ตรรกะวิบัติของกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0

นักวิชาการหลายคนชี้ว่าหลักกำแพงภาษีทรัมป์ไม่ถูกต้อง ตรรกะวิบัติชัดเจน สร้างผลเสียมากกว่าผลดี ประเทศต่างๆ ต้องคิดให้ดีว่าควรเพิ่มการค้ากับใครดี

            นโยบายกำแพงภาษีไม่ใช่เรื่องใหม่ ทรัมป์สมัยแรกเคยใช้กับบางประเทศแล้ว ขึ้นภาษีสินค้าจีน 20-30% เพื่อลดขาดดุลการค้า ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ตั้งแต่ครั้งนั้นถูกตีความว่าเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

            ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลถัดมาหรือสมัยไบเดนคงภาษีที่กำหนดโดยรัฐบาลทรัมป์ไว้หลายส่วน ทั้งยังขึ้นภาษีสินค้าจีนเพิ่มหลายรายการ โดยเฉพาะพวกรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ แผงโซล่าเซลล์ และเซมิคอนดักเตอร์

            รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจะรีพับลิกันหรือเดโมแครทล้วนทำสงครามการค้ากับจีน

3 ใน 4 ยอมรับแล้วว่าสินค้าแพงขึ้น:

            เมษายน 2025 Gallup รายงานผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกัน 53% คิดว่าสภาพการเงินของตนแย่ลง แย่สุดนับจากปี 2001 เป็นต้นมา เป็นผลจากการขึ้นภาษีศุลกากรหลายสิบประเทศ 58% คิดว่าตลาดหุ้นในอีก 6 เดือนหน้ายังคงย่ำแย่ 48% คิดว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น่าดีดังคาด เงินเฟ้อพุ่ง งานดีๆ หายาก

            ในรายละเอียด พวกรีพับลิกันมองสภาพการเงินของตนดีขึ้นเมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ส่วนใหญ่ยังมองอนาคตในแง่ดี ส่วนพวกเดโมแครทมองแง่ลบ หลายคนตื่นตระหนกจากนโยบายของทรัมป์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

            ไม่ว่าทรัมป์ 2.0 จะชี้แจงอย่างไร ย้ำผลดีในระยะยาว หลายภาคส่วนสะท้อนผลลบออกมาแล้ว โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา

ตรรกะวิบัติของกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0:

            นักวิเคราะห์ได้รวบรวมเหตุผลที่ชี้ว่านโยบายกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0 นั้นไม่ชอบธรรม ไม่สมเหตุผล ดังนี้

          ประการแรก ขึ้นภาษีสินค้าที่ไม่มีหรือผลิตไม่ได้

            ไม่มีประเทศใดปลูกหมดทุกอย่าง ล้วนต้องนำเข้าผลผลิตเกษตรบางอย่าง จากประเทศอื่นที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชชนิดนั้นมากกว่า สินค้าเกษตรหลายอย่างที่สหรัฐไม่ปลูก เช่น กล้วยหอม กาแฟ พวกนี้มาจากการนำเข้าเท่านั้น

            ทำนองเดียวกับแร่ธาตุหลายชนิดที่จำต้องนำเข้า

            การเก็บภาษีสินค้าพวกนี้มีแต่สร้างภาระแก่อุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าและต่อผู้บริโภค ยิ่งภาษีสูงเท่าใดสุดท้ายคนอเมริกันต้องควักเงินจ่าย

            ถ้าผลิตเพื่อส่งขายเท่ากับรัฐเพิ่มต้นทุนให้กับสินค้า

          ประการที่ 2 ไม่ควรผลิตสินค้าแรงงานราคาถูก

            นโยบายที่จะผลิตสินค้าทุกอย่างเป็นแนวทางที่ผิดพลาด สินค้าบางอย่างใช้แรงงานราคาถูก ไม่เหมาะกับประเทศที่ค่าแรงสูง นี่คือเหตุผลสหรัฐเลิกผลิตสินค้าจำพวกตุ๊กตา เสื้อผ้า รองเท้า

            ในมุมเอกชน รัฐบาลทรัมป์มาแล้วก็ไป ไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลชุดหน้าจะยังคงส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตสินค้าราคาถูก ใช้แรงงานมาก การลงทุนกว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลาหลายปี เอกชนจึงเห็นว่าไม่ควรเสี่ยง ดังนั้นไม่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีกี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่จูงใจ

          ประการที่ 3 โดนโต้กลับ

            รัฐบาลสหรัฐย้ำเหตุต้องขึ้นภาษี ในทำนองเดียวกันประเทศอื่นมีเหตุผลต้องตอบโต้เช่นกัน รัฐบาลสหรัฐทำเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อคนอเมริกัน รัฐบาลประเทศอื่นต้องทำเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อคนของเขาเช่นกัน

            ผลคือหลายประเทศโต้กลับด้วยกำแพงภาษี และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ บัดนี้หลายประเทศแสดงออกชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐไม่น่าเชื่อถือ นี่คือ American decline ที่แท้จริง

          ประการที่ 4 ไม่เพิ่มการจ้างงานมากอย่างที่คิด

            ประธานาธิบดีทรัมป์มักพูดว่าต่างชาติแย่งงาน ตนกำลังนำงานนับแสนตำแหน่งกลับคืน ผู้เชี่ยวชาญให้คำตอบว่าหากนำการผลิตพวกนั้นกลับมา เมื่อคำนวณต้นทุนแรงงาน บริษัทจะต้องผลิตโดยใช้เครื่องจักรเกือบทั้งหมด ผลคือไม่ต้องการแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งมีคำถามว่าแรงงานที่มีทักษะสูงขนาดนั้นมีมากพอหรือไม่

          ประการที่ 5 ทำให้เศรษฐกิจโตช้าและอาจถดถอย

            นักเศรษฐศาสตร์คำนวณแล้วว่าการเก็บภาษีจำนวนมากช่วยลดขาดดุลการค้า แต่สินค้าแพงทำให้การจับจ่ายซื้อของลดลง และเนื่องจากจีดีพีสหรัฐขึ้นกับการบริโภคภายในเป็นหลัก จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวม ทำให้โตช้าและอาจถดถอย

          ประการที่ 6 ภาษีตอบโต้ไม่ควรตั้งบนฐานการขาดดุล

            ตามหลักเศรษฐศาสตร์ อัตราภาษีตอบโต้หรืออัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ไม่ควรตั้งบนฐานการขาดดุลการค้า แต่ให้ตั้งบนผลิตภัณฑ์ (คิดเป็นรายตัว) ดังนั้นการตั้งกำแพงภาษีหลายสิบประเทศเท่ากัน 10% จึงผิดหลักการชัดเจน

            และควรคำนวณโดยใช้ข้อมูลย้อนหลังหลายปี (ทรัมป์ใช้ปีเดียว) เพื่อได้ค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม เนื่องจากตัวเลขขาดดุลแต่ละปีมักขึ้นๆ ลงๆ

          ประการที่ 7 นักลงทุนนานาชาติไม่เชื่อถือ

            การขึ้นกำแพงภาษีฝ่ายเดียวละเมิดกติกาการค้าเสรีของ WTO และฉีกข้อตกลงการค้าอื่นๆ ที่ทำกับหลายประเทศ ไม่เพียงทำลายความน่าเชื่อระหว่างรัฐ ยังทำให้นักลงทุนนานาชาติไม่เชื่อถือสหรัฐอีกต่อไป ใครจะประกันได้ว่าในอนาคตรัฐบาลสหรัฐจะทำอะไรอีก ข้อตกลงใดๆ ที่ทำไว้ถูกฉีกทิ้งได้เสมอ

            เอกชนอ่อนไหวต่อกำไรขาดทุน การจะตัดสินใจลงทุนต้องคิดรอบคอบ สหรัฐกลายเป็นความเสี่ยงภัยที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ หากจะทำการค้าด้วยต้องเตรียมตัวล่วงหน้าว่าสามารถรับความเสี่ยง ปรับลดสัดส่วนลงทุนหรือทำการค้าแต่น้อย พร้อมรับความเสียหายส่วนนี้

          ประการที่ 8 ควรทำการค้ากับใครดี... สหรัฐหรือจีน

            ตอนนี้ที่การค้าระหว่างสหรัฐ-จีนส่อว่าจะลดลงอย่างมาก สหรัฐต้องการนำเข้าสินค้ามากมายแทนสินค้าจีน ในแง่หนึ่งเป็นโอกาสที่ดีแก่ประเทศที่หวังเพิ่มการส่งออก แต่ในอีกด้านต้องตระหนักว่า จุดยืนสหรัฐคือห้ามใครเกินดุล เมื่อเกินดุลสหรัฐจะเรียกร้องบางอย่าง อาจเป็นการขึ้นภาษีหรืออื่นๆ ดังนั้นหากจะค้าขายเพิ่มเติม ต้องคำนึงผลที่ตามมา สุดท้ายรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องคิดให้ดีว่าควรเพิ่มการค้ากับใครดี

เพราะเชื่อทรัมป์แบบไม่ลืมหูลืมตา:

            คนที่ติดตามสถานการณ์โลกจะรู้ว่าตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง สถาบันเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก ล้วนเตือนว่านโยบายกำแพงภาษีจะสร้างความเสียหายต่อสหรัฐและโลก แต่ทรัมป์ยืนยันว่านโยบายของเขาถูกต้อง จึงเดินหน้าท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจากในและต่างประเทศ

            ในอีกด้านต้องยอมรับว่า ทรัมป์มีผู้สนับสนุนอย่างเหนียวแน่นหลายล้านคน พวก MAGA กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์มองฝ่ายตรงข้ามพูดผิดหมด ประสงค์ร้ายต่อทรัมป์ จึงรับฟังแต่ทรัมป์เท่านั้น รับสื่อข้างเดียว ล่าสุดพวกที่สนับสนุนทรัมป์อย่างเข้มแข็งยังคงเชียร์รัฐบาลอย่างเหนียวแน่น คิดแบบทรัมป์ว่าที่สุดแล้วจะกลายเป็นผลดี ทำกำไรแก่ประเทศนับแสนล้านดอลลาร์

            ในเวลาไม่ถึง 100 วันของประธานาธิบดีคนใหม่ คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ลงคะแนนให้ทรัมป์ผิดหวังอย่างรุนแรง บัดนี้คนอเมริกันหลายรัฐประท้วงรัฐบาลเป็นประจำทุกสัปดาห์ สาเหตุสำคัญมาจากตรรกะวิบัติของกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0 นั่นเอง

            เหตุการณ์นี้คงช่วยให้คนอเมริกันฉลาดขึ้น ไม่ฟังความข้างเดียว ไม่สนับสนุนแบบไม่ลืมหูลืมตา รู้จักแยกแยะว่าในแต่ละเรื่องผู้นำประเทศพูดจริงหรือพูดเท็จ หลักการที่ตนยึดถือเหมาะสมหรือไม่ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ถูกต้องมากน้อยเพียงใด

            รวมความแล้ว นักวิชาการหลายคนชี้ว่าหลักกำแพงภาษีทรัมป์ไม่ถูกต้อง ตรรกะวิบัติชัดเจน สร้างผลเสียมากกว่าผลดี ในมุมมองที่กว้างขึ้นควรพิจารณามากกว่าหลักเศรษฐศาสตร์ มีประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจการค้า

4 พฤษภาคม 2025
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10396 วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคมพ.ศ. 2568)

------------------

บรรณานุกรม :

1. 15 reasons these Trump tariffs are a mistake. (2025, April 9). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2025/04/15-reasons-these-tariffs-are-a-mistake/

2. Americans' Economic, Financial Expectations Sink in April. (2025, April 21). WSJ. Retrieved from https://news.gallup.com/poll/659630/americans-economic-financial-expectations-sink-april.aspx