สหรัฐฯ สามารถใช้ TPP เพื่อปิดล้อมจีนได้หรือไม่

มีการวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาหวังจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ TPP คือเพื่อสกัดกั้น ปิดล้อม อิทธิพลของจีนต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและต่อโลก
นักวิเคราะห์จากจีนบางคนก็เห็นว่านโยบาย TPP บ่อนทำลายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิก ทำลายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม และสหรัฐฯ พยายามครอบงำบทบาทในเอเชียแปซิฟิก
            ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในวางระเบียบการค้าโลก หากอนาคตจีนมีอิทธิพลแซงหน้า จีนอาจกลายเป็นผู้วางระเบียบการค้าโลกใหม่ ถึงเวลานั้นสหรัฐฯ จะเสียหายหนักจึงต้องรีบสกัดเสียแต่วันนี้
            เป็นความจริงที่ว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่มขึ้นในยามที่อิทธิพลของฝ่ายสหรัฐฯ ถดถอย วิกฤตเศรษฐกิจโลก 2008 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อสหรัฐฯ เผชิญวิกฤตและส่งผลกระทบทั่วโลก จีนแสดงบทบาทเป็นพระเอกขี่ม้าขาวทุ่มงบประมาณกว่า 6 พันล้านดอลลาร์กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยให้ระบบการเงินและการค้าโลกฟื้นตัว ประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คุณคริสติน ลาการ์ด ถึงกับกล่าวชื่นชมว่า “จีนเป็นเครื่องมือทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกเสียหายน้อยลงจากวิกฤต" พร้อมกับกล่าวสนับสนุนให้รักษาบทบาทดังกล่าวซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจโลกกับจีน
            วิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซนในปัจจุบันเป็นอีกกรณีที่ชัดเจน ในปี 2012 นายกรัฐมนตรีเยอรมัน นางอังเกล แมร์เคิล หัวเรือใหญ่ของกลุ่มยูโรโซนถึงกับลงทุนเดินทางไปจีนถึง 2 รอบเพื่อขอให้จีนช่วยแก้ปัญหายูโรโซน
            ทั้งสองเหตุการณ์เป็นประจักษ์พยานในตัวเองว่าจีนมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกปัจจุบันมากเพียงใด ไม่แปลกที่รัฐบาลอเมริกาจะกังวลใจและหาทางสกัดอิทธิพลของจีน
            ผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดการปิดล้อมยึดหลักว่าการที่ TPP ช่วยเพิ่มการค้าระหว่างกันในหมู่สมาชิกที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่ากับเป็นลดการทำการค้ากับประเทศนอกกลุ่ม และเมื่อจีนถูกกันไม่ให้เข้ากลุ่มส่งผลให้อิทธิพลของจีนต่อภูมิภาคนี้ลดลง

เหตุผลที่ปิดล้อมไม่ได้
            อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในอีกมุมหนึ่ง มีเหตุผลเชื่อได้ว่า TPP ไม่อาจปิดล้อมจีนได้ดังที่หวัง ดังนี้
            ประการแรก TPP ไม่เป็นเหตุให้ประเทศอื่นๆ ไม่ทำการค้ากับจีน
            ในบริบทโลกยุคปัจจุบันทุกประเทศมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มุ่งขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน ที่ผ่านมาจีนได้ขยายการค้ากับนานาประเทศอย่างกว้างขวางผ่านระบบการค้าทั้งทวิภาคี พหุภาคี
หากพิจารณาเฉพาะในกรอบจีนกับอาเซียนจะพบว่าจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนและเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของจีน โดย 20 ปีที่ผ่านมา นับจากที่อาเซียนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนในปี 2534 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น 45 เท่า จาก 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2534 เป็น 362.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 สำหรับในปี 2555 นี้ (มกราคม-กันยายน) การค้าอาเซียน-จีน มีมูลค่า 288.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
และหากพิจารณาเฉพาะในกรอบความตกลงการค้าเสรี ยังมีกรอบอื่นๆ อีกมากที่จีนเป็นสมาชิก ทำนองเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ สามารถทำการค้าเสรีกับจีนผ่านกรอบอื่นๆ ทั้งแบบทวิภาคี พหุภาคี เช่น เขตการค้าเสรีไทย-จีน
 อีกทั้งในอนาคตสามารถสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ๆ เพิ่มเติม จีนอาจเป็นแกนนำสร้างขึ้นเอง หรือร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น สามประเทศนี้กำลังเจรจาความตกลงการค้าเสรี กระทั่งว่าจีนอาจสร้าง TPP ในแบบฉบับของตนเองและกันสหรัฐฯ ออกไป (จินตนาการว่าเกิด TPP ของจีนโดยมีลักษณะเหมือน TPP ทุกอย่างแต่เอาประเทศจีนแทนที่สหรัฐฯ)
ดังนั้น เมื่อ TPP ไม่เป็นเหตุให้ประเทศอื่นๆ ไม่ทำการค้ากับจีน และโลกปัจจุบันมีช่องทางการค้าการลงทุนมากมาย จึงไม่สมเหตุผลหากลำพังกรอบความร่วมมือ TPP อย่างเดียวจะเป็นเหตุให้เศรษฐกิจจีนถูกปิดล้อม
            ประการที่สอง สหรัฐฯ ยังทำการค้ากับจีนเป็นปกติ
            หากสหรัฐฯ หวังจะปิดล้อมทางเศรษฐกิจจีนอย่างจริงจัง วิธีการแรกที่สมควรทำคือไม่ทำการค้ากับจีน แต่จนถึงทุกวันนี้สหรัฐฯ ยังคงความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับจีนและเพิ่มมากขึ้น
จากสถิติการค้าระหว่างสองประเทศย้อนหลังสิบปีพบว่าสหรัฐฯ ส่งสินค้าออกไปจีนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำนองเดียวกับที่นำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเกือบทุกปีเช่นกัน ตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2011 พบว่าสหรัฐฯ ส่งออกเกือบหนึ่งแสนสี่พันล้านดอลลาร์ นำเข้าจากจีนเกือบสี่แสนล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยที่ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ตารางแสดงความสัมพันธ์การค้าจีน-สหรัฐฯ 2001-2011
China's Trade with the United States, 2001-11 ($ billion)
Notes: *Calculated by USCBC. US exports reported on a free-alongside-ship basis; imports on a general customs-value basis.
Source: US Department of Commerce; US International Trade Commission (ITC)

2001
2002
2003
2004
2005
2006
2007
2008
2009
2010
2011
US exports
19.2
22.1
28.4
34.7
41.8
55.2
65.2
71.5
69.6
91.9
103.9
  % change*
18.3
14.7
28.9
22.2
20.5
32.0
18.1
9.5
-2.6
32.1
13.1
US imports
102.3
125.2
152.4
196.7
243.5
287.8
321.5
337.8
296.4
364.9
399.3
  % change*
2.2
22.4
21.7
29.1
23.8
18.2
11.7
5.1
-12.3
23.1
9.4
US balance
-83.0
-103.1
-124.0
-162.0
-201.6
-232.5
-256.3
-266.3
-226.8
-273.1
-295.5
(ที่มา: US-China Trade Statistics and China's World Trade Statistics. US-China Business Council, https://www.uschina.org/statistics/tradetable.html)

            ดังนั้น เมื่อสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการค้ามากขึ้น หมายถึงเศรษฐกิจจีนจะเติบใหญ่มากขึ้นด้วย เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมจึงไม่อาจสกัดกั้นจีนได้อย่างแท้จริง
            ประการที่สาม ไม่ใช่ทุกประเทศที่ต้องการทำการค้าเสรีผ่าน TPP
            จนถึงปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก มีหลายประเทศที่แสดงความสนใจ แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่ต้องการหรือพร้อมเข้าร่วม
            ประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมจะเข้าร่วมโดยเร็วที่สุด หรือเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมโดยเร็ว ส่วนประเทศที่ยังไม่สนใจหรือไม่พร้อมก็จะยังไม่เข้าร่วม
            เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมมีมากมาย ทั้งเหตุผลจากนักธุรกิจนักลงทุนภายในประเทศ ได้รับการต่อต้านจากประชาชน หรือมีผู้ชี้ว่าการเข้าร่วม TPP จะเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์ ฯลฯ
            ดังนั้น การที่ประเทศเข้าร่วม TPP จึงไม่เกี่ยวข้องกับการปิดล้อมจีน แต่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ โอกาสสร้างกำไรของธุรกิจ ซึ่งเป็นธรรมดาของการค้าการลงทุนอยู่แล้ว ไม่ต่างจากเหตุผลที่ทำไมประเทศทั้งหลายจึงเลือกทำการค้าการลงทุนกับจีน
สรุปแล้วเหตุที่เห็นว่าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกไม่อาจปิดล้อมเศรษฐกิจจีนหรือไม่อาจปิดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะลำพัง TPP ไม่สามารถปิดล้อมกีดกันไม่ให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทุกประเทศทำการค้ากับจีน มีกลไกลหรือระบบการค้าเสรีอื่นๆ ที่ดำเนินอยู่แล้วและสามารถเกิดเพิ่มเติมในอนาคต อีกทั้งสหรัฐฯ ยังคงมีสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น

ว่าด้วยหลักการที่ถูกต้องกับเหตุผลที่ขัดแย้งและสับสน :
            หากศึกษาวิเคราะห์ข้อกล่าวอ้างว่าสหรัฐอเมริกาสามารถใช้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ TPP เพื่อสกัดกั้น ปิดล้อม อิทธิพลของจีนต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและต่อโลก และเหตุผลคัดค้านดังกล่าวข้างต้น พบว่าเกิดจากความเข้าใจในหลักการกับการใช้เหตุผลที่ขัดแย้งและสับสน ดังนี้
            ประการแรก ระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบันเชื่อมโยงกัน ต่างได้รับผลดีผลกระทบร่วมกัน
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทุกวันนี้เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันอย่างมากและกำลังเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ถ้าการปิดล้อมทำให้เศรษฐกิจจีนเสียหายจะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วุฒิสมาชิกจอห์น เคอร์รี ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่แสดงความเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับจีนว่า “ถ้าจีนประสบความสำเร็จในการปรับสมดุลเศรษฐกิจของตนเอง เมื่อนั้นเศรษฐกิจโลกจะได้รับประโยชน์รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย” ในทางกลับกัน “ถ้าจีนล้มเหลวหรือถ้าเราตัดตัวเราเองออกจากจีนเพื่อจะปิดล้อมจีนตามที่บางคนแนะนำเมื่อนั้นทุกคนจะได้รับผลเสีย"
คำกล่าวของวุฒิสมาชิกเคอร์รีว่าที่รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ สะท้อนหลักการเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าสหรัฐฯ มุ่งหวังผลจากการใช้ TPP เพื่อปิดล้อมจีนมากเพียงไร และกลับไปสู่ข้อสงสัยว่าสหรัฐฯ สามารถใช้ TPP เพื่อปิดล้อมจีนดังอ้างได้หรือไม่
            ประการที่สอง นโยบายสหรัฐฯ ที่ขัดแย้งในตัวเอง
            หากยึดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายหวังใช้ TPP เพื่อปิดล้อมทางเศรษฐกิจจีน แต่ในอีกทางหนึ่งสหรัฐฯ กลับขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนเสียเอง
            เช่นเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผลการเจรจา China-U.S. Joint Commission on Commerce and Trade (JCCT) ตัวแทนจากสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงร่วมในการเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งสองประเทศเห็นตรงกันว่าจะให้เศรษฐกิจเติบโต เพิ่มการจ้างงานแก่ประชาชนทั้งสองประเทศ รักษาการณ์รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เรเบคก้า แบลงค์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ด้านการค้าของทั้งสองประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทั้งสองประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก และขอให้ความร่วมมือมีความสมดุลและเติบโตยิ่งขึ้นทางด้านการค้าและการลงทุน
สถิติการค้าระหว่างสองประเทศที่เติบโตมากขึ้นแทบทุกปีดังที่นำเสนอข้างต้นเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุด
อาจกล่าวได้ว่าลักษณะของสหรัฐฯ เปรียบเหมือนคนที่พูดอย่างทำอย่าง พยายามกีดกันไม่ให้ประเทศอื่นทำการค้ากับจีนแต่ตัวเองกลับเพิ่มความสัมพันธ์การค้ากับจีนเสียเอง มีนโยบายส่งเสริมการกีดกันการค้าพร้อมกับมีนโยบายร่วมมือเพิ่มการค้าการลงทุนกับจีน เป็นความขัดแย้งความสับสนเชิงนโยบายของสหรัฐฯ
            ประการที่สาม แต่ละประเทศย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ตนเอง
            หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจกังวลอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีประเทศใดแม้แต่ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ จะร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างสุดขั้ว ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจกับความมั่นคงทางทหาร แต่จีนคือตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้
            ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดสหรัฐฯ มานานหลายทศวรรษแล้ว และกำลังมีข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุกับจีน แต่ถึงกระนั้นญี่ปุ่นไม่ได้ตัดความสัมพันธ์การค้าการลงทุนกับจีนแต่อย่างไร
            เช่นเดียวกับชาติสมาชิกอาเซียนที่กำลังเป็นคู่เจรจา TPP อันประกอบด้วย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามต่างไม่มีท่าทีต้องการลดการค้าการลงทุนกับจีนเช่นกัน
            ในเชิงหลักการ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอาจอยู่ในลักษณะมีความขัดแย้งคู่กับความร่วมมือ สำคัญที่ทุกประเทศจะคิดรักษาเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นสำคัญ
แม้สหรัฐฯ เป็นชาติอภิมหาอำนาจก็ไม่อาจชี้นำประเทศอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่อาจห้ามประเทศอื่นทำการค้ากับจีน และจะเกิดคำถามว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ทำการค้ากับจีนตามความต้องการของอเมริกา สหรัฐฯ จะรับผิดชอบความตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นอย่างไร จะดูแลคนว่างงานของประเทศเหล่านั้นอย่างไร ฯลฯ
            ประการที่สี่ การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นเหตุการณ์ปกติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
            ดังที่กล่าวแล้วว่าก่อนจะมี TPP นานาประเทศทั่วโลกมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนและหวังให้มีความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น เช่น ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับจีน อาเซียนมีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน (Agreement on Comprehensive Economic Co-operation between ASEAN and China) หรือ ACFTA และถ้าจะกล่าวในกรอบกว้างขึ้นการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นเสมอๆ ในวันขึ้นปีใหม่ 2013 นี้ความตกลงการค้าเสรีมาเลเซีย-ออสเตรเลีย (Malaysia-Australia Free Trade Agreement) หรือ MAFTA จะเริ่มมีผลบังคับใช้
            หากศึกษาประวัติที่มาของ TPP จะพบว่า TPP มีจุดเริ่มต้นในปี 2002 จากการที่สามประเทศ คือ เม็กซิโก สิงคโปร์และนิวซีแลนด์ ร่วมหารือหวังจะจัดตั้งเขตการค้าเสรีกรอบใหม่ (สังเกตว่าไม่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย) เกิดเป็นกลุ่ม Pacific Three Closer Economic Partnership (P3-CEP) จากนั้นในปี 2005 บรูไนขอเข้ามีส่วนร่วมด้วยและเปลี่ยนเป็นชื่อกลุ่ม Pacific-4 (P4) ส่วนสหรัฐฯ เพิ่งจะเข้ามามีร่วมเจรจาในเดือนมีนาคม 2008 โดยขอสงวนสิทธิ์ว่าอาจจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ ต่อมาในเดือนกันยายน 2008 จึงประกาศว่าขอร่วมเจรจาเต็มรูปแบบและเริ่มใช้ชื่อ Trans-Pacific Partnership (TPP) และในเดือนพฤศจิกายน 2009 ประธานาธิบดีบารัก โอบามายืนว่าจะสหรัฐฯ จะมีส่วนร่วมใน TPP และมีอีกหลายประเทศเข้าร่วมเจรจากรอบการค้าเสรีกรอบใหม่นี้
            ประวัติที่มาของ TPP จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าประเทศทั้งหลายพยายามหาทางสร้างกรอบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีสหรัฐฯ หรือไม่ก็ตาม
ประการที่ห้า การค้าภายในกลุ่ม TPP ที่เติบใหญ่น่าจะเสริมส่งให้ประเทศสมาชิกทำการค้ากับจีนมากขึ้น
            ตามหลักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เมื่อขนาดเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งเติบโตขึ้นประเทศนั้นจะมีโอกาสขยายความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ มากขึ้น ดังนั้นหาก TPP ทำให้เศรษฐกิจสมาชิกเติบโตขึ้น น่าจะเป็นโอกาสทำให้ประเทศนั้นขยายการทำการค้ากับประเทศอื่นๆ รวมทั้งจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น กรอบความร่วมมือ TPP สุดท้ายน่าจะกลับเป็นประโยชน์ต่อจีนในที่สุด

วิเคราะห์องค์รวม :
            ที่สุดแล้วหากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการปิดล้อม สกัดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจจีนต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ลำพังการใช้ TPP เพียงกลไกเดียวไม่น่าจะได้ผล เพราะระบบการค้าโลกปัจจุบันมีกลไกการค้าหลายอย่างและทุกประเทศต่างหวังทำการค้าซึ่งกันและกันมากกว่าจะกีดกั้น
            และหากยังยึดมั่นว่าสหรัฐฯ ใช้ TPP เป็นเครื่องมือปิดล้อมจีนและส่งผลกระทบต่อจีนมาก เท่ากับทำสงครามการค้าสงครามเศรษฐกิจกับจีน จีนอาจตอบโต้สหรัฐฯ โดยตรงผ่านการค้าระหว่างสองประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมสร้างความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่ายและกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เมื่อถึงขั้นนั้นประชาคมโลกคงอยากเห็นสองประเทศกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อีกทั้งประชาชนทั้งสองฝ่ายจะได้รับผลกระทบและเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของตนเสียเอง
            รัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมเข้าใจเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี ดังนั้น TPP จึงไม่น่าจะใช้จนเกิดผลรุนแรงขนาดนั้น ไม่อาจปิดล้อมจีนได้เต็มกำลัง
            สำหรับการเมืองอเมริกาประเด็นความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับจีนเป็นเรื่องสำคัญมานานแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงทางทหารหรือทางเศรษฐกิจ บ่อยครั้งที่นักการเมืองอเมริกันบางคนต้องหยิบยกประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสองประเทศขึ้นมาพูด เพราะสหรัฐฯ เป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีนมาตลอดและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งเมื่อพูดถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของอเมริกา
แต่ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ขึ้นกับเศรษฐกิจจีนเพียงอย่างเดียวและเป็นการมองในกรอบแคบ แท้ที่จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน อีกทั้งสหรัฐฯ สามารถสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของตนได้ด้วยวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน ยกระดับคุณภาพสินค้าบริการ
            ณ วันนี้ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกยังอยู่ในขั้นการเจรจา มีหลายประเด็นที่ไม่อาจสรุปชัดเจนแม้กระทั่งเรื่องจีนจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยหรือไม่ แต่ก่อนถึงวันนั้นวาทกรรมการปิดล้อมสกัดกั้นจีนถูกนำมากล่าวถึง เป็นเหตุให้วิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา แต่มีความจริงที่แน่นอนว่าทั้งรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับจีนต่างอยู่ในช่วงเวลาแห่งการประคับประคองเศรษฐกิจของตนอย่างเต็มกำลัง และสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ แล้วเศรษฐกิจจีนจะเป็นภัยคุกคามหรือไม่นั้นไม่สำคัญกว่าที่โพลล์วันนี้ชี้ว่าคนอเมริกันยังอยู่ดีมีสุขมีกินมีใช้
28 ธันวาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5899 วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2555
บางส่วนของบทวิเคราะห์เผยแพร่ใน “ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย” http://www.thaiworld.org/enn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1242
--------------------------
บรรณานุกรม:
1. Treat US' strategy of rebalance in Asia-Pacific rationally. People's Daily Online, December 20, 2012, http://english.peopledaily.com.cn/90883/8065858.html
2. Obama’s coming leap of faith on Europe. http://www.ft.com/intl/cms/s/0/7dcc2088-49ee-11e2-a7b1-00144feab49a.html#axzz2FykUMDJd
3. อาเซียน-จีน พร้อมใจเพิ่มกลไกแก้ปัญหาการค้า. Dtn Thailand เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2012 เวลา 18:07 น. http://www.thaifta.com/thaifta/Home/tabid/36/ctl/Details/mid/436/ItemID/7772/Default.aspx
4. US-China Trade Statistics and China's World Trade Statistics. US-China Business Council, https://www.uschina.org/statistics/tradetable.html
5. Kerry positive for China-US relations. China Daily, http://www.chinadaily.com.cn/china/2012-12/24/content_16044959.htm
6. China-U.S. JCCT concludes with positive results.
http://news.xinhuanet.com/english/china/2012-12/20/c_132052853.htm
7. Chunding Li and John Whalley. CHINA AND THE TPP: A NUMERICAL SIMULATION ASSESSMENT OF THE EFFECTS INVOLVED. NATIONAL BUREAU OF ECONOMIC RESEARCH, http://www.nber.org/papers/w18090.pdf?new_window=1
8. สถานการณ์การค้าจีน-ญี่ปุ่น ไม่แย่อย่างที่คิดและอาจไม่ดีอย่างที่หวัง. สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1351 ประจำวันที่ 10-11-2012 ถึง 13-11-2012, ที่ http://chanchaiblogger.blogspot.com/2012/11/blog-post_23.html
----------------------------