รัฐบาลจีนชุดใหม่หวังสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับสหรัฐ

ทันทีที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนต้องการดำเนินความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่กับสหรัฐโดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ กล่าวว่า “เราต้องการร่วมมือกับรัฐบาลโอบามาเพื่อสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างสองมหาอำนาจ ... ผมไม่ได้พูดว่าไม่มีเรื่องขัดแย้งระหว่างกัน แต่ตราบใดที่สองประเทศเคารพข้อกังวลต่างๆ ของกันและกัน สองประเทศสามารถบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันอันจะก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านั้น”
            คำประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนของนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
            ประการแรก จีนฉวยโอกาสเปลี่ยนฝ่ายบริหารชูนโยบายใหม่
            การประกาศขอดำเนินความสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับสหรัฐแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยสร้างความตื่นเต้นพอกับความสำคัญของเนื้อหาที่นำเสนอ ทั้งสองอย่างชี้ว่าเรื่องสำคัญเช่นนี้ไม่ใช่นโยบายที่เพิ่งคิดไม่นานแต่ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว และน่าจะเป็นการตัดสินใจเห็นชอบร่วมกันของกลุ่มผู้มีอำนาจปกครองทั้งชุดใหม่และเก่า
            ประการที่สอง จีนยกเรื่องเศรษฐกิจเป็นประเด็นชี้ชวน
            นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงร่ายยาวยกประวัติศาสตร์ว่าตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาความสัมพันธ์สองประเทศมีทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือ แต่โดยรวมแล้วความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นข้อบ่งชี้ว่าทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกัน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อกันน่าจะเอื้อให้สองประเทศร่วมมือกันมากกว่าจะขัดแย้ง และจะทำให้โลกไปสู่ทิศทางที่มีสันติและเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ
            ไม่ใครปฏิเสธได้ว่าสองประเทศมีความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าประธานาธิบดีอเมริกาจะมาจากพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน หรือรัฐบาลจีนได้เปลี่ยนผู้นำมาแล้วกี่ชุดก็ตาม ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ยิ่งในยามที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องของประชาชน ทำอย่างไรประชาชนจะมีงานทำ อัตราคนว่างงานอยู่ในระดับที่รับได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งแบบอเมริกาหรือแบบจีนเสถียรภาพของรัฐบาลขึ้นกับเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
            การที่รัฐบาลจีนชี้ชวนให้รัฐบาลโอบามาร่วมมือพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชนจึงเป็นการชี้ชวนที่ยากจะปฏิเสธหรือจะต้องพยายามหาเหตุผลที่มีน้ำหนักมากเพียงพอที่จะโต้แย้ง
            ประการที่สาม ไม่มีเหตุผลที่สหรัฐจะปฏิเสธความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน
            ในอดีตรัฐบาลอเมริกันใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนกดดันจีนกระทบบรรยากาศการลงทุน  แต่บริบทระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปมาก รัฐบาลสหรัฐคลายความกดดันต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งเดิมๆ อย่างกรณีจีนกับไต้หวันก็บรรเทาลง และกลับกลายเป็นว่าไต้หวันกับจีนมีความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นเฉพาะด้านการค้าการลงทุน นักธุรกิจชาวไต้หวันลงทุนทำธุรกิจในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ไม่ต่างจากอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐ และในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกันย่อมเป็นประโยชน์ต่ออเมริกา
            ประการที่สี่ คาดว่านานาชาติสนับสนุน
            เป็นที่ทราบและยอมรับกันทั่วไปว่าหากเศรษฐกิจจีนหดตัวไม่เพียงกระทบต่อจีนแต่กระทบทั่วโลก สำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลกในปัจจุบัน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตหรือหดตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 หรือ 0.5 ส่งผลกระทบทั่วโลกดังคำกล่าวที่ว่า เมื่อประเทศจีนจาม โลกทั้งใบสั่นไหว มีหลักฐานที่เด่นชัดมากมาย เช่น เมื่อตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายตัวของโลกอย่างแร่เหล็ก ทองแดง ถ่านหินเคลื่อนไหวอ่อนตัวทันที เกิดผลกระทบลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้
            เช่นเดียวกับที่หากเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอย่อมไม่เป็นผลต่อการส่งออกของจีนเช่นกัน อย่างกรณีวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ 2008 รัฐบาลจีนสมัยนั้นต้องอัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อยับยั้งความถดถอยทางเศรษฐกิจของตน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกถึงขนาดที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศชื่นชมบทบาทของจีนในขณะนั้น
            ดังนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจีนหรือสหรัฐประสบปัญหาย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ในทางกลับกันหากสองประเทศร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก
            ประการที่ห้า จีนดำเนินนโยบายเชิงรุกต่อสหรัฐและต่อโลก
            นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลบารัก โอบามาหวังใช้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เพื่อปิดล้อมทางเศรษฐกิจจีน สกัดกั้นอิทธิพลของจีนโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จะเติบโตอย่างมากในทศวรรษนี้
            การที่รัฐบาลจีนชุดใหม่ประกาศเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐเท่ากับเป็นการประกาศให้ทั่วโลกทราบว่าจีนมีความปรารถนาดีต่อสหรัฐและต่อโลก หวังสร้างความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง (เมื่อเทียบกับแนวคิดที่สหรัฐพยายามดำเนินนโยบายปิดล้อมอิทธิพลทางเศรษฐกิจทางการเมืองของจีน)
            ดังที่กล่าวแล้วว่าหากเศรษฐกิจสองประเทศเข้มแข็งย่อมเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ เมื่อจีนชูนโยบายร่วมมือแทนความขัดแย้งจึงเท่ากับเป็นการโต้นโยบายสกัดกั้นของสหรัฐ และยังแสดงบทบาทของจีนที่ตั้งเป้าจะดำเนินนโยบายสร้างสรรค์ต่อเศรษฐกิจโลก

            นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงไม่ได้อธิบายโดยละเอียดว่าความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ว่าคืออะไร นอกจากเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้า มองข้ามความขัดแย้งระหว่างกัน แต่มีข้อควรสังเกตคือเมื่อพูดถึงจีนกับสหรัฐ นายกฯ หลี่ใช้คำว่า “สองมหาอำนาจ” แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนชุดใหม่ไม่ได้มองประเทศตนล้าหลังหรืออ่อนแอ ในขณะเดียวกันในบางประโยคเรียกสหรัฐว่าเป็น “ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก” และเรียกประเทศตนว่า “ประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก” คำพูดที่บอกว่าสหรัฐคือประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งนั้นยังเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบันแม้อำนาจดังกล่าวจะลดน้อยถอยลงในบางด้าน เช่นเดียวกับการยอมรับว่าจีนเป็นชาติมหาอำนาจ ในขณะที่เศรษฐกิจสังคมของจีนยังต้องพัฒนาอีกมาก
            เมื่อมองไปในอนาคต ผลการศึกษาของสภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐ (National Intelligence Council หรือ NIC) พยากรณ์ว่าเมื่อถึงปี 2030 จะไม่มีชาติอภิมหาอำนาจอีกต่อไป แต่เป็นระบบโลกที่มีหลายมหาอำนาจ หลายเครือข่ายอำนาจ และจีนจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่หนึ่งของโลก ความเป็นชาติมหาอำนาจหลายขั้วหลายเครือข่ายมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสัมพันธ์ระหว่างขั้วหรือเครือข่ายอำนาจเหล่านี้ และโลกจะมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกไม่พ้น
            การที่รัฐบาลจีนชุดใหม่ชูนโยบายปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐ ให้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นและมองข้ามข้อพิพาท อันจะก่อประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและต่อโลกจึงเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์ และเลือกจังหวะโอกาสได้อย่างเหมาะสมทั้งในแง่รัฐบาลโอบามาที่ไม่นิยมความขัดแย้งทางทหาร (เมื่อเทียบกับรัฐบาลอเมริกาบางชุดในอดีต) และในจังหวะที่เศรษฐกิจโลกต้องการความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง
            ทั้งหมดนี้ยังแสดงถึงบทบาทความเป็น “ชาติมหาอำนาจ” ของจีนต่อโลกในทางสร้างสรรค์ และเป็นโอกาสของอีกชาติมหาอำนาจที่จะแสดงบทบาทอย่างมีวิสัยทัศน์ทัดเทียมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เป็นบทบาทของสองมหาอำนาจที่มีต่อระบบโลกปัจจุบัน
18 มีนาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2013 http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=2771:2013-03-20-09-22-49&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
มีการวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาหวังจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก คือเพื่อสกัดกั้น ปิดล้อม อิทธิพลของจีนต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและต่อโลก
บรรณานุกรม:
1. More opportunities for Sino-U.S. trade, investment: premier, Xinhua, 17 March 2013, http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-03/17/c_132240139.htm
2. ‘Global economy: When China sneezes, 'Financial Times, 17 October 2012, http://www.ft.com/intl/cms/s/2/8514c0dc-17af-11e2-9530-00144feabdc0.html#axzz2NmkKYA70
3. National Intelligence Council, “Global Trends 2030: alternative world,” http://www.dni.gov/files/documents/GlobalTrends_2030.pdf
4. สหรัฐฯ สามารถใช้ TPP เพื่อปิดล้อมจีนได้หรือไม่, http://www.chanchaivision.com/2012/12/tpp.html
---------------------