
-------------------------