ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ

            การโค่นระบอบอัสซาดโดยที่นำโดยฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Hay’et Tahrir al-Shams: HTS) ไม่ใช่เรื่องใหม่ กลุ่มนี้เข้ารบหวังล้มรัฐบาลอัสซาดตั้งแต่เริ่มอาหรับสปริงซีเรียครั้งเมื่อปี 2011 และชนะในปลายปี 2024 นี้

            เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า HTS เป็นสายหนึ่งของอัลกออิดะห์ (al-Qaida) ทำนองเดียวกับผู้ก่อการร้ายไอซิสหรือ IS (Islamic State – รัฐอิสลาม) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Al-Nusra Front/Jabhat al-Nusra และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (HTS)

อาหรับสปริงซีเรียมีนาคม 2011:

            มีนาคม 2011 การชุมนุมประท้วงเริ่มต้น กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูป ปลดปล่อยนักโทษการเมือง จัดเลือกตั้งโดยเสรี จัดตั้งรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน เนื่องจากทุจริตคอร์รัปชันสูง ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องนับทศวรรษ ท่ามกลางสถานการณ์วุ่นวายรัฐบาลอัสซาดปฏิรูปบางอย่าง พยายามเจรจากับฝ่ายต่อต้านสายกลาง แต่ประธานาธิบดีอัสซาดเห็นว่าหากซีเรียปกครองด้วยประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะยิ่งทำให้ประเทศอ่อนแอ จึงปฏิเสธข้อเรียกร้อง เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาฝ่ายต่อต้านเปลี่ยนเป้าหมายเป็นล้มรัฐบาล

            ประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลนั้นมีอยู่จริง ส่วนมากเริ่มจากการชุมนุมของกลุ่มเล็กๆ ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง และขยายวงกว้างขึ้นกล้าแสดงออกตามท้องถนน พวกเขาเห็นว่าประเทศต้องปฏิรูป สังคมต้องเปลี่ยนแปลง แม้ยังขาดคำตอบชัดว่าจะไปทิศทางใด รายละเอียดแผนเป็นอย่างไร มีแค่เป้าหมายว่าขจัดเผด็จการ ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น มีความเท่าเทียม ทุกคนอยู่ดีกินดี

            การชุมนุมที่เริ่มโดยสงบกลายเป็นการชุมนุมที่ใช้อาวุธมากขึ้น บางกรณีเป็นการปะทะระหว่างคนที่สนับสนุนรัฐบาลกับคนที่ต่อต้านด้วยอาวุธที่หาได้ทั่วไป เช่น ไม้ มีด ในเวลาไม่ถึงสองเดือนสหประชาชาติรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 9 พันคน

            ต้นเหตุอาหรับสปริงซีเรียมีผู้เคราะห์มากมาย สามารถสรุปย่อดังนี้

อำนาจที่ไร้การตรวจสอบ:

            การปกครองของระบอบอัสซาดคือการอำนาจนิยมเข้มข้น ใช้แต่คนใกล้ชิดด้วยหวังว่าเป็นคนที่ไว้ใจได้ หวังให้ระบอบมั่นคง ในแง่หนึ่งน่าเห็นใจว่าการเมืองซีเรียมีแต่ปรปักษ์รอบข้าง อัสซาดผู้พ่อก็แย่งอำนาจนี้มาจากคนอื่น การบริหารแบบรวบอำนาจจึงจำเป็น แต่นานวันเข้าอำนาจนิยมกลายเป็นการใช้อำนาจโดยไร้การตรวจสอบ แม้รัฐบาลมีเจ้าหน้าที่มีตำรวจลับ แต่คนเหล่านี้ร่วมมือกับผู้กุมอำนาจในแต่ละท้องถิ่น เกิดการ “รวบอำนาจ” ในแต่ละท้องถิ่น โดยที่รัฐบาลกลางแก้ไม่ได้ คนเหล่านี้ร่วมกันทุจริตคอร์รัปชัน ฉวยโอกาสจากนโยบายรัฐ งบประมาณส่วนกลางที่กระจายสู่ท้องถิ่น

            คนที่ใกล้ชิดกับพรรคบาธ คนของรัฐบาลเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ ประชาชนจำนวนมากที่เหลือกลายเป็นคนที่ถูกรัฐบาลทอดทิ้ง ได้รับความช่วยเหลือแต่น้อย

            ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย

            ภาพที่ปรากฏคืออำนาจนิยมทำให้ดูเหมือนว่าระบอบอัสซาดอยู่อย่างมั่นคง แต่ในระยะยาวหนีไม่พ้นที่ประเทศถดถอยเสื่อมโทรม ประชาชนทุกข์ยากมากขึ้น           จนถึงจุดหนึ่งมีผู้จุดประกายหรือมีเหตุจุดชนวน ประชาชนผู้ไม่พอใจจึงพร้อมใจลุกฮือเกิดอาหรับสปริงซีเรีย

ต่างชาติแทรกแซง:

            ทุกประเทศมีผู้ไม่พอใจรัฐบาล การชุมนุมประท้วงเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเป็นข่าวที่เห็นได้อยู่เสมอ รัฐบาลเก่าไปรัฐบาลใหม่มา แต่กรณีซีเรียไม่เป็นเช่นนั้น

            ทศวรรษ 1990 รัฐบาลอัสซาด (บิดา) เปิดทางให้มุสลิมต่างชาติเข้ามามากขึ้น คิดว่าจะสามารถควบคุมให้อยู่ในร่อยในรอย กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาคือพวกนิกายวาห์ฮะบี (Wahhabism) จากซาอุฯ เริ่มเผยแพร่ศาสนาตามแนวทางของตนเอง มีอิทธิพลต่อพวกซุนนีดั้งเดิม มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาล การเข้ามาของกลุ่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นการเข้ามาของกองกำลังมุสลิมต่างชาติ พวกญิฮาดจากนานาประเทศ กลุ่มเหล่านี้ผนวกกับคนท้องถิ่นกลายเป็นกองกำลังที่เข้าควบคุมบางพื้นที่ นับวันกองกำลังญิฮาดขยายตัว

            เมื่อประธานาธิบดีบุชส่งกองทัพโค่นล้มระบอบซัดดัมในอิรัก พวกญิฮาดจากทั่วโลกพากันหลั่งไหลเข้าอิรักเพื่อต้านกองทัพอเมริกัน ส่วนหนึ่งผ่านทางซีเรีย ประเทศซีเรียกลายเป็นจุดที่พวกญิฮาดทั่วโลกรวมตัว เตรียมตัวก่อนเข้าอิรัก ในช่วงนั้นเกิดกลุ่มญิฮาดมากมาย รวมทั้งกลุ่ม JTWJ ที่ต่อมากลายเป็นอัลกออิดะห์สาขาอิรัก และกลายเป็นไอซิสในที่สุด

            สิงหาคม 2011 สมาชิกสันนิบาตอาหรับ (Arab League) หลายประเทศเริ่มแสดงท่าทีต่อต้านรัฐบาลอัสซาด

ต้องล้มระบอบอัสซาดเท่านั้น:

            พฤศจิกายน 2011 สันนิบาตอาหรับระงับความเป็นสมาชิกของซีเรียและคว่ำบาตรเศรษฐกิจ มกราคม 2012 สันนิบาตอาหรับเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ และขอให้คณะมนตรีสหประชาชาติมีมติสนับสนุน

            การระงับสมาชิกภาพของซีเรียคือความพ่ายแพ้ทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งใหญ่ของรัฐบาลอัสซาด ทำให้ถูกโดดเดี่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน นำมาซึ่งการถูกโดดเดี่ยวจากอีกหลายประเทศ และเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมาก เป้าหมายสุดท้ายคือล้มรัฐบาลอัสซาด

          ต้นปี 2012 ต่างชาติเริ่มส่งมอบอาวุธแก่ประชาชนฝ่ายต่อต้าน และเกิดการรวมกลุ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องการอำนาจการเมืองหลังสิ้นรัฐบาลอัสซาด

            สอดคล้องกับคำกล่าวของประธานาธิบดีอัสซาดเมื่อพฤศจิกายน 2019 ว่า เหตุที่มาของการชุมนุมประท้วงส่วนหนึ่งมาจากเงินต่างชาติ มาจากประเทศกาตาร์ อุดหนุนให้คนประท้วงต่อต้านรัฐบาล และความรุนแรงที่เกิดตั้งแต่ต้นมาจากผู้ประท้วงบางคน จากนั้นไม่นานกลายเป็นสงครามกลางเมือง

            ซาอุดิอาระเบียให้การสนับสนุนทุกกลุ่ม รวมทั้งพวกสุดโต่งอย่าง al-Nusra Front (ที่ตอนนี้คือ Hay’et Tahrir al-Shams: HTS) กับไอซิส (ISIS) ด้านรัฐบาลโอบามาขอให้อัสซาดลงจากอำนาจ สนับสนุนกลุ่มที่เรียกว่าเป็นสายกลาง ฝึกกองกำลังติดอาวุธในจอร์แดน

            พวกสุดโต่งอย่าง al-Nusra Front กับไอซิสแม้มีจุดยืนร่วมว่าต้องการโค่นล้มระบอบอัสซาด แต่ต่างตรงที่ต้องการให้รัฐบาลในอนาคตปกครองตามแนวทางของอิสลามเต็มขนาด ตามการตีความของพวกตน (ซึ่งแตกต่างจากมุสลิมกระแสหลัก)

            แต่มาบัดนี้ HTS ในปี 2024 ส่อว่าไม่คิดจะปกครองซีเรียแบบรัฐอิสลาม ให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกกลุ่มทุกนิกายศาสนา น่าติดตามว่าท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

            นโยบายโค่นล้มระบอบอัสซาดมีมานานแล้ว ถ้ายึดอาหรับสปริงซีเรียคือเริ่มตั้งแต่ปี 2011 สำเร็จในปี 2024 ตัวละครแม้ล้มหายตายจากไปบ้าง (หรือไม่ใช่ตัวสำคัญ) แต่แรกที่ชาติอาหรับเป็นผู้สนับสนุนหลัก มารอบ 2024 นี้ดูเหมือนว่าบทบาทอาหรับลดลง ที่เพิ่มขึ้นคือตุรเคียและบางคนชี้ว่าคืออิสราเอล ส่วนสหรัฐมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ต้นคือตั้งแต่สมัยบารัก โอบามาที่พูดชัดต้องการให้อัสซาดลงจากอำนาจ

            หลักการยังคงเดิมคือรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนคนซีเรียที่ไม่พอใจระบอบอัสซาด ผสมโรงด้วยกองกำลังต่างชาติ ที่จำต้องมีต้องใช้เพราะคือการล้มด้วยกองกำลังติดอาวุธ (โดยพวกญิฮาดหรือผู้ก่อการร้ายหรือชื่ออื่นๆ แล้วแต่ว่าใครตีตราอย่างไร) ในที่สุดระบอบอัสซาดก็สิ้นแม้รัฐบาลรัสเซียกับอิหร่านและพวกพยายามปกป้อง

            จะเห็นว่าพวกที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปีและไม่ทิ้งความตั้งใจนี้ รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ

29 ธันวาคม 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10271 วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2567)

------------------------------

บรรณานุกรม :

1. Erlich, Reese. (2014). Inside Syria: The Backstory of Their Civil War and What the World Can Expect. New York: Prometheus Books.

2. Hanano, Amal. (2012). Syrian Hope: A Journal. In The Dawn of the Arab Uprisings: End of an Old Order? (pp.225-236). London: Pluto Press.

3. Lister, Charles R. (2015). The Syrian Jihad: Al-Qaeda, the Islamic State and the Evolution of an Insurgency. New York: Oxford University Press.

4. Lynch, Marc. (2012). The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.

5. Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402

6. Syria's Bashar al-Assad Reflects on Civil War, Oil, Terrorism and America in Rare Interview. (2019, November 11). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/middleeast/201911111077273037-syrias-bashar-al-assad-reflects-on-civil-war-oil-terrorism-and-america-in-rare-interview/

-----------------