เมื่อทรัมป์ยึดลัทธิคุ้มครองทางการค้า
สิ่งแอบแฝงหรือข้อตกลงลับที่มาพร้อมกับภาษีทรัมป์ คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) นักลงทุนทั่วโลกรับรู้ว่าตลาดสหรัฐมีความเสี่ยงสูงมาก
"ลัทธิคุ้มครองทางการค้า"
(trade protectionism) หมายถึง นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จำกัดการค้าระหว่างประเทศผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ
เช่น ภาษีศุลกากร (tariffs) โควตา (quotas) การอุดหนุน (subsidies) กฎระเบียบต่างๆ (regulations)
การที่ประเทศหนึ่งยึดลัทธิคุ้มครองทางการค้ามักทำให้อีกประเทศตอบโต้
ประชาชนต้องจ่ายแพงกว่าเดิม กระทบต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝ่ายและกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ภาษีศุลกากรคือภาษีที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้กับรัฐบาล
มีข้อมูลว่ารัฐบาลไทยตั้งภาษีนำเข้ารถญี่ปุ่นที่ 80% ของมูลค่า CIF (Cost,
Insurance, and Freight) เป็นราคารถยนต์ที่รวมค่าขนส่งกับประกันภัย
คนไทยที่ซื้อจะเป็นคนจ่าย เป็นเหตุผลว่าทำไมรถญี่ปุ่นในเมืองไทยจึงแพงกว่ารถที่ขายในประเทศของเขา
รัฐบาลจะตั้งภาษีศุลกากรเท่าไหร่ก็ได้
ผลดีตกแก่ผู้บริโภคถ้าภาษีต่ำหรือเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีเหตุผลเก็บภาษีนี้
เช่น เป็นช่องรายได้รัฐบาล เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน
นโยบายทรัมป์บังคับหนีตลาดสหรัฐ:
แต่ไหนแต่ไรสหรัฐเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการต่างชาติอยากส่งสินค้าบริการเข้าไปขาย
บริษัทเอกชนจำนวนมากได้ประโยชน์ แต่นับวันความน่าสนใจของตลาดนี้ลดน้อยลง
เหตุเพราะตลาดโลกใหญ่ขึ้น
บริษัทอินเตอร์แห่ไปตั้งโรงงานในจีนเพราะจีนเป็นตลาดประชากร 1,400 ล้านคน และมีกำลังซื้อมากขึ้น
อีกทั้งสามารถใช้จีนเป็นฐานผลิตส่งออกทั่วโลก
บริษัทเอกชนย่อมคิดถึงความเสี่ยงกับกำไรขาดทุน มากกว่าความต้องการเป็นมหาอำนาจ
นโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐจะเป็นตัวแปรให้เอกชนทั่วโลกปรับความคิด
หากจะส่งขายสหรัฐต้องยอมรับและอยู่ได้กับความเสี่ยงนี้ ผลคือนักลงทุนจะพยายามกระจายความเสี่ยง
ให้ตลาดสหรัฐเป็นส่วนของยอดขายจะที่ขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ในที่สุดเอกชนที่ส่งขายสหรัฐจะเคยชินกับกำแพงภาษีหรือมาตรการกีดกันที่รัฐบาลสหรัฐใช้
แคนาดากับเม็กซิโกที่เคยอาศัยสหรัฐเป็นตลาดหลักจะลดพึ่งพาตลาดนี้
นโยบายกำแพงภาษีจะได้ผลน้อยลง
เรื่องหนึ่งที่นานาชาติควรตระหนักคือ สิ่งแอบแฝงหรือข้อตกลงลับที่มาพร้อมกับภาษีทรัมป์
(ตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเอ่ยถึง) คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
(Non-tariff barriers: NTBs) ที่บัดนี้รัฐบาลสหรัฐตั้งขึ้นเพื่อความมั่งคั่งมั่นคงของตน
นานาชาติย่อมเห็นว่าเป็นอุปสรรค การทำธุรกิจกับสหรัฐยากขึ้นกว่าเก่า
เป็นอีกหลักฐานชี้ว่าสหรัฐหนีห่างจากการค้าเสรี
ผลคือนานาชาติปรับตัว
ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าต้องปรับตัว
ปลายเดือนมีนาคม
2025 จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แสดงจุดยืนว่าทั้ง 3 ประเทศจะร่วมกันตอบโต้กำแพงภาษี
ขยายความร่วมมือห่วงโซ่อุปทาน จะเร่งเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีไตรภาคี (จีน
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้)
และมีข่าวว่าญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะนำเข้าวัตถุดิบผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากจีน
ส่วนจีนจะซื้อชิปที่ผลิตโดยญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้
วิเคราะห์:
หลายปีแล้วที่ทั้งญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่
การจัดตั้งเขตการค้าเสรีไตรภาคีจะยิ่งขัดยุทธศาสตร์ปิดล้อมของสหรัฐอย่างชัดแจ้ง
การที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่เพียงเท่านี้ก็ชี้ว่าการปิดล้อมไม่สำเร็จ
โดดเดี่ยวตลาดสหรัฐ:
น่าชื่นชมรัฐบาลทรัมป์ที่พยายามรักษาและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศตัวเอง
รวมทั้งยึดหลัก ‘America First’ ขึ้นภาษีนำเข้าหลายสิบประเทศทั่วโลก
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพูดถึงวาระซ่อนเร้นที่มากับกำแพงภาษี
ผูกโยงการค้าขายของเอกชนเข้ากับการเมืองระหว่างประเทศ เช่น
กดดันให้นานาชาติช่วยกันต้านจีน โดดเดี่ยวรัสเซีย
หรือแม้กระทั่งใช้กำแพงภาษีบ่อนทำลายประเทศอื่นอย่างเช่นแคนาดา
แต่เอกชนนานาชาติสนใจกำไรมากกว่าช่วยใครต้านจีน
ผู้ลงทุนคิดถึงกำไรมากกว่าใครจะเป็นมหาอำนาจ พวกเขาย่อมหาทางเอาตัวรอด
ทุนจะไหลไปสู่จุดที่ทำกำไรสูงสุด มีความเสี่ยงน้อยสุด
ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะชี้แจงอย่างไร การที่ทรัมป์ 2.0 ฉีกกฎการค้าเดิม
ขึ้นกำแพงภาษีตามใจชอบ ทำให้ นักลงทุนทั่วโลกรับรู้ว่าตลาดสหรัฐมีความเสี่ยงสูงมาก
นโยบายของทรัมป์เป็นตัวบีบบังคับให้เอกชนนานาชาติมองหาตลาดอื่นทดแทน
ผลคือรัฐบาลทรัมป์นี่แหละที่โดดเดี่ยวตลาดสหรัฐ
คนอเมริกันต้องซื้อใช้สินค้าแพงขึ้น
กลับมาเป็นผู้ผลิตสินค้านานา?:
ดังที่ทรัมป์
2.0 ให้เหตุผลข้อหนึ่งว่าเพื่อดึงอุตสาหกรรมต่างๆ ให้กลับมาตั้งในประเทศ
ลดการขาดดุล ดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า
“ถ้าคุณต้องการให้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ ก็มาผลิตสินค้าที่อเมริกา” แต่ภายใต้แนวคิดทุนนิยมเสรี
การตั้งโรงงานในประเทศใดต้องคำนวณหลายปัจจัย โลกปัจจุบันนักลงทุนมีตัวเลือกมาก
หลายประเทศมีความพร้อมสูง รัฐบาลเหล่านั้นให้สิทธิพิเศษ แข่งกันดึงดูดให้มาลงทุนที่ประเทศตัวเอง
นักลงทุนมีทางเลือกมาก
อันที่จริงหลายสิบปีแล้วที่รัฐบาลสหรัฐมีนโยบายให้นายทุนอเมริกันกลับมาตั้งโรงงานในประเทศ
เสนอสิทธิเงื่อนไขพิเศษ แต่เมื่อคำนวณปัจจัยทั้งหมด
หลายกรณีได้ข้อสรุปว่าตั้งโรงงานที่ต่างแดนดีกว่า
ยกตัวอย่าง
บริษัท Apple เลือกผลิต iPhone ในจีน เพราะมีห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพสูงเหนือประเทศอื่นๆ
จีนมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนและสามารถประกอบสินค้าจำนวนมาก ง่ายต่อการจัดหาวัสดุ อีกทั้งมีแรงงานนับแสนที่มีทักษะตามต้องการ
ค่าแรงต่ำกว่าอเมริกากับยุโรป ทั้งหมดนี้เอื้อให้ผลิตสินค้าต้นทุนต่ำในปริมาณมาก
เช่นเดียวกับ
Tesla ที่ตั้งโรงงานขนาดยักษ์ชื่อ "Gigafactory
Shanghai" เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของ Tesla นอกประเทศสหรัฐอเมริกา
ช่วยให้สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่แข่งขันได้ในตลาดจีน เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถ
Tesla ในตลาดเอเชีย
iPhone กับ Tesla
เป็นตัวอย่างว่าทำไมจึงเลือกตั้งโรงงานที่จีน นายทุนเสรีนิยมย่อมคิดแบบทุนนิยมเสรี
ความตั้งใจที่จะให้เอกชนอเมริกันกลับไปตั้งโรงงานในประเทศตัวเอง
ต้องบอกว่าส่วนที่ทำได้ทำไปนานแล้ว ส่วนที่ยังไม่ได้ทำนั้น ทรัมป์ควรเข้าใจว่าหลายรัฐบาลพยายามเรื่อยมา
แต่ผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็น
สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือผลลัพธ์ของอดีต สิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้คือหลักฐานในตัวเอง
ควรย้อนถามว่าทรัมป์
2.0 มีอะไรดีที่จะดึงให้กลับไปลงทุนที่ประเทศตัวเอง สหรัฐจะกลับมาผลิตตุ๊กตา
ตัดเย็บเสื้อผ้า ทำรองเท้า ทีวีตู้เย็น สิ่งของพวกนี้หรือ แม้กระทั่ง iPhone รุ่นล่าสุดที่คนอเมริกันนิยมแต่ไม่มีสักเครื่องที่ผลิตในสหรัฐ
ต้องชมว่าเก่งจริง ถ้าทรัมป์ 2.0
สามารถทำให้ประเทศกลับมาผลิตและส่งออกตุ๊กตา เสื้อผ้า ฯลฯ
ถ้าคิดแบบนอกกรอบดังที่ทรัมป์ชอบใช้
การตั้งโรงงานผลิตทุกอย่างทำได้ หากสหรัฐไม่ยึดถือทุนนิยมเสรี
ใช้ระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หรือเผด็จการ สั่งห้ามเคลื่อนย้ายทุนออกนอกประเทศ
บรรดานายทุนอเมริกันต้องตั้งโรงงานในประเทศเท่านั้น
ไม่สนใจกำไรสูงสุดหรือประสิทธิผลสูงสุด ท้ายที่สุดคือคนอเมริกันต้องซื้อสินค้า MADE
IN USA เท่านั้น แม้ราคาจะสูงกว่าตลาดโลกมาก
หากรัฐบาลสหรัฐสั่งการจริง
ในระยะยาวลัทธิคุ้มครองทางการค้าจะทำลายการแข่งขัน ส่งเสริมการผูกขาด ไม่จูงใจให้สร้างนวัตกรรม
เรื่องแบบนี้ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้
เป็นเรื่องอีกนาน แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ทำนองเดียวกับเรื่องแคนาดา กรีนแลนด์
ที่ใครเคยคิดว่าบัดนี้รัฐบาลสหรัฐต้องการให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 อันสวยงาม
แม้แคนาดาสิ้นชาติ
-----------------
เครดินภาพ: ภาพจากปัญญาประดิษฐ์