สงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ไซออนิสต์-ชีอะห์) 2025 (3)
อิสราเอลอ้างทำสงครามเพื่อป้องกันตนเอง ตามยุทธศาสตร์ชิงลงมือก่อน อาหรับเป็นปัจจัยสำคัญสกัดสงครามยืดเยื้อ ทำไมต้องทนรับผลกระทบจากสงครามที่ไม่ได้ก่อ
ในมุมมองอิสราเอล
ศึกครั้งนี้คือการป้องกันตนเอง
นายกฯ
เนทันยาฮูกล่าวว่าแต่ไหนแต่ไร
อิหร่านพยายามสร้างความปั่นป่วนในภูมิภาคตะวันออกกลาง
การจัดการฮิซบอลเลาะห์ช่วยให้เลบานอนสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่
การล้มระบอบอัสซาดที่อิหร่านหนุนหลัง เปิดทางให้คนซีเรียได้โอกาสเริ่มชีวิตใหม่
และเรากำลังทำเช่นนี้กับประชาชนอิหร่าน อิสราเอลไม่รบกับพวกเขา
แต่รบกับผู้นำเผด็จการที่กดขี่พวกเขา (หมายถึงรัฐบาลชีอะห์หลังการปฏิวัติอิหร่าน)
รัฐบาลอิสราเอลจะไม่ยอมปล่อยให้ระบอบอันตรายครอบครองอาวุธที่อันตรายที่สุด
อิหร่านมีแผนส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์แก่ผู้ก่อการร้ายของพวกตน (terrorist
proxies) ก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์
ตั้งใจก่อสงคราม:
ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า สหประชาชาติมีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
กำกับให้นานาชาติสามารถมีโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ ปัจจุบันกำกับตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ใน
180 ประเทศ ดังนั้นเพียงแค่ทำตามข้อตกลงแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ (JCPOA)
ที่ลงนามเมื่อปี 2015
นานาชาติก็มั่นใจได้ว่าอิหร่านไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ลบข้อกังวลของสหรัฐกับอิสราเอล
แปลกแต่จริงที่รัฐบาลทรัมป์กับอิสราเอลไม่ยอมรับการทำงานของ IAEA
ไม่ยอมรับข้อตกลงที่ลงนามในสมัยโอบามา ทำให้สถานการณ์ตึงเครียด
จนอิสราเอลเปิดฉากทำสงคราม
รัฐบาลเนทันยาฮูกับสหรัฐตั้งใจทำให้เกิดสงครามใช่หรือไม่
รัฐบาลจอร์จ
ดับเบิ้ลยู. บุช ใช้หลักการนี้ทำสงครามกับอิรัก อ้างว่าอิรักแอบซ่อนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
(WMD) และอาจส่งอาวุธนี้ให้ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์โจมตีสหรัฐ
ในที่สุดโลกประจักษ์ว่าอิรักไม่เป็นภัยคุกคามร้ายแรง
ข้อมูลที่ทางการสหรัฐใช้เป็นเท็จ
ในกรณีอิหร่าน
อิสราเอลคิดชิงลงมือโจมตีอิหร่านมานานแล้ว
ยกตัวอย่าง
กันยายน 2021 นาฟทาลี เบนเน็ตต์ (Naftali Bennett) นายกฯ
อิสราเอลขณะนั้นกล่าวว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านฝ่าฝืนเส้นต้องห้ามทุกเส้นแล้ว อิสราเอลพร้อมทำทุกอย่างเพื่อยับยั้งไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์
แม้จะต้องลงมือเพียงลำพัง
จะเห็นว่าแต่ไหนแต่ไร
รัฐบาลอิสราเอลคิดชิงโจมตีอิหร่าน พูดถึงเรื่องนี้เป็นระยะ
สงครามอิสราเอล-อิหร่านจึงอยู่ในความคิดของอิสราเอลมานานแล้ว และลงมือในปี
2025 นี้ ถ้าพูดในมุมมองทำลายล้าง ก่อนที่อิหร่านจะ “ลบ”
อิสราเอลออกจากแผนที่โลก อิสราเอลต้อง “ชิงลบ” อิหร่านก่อน และลงมือแล้ว
แต่จะสำเร็จหรือไม่กาลเวลาจะเปิดเผยความจริง
ไม่มีหลักฐานอิหร่านสร้างอาวุธนิวเคลียร์:
อาวุธนิวเคลียร์คือเหตุผลหลักที่อิสราเอลชี้ว่ามีความชอบธรรมที่จะโจมตีอิหร่าน
ทั้งๆ ที่รัฐบาลอิหร่านยืนยันเรื่อยมาว่าไม่มีและไม่คิดมี
เนื่องจากผิดบัญญัติศาสนา
หลักฐานสำคัญอีกชิ้นคือ
สัปดาห์แรกที่อิสราเอลโจมตีอิหร่าน สถานทูตอิหร่านประจำอินเดียเผยแพร่แถลงการณ์ของ
Rafael Grossi อธิบดี IAEA ว่า
“ยังไม่มีหลักฐานชี้ว่า (อิหร่าน) กำลังสร้างอาวุธนิวเคลียร์”
เรื่องนี้สวนทางกับแถลงการณ์ของรัฐบาลอิสราเอล ที่กล่าวหาอิหร่านกำลังสร้างอาวุธนิวเคลียร์และใกล้จะสำเร็จแล้ว
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
รัฐบาลเนทันยาฮูยึดข้อมูลของตนและลงมือจัดการอิหร่าน
รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนการรบครั้งนี้
ต้องล้มระบอบอิหร่าน:
การล้มระบอบอิหร่านไม่ใช่เป้าหมายใหม่ ในการรบรอบนี้นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า
อิสราเอลกำลังช่วยปลดปล่อยชาวอิหร่านที่โดนเหยียบย่ำเกือบ 50
ปี ต้องทนทุกข์ทรมาน
ดังที่รับรู้กันทั่วไปว่า
เป้าหมายสุดท้ายคือล้มระบอบอิหร่าน เป็นนโยบายเก่าแก่หลายทศวรรษ ด้วยหลักคิดว่าถ้าจะจัดการอิหร่าน
ต้องล้มระบอบเท่านั้นภัยคุกคามจึงจะสิ้นสุด หลายสิบปีที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลสหรัฐ
(รวมอิสราเอล) ดำเนินนโยบายนี้เรื่อยมา พยายามคว่ำบาตรอิหร่านให้อ่อนแอ สงครามปี
2025 คือการยกระดับ อิสราเอลเข้าโจมตีโดยตรง
ด้วยหลักคิดการป้องกันตนเองที่ดีที่สุด คือทำลายศัตรูให้สิ้นซาก
เข้าครอบงำฝ่ายตรงข้าม หรือทำให้เป็นรัฐล้มเหลว
หากศึกนี้ไม่จบเร็ว ควรติดตามว่าอิสราเอลจะโจมตีอิหร่านเป็นระยะหรือไม่
เหมือนที่ทำกับฮามาส ฮิซบอลเลาะห์ และซีเรีย เพราะทั้งอิสราเอลกับสหรัฐคงไม่ส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดิน
เกรงจะสูญเสียมากและไม่มั่นใจว่าจะชนะ จึงต้องใช้วิธีโจมตีทางอากาศเป็นระยะ
ไม่ให้อิหร่านฟื้นฟู หวังให้เป็นรัฐล้มเหลว เปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน
คนอิหร่านฆ่ากันเอง
ผู้สกัดแผนทำสงครามยืดเยื้อ:
ตั้งแต่ต้นสงครามบรรดารัฐอาหรับกังวลว่าสงครามจะกระทบพวกตนด้วย
ทั้งด้านความปลอดภัย เศรษฐกิจ จึงขอให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ ลดความรุนแรง
หยุดสงครามทันที
การโจมตีทางอากาศทำให้การขนส่งทางอากาศทั้งภูมิภาคปั่นป่วน
บางครั้งถึงขั้นปิดสนามชั่วคราว
เครื่องบินพาณิชย์นับพันเที่ยวบินต้องเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนตารางการบินกะทันหัน
กระทบผู้โดยสารนับหมื่น การขนส่งทางทะเลก็เช่นกัน
ความกังวลเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเมื่ออิหร่านประกาศปิดช่องแคบฮอร์มุซ
กระทบการขนส่งทางเรือของอ่าวเปอร์เซีย เป็นแนวทางที่อิหร่านเคยพูดขู่นานแล้ว
ไม่กี่วันหลังเครื่องบินรบสหรัฐโจมตีโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
กองทัพอิหร่านโต้กลับด้วยการยิงขีปนาวุธ 19 ลูกใส่ฐานทัพ Al-Udeid ของสหรัฐในกาตาร์ ที่นี่เป็นศูนย์บัญชาการสหรัฐ
แต่ขีปนาวุธถูกสกัดเกือบทั้งหมด มีเพียงลูกเดียวที่ตกพื้นโดยไม่มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต
ทางการอิหร่านกล่าวว่าตั้งใจโจมตีฐานทัพสหรัฐเท่านั้น
ด้านกาตาร์ชี้ว่าตนสกัดขีปนาวุธเพื่อรักษาอธิปไตยโดยไม่ยิงตอบโต้อิหร่าน
ทั้งยังแจ้งว่าจะไม่ให้สหรัฐใช้ฐานทัพพวกนั้นเล่นงานอิหร่าน
วิเคราะห์: อิหร่านโจมตีพอเป็นพิธี
เตือนให้รู้ว่าสามารถทำลายฐานทัพดังกล่าว ซึ่งง่ายกว่าการโจมตีอิสราเอล
อย่างไรก็ตามการโจมตีทำลายความสงบ บรรยากาศการค้าการลงทุน
ตรงนี้แหละที่ทำให้กาตาร์กับย่านนี้เสียหายมหาศาล
การยิงขีปนาวุธอาจเป็นส่วนหนึ่งของการทูต
เพื่อรัฐอาหรับกดดันสหรัฐให้หยุดโจมตีอิหร่าน ไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย
ผลการรบรอบมิถุนายน
2025 กลายเป็นว่ารัฐบาลทรัมป์โจมตีโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน 3 แห่ง
แล้วประกาศให้ทุกฝ่ายหยุดยิง ส่วนอิหร่านตอบโต้ด้วยการโจมตีฐานทัพสหรัฐในกาตาร์เพียงรอบเดียว
หากสงครามยืดเยื้อจะกระทบเศรษฐกิจของทุกประเทศในย่านอ่าวเปอร์เซีย
ความสงบสุขกลายเป็นภาวะสงคราม ทั้งๆ ที่รัฐอาหรับไม่ได้รบด้วยแต่อย่างไร แน่นอนว่าบรรดารัฐอาหรับทั้งหลายต้องการให้สงบศึก
ถ้ามองให้ไกลกว่านั้น
หากระบอบอิหร่านล่มสลาย ประเทศน่าจะปั่นป่วนวุ่นวาย
ข้อนี้ไม่เป็นผลดีต่อเพื่อนบ้านอิหร่านเช่นกัน
ทำไมอาหรับต้องทนรับผลกระทบมากมายจากสงครามที่ไม่ใช่ของตน
เมื่ออิสราเอลเป็นฝ่ายก่อสงคราม จึงต้องหยุดอิสราเอลก่อน
และเมื่อรัฐบาลทรัมป์สนับสนุนและร่วมรบด้วย จึงต้องกดดันรัฐบาลสหรัฐให้ยุติการรบ
และให้ช่วยกดดันเนทันยาฮู
รัฐบาลอาหรับจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสกัดแนวคิดทำสงครามต่อเนื่อง อนาคตของอิหร่านจึงขึ้นกับเพื่อนบ้านอาหรับด้วย
และความมั่นคงอิหร่านคือความมั่นคงอาหรับ เป็นความไร้เดียงสาถ้าคิดว่าพันธมิตรสหรัฐจะปกป้องอาหรับตลอดไป
หรืออิสราเอลจะหยุดแค่ปาเลสไตน์
บรรณานุกรม :
1. Cleveland,
William L., Bunton, Martin. (2013). A History of the Modern Middle East
(Fifth Edition). USA: Westview Press.
2. Cook,
Jonathan. (2008). Israel and the Clash of Civilisations: Iraq, Iran and the
Plan to Remake the Middle East. USA: Pluto Press.
3. Hezbollah says
retaliation against Israel for killing of Fuad Shukr has begun. (2024, August
25). Al Arabiya. Retrieved from
https://english.alarabiya.net/News/middle-east/2024/08/25/israel-striking-dozens-of-alleged-hezbollah-targets-in-lebanon
4. IDF
chief warns Israelis must brace for ‘prolonged campaign’ against Iran. (2025,
June 20). Times of Israel. Retrieved from
https://www.timesofisrael.com/idf-chief-warns-israelis-must-brace-for-prolonged-campaign-against-iran/
5. Iran attacks
US base: Qatar, Bahrain and Kuwait reopen airspace after brief suspension.
(2025, June 23). Gulf News. Retrieved from
https://gulfnews.com/business/aviation/iran-attacks-us-base-in-qatar-bahrain-and-kuwait-reopen-airspace-after-brief-suspension-1.500174322
6. Israeli
prime minister: Iran has crossed nuclear 'red lines'. (2021, September 27). The
Hill. Retrieved from
https://thehill.com/policy/international/574140-israeli-prime-minister-iran-has-crossed-nuclear-red-lines
7. Ismael,
Tareq Y., Haddad,
William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History. USA: Pluto Press.
8. Duiker,
William J. (2009). Contemporary World History (5th ed.). USA: Wadsworth.
9. No proof that
Iran was going to make nuclear weapons: Ambassador shares video of IAEA chief.
(2025, June 18). Gulf News. Retrieved from
https://gulfnews.com/world/mena/did-not-have-any-proof-of-effort-to-move-into-a-nuclear-weapon-iaea-chief-on-iran-1.500167511
11. The perils of
hosting US military bases: Lessons from Qatar. (2025, June 22). Tehran
Times. Retrieved from
https://www.tehrantimes.com/news/514914/The-perils-of-hosting-US-military-bases-Lessons-from-Qatar
-----------------