ถ้าเลือกทรัมป์จะระงับสงครามโลกครั้งที่ 3 (2)

ความคิดทรัมป์ที่จะเกิดสงครามใหญ่เป็นวาทกรรมหาเสียงเท่านั้น เป็นอีกครั้งที่โดนัลด์ ทรัมป์พูดถูกบ้างผิดบ้าง “แบบทรัมป์ๆ” คิดอย่างเดียวว่าทำอย่างจึงจะชนะเลือกตั้ง

            ทรัมป์กล่าวว่าหากกมลา แฮร์ริสชนะเลือกตั้งแทบฟันธงได้ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 (“virtually guaranteed to happen”) แฮร์ริสยึดแนวนโยบายของพรรคเดโมแครทที่ชอบทำสงคราม ส่วนนโยบายของตนคือให้ทุกฝ่ายในตะวันออกกลางยุติการสู้รบทันที

ในเชิงยุทธการ:

            ถ้าคิดอย่างมีเหตุมีผล อิสราเอลกับอิหร่านไม่มีพรมแดนติดต่อกัน ห่างกันพันกว่ากิโลเมตร (กรุงเตหะรานอยู่ห่างจากกรุงเทลอาวีฟ 1,600 กิโลเมตร) ถ้าไม่นับอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลรบกับอิหร่านทางอากาศเป็นหลักเท่านั้น ระยะทางที่ห่างเป็นพันกิโลเมตรผ่านน่านฟ้าหลายประเทศ ถามว่าชาติอาหรับจะยินยอมหรือไม่ ยินดีให้อิสราเอลผ่านน่านฟ้าตัวเองเพื่อโจมตีอิหร่านหรือไม่

            สมมุติว่าอิสราเอลสามารถโจมตีทางอากาศเต็มกำลัง แต่ลำพังวิธีนี้ไม่สามารถเอาชนะอิหร่าน จะถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากอิหร่านกับกองกำลังที่อิหร่านหนุนหลัง (เช่น ฮิซบอลเลาะห์ ฮูตี) เป็นสงครามที่ยิงกันไปยิงกันมา อิสราเอลที่เสียหายหนักจากสงครามฮามาสต้องสูญเสียมากขึ้นอีก โดยไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันจากอิหร่านหรือได้ไม่คุ้มเสีย

            ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง บริบทปัจจุบันต่างจากอดีตมาก อิหร่าน-ขั้วซาอุฯ ปรับสัมพันธ์กันแล้ว เมษายน 2023 ทั้ง 2 ประเทศแถลงร่วมจะเปิดสถานทูตระหว่างกัน มีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากนั้นอีกหลายประเทศทยอยฟื้นความสัมพันธ์กับอิหร่าน

            ด้วยขีดความสามารถป้องกันภัยทางอากาศของเพื่อนบ้านอาหรับ ยากที่อิสราเอลจะล้ำน่านฟ้าโดยไม่รู้ตัว รัฐบาลสหรัฐจะแกล้งหลับตาข้างหนึ่งปล่อยผ่านได้หรือ แม้กระทั่งรัสเซียกับจีนน่าจะรู้ความเคลื่อนไหวด้วย

            ฝ่ายอิหร่านที่ยิงขีปนาวุธกับโดรนโจมตีอิสราเอลเมื่อเมษายน 2024 แต่โดนสกัดเกือบหมด เป็นหลักฐานที่ดีว่าเพื่อนบ้านอาหรับไม่เห็นด้วยกับสงคราม ร่วมกันสกัดไม่ให้การรบบานปลายไม่ว่าใครจะก่อการ (ครั้งนั้นสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ซาอุฯ และจอร์แดนร่วมกันปกป้องอิสราเอล)

            ในแง่สงครามใหญ่ ถ้าวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ก่อนรัฐบาลสหรัฐทำสงครามใหญ่ควรถามคนอเมริกันก่อนว่าต้องการเช่นนั้นหรือไม่ อยากให้เกิดสงครามโลกไหม รัฐบาลสหรัฐสามารถระงับสงครามตะวันออกกลางง่ายๆ ด้วยการไม่ส่งอาวุธหนักให้อิสราเอล

            การวิเคราะห์ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามใหญ่ แต่ตราบใดที่อิสราเอล ฝ่ายอิหร่านและเพื่อนบ้านตะวันออกกลางไม่คิดทำสงครามใหญ่ ต่างระวังไม่ให้บานปลาย สงครามใหญ่ไม่ใช่เรื่องของสองสามประเทศเท่านั้น ความคิดทรัมป์ที่จะเกิดสงครามใหญ่กระทั่งเป็นสงครามโลกจึงผิด เป็นวาทกรรมหาเสียงเท่านั้น เป็นอีกครั้งที่โดนัลด์ ทรัมป์พูดถูกบ้างผิดบ้าง คิดอย่างเดียวว่าทำอย่างจึงจะชนะเลือกตั้ง

            การหาเสียงของชาติเสรีประชาธิปไตย พยายามส่งออกประชาธิปไตยแก่นานาชาติ อ้างว่าเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยโลก สะท้อนลักษณะสังคมการเมืองของสหรัฐดังนี้

สังคมเสรีประชาธิปไตยที่เชื่อความเท็จ:

            เลือกตั้ง 2024 เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์ใช้เทคนิคสร้างความกลัว เหมือนผู้สมัครหลายคนหลายรัฐบาล เพื่อเรียกคะแนนสนับสนุน ไม่แปลกที่ผู้มีปัญญาหลายคนชี้ว่าทรัมป์เป็นพวกนักยุยงปลุกปั่นทางการเมือง (demagogue) เช่น ปลุกปั่นให้เกลียดชังมุสลิมอ้างว่าเป็นต้นเหตุก่อการร้าย (มุสลิมบางคนก่อเหตุแต่ต้องเข้าใจว่าเป็นเฉพาะกลุ่มเฉพาะคนเท่านั้น อิสลามกระแสหลักไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย เป็นการกระทำที่ผิดหลักศาสนา การชี้ว่ามุสลิมเป็นต้นเหตุก่อการร้ายมาจากการปั่นกระแส Islamophobia ให้ต่อต้านมุสลิม ปลุกปั่นให้คิดว่าถ้าเลือกแฮร์ริสจะเกิดสงครามโลก

            เทคนิคนี้ขยายประเด็นให้รุนแรงน่ากลัวเกินเหตุ เกินความเป็นจริง หลายครั้งใช้ได้ผลเพราะคนอเมริกันนับล้านเชื่อเช่นนั้น

            ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ เมื่อนักการเมือง ผู้สมัครหาเสียง สื่อบางสำนัก พูดบ่อยๆ นำเสนอบ่อยๆ กลายเป็นการกล่อมเกลาให้สังคมเชื่อเช่นนั้น เมื่อผนวกกับนักการเมืองเรียกร้องให้จัดการเด็ดขาด ทิศทางนโยบายพรรคการเมืองกับรัฐบาลจึงออกไปทางนั้นด้วย

            สิ่งที่อยู่ในใจแต่แรก เช่น ความจงเกลียดจงชังกลายเป็นรูปธรรม เกลียดชังรัฐบาลจีน ลามไปถึงประชาชน คนเชื้อสายจีนโดนรังแกถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศสหรัฐนี่เอง

            เรื่องเท็จกลายเป็นเรื่องที่สังคมเชื่อถือ เป็นสังคมที่เชื่อความเท็จ

            แทนที่ผู้มีอำนาจ ผู้มีความรู้ สังคมจะใช้ทรัพยากรพลังที่มีอยู่สร้างสรรค์สิ่งดี กลับใช้กับเรื่องหลอกลวงและทำร้ายตัวเอง

คนอเมริกันหลายสิบล้านคนเชื่อทฤษฎีสมคบคิด:

            สหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์ของของนวัตกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเจริญอีกหลายอย่างที่น่าชื่นชม สร้างคุณประโยชน์ เป็นแบบอย่างแก่นานาชาติ ในขณะเดียวกันมหาอำนาจนี้เป็นศูนย์กลางของทฤษฎีสมคบคิดมากมายทั้งเรื่องเก่าเรื่องใหม่

            ยกตัวอย่าง 4-5 ปีก่อนเมื่อโรคโควิด-19 ระบาดหนัก นานาชาติเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกัน ช่วงนั้นเกิดทฤษฎีสมคบคิดหลายเรื่อง พฤกษาคม 2020 สื่อ BBC รายงานข่าวทฤษฎีสมคบคิดเชื่อว่า โควิด-19 เป็นแผนควบคุมโลกของบิลล์ เกตส์ ใส่ไมโครชิปในวัคซีนเพื่อควบคุมมนุษย์ทั้งโลก

            บัดนี้พิสูจน์ได้หรือยังว่ามีชิปควบคุมมนุษย์ในวัคซีนนับพันล้านหมื่นล้านโดสหรือไม่

            ที่ประหลาดกว่านั้นเมษายน 2020 สื่อ CNBC นำเสนอข่าวทฤษฎีสมคบคิดว่าไวรัสโควิด-19 มากับเสาส่งสัญญาณ 5G หลายคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้แต่บางคนเชื่อเช่นนั้น แม้กระทั่งคนอเมริกันกับยุโรป เรื่องแปลกแต่จริงมี “คนอเมริกันกับยุโรป” ที่เชื่อว่าไวรัสโควิด-19 มากับสัญญาณ 5G

ผลของการใช้เสรีภาพอย่างขาดปัญญา:

            นักวิชาการตะวันตกสรรเสริญ Enlightenment (ยุคเรืองปัญญา/ยุคแห่งภูมิธรรม/ยุคแห่งการรู้แจ้ง) ยุคที่มนุษย์ถกกันด้วยเหตุผล บางคนจึงเรียกยุคนี้ว่า “Age of Reason”

            Enlightenment ระบุว่ามนุษย์เห็นว่าด้วยการใช้เหตุผล สามารถบรรลุชีวิตเปี่ยมสุขโดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อศาสนา เกิดการแยกตัวระหว่างศาสนาความเชื่อกับสิ่งที่เป็นฝ่ายโลก (secularism) เป็นจุดเริ่มต้นของโลกสมัยใหม่ (ศตวรรษที่ 18)

            เสรีภาพทางความคิดหมายถึงแต่ละคนสามารถคิดเห็นต่างกันและมักจะเป็นเช่นนั้น หลายคนชอบที่จะแสดงความคิดเห็นของตน พัฒนาความคิดความเข้าใจจากการพูดคุยแลกเปลี่ยน ผู้ดีมีตระกูลให้ความสำคัญกับการศึกษา อ่านหนังสือหลากหลายความคิด

            ผลจากการที่มนุษย์มีเสรีภาพทางความคิด ส่งเสริมให้คิดและเรียนรู้จากความคิดความเข้าใจของกันและกัน ความรู้วิชาการฝ่ายโลก โดยเฉพาะความรู้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นำสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของคนที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

            อย่างไรก็ตาม การสรุปว่าเป็นยุคที่มนุษย์ใช้เหตุผลอย่างเดียวไม่ถูกต้อง ในยุคนี้มีพัฒนาการของความใคร่รัก (passions) ความปรารถนา (desires) ผู้คนตอบสนองอารมณ์ความต้องการส่วนตัว

สิ่งที่เรียกว่ายุค Enlightenment จึงไม่ได้หมายถึงความเป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจ ผู้มีปัญญาเพียงด้านเดียว ยังเป็นยุคที่มนุษย์ปล่อยตัวไปตามความต้องการของตัณหา เป็นเสรีภาพที่ต้องการ

            มาถึงศตวรรษที่ 21 เสรีภาพของคนอเมริกันบางครั้งจึงหมายถึงการสร้างและรับความหวาดกลัวเกินจริง (ทรัมป์คือตัวอย่างด้วยการพูดจริงบ้างเท็จบ้าง ไม่สนใจว่าถูกต้องหรือไม่) อเมริกาเป็นสังคมที่หลายคนกินยาแก้ซึมเศร้าเหมือนกินขนม (มีข้อมูลว่ากว่า 70 ล้านคนหรือ 22% ของประชากรป่วยเป็นโรคซึมเศร้า) เสพสุราสิ่งเสพติดเพื่อช่วยหนีโลกอันน่าสะพรึงกลัวที่ถูกสร้างขึ้น คนอเมริกันหลายสิบล้านเชื่อว่าบิลล์ เกตส์พยายามลดประชากรโลก ควบคุมมนุษย์ด้วยไมโครชิปที่ใส่ในวัคซีน เหล่านี้เป็นทฤษฎีสมคบคิดที่พิสูจน์ได้แล้วว่า “เป็นเรื่องเท็จ” ที่มีกลุ่มคนตั้งใจสร้างขึ้น ตั้งใจปลุกปั่นให้คนเชื่อตามนั้น

            นี่หรือคือมหาอำนาจที่ควรเลียนแบบติดตาม ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างขาดปัญญา

15 กันยายน 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 10173 วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567)

--------------------------


บรรณานุกรม :

1. Bill Gates is the top target for coronavirus conspiracy theories. (2020, April 17). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2020/04/17/bill-gates-is-top-target-for-coronavirus-conspiracy-theories-report.html

2. Coronavirus: Bill Gates ‘microchip’ conspiracy theory and other vaccine claims fact-checked. (2020, May 30). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/52847648

3. Here’s what Bill Gates has to say about those Covid-19 vaccine conspiracy theories he’s pegged to. (2020, June 5). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2020/06/05/bill-gates-responds-to-bizarre-covid-19-vaccine-conspiracy-theories.html

4. Reill, Peter Hanns. (2004). Introduction. In Encyclopedia Of The Enlightenment (Revised Ed., pp.ix-xi). New York: Book Builders Incorporated

5. Schmidt, James. (2006). Enlightenment. In Encyclopedia of Philosophy (2nd Ed.). (Vol.3, pp.242-248). USA: Thomson Gale.

6. Saudi Arabia, Iran formally restore ties, agree to travel visas for citizens. (2023, April 7). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2282371/saudi-arabia

7. Trump's rise is the return of the demagogue. (2016, February 29). The Guardian. Retrieved from http://www.theguardian.com/commentisfree/2016/feb/29/donald-trump-us-election-2016-demagogue

-----------------