ก้าวย่างที่ถอยห่างออกจากอียูของเดวิด คาเมรอน

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดวิด คาเมรอน ที่สัญญาจะจัดทำประชามติภายในสิ้นปี 2017 เพื่อให้ชาวอังกฤษตัดสินใจว่าประเทศควรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อหรือไม่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป
            ใจความสำคัญคือนายกฯ คาเมรอนต้องการปรับความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปเสียใหม่ ทางเลือกแรกคืออังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อไปแต่ปรับความสัมพันธ์ให้ถอยห่างมากขึ้น ทางเลือกที่สองคือถ้าอังกฤษตกลงกับอียูไม่ได้ อังกฤษจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูถ้าผลประชามติออกมาเช่นนั้น
            ถ้อยแถลงของนายกฯ คาเมรอนสร้างความไม่พอใจแก่เยอรมนีกับฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเยอรมัน กีโด เวสเตอร์เวลลา ตำหนิว่าอังกฤษไม่ควรตัดสินใจทำอะไรง่ายๆ แบบนั้น “เยอรมนีต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกที่มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในสหภาพยุโรปต่อไป ... การตัดสินใจเลือกเอาเฉพาะส่วนที่ตนชอบนั้นทำไม่ได้” และกล่าวอีกว่า “ยุโรปไม่ใช่ผลรวมของผลประโยชน์แห่งชาติแต่เป็นประชาคมที่มีชะตากรรมร่วมแม้ในยามยากลำบาก” ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ลอรอนต์ แฟบิอุส กล่าวอย่างประชดประชันว่า “ถ้าสหราชอาณาจักรต้องการถอนตัวจากยุโรปเราจะปูพรมแดงให้ท่าน”
            นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่านายกฯ คาเมรอนหวังใช้การแยกตัวออกจากอียูเป็นเครื่องมือหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งจะจัดในปี 2015 หัวหน้าพรรคแรงงาน นายเอ็ด มิลิแบด กล่าวโจมตีว่า “เขาไม่ได้ทำด้วยแรงจูงใจเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ พรรคผลักให้เขาทำอย่างนั้น” เรื่องนี้อาจมีส่วนอยู่บ้างแต่การที่คนอังกฤษจะตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งนั้นขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อีกมาก อีกทั้งหากการแยกตัวออกเป็นเรื่องเหมาะสมพรรคการเมืองอื่นๆ ควรให้การสนับสนุนด้วย
            ความจริงที่ต้องกล่าวคือ แต่ไหนแต่ไรสหราชอาณาจักรระแวดระวังในการสัมพันธ์กับอียู ไม่ได้เป็นสมาชิกที่แนบแน่นอยู่แล้ว เช่น ไม่ได้ยกเลิกสกุลเงินปอนด์แล้วถือสกุลเงินยูโร ปีที่แล้วประกาศว่าอาจจะถอนตัวจากการดำเนินนโยบายร่วมมือการปราบปรามอาชญากรรมของอียู โดยยังคงร่วมมือในนโยบายด้านการปราบปรามและกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่อังกฤษยังเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตน
            การถอนตัวออกจากสมาชิกยูโรโซนหรือออกจากอียูก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน กว่าสามปีตั้งแต่สหภาพยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจ กระบวนการรวมตัวให้แนบแน่นลึกซึ้งกว่าเดิมเกือบจะหยุดนิ่งโดยสิ้นเชิง ทั้งด้านความมั่นคง การป้องกันประเทศ นโยบายสังคมต่างๆ ฯลฯ ไม่มีประเทศใดแสดงท่าทีขอเข้าร่วมกลุ่มอีก ซ้ำร้ายกว่านั้นชาติสมาชิกบางประเทศบ่นพึมพำว่าควรอยู่ในยูโรโซนหรือสหภาพยุโรปต่อหรือไม่
            เฉพาะกรณีของอังกฤษ ความคิดที่จะถอนตัวออกจากอียูมีความเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ใช้สิทธิยับยั้งสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่เพิ่มอำนาจแก่สหภาพยุโรปเพื่อสู้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปลายปี 2011 ในครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ถึงกับพูดว่า “ไม่เชื่อเลยว่าเดวิด คาเมรอนเคยนั่งโต๊ะเดียวกับพวกเรา” สื่อฝรั่งเศส Le Monde พาดหัวข่าวว่า “สิ้นสุดแล้วยุโรป 27 ประเทศ” ขณะที่สื่อเยอรมัน Der Spiegel พาดหัวว่า “ลาก่อน อังกฤษ” ในขณะที่นายกฯ คาเมรอน อธิบายว่า “เป็นสิทธิของอังกฤษที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศของตน”

            คำว่า “เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ” คือคำอธิบายสั้นๆ จากนายกฯ คาเมรอน
การตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์แห่งชาตินั้นเป็นเรื่องเหมาะสม ปัญหาคือจะคำนวณอย่างไร ให้คุณค่ากับผลประโยชน์ด้านใด เช่น เมื่ออังกฤษประกาศว่าจะเข้าร่วมกับอียูเฉพาะส่วนที่ได้ประโยชน์ และไม่สนใจเข้าร่วมภาคส่วนอื่นๆ ประเทศสมาชิกที่เหลือจะคิดเห็นอย่างไร ในยามนี้ที่หลายประเทศส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อังกฤษอย่างรุนแรง จะกระทบต่อผลประโยชน์อังกฤษในอนาคตหรือไม่
            การที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน เลื่อนแถลงการณ์มาแล้วหลายครั้งเป็นเวลาหลายเดือน เชื่อได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเจรจาในทางลับกับชาติสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ว่าจะตอบสนองข้อเรียกร้องของอังกฤษอย่างไร ณ วันนี้แม้นายกฯ คาเมรอนบอกว่าจะไม่เจรจาอีกถ้าไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการส่วนเยอรมนีแสดงท่าทีเย็นชา เชื่อว่าการเจรจายังดำเนินต่อไป แต่หากยังตกลงกันไม่ได้ในขณะที่เวลาเดินไปเรื่อยๆ การวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบย่อมหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งอียูกับอังกฤษ
            แท้ที่จริงทุกประเทศต่างยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ การที่ฝรั่งเศส เยอรมนี กับชาติสมาชิกอื่นๆ ยังอยู่ในสภาพยุโรปหรือยูโรโซนต่อไปก็เพราะเห็นว่าได้ผลประโยชน์สูงสุด แต่นายกฯ คาเมรอนกำลังพาอังกฤษให้ถอยห่างจากสหภาพยุโรป ถอยห่างจากพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งรวมตัวในมิติต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม
            การก้าวถอยออกจากสหภาพยุโรปจะดีเลวอย่างไรนั้นสามารถถกเถียงกันต่อไป
25 มกราคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------------
บรรณานุกรม:
1. Cameron Promises Referendum by 2017 on U.K. Leaving EU, 23 January 2013, http://www.bloomberg.com/news/2013-01-23/cameron-to-promise-referendum-by-2017-on-u-k-leaving-eu.html
2. Hugo Brady, Britain's 2014 justice opt-out: Why it bodes ill for Cameron's EU strategy, http://www.cer.org.uk/sites/default/files/publications/attachments/pdf/2013/essay_brady_jha_23jan13-6888.pdf
3. Cameron's Collison Course: London Takes Major Gamble with EU Referendum, 23 January 2013, http://www.spiegel.de/international/europe/analysis-and-reaction-on-david-cameron-s-plan-for-a-referendum-on-eu-a-879241.html
4. María Lorca-Susino, The Euro in the 21st Century, (UK: Ashgate Publishing, 2010).
5. EU pledge sets election battlelines, AP, 24 January 2013,
http://uk.news.yahoo.com/eu-pledge-sets-election-battlelines-034105774.html
6. JAMES CHAPMAN, Day PM put Britain first: Defiant Cameron stands up to Euro bullies... but French plot revenge for historic veto, 10 December 2011, http://www.dailymail.co.uk/news/article-2071952/Eurozone-crisis-David-Cameron-vetoes-EU-treaty-save-euro.html
----------------------------------