เกาหลีเหนือที่เปลี่ยนแปลงและคงเดิม

2 ตุลาคม 2012
ชาญชัย
            รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศนายปั๊ก เคียวยัน เป็นตัวแทนประเทศเกาหลีเหนือกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ใจความหลักกล่าวถึงความสัมพันธ์อันตึงเครียดกับเกาหลีใต้และสหรัฐฯ และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่จะติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น
สุนทรพจน์กล่าวถึงความสัมพันธ์กับประเทศเกาหลีใต้ที่ยังอยู่ในภาวะย่ำแย่ กล่าวโทษรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี นายอี มยอง-บัก เกาหลีใต้ทำให้ข้อตกลงระหว่างสองประเทศเป็นหมัน แผนการรวมชาติ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก
ประเด็นต่อมาคือกล่าวโจมตีสหรัฐฯ ที่ยังดำเนินนโยบายเป็นปรปักษ์กับเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเผชิญหน้าในคาบสมุทรเกาหลีและมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นจุดล่อแหลมต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์
พร้อมกับย้ำว่าเกาหลีเหนือมีขีดความสามารถด้านอาวุธพร้อมปกป้องอธิปไตยของตน
ทางด้านเศรษฐกิจ เกาหลีเหนือกำลังพัฒนาระบบเศรษฐกิจในรูปแบบที่จะติดต่อเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้นโดยคงความเป็นชาติคอมมิวนิสต์ เป็นแนวทางที่ผู้นำประเทศคนใหม่นายคิม จ็อง-อึนประกาศไว้
นายปั๊ก เคียวยัน กล่าวว่าเกาหลีเหนือ “จะสนับสนุนหลักการของ G77 กับจีน เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบใหม่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ความเท่าเทียมและไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” (Yonhap)
            โดยรวมแล้ว แนวทางของรัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงต่อเนื่องจากแนวทางของผู้นำยุคก่อน ภัยคุกคามของชาติคือภัยคุกคามเดิมที่ดำเนินมาตั้งแต่สงครามเกาหลีเมื่อทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา
ในมุมมองของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ ภัยคุกคามที่น่ากังวลคือโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่ทางเกาหลีเหนือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมานานแล้ว ดังนั้น จะถ้าดูว่าเกาหลีเหนือจะจริงจังกับการเป็นปฏิปักษ์กับเกาหลีใต้และสหรัฐฯ หรือไม่ สามารถดูได้จากความคืบหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจที่หวังจะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นนั้น ผู้นำเกาหลีเหนือคงดูจีนเป็นแบบอย่าง
การแต่งกายของสุภาพสตรีหมายเลข 1 ริ โซลจู (Ri Sol-ju) ที่ดูทันสมัยต่างจากการแต่งกายทั่วไปอาจสะท้อนความคิดของท่านผู้นำ
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะรวดเร็วเพียงใดคงต้องติดตามต่อไป
รวมความแล้ว แนวทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง แต่หลักความมั่นคงยังพูดทำนองเดิม
สะท้อนว่าความสัมพันธ์กับประเทศปรปักษ์ในระยะเวลาอันใกล้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง และที่แน่นอนกว่าคือระบอบการเมืองภายในคงเดิม เปลี่ยนแปลงเพียงตัวบุคคล
-----------------