สงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ไซออนิสต์-ชีอะห์) 2025 (1)

สงครามอิสราเอล-อิหร่านสามารถตีความว่าเป็นสงครามไซออนิสต์-ชีอะห์ ที่พูดถึงกันนานแล้ว และเป็นจริงในปี 2025 นี้

            13 มิถุนายน 2025 กองทัพอิสราเอลเปิดฉากโจมตีอิหร่าน ฝ่ายอิหร่านโต้กลับทันที เป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน หรือระหว่างไซออนิสต์-ชีอะห์ถ้าตีความอิงลัทธินิกาย

            บทความนี้วิเคราะห์จุดยืนและเหตุผลของรัฐบาลเนทันยาฮู ที่ประกาศต่อสาธารณะชน ดังนี้

จะโจมตีต่อเนื่องจนกว่าหมดภัยคุกคาม:

            แถลงการณ์แรกของเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าปฏิบัติการ “Rising Lion” มุ่งทำลายเป้าหมายทางทหารที่คุกคามอิสราเอล จะโจมตีต่อเนื่องจนกว่าภัยคุกคามจะหมดไป

            วิเคราะห์: ประโยคแรกๆ ของนายกฯ เนทันยาฮูชี้ว่าไม่ใช่การปะทะเล็กน้อย แต่ “จะโจมตีต่อเนื่องจนกว่าภัยคุกคามจะหมดไป” ชวนให้นึกถึงสงครามฮามาส-อิสราเอล ทันทีที่สงครามเริ่มขึ้น นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่าจะทำทุกอย่างให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก

            ตุลาคม 2023 นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่ามีเพียง 2 ทางเลือกคือประเทศอิสราเอลยังคงอยู่หรือไม่ก็สูญสลายไป นี่คือสงครามเพื่อความอยู่รอดของชาติ มีแต่ต้องชนะศึกเท่านั้น เป้าหมายของเราประกาศชัดตั้งแต่ต้นคือทำลายสมาชิกและระบอบการปกครองของฮามาส

            กันยายน 2024 เนทันยาฮูกล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติว่า ”ถ้าฮามาสยังอยู่ในอำนาจ พวกเขาจะรวมตัวอีกและโจมตีอิสราเอลใหม่ ดังนั้นต้องไม่มีฮามาส” สงครามยุติได้ถ้าพวกเขายอมแพ้และวางอาวุธ ไม่เช่นนั้นอิสราเอลจะรบต่อจนกว่าจะชนะ

            หลักคิดรัฐบาลเนทันยาฮูคือ ต้องทำลายต้นตอภัยคุกคามให้สิ้นซากจึงจะปลอดภัย จึงวิเคราะห์ว่าสงครามอิสราเอล-อิหร่าน 2025 จะยืดยาวหลายเดือนหรือเป็นปี “จนกว่าภัยคุกคามจะหมดไป” รัฐบาลอิสราเอลทำเช่นนั้นจริง การรบในกาซาเป็นหลักฐานว่ากองทัพอิสราเอลยังคงกวาดล้างฮามาสต่อเนื่อง มีความคิดย้ายคนปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ กรณีซีเรียก็เช่นกัน อิสราเอลโจมตีทางอากาศต่อกองทัพอัสซาดกับกองกำลังต่างชาติที่สนับสนุนต่อเนื่องหลายปี ค่อยๆ ทำให้อ่อนแอ ท้ายที่สุดกลุ่มก่อการร้ายฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Hay’et Tahrir al-Shams: HTS) เข้ายึดและล้มระบอบอัสซาดในที่สุด

            ในเชิงยุทธการ อิสราเอลกับอิหร่านไม่มีพรมแดนติดต่อกัน 2 ประเทศห่างกันพันกว่ากิโลเมตร (กรุงเตหะรานอยู่ห่างจากกรุงเทลอาวีฟ 1,600 กิโลเมตร) ถ้าไม่นับอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลรบอิหร่านทางอากาศเป็นหลักเท่านั้น อาจมีทางน้ำเล็กน้อย ระยะทางที่ห่างเป็นพันกิโลเมตรผ่านน่านฟ้าหลายประเทศ ถ้าอิสราเอลสามารถโจมตีทางอากาศเต็มกำลัง (สามารถผ่านน่านฟ้าอาหรับ) ลำพังวิธีนี้ไม่อาจเอาชนะอิหร่านโดยง่าย ในเบื้องต้นคือทำลายโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ที่ตั้งทางทหารต่างๆ

ทำลายระบบเศรษฐกิจ:

            ที่น่าสนใจคือตั้งแต่สัปดาห์แรก อุตสาหกรรมน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติตกเป็นโจมตี อาจตีความว่าเป็นเป้าหมายทางทหาร แต่หากอิสราเอลมุ่งทำลายโรงกลั่นกับคลังน้ำมันต่อเนื่อง จะต้องตีความใหม่ว่าตั้งใจทำลายระบบเศรษฐกิจ ทำลายอุตสาหกรรมหลัก ทำให้อิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมัน อาจตีความว่าคือการยกระดับมาตรการคว่ำบาตร ไม่ให้ขายน้ำมันได้เลย ระบบเศรษฐกิจพัง ด้วยความเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ คนอิหร่านจะก่อการล้มรัฐบาล หรืออย่างน้อยทำให้อิหร่านอ่อนแอทุกด้าน ไม่ได้ลืมตาอ้าปาก เป็นเช่นนี้สืบไป

            ถ้ายึดแนวทางนี้อิสราเอลจะโจมตีอิหร่านต่อเนื่องแบบไม่สิ้นสุด อาจประกาศเขตห้ามบิน (no-fly zone) ปิดล้อมทางอากาศ ห้ามเครื่องบินนานาชาติเข้าออกอิหร่าน คอยทำลายคลังน้ำมันตามท่าเรือต่างๆ จนถึงขั้นทำลายท่าเรือด้วย

            ด้านทางการอิหร่านพยายามชี้ว่าการโจมตีอุตสาหกรรมพลังงาน มีผลต่อประเทศอื่นๆ ด้วย

            มิถุนายน 2025 Abbas Araghchi รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการโจมตีอุตสาหกรรมน้ำมันว่า อิสราเอล “พยายามเปิดศึกที่ไกลกว่า” อิหร่านเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโอเปก สำนักงานบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐ (EIA) ประเมินว่าในช่วงปี 2021-2023 อิหร่านทำกำไรจากการส่งออกพลังงานถึง 144,000 ล้านดอลลาร์ แม้หลายประเทศคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่าน

            วิเคราะห์: ที่ผ่านมาบางประเทศยังสามารถซื้อใช้พลังงานอิหร่าน โดยต้องขออนุญาตสหรัฐก่อน หากสงครามยืดเยื้อประเทศเหล่านี้คงต้องซื้อน้ำมันจากที่อื่นซึ่งมักแพงกว่า

คำขู่ทำลายล้างด้วยนิวเคลียร์:

            เนทันยาฮูให้เหตุผลว่าหลายทศวรรษที่ผ่านผู้นำอิหร่านเรียกร้องให้ทำลายอิสราเอล หวังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดูได้จากโครงการอาวุธนิวเคลียร์ (a nuclear weapons program) ไม่กี่ปีมานี้อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมมากพอสำหรับระเบิดนิวเคลียร์ 9 ลูก และเร่งความพยายามสร้างอาวุธนี้ สามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างในไม่ช้า อาจภายในหนึ่งปีหรือไม่กี่เดือน เห็นชัดว่าอิสราเอลตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง

            อิสราเอลจะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวด้วยนิวเคลียร์

            วิเคราะห์: ข้อนี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลเนทันยาฮูใช้เรื่อยมา ชี้ว่าอิหร่านต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์และใช้อาวุธนี้กับประเทศตน จึงปล่อยไว้ไม่ได้ อิสราเอลมีพื้นที่ไม่ใหญ่ ถ้าโดนแค่ 1-2 ลูกคงพินาศสิ้น

            ข้อโต้แย้งคือรัฐบาลอิหร่านประกาศเรื่อยมาว่าไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ และไม่คิดจะสร้างอาวุธนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ยอมรับว่า “ยังไม่มีหลักฐานชี้ว่า (อิหร่าน) กำลังสร้างอาวุธนิวเคลียร์” รัฐบาลสหรัฐกับอิสราเอลยอมรับว่าอิหร่านยังไม่มีอาวุธทำลายร้ายแรงชนิดนี้ แต่อิสราเอลเปิดฉากทำสงครามด้วยเหตุผลอิหร่านกำลังจะมีอาวุธดังกล่าว เกิดคำถามว่าสมเหตุผลมากน้อยแค่ไหน

            อิหร่านมีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนมานานแล้ว เหมือนหลายประเทศที่มีโครงการนิวเคลียร์เพื่อใช้ในทางพลเรือน เช่น สร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ แต่นักวิชาการตะวันตกหลายคนเตือนให้ระวังสงครามนิวเคลียร์ บ้างอ้างว่าอิหร่านจะเป็นบ่อเกิดสงครามล้างโลก รวมทั้งพวกนักการศาสนาบางคน

            ในระยะหลังอิหร่านยืนยันเรื่อยมาว่าเพื่อใช้ในทางสันติเหมือนหลายสิบประเทศทั่วโลกที่มีนิวเคลียร์เพื่อสันติ เช่น โรงงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ใช้นิวเคลียร์ทางการแพทย์และประโยชน์ทางพลเรือนอื่นๆ อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี กล่าวว่า พวกเราได้ฟัตวา (fatwa) ประกาศว่าศาสนาอิสลามห้ามครอบครองอาวุธนิวเคลียร์การวิจัยพัฒนาก็เพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น

            แต่บางประเทศไม่เชื่อคำพูดเหล่านี้ รัฐบาลเนทันยาฮูย้ำเสมอว่าอิหร่านต้องการมี “อาวุธนิวเคลียร์” เพื่อทำลายล้างอิสราเอล

            อิสราเอลเข้าทำสงครามทั้งๆ ที่อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ โดยตีความว่าต้องการมี ใกล้จะมี หากมีแล้วจะใช้ทำลายอิสราเอล

            ล่าสุดมีข่าวว่ารัฐบาลทรัมป์มีแผนร่วมทำสงครามด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ไม่ว่าสหรัฐจะเข้าร่วมหรือไม่ สงครามอิสราเอล-อิหร่านเกิดขึ้นแล้ว สามารถตีความว่าเป็นสงครามไซออนิสต์-ชีอะห์ที่พูดถึงกันมานาน และเป็นจริงในปี 2025 นี้ (ยึดหลักสงครามที่ปะทะด้วยอาวุธทางทหารเต็มรูปแบบ) มีความเป็นไปได้ว่าการรบจะยืดเยื้อยาวนาน ตามหลักคิดของไซออนิสต์ที่ต้องทำลายศัตรูให้สิ้นซาก แต่ฝ่ายใดจะชนะหรือเสียหายมากน้อยยังไม่ชัดเจน ต้องติดตามต่อไป

            ย้อนหลังเดือนสองเดือนก่อน รัฐบาลสหรัฐประกาศจุดยืนว่าหากการเจรจาล้มเหลว อิหร่านจะต้องโดนถล่มยับ เรื่องนี้อาจตีความว่าเป็นวิธีการพูด การเจรจาของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทุกคนคุ้นเคย ขณะเดียวกันอาจลงเอยด้วยความรุนแรงก็เป็นไปได้ ทรัมป์ 2.0 ที่แสดงท่าทีแข็งกร้าว รัฐบาลเนทันยาฮูพูดเสมอว่าอยากโจมตีอิหร่าน เป็นตัวพาสถานการณ์เข้าสู่วิกฤต 2025

            บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าการเจรจารอบปี 2025 คือการเริ่มเล่นงานอิหร่านอีกครั้ง โดยตั้งเงื่อนไขที่อิหร่านรับไม่ได้ นำสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบ นี่คือสงครามที่ตั้งใจก่อ มีเป้าหมายชัดเจน

22 มิถุนายน 2025
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10445 วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2568)

-----------------

บรรณานุกรม :

1. Benjamin Netanyahu vows to ‘save our country’ as Israel battles ‘barbarians’ in Gaza. (2023, October 28). New York Post. Retrieved from https://nypost.com/2023/10/28/news/benjamin-netanyahu-vows-to-save-israel-as-it-battles-in-gaza/

2. Netanyahu tells UN Israel will continue attacks on Gaza, Lebanon. (2024, September 27). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2024/9/27/netanyahu-tells-un-israel-will-continue-attacks-on-gaza-lebanon

3. Netanyahu: Gazans’ should flee, IDF to revenge ‘black day’. (2023, October 7). The Jerusalem Post. Retrieved from https://www.jpost.com/arab-israeli-conflict/article-763179

4. 'Never again is now': Netanyahu announces strikes on Iran nuclear targets. (2025, June 13).

Jpost. Retrieved from https://www.jpost.com/israel-news/defense-news/article-857577

5. Why Israel's attacks aim to cripple Iran's energy sector. (2025, June 16). DW. Retrieved from https://www.dw.com/en/why-israels-attacks-aim-to-cripple-irans-energy-sector/a-72936222

-----------------